คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 249 วรรคหนึ่ง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 691 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16130/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยชัดแจ้ง มิใช่เพียงอ้างเหตุผลศาลชั้นต้น
ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ได้วางหลักในการยื่นฎีกาประการหนึ่งว่า ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างนั้น คู่ความจะต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งในฎีกา คดีนี้โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ไม่เห็นพ้องด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ที่พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ และโจทก์คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าวโดยคัดลอกคำแก้อุทธรณ์ของโจทก์ชนิดคำต่อคำ ซึ่งข้อความในคำแก้อุทธรณ์ของโจทก์นั้นล้วนมุ่งหมายที่จะโต้แย้งคัดค้านโดยตรงในประเด็นที่จำเลยหยิบยกขึ้นกล่าวอ้างเพื่อคัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเท่านั้น โดยโจทก์อาศัยข้อเท็จจริงและอ้างอิงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นมาเป็นข้อสนับสนุนแทบทั้งสิ้น ไม่มีข้อความตอนใดระบุเลยว่าที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้นเป็นการไม่ชอบเพราะเหตุใด และรายละเอียดส่วนใด หากยกขึ้นวินิจฉัยแล้วผลจะเป็นอย่างไร นอกจากนี้ปัญหาตามข้อวินิจฉัยของศาลชั้นต้นนั้น ศาลอุทธรณ์ก็ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงและแสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยไว้หลายประการที่ไม่เห็นพ้องด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น ซึ่งแตกต่างไปจากเหตุผลทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ศาลชั้นต้นได้ยกขึ้นวินิจฉัยอีกด้วย ฎีกาของโจทก์จะต้องโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยชัดแจ้งว่า คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ที่รับฟังข้อเท็จจริงและแสดงเหตุผลมานั้น ไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยข้อเท็จจริงอย่างไรและด้วยเหตุผลใด มิใช่อ้างแต่เพียงคำวินิจฉัยและคำพิพากษาของศาลชั้นต้นนั้นถูกต้องชอบด้วยข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายและเหตุผลแล้วเท่านั้น ฎีกาของโจทก์ในลักษณะเช่นนี้จึงเป็นฎีกาที่ถือเอาคำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นฎีกาของโจทก์นั่นเอง ซึ่งคำพิพากษาของศาลชั้นต้นได้ถูกกลับโดยคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ไปแล้ว ไม่มีคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเหลืออยู่ที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยได้ต่อไป จึงเป็นฎีกาที่ไม่ได้คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และถือไม่ได้ว่าได้กล่าวอ้างข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายโดยชัดแจ้งแล้ว แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งรับฎีกาของโจทก์มาก็เป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15732/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตความรับผิดของผู้ใช้/สนับสนุนการกระทำความผิด: การชิงทรัพย์เกินเลยขอบเขตที่ใช้
จำเลยที่ 2 อ้างว่า ผู้เสียหายเป็นหนี้แล้วไม่จ่าย ขอให้จำเลยที่ 1 จัดการกับผู้เสียหายโดยวิธีใดก็ได้ให้ผู้เสียหายไปอยู่ที่อื่น หรือหายไปจากโลกได้ยิ่งดีแล้วจะมีรางวัลให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นเงิน 50,000 บาท ข้อความดังกล่าวย่อมหมายความว่าจำเลยที่ 2 ใช้จำเลยที่ 1 ไปทำให้ผู้เสียหายเกรงกลัวไม่อาจใช้ชีวิตอยู่ในที่อยู่อาศัยจนต้องย้ายไปอยู่ที่อื่นหรือฆ่าผู้เสียหายอันเป็นผลกระทบต่อจิตใจและชีวิตของผู้เสียหายเท่านั้น มิได้มุ่งประสงค์ต่อผลในการแสวงหาประโยชน์จากทรัพย์ของผู้เสียหาย จึงมิได้มีเจตนาให้จำเลยที่ 1 ไปชิงทรัพย์ผู้เสียหาย การที่จำเลยที่ 1 ไปชิงทรัพย์ผู้เสียหายย่อมเกินไปจากขอบเขตที่จำเลยที่ 2 ใช้ และโดยพฤติการณ์จำเลยที่ 2 ไม่อาจเล็งเห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 จะไปชิงทรัพย์ผู้เสียหาย จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดฐานเป็นผู้ใช้ให้จำเลยที่ 1 ร่วมกับผู้อื่นชิงทรัพย์ผู้เสียหาย ตาม ป.อ. มาตรา 87 วรรคแรก และไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ได้
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 จ้างวานให้จำเลยที่ 1 ก่อเหตุคดีนี้ โจทก์หาได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้สนับสนุนไม่ ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ จึงมิใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 3 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15400/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชดใช้ค่าเสียหายจากการลักทรัพย์: การรับช่วงสิทธิของบริษัทประกันภัยและการคำนวณค่าเสียหายที่แท้จริง
ฎีกาของจำเลยที่ปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำความผิดฐานลักทรัพย์และไม่มีเจตนากระทำความผิด ซึ่งขัดกับคำให้การรับสารภาพของจำเลยและไม่ใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ จึงเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ในชั้นฎีกา ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ขณะเกิดเหตุรถจักรยานยนต์ที่ถูกลักไปมีราคา 30,400 บาท เท่ากับจำนวนเงินที่ผู้รับประกันภัยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหาย ผู้เสียหายจึงมีสิทธิเรียกร้องราคารถจักรยานยนต์ที่สูญเสียไปเนื่องจากการกระทำความผิดคืนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 เป็นเงิน 30,400 บาท ไม่ใช่ 80,000 บาทตามฟ้อง เมื่อจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่ผู้รับประกันภัยซึ่งรับช่วงสิทธิจากผู้เสียหายและผู้รับประกันภัยไม่ติดใจเรียกร้องทั้งทางแพ่งและทางอาญาอีก จำเลยจึงไม่จำต้องชำระราคาในส่วนที่ขาดเป็นเงิน 49,600 บาท เพราะมิฉะนั้นผู้เสียหายย่อมได้กำไรเกินกว่าราคาที่สูญเสียไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13267/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาค้ำประกันสิ้นผลเมื่อลูกหนี้เลิกกิจการ แต่ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตไม่ได้
ตามสัญญาค้ำประกันหนี้สินที่จำเลยทั้งสี่ทำไว้กับบริษัทเงินทุน ย. นั้น เป็นการค้ำประกันเพื่อชำระหนี้ในเมื่อบริษัท ก. ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ เมื่อต่อมาบริษัท ก. ลูกหนี้จดทะเบียนเลิกบริษัท อันมีผลให้ลูกหนี้สิ้นสภาพนิติบุคคล สัญญาค้ำประกันที่จำเลยทั้งสี่ทำไว้จึงไม่มีลูกหนี้ที่จำเลยทั้งสี่จะต้องค้ำประกันอีกต่อไป สัญญาค้ำประกันจึงสิ้นผลไปโดยปริยาย แม้เช็คทั้ง 17 ฉบับ จำเลยที่ 1 และที่ 3 ซึ่งเป็นกรรมการของบริษัท ก. ลูกหนี้จะลงลายมือชื่อสั่งจ่ายและประทับตราสำคัญของบริษัทก็ตาม ก็ถือไม่ได้ว่าเช็คดังกล่าวเป็นเช็คของลูกหนี้ ดังนั้นจำเลยที่ 2 และที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดต่อบริษัทเงินทุน ย. ในฐานะผู้ค้ำประกันตามสัญญาวงเงินขายตั๋วลดเช็คที่เกิดขึ้นภายหลังจากลูกหนี้สิ้นสภาพนิติบุคคลไปแล้ว
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ซึ่งเป็นกรรมการของบริษัท ก. ลูกหนี้ รู้ดีว่าในวันที่จำเลยทั้งสองสั่งจ่ายเช็คทั้ง 17 ฉบับ พร้อมประทับตราสำคัญของบริษัทนั้น บริษัท ก. ลูกหนี้ได้สิ้นสภาพนิติบุคคลไปแล้ว แต่จำเลยทั้งสองยังถือโอกาสที่บริษัทเงินทุน ย. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่รู้ถึงการบอกเลิกบริษัทของตนนำเช็คที่สั่งจ่ายในนามของบริษัท ก. ไปขายลดให้แก่บริษัทเงินทุน ย. อีก ซึ่งการกระทำดังกล่าวจำเลยที่ 1 และที่ 3 ย่อมได้เงินจากการขายลดเช็ค โดยทราบดีว่าเจ้าหนี้ไม่อาจจะบังคับเอาจากบริษัท ก. ลูกหนี้ได้เพราะลูกหนี้ได้จดทะเบียนเลิกบริษัทไปก่อนแล้ว อันเป็นการฝ่าฝืนต่อ ป.พ.พ. มาตรา 5 ซึ่งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเช็คพิพาทเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้งสี่ได้ยกขึ้นให้การต่อสู้โจทก์ และจำเลยที่ 4 นำสืบในศาลชั้นต้นแล้วไม่ใช่ข้อเท็จจริงใหม่ที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาก่อน ศาลฎีกาจึงมีอำนาจนำข้อกฎหมายมาปรับวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตได้ จำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงไม่อาจอ้างการสิ้นสภาพบุคคลแห่งบริษัท ก. เป็นข้อแก้ตัวเพื่อให้ตนพ้นจากความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันได้ เพราะเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10751/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้าม – ฎีกาไม่ชัดแจ้ง – คำพิพากษาเกินฟ้อง – อำนาจศาลวินิจฉัยความสงบเรียบร้อย
ฎีกาของจำเลยทั้งสองล้วนคัดลอกอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองแบบคำต่อคำ เว้นแต่มีการแก้ไขชื่อของศาลจากศาลอุทธรณ์ภาค 4 เป็นศาลฎีกา เพื่อให้ตรงตามความจริงเท่านั้น ฎีกาของจำเลยทั้งสอง จึงมิได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ว่าไม่ถูกต้องหรือคลาดเคลื่อนอย่างไร และควรวินิจฉัยอย่างไร จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินครึ่งหนึ่งและขอให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่ง แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมจดทะเบียนโอนที่ดิน ระหว่างจำเลยทั้งสองเฉพาะส่วนของโจทก์สองในสามส่วน จึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้อง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 ปัญหาดังกล่าวเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246, 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9136/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีสมรสซ้อน และการรับฟังเอกสารหลักฐานการสมรสก่อน
ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ผู้คัดค้านจะมิได้ยกขึ้นกล่าวอ้างไว้ในคำคัดค้าน แต่เมื่อปัญหานี้ปรากฏตามคำร้องขอในสำนวน ผู้คัดค้านชอบจะหยิบยกขึ้นอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง และศาลอุทธรณ์ภาค 7 ต้องวินิจฉัยปัญหานี้ให้ตามมาตรา 240 วรรคหนึ่ง ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องจึงถือว่าได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 7 ผู้คัดค้านจึงชอบจะฎีกาปัญหานี้ได้ ตามมาตรา 249 วรรคหนึ่ง
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าการสมรสระหว่าง ก. กับผู้คัดค้านเป็นโมฆะ เนื่องจากเป็นการสมรสซ้อนกับการสมรสระหว่าง ก. กับผู้ร้อง ซึ่งมาตรา 1497 กำหนดให้บุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งจะกล่าวอ้างหรือจะร้องขอให้ศาลพิพากษาก็ได้ กรณีจึงเป็นเรื่องที่กฎหมายให้สิทธิบุคคลใช้สิทธิทางศาลได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ซึ่งตามมาตรา 171 กำหนดให้เสนอคดีได้ทั้งรูปคำฟ้องหรือคำร้องขอก็ได้แล้วแต่รูปเรื่องแห่งคดี และไม่ว่าจะเป็นการฟ้องคดีหรือการร้องขอก็ถือเป็นคำฟ้องเช่นกัน ผู้ร้องจึงมีอำนาจฟ้องด้วยการยื่นคำร้องขอตามมาตรา 171 ได้
ผู้ร้องนำสืบว่า ใบทะเบียนสมรสหาย ผู้ร้องขอคัดสำเนาโดยเจ้าพนักงานรับรองตามสำเนาทะเบียนสมรส เอกสารหมาย ร. 1 ตามที่ผู้ร้องได้ยื่นขอคัดข้อมูลทะเบียนครอบครัว เอกสารหมาย ร. 2 สำเนาทะเบียนสมรสดังกล่าวระบุว่า ผู้ร้องจดทะเบียนสมรสกับ ก. เป็นเอกสารมหาชนซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้นหรือรับรอง หรือสำเนาอันรับรองถูกต้องแห่งเอกสารนั้น ซึ่ง ป.วิ.พ. มาตรา 127 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง ผู้คัดค้านจึงมีหน้าที่นำสืบให้เห็นว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่เป็นจริงหรือไม่มีอยู่ การที่ผู้คัดค้านคาดคะเนว่าจะไม่เป็นจริง เพราะเหตุการณ์เกิดมานานแล้วเพิ่งจะคัดเอกสารนั้น เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่อาจหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าวได้ กรณีต้องฟังว่า ก. สมรสกับผู้ร้องอยู่แล้ว ผู้คัดค้านกับ ก. มาสมรสกันภายหลัง จึงเป็นสมรสซ้อนซึ่งเป็นโมฆะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6955/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องขับไล่บุคคลออกจากอสังหาริมทรัพย์: ข้อจำกัดการอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 และการไม่เป็นฟ้องซ้ำ
โจทก์และโจทก์ร่วมฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสามสิบออกจากที่ดินพิพาทและส่งมอบที่ดินคืนแก่โจทก์ร่วม อันเป็นคดีฟ้องขับไล่บุคคลออกจากอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งแม้ในคำฟ้องจะไม่ปรากฏว่าที่ดินที่จำเลยทั้งสามสิบแต่ละคนครอบครองนั้นโจทก์และโจทก์ร่วมอาจนำออกให้เช่าได้ในอัตราเดือนละเท่าใด แต่ปรากฏว่าโจทก์เช่าที่ดินทั้งหมดจากโจทก์ร่วมในราคา 450 บาท ต่อปี ดังนั้น คดีระหว่างโจทก์และโจทก์ร่วมกับจำเลยทั้งสามสิบในแต่ละคนจึงเป็นคดีฟ้องขับไล่บุคคลใด ๆ ออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ในขณะยื่นฟ้องไม่เกินเดือนละ 4,000 บาท ซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง การที่จำเลยทั้งสามสิบอุทธรณ์ว่า สัญญาเช่าที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับโจทก์ร่วมไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะโจทก์และโจทก์ร่วมทราบดีอยู่แล้วว่าจำเลยทั้งสามสิบเข้าไปปลูกไม้ดอกไม้ประดับในที่ดินพิพาทตามโครงการเฉลิมพระเกียรติของอำเภอตั้งแต่ปี 2540 อันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จะวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามสิบดังกล่าวมาก็เป็นการไม่ชอบ และถือว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว จำเลยทั้งสามสิบจึงฎีกาในปัญหานี้ต่อมาไม่ได้ ถือเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 3 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6586/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การผลิตเมทแอมเฟตามีนโดยแบ่งบรรจุเพื่อจำหน่าย: การปรับบทลงโทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดฯ มาตรา 65 วรรคสี่
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยผลิตเมทแอมเฟตามีนด้วยการแบ่งบรรจุเป็นถุงย่อย ๆ ถุงละ 20 เม็ด 8 ถุง 10 เม็ด 5 ถุง 8 เม็ด 1 ถุง 4 เม็ด 1 ถุง 1 เม็ด 1 ถุง และมีอีก 10 เม็ด รวม 223 เม็ด คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 4.905 กรัม จำเลยให้การรับสารภาพ จึงต้องฟังว่า จำเลยแบ่งบรรจุเมทแอมเฟตามีนใส่ในถุงตามฟ้อง จำเลยจะฎีกาโต้เถียงว่า ไม่ได้แบ่งบรรจุเมทแอมเฟตามีนหาได้ไม่ เพราะขัดกับคำรับสารภาพของจำเลยและเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยให้การปฏิเสธข้อหาดังกล่าวในศาลชั้นต้น เป็นข้อเท็จจริงที่เพิ่งจะยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา จึงต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15
ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 มาตรา 19 ยกเลิกความในมาตรา 65 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน โดยบัญญัติเพิ่มเติมให้มีวรรคสามและวรรคสี่ ซึ่งวุฒิสภาให้เหตุผลในการแก้ไขไว้ชัดเจนอันแสดงให้เห็นว่าเป็นการแก้ไขโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดให้มีบทความผิดและบทลงโทษสำหรับการกระทำความผิดฐานผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 โดยการแบ่งบรรจุ หรือรวมบรรจุไว้เป็นกรณีเฉพาะ แยกต่างหากจากบทความผิดและบทลงโทษ ฐานผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ในกรณีทั่วไปตามมาตรา 65 วรรคหนึ่งและวรรคสอง (ผลิตโดยการ เพาะ ปลูก ทำ ผสม ปรุง แปรสภาพ เปลี่ยนรูปสังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์) ซึ่งมีสภาพแห่งความผิดเป็นภัยร้ายแรงต่อสังคมมากกว่าการกระทำความผิดฐานผลิตยาเสพติดให้โทษ โดยการแบ่งบรรจุ หรือรวมบรรจุ ยิ่งกว่านั้นยังได้บัญญัติแก้ไขใหม่ไว้เป็น 2 กรณี กล่าวคือ มาตรา 65 วรรคสาม มุ่งใช้บังคับสำหรับการแบ่งบรรจุหรือรวมบรรจุยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ที่มีปริมาณไม่ถึงบทสันนิษฐานของมาตรา 15 วรรคสาม ส่วนวรรคสี่มุ่งใช้บังคับสำหรับการแบ่งบรรจุหรือรวมบรรจุยาเสพติดที่มีปริมาณเกินบทสันนิษฐานตามมาตรา 15 วรรคสาม ส่วนการที่มาตรา 65 วรรคสี่ บัญญัติว่า "ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคสาม เป็นการกระทำเพื่อจำหน่าย..." นั้น หมายถึง การกระทำความผิดฐานผลิตโดยการแบ่งบรรจุ หรือรวมบรรจุเท่านั้น ไม่ได้หมายความรวมไปถึงว่า จะต้องมีปริมาณไม่ถึงด้วยบทสันนิษฐานตามมาตรา 15 วรรคสาม ด้วยการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิด ฐานผลิตเมทแอมเฟตามีนโดยการแบ่งบรรจุเพื่อจำหน่ายและต้องได้รับโทษตามมาตรา 65 วรรคสี่
ปัญหาว่าการกระทำของจำเลยมีความผิดตามมาตรา 65 วรรคใด เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยไม่ฎีกาศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 7/2557)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5025/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาคดีถึงที่สุดหลังศาลฎีกายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ กรณีคำฟ้องอุทธรณ์ไม่ชอบ
การที่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 215 ประกอบมาตรา 158 (7) การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีมาจึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ฎีกาของจำเลยที่ 2 จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และยกอุทธรณ์ฎีกาของจำเลยที่ 2 เป็นกรณีศาลฎีกาได้วินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 2 แล้ว แม้จะไม่ได้วินิจฉัยเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 ตามที่จำเลยที่ 2 ฎีกาก็ตาม แต่ก็เป็นการวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 2 ในปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยว่า ฎีกาของจำเลยที่ 2 ชอบด้วยกฎหมายอันศาลฎีกาจะพึงรับวินิจฉัยหรือไม่ เมื่อศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยที่ 2 ฟังเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2553 คดีของจำเลยที่ 2 จึงถึงที่สุดในวันดังกล่าวตาม ป.วิ.อ. มาตรา 15 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1825/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับวินิจฉัยกรณีจำเลยให้การรับสารภาพแล้วมาฎีกาปฏิเสธความผิด และศาลยืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่พิสูจน์ความผิดจำเลย
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นลงโทษประหารชีวิต จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 ดังนั้น จำเลยที่ 1 จะกลับมาฎีกาว่ามิได้กระทำความผิดหาได้ไม่ เพราะเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพแล้ว ทั้งยังเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ในชั้นฎีกา ซึ่งเป็นปัญหาที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ฎีกาของจำเลยที่ 1 จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
of 70