คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 249 วรรคหนึ่ง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 691 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 500/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ประกันภัยรถยนต์: ความรับผิดของผู้รับประกันภัยแม้ผู้เอาประกันภัยมิได้เป็นผู้ขับขี่
แม้ปัญหาว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ จะเป็นปัญหาข้อกฎหมายก็ตาม แต่ก็ไม่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 2 ยกประเด็นดังกล่าวขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาว่าฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม จำเลยที่ 2 ไม่ได้อุทธรณ์หรือแก้อุทธรณ์เพื่อตั้งเป็นประเด็นไว้ จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิยกปัญหาดังกล่าวขึ้นฎีกาได้อีก เพราะถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และผู้ครอบครองรถบรรทุกคันเกิดเหตุที่ได้เอาประกันภัยค้ำจุนไว้กับจำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัย โดยวันเกิดเหตุลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ขับรถของจำเลยที่ 1 ไปส่งสินค้าให้แก่โจทก์ ย่อมถือได้ว่าลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ขับรถของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 2 รับประกันภัยโดยได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยเสมือนหนึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยเอง ตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 เมื่อลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ขับรถคันที่จำเลยที่ 2 รับประกันภัยถอยหลังชนซุ้มเสาประตูโรมันค้ำยันและรองรับระเบียงหน้าบ้านของโจทก์แตกหักเสียหาย โจทก์ซึ่งเป็นผู้ต้องเสียหายจึงชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนตามที่ตนควรจะได้นั้นจากจำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยโดยตรงตาม ป.พ.พ. มาตรา 887 วรรคสอง ซึ่งโจทก์สามารถฟ้องจำเลยที่ 2 ให้รับผิดได้โดยลำพัง เพียงแต่หากโจทก์ผู้ต้องเสียหายไม่ได้ฟ้องหรือเรียกตัวผู้เอาประกันภัยเข้ามาสู้คดีด้วย จะมีผลเพียงทำให้ผู้ต้องเสียหายไม่อาจเรียกค่าสินไหมทดแทนส่วนที่ยังขาดจากผู้เอาประกันภัยได้เท่านั้น หาได้มีผลถึงกับทำให้ผู้เอาประกันภัยไม่ต้องรับผิดต่อผู้ต้องเสียหายและทำให้ผู้รับประกันภัยหลุดพ้นความรับผิดไปด้วยไม่ คดีนี้ การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยรวมมากับจำเลยที่ ๒ ผู้รับประกันภัยโดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถบรรทุกคันเกิดเหตุ แต่ทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยที่ 1 มิได้เป็นผู้ขับรถบรรทุกคันเกิดเหตุเอง ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เนื่องจากไม่ได้เป็นไปตามคำฟ้องของโจทก์นั้น หาทำให้มูลหนี้อันเกิดจากการกระทำละเมิดของลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์ระงับสิ้นไปไม่ ความรับผิดของจำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างที่ลูกจ้างได้กระทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์ตามกฎหมายก็ยังคงมีอยู่ เพียงแต่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ผิดไปมีผลทำให้จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดตามฟ้องเท่านั้น ดังนั้น เมื่อความรับผิดของจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยยังคงมีอยู่ในขณะที่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์และขณะนั้นจำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยซึ่งมีความรับผิดตามตารางกรมธรรม์ประกันภัยอยู่ก่อนแล้ว จำเลยที่ 2 จึงหาหลุดพ้นความรับผิดไปด้วยไม่ จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนยังคงต้องผูกพันรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่ได้รับความเสียหาย กรณีหาใช่เรื่องมูลความแห่งคดีที่การชำระหนี้มิอาจแบ่งแยกกันได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยหลุดพ้นความรับผิดอันจะเป็นผลให้จำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยต้องหลุดพ้นไปจากความรับผิดแต่อย่างใดไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20031/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลอุทธรณ์จำกัดในคดีที่ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต และข้อจำกัดในการฎีกาประเด็นใหม่
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 245 วรรคสอง บัญญัติว่า คดีที่พิพากษาให้ลงโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิตนั้น หมายถึงโทษประหารชีวิตหรือโทษจำคุกตลอดชีวิตที่ศาลชั้นต้นลงโทษจริง ๆ แก่จำเลย หาใช่โทษที่ศาลชั้นต้นวางไว้ก่อนลดโทษให้แก่จำเลยไม่ เมื่อนี้ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฐานร่วมกันพยายามฆ่าเจ้าพนักงานตาม ป.อ. มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 80 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตาม ป.อ. มาตรา 90 ให้จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละตลอดชีวิต จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 25 ปี ดังนั้น เมื่อโจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้อุทธรณ์ในความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าเจ้าพนักงานและความผิดฐานร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน อีกทั้งไม่ปรากฏว่าความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าเจ้าพนักงานและความผิดฐานร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน กับความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกันอันศาลอุทธรณ์จะมีอำนาจพิจารณาพิพากษาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 ความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าเจ้าพนักงานและความผิดฐานร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ดังนั้น ศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจหยิบยกคดีในส่วนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าเจ้าพนักงานและความผิดฐานร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานขึ้นพิจารณาได้ การที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกความผิดฐานดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 3 จึงเป็นการไม่ชอบ และฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ว่า พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบไม่อาจรับฟังลงโทษจำเลยที่ 2 ได้ ขอให้ยกฟ้องในความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าเจ้าพนักงานและความผิดฐานร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานเช่นเดียวกับจำเลยที่ 3 นั้น จึงเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 2 ในส่วนความผิดดังกล่าวเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19392/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เช็คพิพาท: ผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายและผู้สลักหลังมีหน้าที่ผูกพันตามเช็ค แม้มีการเปลี่ยนแปลงมูลหนี้
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทห้าฉบับให้แก่โจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้สลักหลัง นำเช็คพิพาททั้งห้าฉบับดังกล่าวมาชำระหนี้เงินกู้และค่าสินค้าแก่โจทก์ แม้โจทก์จะนำสืบว่า จำเลยที่ 2 นำเช็คพิพาทดังกล่าวมาแลกเงินสดไปจากโจทก์ก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังยุติแล้วว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งห้าฉบับแก่โจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อและประทับตราสลักหลังเช็คทั้งหมดแล้วส่งมอบให้แก่โจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้ทรงเช็คพิพาททั้งห้าฉบับโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยทั้งสองจึงต้องผูกพันตามเนื้อความในเช็คนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 และมาตรา 921, 940 ประกอบมาตรา 989 แม้มูลหนี้ที่โจทก์รับเช็คดังกล่าวไว้ตามที่ปรากฏในทางพิจารณาจะแตกต่างจากคำฟ้องไปบ้าง ศาลก็ชอบที่จะพิพากษาให้จำเลยทั้งสองรับผิดชำระหนี้ตามเช็คพิพาททั้งห้าฉบับได้ หาได้เป็นกรณีที่พิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องไม่ จึงไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง
ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าโจทก์หักดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 2.5 ต่อวัน และมีการนำไปหักกลบลบหนี้ค่าสินค้าที่โจทก์ซื้อไปจากจำเลยที่ 2 ภาระการพิสูจน์ตกแก่จำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่อาจนำสืบได้ จึงต้องรับผิดชดใช้เงินตามเช็คแก่โจทก์นั้นเป็นการไม่ชอบ เนื้อหาของฎีกาส่วนดังกล่าวล้วนแต่คัดลอกข้อความในอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 มาทั้งสิ้น โดยมิได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบอย่างไร และด้วยเหตุผลใด จึงเป็นฎีกาไม่ชัดแจ้งต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19031/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับฟังพยานหลักฐาน (การ์ดบัญชี) แม้ไม่ปฏิบัติตามขั้นตอน ป.วิ.พ. หากศาลเห็นว่าจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม
โจทก์ไม่ได้บรรยายข้อเท็จจริงมาในฎีกาว่าจำเลยที่ 1 กระทำการใดขัดต่อบทบัญญัติของ ป.วิ.พ. มาตรา 88 อันจะทำให้ศาลรับฟังการ์ดบัญชีเป็นพยานหลักฐานไม่ได้ จึงเป็นฎีกาไม่ชัดแจ้งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
แม้จำเลยที่ 1 ไม่ส่งสำเนาการ์ดบัญชีให้แก่โจทก์ก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน อันเป็นการฝ่าฝืน ป.วิ.พ. มาตรา 90 แต่การ์ดบัญชีเป็นเอกสารสำคัญที่แสดงถึงการชำระค่าเช่าซื้อของจำเลยที่ 1 จึงเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี เมื่อศาลเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นจะต้องสืบพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี โดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติ มาตรา 90 ศาลก็มีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานเช่นว่านั้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12456/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงท้ากันทางกฎหมาย: ผลผูกพันตามข้อตกลงและการพิจารณาตามจริง
ข้อที่โจทก์อุทธรณ์และฎีกาว่า วิธีการตรวจสอบที่ตั้งของที่ดินพิพาทของนายอำเภอเขาค้อยังมีเหตุชวนให้น่าเคลือบแคลงสงสัยถึงความโปร่งใส และน่าจะมีการฉ้อฉลเกิดขึ้นในขั้นตอนดังกล่าวนั้น มิใช่เป็นการกล่าวอ้างว่าการตกลงท้ากันเกิดจากการฉ้อฉลของจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 138 วรรคสอง (1) เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 6 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อนี้ จึงไม่ก่อสิทธิแก่โจทก์ที่จะฎีกาปัญหาดังกล่าวต่อมาอีก เพราะเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 6 ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
เมื่อคู่ความตกลงท้ากันว่า ให้นายอำเภอเข้าค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ ตรวจสอบที่ดินพิพาทในส่วนของจำเลยที่ 1 ตามแผนที่วิวาทว่า ตั้งอยู่ในเขตตำบลแคมป์สนหรือตำบลทุ่งเสมอ อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ หากนายอำเภอเขาค้อตรวจสอบแล้วที่ดินตั้งอยู่ในเขตแคมป์สน โจทก์ยอมรับข้อเท็จจริงตามคำให้การของจำเลยทั้งสองและยอมแพ้คดี แต่หากที่ดินตั้งอยู่ในเขตตำบลทุ่งสมอ จำเลยทั้งสองยอมรับข้อเท็จจริงตามคำฟ้องโจทก์และยอมแพ้คดี เมื่อนายอำเภอเขาค้อตรวจสอบที่ดินของจำเลยที่ 1 (แปลงหมายเลข 2) แล้วน่าเชื่อว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตตำบลแคมป์สน ย่อมมีลักษณะที่เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงสมตามคำท้าของจำเลยทั้งสองว่า ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตแคมป์สน โจทก์จึงต้องเป็นฝ่ายแพ้คดีตามคำท้า แม้นายอำเภอเขาค้อจะใช้คำว่า "น่าเชื่อว่า" ก็หาใช่เป็นเพียงความเห็นที่ยังมิได้เป็นตามเงื่อนไขตามคำท้า ในอันที่ศาลชั้นต้นจะต้องดำเนินกระบวนพิจารณาฟังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่ตั้งของที่ดินและมีคำพิพากษาใหม่ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5452/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาห้าม กรณีจำเลยไม่โต้แย้งประเด็นความประมาทในชั้นอุทธรณ์แล้วมาฎีกาใหม่ โดยอ้างคำพิพากษาคดีอาญา
การพิพากษาคดีส่วนแพ่งที่ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 นั้น เป็นกรณีที่ศาลในคดีส่วนแพ่งจะต้องวินิจฉัยชี้ขาดข้อเท็จจริงในประเด็นที่คู่ความยังคงโต้แย้งกันอยู่และเป็นประเด็นเดียวกันกับที่ศาลในคดีส่วนอาญาจะต้องวินิจฉัย ทั้งนี้เพื่อให้การรับฟังข้อเท็จจริงอย่างเดียวกันเป็นไปในทางเดียวกัน เมื่อคดีในส่วนอาญาศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยมีส่วนกระทำการโดยประมาท คดีส่วนแพ่งจึงต้องรับฟังข้อเท็จจริงตามและพิพากษาให้จำเลยชำระค่าเสียหายตามสัดส่วนแห่งความประมาทของตน การที่จำเลยอุทธรณ์โต้แย้งเฉพาะดุลพินิจในการกำหนดค่าเสียหาย โดยมิได้อุทธรณ์ว่าจำเลยมิได้มีส่วนประมาทด้วยแต่อย่างใด แม้ต่อมาความจะปรากฏว่าศาลอุทธรณ์ภาค 6 ในคดีส่วนอาญาได้พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยก็ตาม จำเลยก็ไม่อาจจะฎีกาได้ เนื่องจากประเด็นดังกล่าวได้ยุติไปแล้วตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ทั้งเป็นการต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5181/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ใบเสนอราคาไม่ผูกพันสัญญา หากผู้ซื้อไม่ปฏิบัติตามข้อสาระสำคัญ และไม่มีมูลฟ้อง
จำเลยทำใบเสนอราคาคอนกรีตเทรองพื้นและคอนกรีตโครงสร้างต่อโจทก์มีการระบุถึงรายละเอียดของรายการสินค้าประเภทคอนกรีตเทรองพื้นและคอนกรีตโครงสร้างพร้อมราคาไว้ และจำเลยยังระบุเงื่อนไขเพื่อประกอบการพิจารณาของโจทก์ไว้รวม 9 ข้อ ในใบเสนอราคาดังกล่าว โดยข้อ 4 ระบุถึงการติดตั้งเครื่องผสมคอนกรีต ณ หน้างานก่อสร้าง กำหนดติดตั้งแล้วเสร็จ 30 วัน นับจากวันทำสัญญา และในข้อ 9 ระบุถึงการที่ผู้ซื้อมีเหตุจำเป็นต้องซื้อคอนกรีตจากผู้ขายรายอื่นเนื่องจากเหตุที่ผู้ขายไม่สามารถให้บริการได้ ผู้ขายยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ซื้อในอัตราค่าเสียหายตามความเป็นจริง ซึ่งในข้อ 4 และข้อ 9 นี้เท่านั้นที่ได้กล่าวถึงสัญญาและสัญญาซื้อขายไว้ แม้จะมิได้ระบุว่าสัญญาและสัญญาซื้อขายจะต้องทำเป็นหนังสือกันในภายหลังดังที่โจทก์ฎีกาก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาใบเสนอราคาดังกล่าวในข้อ 7 ที่ระบุให้ผู้ซื้อซึ่งหมายถึงโจทก์ต้องออกหนังสือค้ำประกันของธนาคารเท่ากับมูลค่า 2,000,000 บาท โดยผู้ขายเป็นผู้รับผิดชอบค่าธรรมเนียมธนาคารที่เกิดขึ้นด้วย แต่โจทก์กลับมิได้นำสืบให้เห็นว่าโจทก์ได้ปฏิบัติตามใบเสนอราคาในข้อ 7 นี้ โดยขอออกหนังสือค้ำประกันของธนาคารตามวงเงินประกันแต่อย่างใดและแสดงให้เห็นว่า โจทก์เองก็มิได้ตกลงโดยยินยอมที่จะผูกพันและปฏิบัติตามใบเสนอราคาดังกล่าวทั้งหมดทุกข้อ ที่โจทก์ให้จำเลยปฏิบัติตามใบเสนอราคาเฉพาะในข้อ 9 ซึ่งเป็นประโยชน์แก่โจทก์ แต่กลับไม่ยอมปฏิบัติตามใบเสนอราคาในข้อ 7 ซึ่งเป็นข้อสาระสำคัญที่จำเลยได้แสดงไว้โดยชัดแจ้งว่า โจทก์จะต้องตกลงด้วยในข้อนี้ การที่โจทก์ยังมิได้ขอออกหนังสือค้ำประกันของธนาคารตามใบเสนอราคาข้อ 7 นี้ จึงยังถือไม่ได้ว่าโจทก์และจำเลยได้ตกลงตามใบเสนอราคากันทั้งหมดทุกข้อแล้ว ใบเสนอราคาที่จำเลยทำถึงโจทก์เป็นเพียงการทำความเข้าใจกันกับโจทก์ไว้เฉพาะบางสิ่งบางอย่างในเบื้องต้นเท่านั้น ถึงแม้ว่าจะได้ระบุไว้ก็หาเป็นการผูกพันจำเลยไม่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 366 วรรคหนึ่งและวรรคสอง การที่โจทก์ซื้อคอนกรีตจากจำเลยเรื่อยมา ก็เป็นเพียงการซื้อขายสินค้าเฉพาะสิ่งตามรายการที่มีการส่งมอบให้แก่กันเป็นคราว ๆ ไปเท่านั้น มิได้เป็นคำสนองเข้ารับทำสัญญาตามใบเสนอราคาดังกล่าว
โจทก์ว่าจ้าง ส. เป็นผู้ดำเนินการรื้อถอนและปรับพื้นที่ในส่วนที่จำเลยก่อสร้างขึ้นเพื่อผลิตคอนกรีตส่งให้แก่โจทก์เพื่อส่งมอบพื้นที่ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นเงิน 70,000 บาท เมื่อตามใบเสนอราคาข้อ 4 ระบุถึงการติดตั้งเครื่องผสมคอนกรีต ณ หน้างานก่อสร้าง กำหนดติดตั้งแล้วเสร็จ 30 วัน นับจากวันทำสัญญา แสดงให้เห็นว่าจำเลยก่อสร้างหรือติดตั้งเครื่องผสมคอนกรีตขึ้นโดยได้รับความยินยอมจากโจทก์ ต่อมาโจทก์ไม่ได้ยินยอมให้จำเลยอยู่บนพื้นที่ที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะอยู่และต้องรื้อถอนสิ่งก่อสร้างออกไป แต่โจทก์กลับว่าจ้าง ส. รื้อถอนสิ่งก่อสร้างออกไป โดยจำเลยมิได้ตกลงว่าจะเป็นฝ่ายเสียค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ให้แก่โจทก์ จำเลยจึงไม่มีความรับผิดตามสัญญาที่จะต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ แม้จำเลยจะขาดนัดยื่นคำให้การก็ตาม แต่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 198 ทวิ วรรคหนึ่ง ศาลจะมีคำพิพากษาชี้ขาดให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีโดยจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การมิได้ เว้นแต่ศาลเห็นว่า คำฟ้องของโจทก์มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย ในการนี้ศาลจะยกขึ้นอ้างโดยลำพังซึ่งข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนก็ได้ เมื่อคดีโจทก์ไม่มีมูลให้รับฟังได้ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยให้รับผิดตามสัญญา ซึ่งปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง
โจทก์ฎีกาขอให้จำเลยคืนหนังสือสัญญาค้ำประกันของธนาคาร 600,000 บาท ที่จำเลยยึดถือไว้คืนแก่โจทก์ ก็ไม่ปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์ว่าเป็นหนังสือสัญญาค้ำประกันที่จำเลยได้ยึดถือไว้เกี่ยวด้วยกับใบเสนอราคาหรือไม่อย่างไร จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่าง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2569/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจะซื้อจะขาย, การบอกเลิกสัญญา, การคืนเงินมัดจำและราคาที่ชำระแล้ว, สิทธิและหน้าที่ของคู่สัญญา
การที่โจทก์จองซื้อที่ดินและอาคารพาณิชย์จากจำเลย 2 แปลง คือแปลงหมายเลข 1314 และ 1315 โดยวางเงินจองไว้แปลงละ 100,000 บาท ย่อมถือได้ว่าเป็นการให้มัดจำและเป็นหลักฐานว่าได้ทำสัญญากันแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 377 แม้ตามใบจองซื้อที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์จะมีข้อความว่าให้ทำสัญญาเป็นหนังสือต่อกัน และโจทก์จำเลยยังไม่ได้ทำก็ตาม แต่ใบจองดังกล่าวระบุราคาขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ไว้ และระบุว่าวางเงินจองจำนวน 100,000 บาท กับระบุค่าโอนกรรมสิทธิ์ให้จำเลยเป็นผู้ชำระ ซึ่งแสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์จำเลยว่าตกลงจะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์กันต่อไป กรณีจึงมีสาระสำคัญครบถ้วนเป็นสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ระหว่างโจทก์กับจำเลย ดังนั้น ใบจองซื้อที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ทั้งสองแปลงจึงเป็นสัญญาจะซื้อจะขาย
ข้อเท็จจริงที่ยกขึ้นอ้างในฎีกา ถือได้ว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ระหว่างโจทก์จำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อหนี้ที่ต่างต้องชำระมิได้กำหนดเวลาไว้แน่นอน ต่างฝ่ายย่อมเรียกให้อีกฝ่ายหนึ่งชำระหนี้ได้โดยพลัน โดยกำหนดระยะเวลาพอสมควร บอกกล่าวให้อีกฝ่ายชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนดขึ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 ประกอบมาตรา 369 การที่จำเลยมีหนังสือบอกกล่าวนัดโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์แปลงหมายเลข 1314 โดยกำหนดระยะเวลาพอสมควรให้โจทก์ชำระหนี้ แต่โจทก์เพิกเฉย จำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ จำเลยมีสิทธิรับเงินมัดจำ จำนวน 100,000 บาท ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 378 (2) ส่วนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแปลงหมายเลข 1315 จำเลยบอกเลิกสัญญาโดยมิได้บอกกล่าวให้โจทก์ชำระหนี้ก่อนจึงไม่ชอบตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 เมื่อทั้งสองฝ่ายต่างบอกเลิกสัญญาต่อกัน แม้ไม่มีฝ่ายใดผิดสัญญาตามพฤติการณ์ แสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์จำเลยว่าสมัครใจที่จะเลิกสัญญาต่อกันโดยปริยาย สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์แปลงหมายเลข 1315 จึงไม่มีผลผูกพันกันต่อไป กรณีไม่มีฝ่ายใดผิดสัญญา จำเลยจึงไม่มีสิทธิรับเงินมัดจำจำนวน 100,000 บาท
สำหรับเงินค่าทำสัญญาที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์สองแปลง เป็นเงินแปลงละ 100,000 บาท รวมเป็นเงิน 200,000 บาท นั้น ไม่ใช่มัดจำ แต่เป็นการชำระราคาค่าที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์บางส่วน เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายเลิกกันแล้ว คู่กรณีต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม ส่วนเงินที่จะต้องใช้คืนแก่กันให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วยคิดแต่เวลาที่ได้รับไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่งและวรรคสอง จำเลยจึงต้องคืนเงินมัดจำตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์แปลงหมายเลข 1315 และราคาที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ทั้งสองแปลงบางส่วนดังกล่าวที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยไว้พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 เมษายน 2545 อันเป็นวันที่รับไว้เป็นต้นไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 532/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์คำพิพากษาตามยอมที่ศาลชั้นต้นรับไว้ ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่าเหตุอุทธรณ์ไม่เข้าข้อยกเว้นตามกฎหมาย จึงยกฎีกา
คำว่า "ฉ้อฉล" ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ให้ความหมายว่า ใช้อุบายหลอกลวงโดยเอาความเท็จมากล่าวเพื่อให้เขาหลงผิด ดังนั้นข้ออ้างตามอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 6 ที่ว่า จำเลยร้องไห้โอดครวญ ก้มลงกราบเท้าโจทก์ที่ 1 และพูดจาหว่านล้อมโจทก์ที่ 1 ให้ช่วยพูดขอร้องโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 และที่ 6 ให้ยกที่ดินพิพาทแก่จำเลย และจำเลยจะจ่ายเงิน 5,000,000 บาท เป็นค่าตอบแทน หากไม่ยอมทำตามจำเลยจะฆ่าตัวตายทันทีนั้น จึงมิใช่เป็นการฉ้อฉล โจทก์ที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 6 ไม่อาจอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 138 วรรคสอง ส่วนอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 6 ที่ว่า โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 6 มิได้เข้าร่วมไกล่เกลี่ยด้วย เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนนั้น ก็หาใช่เป็นการกล่าวอ้างว่าคำพิพากษาตามยอมของศาลชั้นต้นละเมิดต่อบทบัญญัติของกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนไม่ จึงไม่เข้าเหตุหนึ่งเหตุใดตามข้อยกเว้นใน ป.วิ.พ. มาตรา 138 วรรคสอง ที่จะอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นได้ ที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 6 มา และศาลอุทธรณ์ภาค 5 รับวินิจฉัยให้เป็นการไม่ชอบ ถือว่าปัญหาดังกล่าวเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 5 โจทก์ที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 6 ย่อมไม่มีสิทธิฎีกาปัญหาดังกล่าวต่อมาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 370/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การไม่รับฎีกาเนื่องจากศาลอุทธรณ์วินิจฉัยโดยอาศัยอำนาจ ม.245 วรรคสอง แม้จำเลยยื่นอุทธรณ์เกินกำหนด
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 4 ตลอดชีวิต จำเลยที่ 4 ยื่นอุทธรณ์เกินกำหนด ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 4 เมื่อคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้พิจารณาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 245 วรรคสอง สำหรับจำเลยที่ 4 ด้วย แล้วพิพากษาแก้เฉพาะในส่วนการริบของกลาง เท่ากับศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืนในส่วนความผิดและโทษตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ยกคดีขึ้นวินิจฉัยโดยอาศัยอำนาจตาม ป.วิ.อ. มาตรา 245 วรรคสอง มิได้วินิจฉัยเพราะจำเลยที่ 4 อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืนข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยที่ 4 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ จึงเป็นอันถึงที่สุดตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 4 จึงไม่มีสิทธิยื่นฎีกา
of 70