คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 ม. 59 (1)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6845/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งทางทะเลตาม พรบ.รับขนฯ และข้อจำกัดการอุทธรณ์ในคดีทรัพย์สินทางปัญญา
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรับฟังพยานหลักฐานในสำนวน ไม่ถูกต้อง พยานบุคคลหรือพยานเอกสารไม่มีข้อใดที่บ่งชี้ได้ถึงขนาดที่ศาลจะรับฟังได้ว่า สินค้าพิพาทในคดีนี้เสียหาย หรือความเสียหายได้เกิดขึ้นในระหว่างที่สินค้าอยู่ในความดูแลของจำเลย และจำเลยซึ่งเป็นผู้ขนส่งอื่นได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่สินค้าพิพาท เป็นการอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับพยานหลักฐานของศาลอันเป็นปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน 200,000 บาท อุทธรณ์ดังกล่าวของจำเลยจึงต้องห้ามตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและ การค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 41
เมื่อจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งและจำเลยที่ 3 ผู้ขนส่งอื่นต้องร่วมกันรับผิดเพื่อความเสียหายแก่สินค้าพิพาทและ ตามใบตราส่งสินค้าพิพาทซึ่งจำเลยที่ 1 ออกให้แก่ผู้ส่งของระบุว่าสินค้าพิพาทเป็นเคมีภัณฑ์สำหรับผลิตแชมพูจำนวน 34 ถัง และ 10 ถังตามลำดับ จึงเป็นกรณีที่มีการระบุจำนวนและลักษณะของหน่วยการขนส่งไว้ในใบตราส่ง ต้องถือว่า สินค้าพิพาทมีจำนวนหน่วยการขนส่งเป็นถังตามที่ระบุไว้ ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ. การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 59 (1) ส่วนใบตราส่งที่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ขนส่งอื่นออกให้แก่บริษัท ฮ. ซึ่งเป็นผู้ขนส่งอื่นที่มาว่าจ้างจำเลยที่ 3 ให้ขนส่งสินค้าพิพาทอีกทอดหนึ่ง เป็นใบตราส่งที่ออกให้ระหว่าง ผู้ขนส่งอื่นด้วยกัน หาอาจนำมาใช้ยันผู้ส่งของได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 961/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับขนทางทะเล: การกำหนดหน่วยการขนส่ง, ข้อจำกัดความรับผิด, และการร่วมรับผิดของลูกหนี้
ใบตราส่งสินค้าตามฟ้อง แม้จะระบุถึงการบรรจุของในตู้คอนเทนเนอร์ 1 ตู้ก็ตาม แต่ก็ระบุว่าสินค้าของโจทก์บรรจุในกล่อง (Packages) จำนวน 7 กล่องหรือลังอันเข้าลักษณะเป็นหน่วยการขนส่งตามบทวิเคราะห์ศัพท์ในมาตรา 3 ของ พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 จึงเป็นกรณีใบตราส่งระบุจำนวนและลักษณะของหน่วยการขนส่งที่รวมกันนั้นไว้ในใบตราส่งตู้สินค้า (container) จำนวน 1 ตู้ ในกรณีนี้จึงมิใช่หน่วยการขนส่งแต่อย่างใด ส่วนจำนวนม้วนนั้นเป็นเพียงลักษณะของสินค้าแต่ละชิ้นเท่านั้น มิใช่หน่วยการขนส่งเช่นกัน ดังนั้น จึงถือว่าสินค้าที่มอบให้ผู้ขนส่งทำการขนส่งทั้งหมดมีจำนวน 7 หน่วยการขนส่ง
สินค้าที่เสียหายตามคำฟ้องว่ามีเพียง 2 หน่วยการขนส่งเป็นสินค้าที่เสียหาย 258 ม้วน น้ำหนัก 614.04 กิโลกรัม คิดข้อจำกัดความรับผิดตามน้ำหนักสินค้า 30 บาทต่อ 1 กิโลกรัม ได้ 18,421.20 บาท แต่คิดตามหน่วยการขนส่งได้ 10,000 บาท ต่อ 1 หน่วยการขนส่ง จากสินค้าที่เสียหาย 2 หน่วยการขนส่ง เป็นเงิน 20,000 บาท ซึ่งมากกว่าข้อจำกัดความรับผิดคิดตามน้ำหนักดังกล่าว จึงถือว่ามีข้อจำกัดความรับผิด 20,000 บาท แม้สินค้าของโจทก์ที่เสียหายมีมูลค่า 65,208.89 บาท จำเลยที่ 3 ก็รับผิดจำกัดเพียง 20,000 บาท ตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 58 วรรคหนึ่งและมาตรา 59 (1) และเมื่อจำเลยที่ 3 ผู้ขนส่งอื่นต้องรับผิดต่อโจทก์เพียง 20,000 บาท แล้ว แม้จำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งซึ่งศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ร่วมรับผิดเป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 3 มิได้ฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็มีอำนาจพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 1 ได้เพราะเป็นเรื่องการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบด้วยมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7622/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หน่วยการขนส่งทางทะเล: การคำนวณค่าเสียหายตาม พ.ร.บ.รับขนฯ โดยเทียบหน่วยการขนส่งและน้ำหนัก
พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 3บัญญัติคำนิยามคำว่า "ภาชนะขนส่ง" หมายความว่า ตู้สินค้าไม้รองสินค้า หรือสิ่งอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกันซึ่งใช้บรรจุหรือรองรับของ หรือใช้รวมหน่วยการขนส่งของหลายหน่วยเข้าด้วยกันเพื่อประโยชน์ในการขนส่งทางทะเล และคำว่า"หน่วยการขนส่ง" หมายความว่า หน่วยแห่งของที่ขนส่งทางทะเลซึ่งนับเป็นหนึ่ง และแต่ละหน่วยอาจทำการขนส่งไปตามลำพังได้เช่น กระสอบ ชิ้น ถัง ตู้ ม้วน ลัง ลูก ห่อ หีบ อัน หรือหน่วยที่เรียกชื่ออย่างอื่น สินค้าพิพาทบรรจุอยู่ในถุงพลาสติกและมีเชือกรัดปากถุงไว้ และบรรจุอยู่ในถังกระดาษไฟเบอร์มีฝาเหล็กปิดโดยรอบแล้วใช้นอตขันห่วงให้ยึดไว้ แต่ละถังบรรจุของหนัก 25 กิโลกรัม รวม 375 ถัง บรรจุรวมอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์เดียว และตามใบตราส่งเอกสารหมาย จ.2 หรือล.2 ในช่อง "คำพรรณนาสินค้า" ระบุว่า ตู้คอนเทนเนอร์ 1x20 ฟุตบรรจุอาหารสัตว์ 375 ถัง ฯลฯ จึงเป็นการแสดงว่าแต่ละถังที่บรรจุสินค้าคือยารักษาไก่ มีสภาพสามารถทำการขนส่งไปตามลำพังได้ จึงถือว่า แต่ละถังที่บรรจุสินค้าพิพาทเป็น"หนึ่งหน่วยขนส่ง" ตามคำนิยามในมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ส่วนตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรจุสินค้าพิพาทดังกล่าวถือเป็นภาชนะขนส่ง การคำนวณค่าเสียหาย ที่จำเลยจะต้องรับผิดจึงต้องคำนวณตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 58 วรรคหนึ่งประกอบด้วยมาตรา 59(1) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว เมื่อเปรียบเทียบจำนวนเงินค่าเสียหายโดยใช้หน่วยการขนส่งของสินค้าพิพาทเป็นหลักเกณฑ์ในการคิดคำนวณจะมากกว่าจำนวนเงินค่าเสียหายโดยใช้น้ำหนักแห่งสินค้าพิพาทเป็นเกณฑ์ในการคำนวณ จำเลยจึงต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายในจำนวนเงินที่มากกว่าตามมาตรา 58 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยมาตรา 59(1)