คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ไปรษณีย์นิเทศ พ.ศ.2534 ข้อ 573

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 946/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ทางไปรษณีย์ และการนับระยะเวลาฟ้องคดีภาษีอากร
การส่งหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์โดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ กระทำได้ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 8 วรรคแรก และจะถือว่าโจทก์ได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อใดต้องนำไปรษณียนิเทศ พ.ศ. 2534 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจ ตามความในมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติไปรษณีย์ พ.ศ. 2477 และมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2519 ที่ใช้บังคับในขณะเกิดข้อพิพาทมาใช้บังคับ ไปรษณียนิเทศดังกล่าวข้อ 572 กำหนดว่า "สิ่งของส่งทางไปรษณีย์ อาจนำจ่ายให้แก่ผู้รับหรือผู้แทนของผู้รับก็ได้" ข้อ 573 กำหนดว่า"ในกรณีนำจ่าย ณ ที่อยู่ของผู้รับ การสื่อสารแห่งประเทศไทยถือว่าบุคคลต่อไปนี้เป็นผู้แทนของผู้รับคือ มาตรา 573.4 ผู้ทำหน้าที่เวรรับส่งหรือเวรรักษาการณ์ของหน่วยงานต่าง ๆ เช่น บริษัท กรม กอง สำนักงาน โรงเรียน หน่วยทหารเป็นต้น"และข้อ 575 กำหนดว่า "สิ่งของส่งทางไปรษณีย์ที่นำจ่ายให้แก่ ผู้แทนของผู้รับ ให้ถือว่าได้นำจ่ายให้แก่ผู้รับแล้วนับแต่วันเวลา ที่นำจ่าย" ดังนั้น แม้ส. จะไม่ได้เป็นพนักงานของโจทก์และไม่มีหน้าที่รับจดหมายหรือเอกสารแทนโจทก์ แต่ส. ได้ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่สำนักงานของโจทก์ในวันหยุดทำงาน จึงเป็นการทำหน้าที่เป็นเวรรักษาการณ์ของสำนักงานโจทก์นั่นเอง เมื่อส.ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จากพนักงานการสื่อสารแห่งประเทศไทยแล้วตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2540 ย่อมถือได้ว่าส.เป็นผู้แทนโจทก์และหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ได้นำจ่ายให้แก่ผู้รับคือโจทก์ตั้งแต่ วันดังกล่าว ตามไปรษณียนิเทศ ข้อ 573.4 และ ข้อ 575 ดังกล่าวข้างต้น มาตรา 30(2) แห่งประมวลรัษฎากร บัญญัติให้อุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ต่อศาลภายในกำหนด 30 วันนับแต่วันได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ มิใช่นับแต่วันที่ทราบคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ดังนั้นเมื่อโจทก์ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ในวันที่ 27 ธันวาคม 2540 แม้โจทก์จะทราบคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ในวันที่ 29 ธันวาคม 2540 โจทก์ก็ต้องอุทธรณ์ต่อศาลหรือ ฟ้องคดีขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าว ภายในวันที่ 26 มกราคม 2541 หากมีพฤติการณ์พิเศษเป็นเหตุ ให้โจทก์ไม่สามารถอุทธรณ์ต่อศาลภายในกำหนดเวลาดังกล่าวได้ โจทก์ต้องยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาต่อศาลก่อนระยะเวลา ดังกล่าวสิ้นสุดลง เว้นแต่กรณีที่มีเหตุสุดวิสัยตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ประกอบมาตรา 17แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรพ.ศ. 2528 การที่ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลายื่นฟ้องตามคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฟ้องคดีของโจทก์ลงวันที่ 28 มกราคม 2541 ซึ่งเกินกำหนด 30 วันนับแต่วันได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวโดยสำคัญผิดว่าโจทก์ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2540จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเป็นการอนุญาตให้ขยายระยะเวลาฟ้องคดีต่อศาลหลังจากสิ้นระยะเวลาตามกฎหมาย แล้ว โดยมิได้มีเหตุสุดวิสัยแต่อย่างใดโจทก์จึงไม่อาจอาศัย คำสั่งอนุญาตดังกล่าวมาฟ้องคดีนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5103/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับหนังสือแจ้งภาษีโดยผู้แทนตามกฎหมายไปรษณีย์ และผลต่อการนับระยะเวลายื่นอุทธรณ์
การส่งหนังสือแจ้งให้เสียภาษีอากร มาตรา 8 วรรคหนึ่งแห่งประมวลรัษฎากร บัญญัติให้ส่งได้ 2 วิธี คือ วิธีส่ง โดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับและวิธีให้เจ้าพนักงานสรรพากรนำไปส่งเฉพาะวิธีให้เจ้าพนักงานสรรพากรนำไปส่ง ถ้าไม่พบ ผู้รับ ณ ภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่หรือสำนักงานของผู้รับจะส่งให้แก่บุคคลใดซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วและอยู่หรือทำงานในบ้านหรือสำนักงานที่ปรากฏว่าเป็นของผู้รับก็ได้ ส่วนการส่งหนังสือแจ้งให้เสียภาษีอากรทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับมาตรา 8 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร มิได้บัญญัติว่าในกรณีที่ไม่พบผู้รับจะส่งให้แก่บุคคลใดซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วก็ได้ ดังนั้น การส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับจึงอยู่ในบังคับของไปรษณียนิเทศ พ.ศ. 2534 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติไปรษณีย์ พ.ศ. 2477และมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทยพ.ศ. 2519 ข้อกำหนดในไปรษณียนิเทศดังกล่าวมิได้กำหนดอายุผู้แทนของผู้รับสิ่งของส่งทางไปรษณีย์ไว้ ดังนั้นบุคคลซึ่งอยู่ในบ้านเรือนเดียวกันกับผู้รับแม้ยังไม่บรรลุนิติภาวะก็เป็นผู้แทนของผู้รับได้ กรณีไม่อาจนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 73 ทวิ และ 76มาอนุโลมใช้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8218/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภูมิลำเนา, การส่งหนังสือแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์, และการฟ้องคดีที่เกินกำหนดเวลา
ตามสำเนาทะเบียนบ้านเลขที่ 144 ถนนราชเสียงแสน ตำบลหายยา อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ระบุว่าโจทก์มีชื่อเป็นเจ้าของบ้านตั้งแต่ปี 2509 ตลอดมา ซึ่งตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 มาตรา 29ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าโจทก์อยู่และมีภูมิลำเนาอยู่ ณ ที่นั้นแต่โจทก์ไม่สามารถพิสูจน์หักล้างข้อสันนิษฐานข้างต้นได้กลับปรากฎว่าโจทก์ยอมรับว่า คำวินิจฉัยอุทธรณ์ส่งไปที่บ้านภรรยาเดิมของโจทก์ที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อโจทก์เดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่ โจทก์จึงทราบคำวินิจฉัยอุทธรณ์ กรณีถือว่าบ้านดังกล่าวเป็นภูมิลำเนาของโจทก์ ดังนั้น ถึงแม้จะรับฟังว่า โจทก์มีที่อยู่และที่ทำงานที่บ้านเลขที่ 542/94ถึง 97 ถนนรัชดาภิเษก แขวงลาดยาว เขตจตุจักรกรุงเทพมหานคร อีกแห่งหนึ่งก็ดี ต้องถือว่าโจทก์มีถิ่นที่อยู่2 แห่ง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 38 ดังนั้นบ้านเลขที่ 144 ดังกล่าวจึงเป็นภูมิลำเนาแห่งหนึ่งของโจทก์ตามกฎหมาย การที่จะเป็นภูมิลำเนาเฉพาะการดังที่โจทก์อ้าง โจทก์จะต้องแสดงเจตนาชัดแจ้งว่าเลือกเอาบ้านเลขที่ 542/94 ถึง97 เป็นภูมิลำเนาเฉพาะการดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 42 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่ไม่ปรากฎว่าโจทก์แสดงเจตนาชัดแจ้งเช่นที่กล่าว จึงถือไม่ได้ว่าบ้านเลขที่ 542/94 ถึง 97เป็นภูมิลำเนาเฉพาะการของโจทก์ อีกทั้งปรากฎตามคำรับรองตอนท้ายคำอุทธรณ์รายนี้ของโจทก์มีข้อความระบุไว้ชัดเจนว่าอุทธรณ์ฉบับนี้ โจทก์อยู่บ้านเลขที่ 144 ถนนราชเชียงแสนตำบลหายยา อำเภอเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้เรียงและโจทก์ผู้อุทธรณ์ก็ลงลายมือชื่อในช่องผู้เรียง ผู้พิมพ์ไว้อีกด้วย ดังนี้ เมื่อมีการส่งหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไปถึงโจทก์ตามภูมิลำเนาที่บ้านเลขที่ 144 จึงเป็นการส่งไปยังผู้อุทธรณ์ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 34 แห่ง ประมวลรัษฎากรแล้ว การส่งหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ในคดีนี้เป็นการส่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ กรณีต้องบังคับตามไปรษณีย์นิเทศ พ.ศ. 2534 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติไปรษณีย์ พ.ศ. 2477 และ มาตรา 4แห่งพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2519 ซึ่งใช้บังคับขณะพิพาทกันในคดีนี้ โดยข้อ 572 กำหนดว่า "สิ่งของส่งทางไปรษณีย์อาจนำจ่ายให้แก่ผู้รับหรือผู้แทนของผู้รับก็ได้" ข้อ 573 กำหนดว่า "ในกรณีนำจ่าย ณ ที่อยู่ของผู้รับกสท. ถือว่าบุคคลต่อไปนี้เป็นผู้แทนของผู้รับ คือ 573.1บุคคลซึ่งอยู่ในบ้านเรือนเดียวกันกับผู้รับ เช่น พ่อ แม่พี่ น้อง ลุง ป้า น้า อา ลูก หลาน ผู้อาศัย คนรับใช้เป็นต้น" เท่านั้น หาได้กำหนดอายุผู้แทนของผู้รับไว้ไม่เมื่อจำเลยได้แจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์โดยส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ และผู้แทนของผู้รับซึ่งอยู่ในบ้านโจทก์รับไว้เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2535 กรณีเช่นนี้ตามไปรษณีย์นิเทศฉบับดังกล่าว ข้อ 575 ให้ถือว่าได้นำจ่ายให้แก่ผู้รับแล้วนับแต่วันเวลาที่นำจ่าย จึงถือว่าโจทก์ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์รายนี้ตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2535 แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2536 จึงพ้นกำหนดเวลา 30 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์อันขัดต่อบทบัญญัติมาตรา 30 แห่งประมวลรัษฎากร โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง