พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1443/2541
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิอุทธรณ์เวนคืนหลังมีประกาศ คณะรักษาความสงบฯ แก้ไขกฎหมาย และการฟ้องคดีภายในกำหนด
แม้โจทก์มีที่ดินที่จะต้องเวนคืนคือที่ดินโฉนดเลขที่ 121005 อยู่ในบริเวณที่ที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอปากเกร็ด อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรีและเขตบางเขน เขตดุสิต เขตพญาไท เขตปทุมวัน เขตบางรักเขตยานนาวา เขตห้วยขวาง เขตบางกะปิ เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2530 เพื่อสร้างทางพิเศษ สายแจ้งวัฒนะ-บางโคล่ และสายพญาไท-ศรีนครินทร์ คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ได้กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดิน ที่จะต้องเวนคืนและการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับเงินค่าทดแทนแล้ว แต่โจทก์ ไม่ติดต่อขอรับเงินค่าทดแทน จำเลยที่ 1 จึงได้นำเงิน ค่าทดแทนจำนวนดังกล่าวไปวาง ณ สำนักงานวางทรัพย์ และมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบแล้ว และโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยก็ตาม แต่ต่อมาได้มีประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44ใช้บังคับ และจำเลยที่ 1 มีหนังสือให้โจทก์ไปรับเงินค่าทดแทนเพิ่มตามประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44ดังนี้ เมื่อมีประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับที่ 44 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์มีผลเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 โดยเพิ่มเติมมาตรา 10 ทวิ ให้รัฐมนตรีโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งให้คณะกรรมการตามมาตรา 9 หรือคณะกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นใหม่ตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 9 แก้ไขราคาของอสังหาริมทรัพย์หรือราคาเบื้องต้นสำหรับที่ดินเสียใหม่ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติได้ และให้ถือว่าราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่แก้ไขแล้วเป็นราคาซื้อขายที่ตกลงกันใหม่แทนราคาเดิม และราคาเบื้องต้นที่แก้ไขแล้วเป็นราคาเบื้องต้นที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา 9 แล้วแต่กรณี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอาศัยอำนาจดังกล่าวแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นใหม่ คือคณะกรรมการแก้ไขราคาเบื้องต้นฯเพื่อทำหน้าที่กำหนดราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืน ฉะนั้น เงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่คณะกรรมการแก้ไขราคาเบื้องต้นฯ แก้ไขใหม่ จึงเป็นราคาเบื้องต้นที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา 9แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530เมื่อโจทก์ผู้ถูกเวนคืนไม่พอใจ ย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตามมาตรา 25 วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530ที่แก้ไขใหม่ได้อีก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1145/2541
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อายุความฟ้องคดีเวนคืน: ผลกระทบของประกาศ คสช. ฉบับที่ 44 ต่อระยะเวลาการใช้สิทธิ
พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 25 วรรคสอง บัญญัติให้รัฐมนตรีวินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์ และมาตรา 26 วรรคหนึ่ง บัญญัติในกรณีที่รัฐมนตรีมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 25 วรรคสอง ให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาดังกล่าวการที่โจทก์ผู้ถูกเวนคืนนำคดีมาฟ้องเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวโจทก์จึงสิ้นสิทธิฟ้องร้อง กรณีของโจทก์ขณะอยู่ระหว่างการพิจารณาอุทธรณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มีประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44ให้แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2534 เป็นกรณียังไม่เสร็จเด็ดขาดในวันที่ประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับและยังไม่ปรากฏว่าได้มีการพิจารณาแก้ไขราคาเบื้องต้นให้แก่ โจทก์ตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่นี้ก็ตาม แต่เมื่อประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44ดังกล่าวไม่มีบทบังคับว่าการเวนคืนที่ยังไม่เสร็จเด็ดขาดในวันที่ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับนี้มีผลใช้บังคับนั้น จะต้องมีการพิจารณาแก้ไขราคาอสังหาริมทรัพย์หรือราคาเบื้องต้นสำหรับที่ดินเสียใหม่ทุกกรณี และมาตรา 10 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ซึ่งเพิ่มเติมโดยประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44ให้เป็นดุลพินิจของรัฐมนตรีโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีที่มีอำนาจสั่งให้คณะกรรมการตามมาตรา 9 หรือคณะกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นใหม่ตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 9 แก้ไขราคาของอสังหาริมทรัพย์หรือราคาเบื้องต้นสำหรับที่ดินเสียใหม่ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติได้และให้ถือว่าราคาอสังหาริมทรัพย์ที่แก้ไขแล้วเป็นราคาซื้อขายที่ตกลงกันใหม่แทนราคาเดิม และราคาเบื้องต้นที่แก้ไขแล้วเป็นราคาเบื้องต้นที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา 9 แล้วแต่กรณีการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยไม่ได้สั่งให้คณะกรรมการตามมาตรา 9 แก้ไขราคาของอสังหาริมทรัพย์หรือราคาเบื้องต้นสำหรับที่ดินเสียใหม่ และไม่ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นใหม่ตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 9 ให้แก้ไขราคาของอสังหาริมทรัพย์หรือราคาเบื้องต้นสำหรับที่ดินเสียใหม่จึงเป็นกรณีที่ไม่มีราคาเบื้องต้นที่แก้ไขใหม่ที่จะเป็นเหตุให้โจทก์อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้อีก ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44ข้อ 1 ได้แก้ไขหลักเกณฑ์ในการกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินจากเดิมซึ่งให้กำหนดโดยถือราคาตามมาตรา 21(2) หรือ (3) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530แล้วแต่ราคาใดจะสูงกว่าเป็นเกณฑ์ เป็นว่าให้กำหนดโดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 21 ทั้งมาตรา และข้อ 5 ให้มีผลใช้บังคับแก่การเวนคืนซึ่งการกำหนดราคาเบื้องต้น การจัดซื้อการจ่ายหรือการวางเงินค่าทดแทน การอุทธรณ์หรือการฟ้องคดียังไม่เสร็จเด็ดขาดในวันที่ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับนี้ใช้บังคับด้วยนั้น หมายความว่า ในวันที่ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับนี้มีผลใช้บังคับนั้น การเวนคืนยังไม่เสร็จเด็ดขาด ไม่ว่าจะอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการของคณะกรรมการตามมาตรา 9 รัฐมนตรี หรือศาลก็ให้ผู้พิจารณากำหนดเงินค่าทดแทนในแต่ละขั้นตอนดังกล่าวกำหนดเงินค่าทดแทนโดยคำนึงถึงหลักเกณฑ์ที่แก้ไขใหม่นี้เท่านั้น หาทำให้เงินค่าทดแทนตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์หรือคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกลายเป็นการพิจารณาแก้ไขราคาเบื้องต้นไม่ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44ไม่มีผลทำให้กำหนดระยะเวลาการใช้สิทธิฟ้องคดีของโจทก์เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 290/2541
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิฟ้องเวนคืน-การแก้ไขราคา-ดอกเบี้ย กรณีประกาศ คสช.แก้ไขกฎหมายเวนคืน
การที่มีประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับที่ 44 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ มีผลใช้บังคับในวันที่ 1 มีนาคม 2534ได้แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 โดยเพิ่มเติมมาตรา 10 ทวิขึ้นโดยให้อำนาจในกรณีที่รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6 เห็นว่าเมื่อคณะกรรมการได้ประกาศราคาเบื้องต้นสำหรับที่ดินที่จะเวนคืนทั้งหมดหรือบางส่วนแล้วถ้าปรากฏว่าราคาของที่ดินได้เพิ่มสูงขึ้นเป็นลำดับ และราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่เจ้าหน้าที่ได้จ่ายให้แก่ผู้ถูกเวนคืนตามมาตรา 10 หรือราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์ที่คณะกรรมการได้กำหนดและประกาศไปแล้วตามมาตรา 9 ก่อให้เกิด ความไม่เป็นธรรมแก่บุคคลตามมาตรา 18 รัฐมนตรีโดยอนุมัติ ของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งให้คณะกรรมการตามมาตรา 9 หรือ คณะกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นใหม่ตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 9 แก้ไข ราคาของอสังหาริมทรัพย์หรือราคาเบื้องต้นสำหรับที่ดิน เสียใหม่ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติได้และให้ถือว่าราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่แก้ไขแล้วเป็นราคาซื้อขายที่ตกลงกันใหม่แทนราคาเดิม และราคาเบื้องต้น ที่แก้ไขแล้วเป็นราคาเบื้องต้นที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา 9แล้วแต่กรณี ดังนี้ เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยโดย อนุมัติของคณะรัฐมนตรีได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 10 ทวิ วรรคหนึ่งแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่แก้ไขราคาเบื้องต้นและจำนวนเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนและคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่แก้ไขราคาเบื้องต้นฯ ได้กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่ผู้ถูกเวนคืนใหม่ เงินค่าทดแทนที่ดินของผู้ถูกเวนคืนที่คณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่แก้ไขราคาเบื้องต้นฯ ได้กำหนดใหม่นี้จึงเป็นราคาเบื้องต้นที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 หากผู้ถูกเวนคืน โจทก์ไม่พอใจในจำนวนเงินค่าทดแทนดังกล่าวก็ย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอีกตามมาตรา 25 วรรคหนึ่งการที่ผู้ถูกเวนคืนได้ยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง และเมื่อพ้นกำหนดเวลาหกสิบวันนับแต่วันที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้รับอุทธรณ์ของผู้ถูกเวนคืน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ก็ยังวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกเวนคืนไม่เสร็จ ผู้ถูกเวนคืนย่อมมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาหกสิบวันนับแต่วันที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้รับอุทธรณ์ของโจทก์ตามมาตรา 26 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8291/2540
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเวนคืนที่ดิน: การใช้สิทธิอุทธรณ์เกินกำหนด, การแก้ไขราคาเวนคืน, และสิทธิในการจัดซื้อที่ดินส่วนที่เหลือ
พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 25 วรรคหนึ่ง (เดิม) บัญญัติให้ ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 18 ผู้ใดที่ไม่พอใจในราคาของ อสังหาริมทรัพย์หรือจำนวนเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการตาม มาตรา 9 หรือมาตรา 23 กำหนด มีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6 หรือรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับนั้นภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ให้มารับเงินค่าทดแทนดังกล่าว ซึ่งมาตรา 26 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่าในกรณีที่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนยังไม่พอใจในคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีตามมาตรา 25 หรือในกรณีที่รัฐมนตรีมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 25 วรรคสอง ให้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของรัฐมนตรี หรือนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาดังกล่าวแล้วแต่กรณี ดังนี้ ระยะเวลาหกสิบวันที่กำหนดให้ผู้มีสิทธิรับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 18ใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรี ต้องเป็นกรณีที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ได้กำหนดจำนวนเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่ผู้ถูกเวนคืนแล้วผู้นั้นไม่พอใจ การที่ในตอนแรกคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ได้กำหนดจำนวนเงินค่าทดแทนให้แก่ผู้มีสิทธิดังกล่าว และผู้นั้นได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากเจ้าหน้าที่ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย จำเลยที่ 1 ให้มา รับเงินค่าทดแทนดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2533ต่อมาผู้นั้นได้ยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2533 แม้การอุทธรณ์ดังกล่าวจะเกินกำหนดหกสิบวันแล้วก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่าต่อมาได้มีประกาศ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 เรื่องการแก้ไข เพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ มีผลใช้ บังคับในวันที่ 1 มีนาคม 2534 อันเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530โดยเพิ่มเติมมาตรา 10 ทวิ ด้วย ซึ่งมาตรา 10 ทวิ ได้บัญญัติให้รัฐมนตรีโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งให้คณะกรรมการตามมาตรา 9 หรือคณะกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นใหม่ตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 9 แก้ไขราคาของอสังหาริมทรัพย์หรือราคาเบื้องต้นสำหรับที่ดินเสียใหม่ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติได้ และให้ถือว่าราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่แก้ไขแล้วเป็นราคาซื้อขายที่ตกลงกันใหม่แทนราคาเดิมและราคาเบื้องต้นที่แก้ไขแล้วเป็นราคาเบื้องต้นที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา 9 แล้วแต่กรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอาศัยอำนาจดังกล่าวแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นใหม่คือคณะกรรมการแก้ไขราคาเบื้องต้นฯ เพื่อทำหน้าที่กำหนดราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนเงินค่าทดแทนที่ดินที่คณะกรรมการแก้ไขราคาเบื้องต้นได้แก้ไขใหม่นี้ จึงเป็นราคาเบื้องต้นที่คณะกรรมการกำหนดตาม มาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 ดังนั้น เมื่อผู้มีสิทธิดังกล่าวข้างต้นไม่พอใจย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ ตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ที่แก้ไขใหม่ ได้อีก เมื่อ ผู้มีสิทธิฯ ไม่พอใจ และได้ยื่นอุทธรณ์เมื่อยังไม่เกินกำหนด ระยะเวลาหกสิบวัน อันเป็นการใช้สิทธิอุทธรณ์ตามมาตรา 25 ดังกล่าวแล้ว และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยยังไม่วินิจฉัย อุทธรณ์ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์ ผู้มีสิทธิย่อมมีสิทธิฟ้องคดีได้ภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 20 วรรคหนึ่ง ในกรณีที่ต้องเวนคืนที่ดินแปลงใดแต่เพียงบางส่วน ถ้าเนื้อที่ดินส่วนที่เหลืออยู่นั้นน้อยกว่ายี่สิบห้าตารางวา หรือด้านหนึ่งด้านใดน้อยกว่าห้าวาและที่ดินส่วนที่เหลืออยู่นั้นมิได้ติดต่อเป็นผืนเดียวกันกับที่ดินแปลงอื่นของเจ้าของเดียวกัน หากเจ้าของ ร้องขอให้เจ้าหน้าที่เวนคืนหรือจัดซื้อที่ดินส่วนที่เหลือด้วยนั้นกฎหมายมาตราดังกล่าวบัญญัติขึ้นเพื่อให้เจ้าหน้าที่เวนคืนทำการเวนคืนหรือจัดซื้อที่ดินส่วนที่เหลือจากเจ้าของที่ดินเพราะที่ดินส่วนที่เหลือนั้นเหลืออยู่น้อยหรือมีสภาพไม่เหมาะสมที่จะใช้ทำประโยชน์ต่อไป โดยกำหนดให้เจ้าของ ที่ดินร้องขอต่อเจ้าหน้าที่เวนคืนเสียก่อน เพื่อเจ้าหน้าที่เวนคืนจะได้พิจารณาว่ากรณีต้องตามกฎหมายมาตรา ดังกล่าวหรือไม่ การที่โจทก์เคยเสนอขายที่ดินส่วนที่เหลือ ดังกล่าวต่อเจ้าหน้าที่ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจำเลยที่ 1 แต่เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ให้ราคาต่ำกว่าราคาประเมิน โจทก์จึงไม่ขาย แม้การกระทำดังกล่าวจะถือได้ว่าโจทก์ได้ร้องขอต่อเจ้าหน้าที่เวนคืนตามมาตรา 20 วรรคหนึ่งแล้วก็ตาม แต่ถ้าโจทก์ทั้งหกไม่พอใจก็ต้องยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรี ตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 เมื่อโจทก์มิได้ยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีขอให้เวนคืนหรือจัดซื้อที่ดินโจทก์ทั้งหกในส่วนที่เหลือจากการเวนคืน จึงเป็นกรณีที่โจทก์ยังไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายดังกล่าว โจทก์จึงยังไม่มีสิทธิฟ้องให้จำเลยทั้งสี่จัดซื้อที่ดินโจทก์ทั้งหกในส่วนที่เหลือได้