คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 288

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 813 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5557/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อขายอาคารที่ไม่จดทะเบียน: กรรมสิทธิ์ยังไม่ตกเป็นของผู้ซื้อจนกว่าจะจดทะเบียน และการบังคับคดี
การซื้อขายอาคารอันเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่คู่สัญญามีความประสงค์จะทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 นั้น ถ้าตราบใดที่ยังมิได้มีการจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าทีให้เสร็จเรียบร้อย การได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้นย่อมไม่บริบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง เว้นแต่จะปรากฏว่าอาคารได้ตกเป็นส่วนควบของที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 144 วรรคสอง เมื่อจำเลยมีสิทธิที่จะปลูกสร้างในที่ดินได้ อาคารที่จำเลยปลูกสร้างจึงมิได้ตกเป็นส่วนควบของที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 146 ดังนั้น นิติกรรมการซื้อขายระหว่างผู้ร้องและจำเลยคงมีฐานะเป็นเพียงสัญญาจะซื้อขายซึ่งสามารถใช้บังคับกันต่อไปได้เท่านั้น กรรมสิทธิ์ในอาคารพิพาทจึงยังไม่ตกเป็นส่วนควบของที่ดิน ดังเช่นกรณีการซื้อขายเสร็จเด็ดขาดที่คู่สัญญามิได้มีความประสงค์ที่จะทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และแม้จำเลยจะมอบอาคาให้ผู้ร้องครอบครองก็ถือว่าเป็นการครอบครองแทนจำเลยกรรมสิทธิ์ในอาคารยังคงเป็นของจำเลยอยู่ยังถือไม่ได้ว่าผู้ร้องอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 เพราะยังชำระราคากันไม่ครบผู้ร้องจึงยังไม่ได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 287 ดังนั้น โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาย่อมมีสิทธินำยึดอาคารขายทอดตลาดชำระหนี้ได้ ผู้ร้องไม่มีสิทธิร้องขัดทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5218/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิจำนองย่อมมีลำดับก่อนกรรมสิทธิ์ที่ได้มาภายหลัง แม้ได้มาโดยสุจริต
แม้ ด. ซื้อที่ดินพิพาทได้จากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลโดยสุจริตและได้โอนขายให้แก่ผู้ร้องโดยสุจริต แต่สิทธิของ ด. และผู้ร้องได้มาภายหลังจากที่จำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองต่อโจทก์ไว้โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว การจำนองจึงยังคงมีอยู่ไม่ระงับสิ้นไป โจทก์มีสิทธิจะบังคับจำนองเอาแก่ที่ดินพิพาทของผู้ร้องได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 744 และมาตรา 702 วรรคสอง การที่ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทมาภายหลังจากที่โจทก์ได้รับจำนองไว้แล้ว แม้จะได้มาโดยสุจริตและได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1330แต่ก็ไม่ทำให้สิทธิของโจทก์ที่มีอยู่เดิมเสียไป ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องขอให้ปล่อยที่ดินพิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1189/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองปรปักษ์เป็นข้อต่อสู้คดีร้องขัดทรัพย์ ต้องแสดงเหตุโต้แย้งสิทธิชัดเจนในคำร้อง
เมื่อบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 288 อยู่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 55 การที่ผู้ร้องจะอ้างการได้มาในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 มาเป็นข้อต่อสู้โจทก์ในคดีร้องขัดทรัพย์ได้นั้น ผู้ร้องต้องบรรยายมาในคำร้องขอโดยชัดแจ้งให้เห็นว่ามีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ระหว่างผู้ร้องกับโจทก์ อันเป็นข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นผู้ร้องจึงจะมีสิทธินำพยานหลักฐานเข้ามาสืบตามข้ออ้างได้ การที่ผู้ร้องมิได้บรรยายในคำร้องขอว่าโจทก์รับจำนองโดยไม่สุจริตจึงไม่มีประเด็นที่ผู้ร้องจะนำพยานเข้ามาสืบเป็นข้อต่อสู้โจทก์ในประเด็นดังกล่าวและกรณีมิใช่เรื่องที่คู่ความสามารถนำพยานเข้ามาสืบประกอบได้เองโดยไม่จำต้องกล่าวบรรยายมาในคำร้องดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองยกคำร้องขอของผู้ร้องโดยไม่ทำการไต่สวนจึงชอบแล้ว
การที่ผู้ร้องอุทธรณ์และฎีกาขอให้ย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นรับคำร้องขอไว้ไต่สวนต่อไปนั้น เป็นคดีมีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียงชั้นศาลละ200 บาท ตามบัญชีท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งตาราง 1 ข้อ 2(ก)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1189/2545 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิครอบครองปรปักษ์ vs. สิทธิผู้รับจำนองสุจริต: การบรรยายข้อโต้แย้งในคำร้องขอ
สิทธิของผู้ร้องเป็นการได้ที่ดินพิพาทมาโดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 อันเป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพย์สิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม แต่สิทธิอันยังมิได้ จดทะเบียนของผู้ร้อง ห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ผู้รับจำนองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง การที่ผู้ร้องจะอ้างการได้มาของผู้ร้องขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับจำนอง ป.วิ.พ. มาตรา 288 ได้นั้น เมื่อบทบัญญัติดังกล่าวบัญญัติให้อยู่ ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งมาตรา 55 เช่นนี้ ผู้ร้องจึงต้องบรรยายมาในคำร้องขอโดยชัดแจ้งให้เห็นว่ามีข้อโต้แย้ง เกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ระหว่างผู้ร้องกับโจทก์ตามกฎหมายแพ่ง อันเป็นข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น แต่ผู้ร้องมิได้บรรยายในคำร้องขอว่าโจทก์รับจำนองโดยไม่สุจริต จึงไม่มีประเด็นที่ผู้ร้องจะนำพยานเข้ามาสืบเป็น ข้อต่อสู้โจทก์ในประเด็นดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1189/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองปรปักษ์ vs สิทธิผู้รับจำนองโดยสุจริต: ข้อจำกัดในการอ้างสิทธิโดยมิได้จดทะเบียน
ผู้ร้องได้ที่ดินพิพาทมาโดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 อันเป็นการได้มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมและสิทธิอันยังมิได้จดทะเบียนของผู้ร้อง ห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ผู้รับจำนองซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง การที่ผู้ร้องจะอ้างการได้มาของผู้ร้องขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ในคดีร้องขัดทรัพย์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 288 ได้นั้น เมื่อบทบัญญัติดังกล่าวอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งมาตรา 55 ผู้ร้องจึงต้องบรรยายมาในคำร้องขอว่ามีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ระหว่างผู้ร้องกับโจทก์ตามกฎหมายแพ่ง ผู้ร้องจึงจะมีสิทธินำพยานหลักฐานเข้ามาสืบไปตามข้ออ้างได้ การที่ผู้ร้องมิได้กล่าวในคำร้องขอว่าโจทก์รับจำนองโดยไม่สุจริต จึงไม่มีประเด็นที่ผู้ร้องจะนำพยานเข้ามาสืบเป็นข้อต่อสู้โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9594/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาคดีขัดทรัพย์: คำร้องขอของผู้ร้องมีลักษณะคล้ายฟ้อง ต้องชัดเจนในรายละเอียดทรัพย์สินและอำนาจฟ้อง
ในการพิจารณาคดีร้องขัดทรัพย์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 288 วรรคสอง กำหนดว่าศาลต้องพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีนั้นเหมือนอย่างคดีธรรมดา ผู้ร้องขัดทรัพย์จึงมีฐานะเสมือนเป็นโจทก์ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา(โจทก์เดิม) มีฐานะเสมือนจำเลย ดังนั้น คำร้องขอของผู้ร้องขัดทรัพย์จึงเปรียบเสมือนคำฟ้อง เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นว่าคำร้องขอของผู้ร้องมิได้แสดงโดยชัดแจ้งว่าทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้รายการใดเป็นของผู้ร้อง จึงเป็นคำฟ้องของผู้ร้องขัดทรัพย์ที่ไม่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 วรรคสอง เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือเป็นฟ้องเคลือบคลุม แต่ฟ้องเคลือบคลุมในคดีแพ่งก็ไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลจะยกขึ้นพิจารณาเองไม่ได้ โจทก์ซึ่งเป็นเสมือนจำเลยจะต้องต่อสู้เป็นประเด็นไว้ในคำให้การ ทั้งจะต้องให้การโดยชัดแจ้งด้วยว่าฟ้องเคลือบคลุมอย่างไร มิฉะนั้น ไม่เป็นประเด็นที่ศาลจะต้องวินิจฉัยถึง และในคดีนี้โจทก์ซึ่งเป็นเสมือนจำเลยก็ไม่ได้ให้การต่อสู้คดีว่าคำร้องขอของผู้ร้องขัดทรัพย์เคลือบคลุมแต่อย่างใดการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นว่าคำร้องขอของผู้ร้องเป็นคำร้องขอที่ขาดสาระสำคัญในเรื่องอำนาจฟ้อง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงไม่ถูกต้องศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8023/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาล และการชำระหนี้สินสมรสเพื่อยกเลิกการบังคับคดี
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีรับชำระหนี้ตามคำพิพากษาจากผู้ร้องเพียงกึ่งหนึ่งและยกเลิกการขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดไว้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง ดังนี้ แม้ก่อนที่ผู้ร้องจะยื่นคำร้องนี้ ผู้ร้องเคยยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ถูกยึดซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอดังกล่าวและคดีถึงที่สุดแล้ว แต่คำร้องนี้เป็นคำร้องคนละอย่างกับคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์การที่คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ของผู้ร้องถึงที่สุดก็ไม่มีผลต่อสิทธิของผู้ร้องที่จะอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องนี้ เมื่อคำสั่งคำร้องนี้มิได้มีกฎหมายบัญญัติห้ามมิให้ผู้ร้องอุทธรณ์ ผู้ร้องจึงย่อมอุทธรณ์ได้
การขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียกเลิกการขายทอดตลาดทรัพย์ดังกล่าวย่อมมีผลให้ตัวทรัพย์ที่ถูกเจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้หลุดพ้นจากการบังคับคดี และมิใช่เป็นเพียงขอรับการคุ้มครองจากการได้รับผลกระทบกระทั่งจากการบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 287 แต่เป็นการดำเนินการที่มีผลอย่างเดียวกับที่บัญญัติไว้ในมาตรา 288 นั่นเอง ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้องชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7063/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมสิทธิ์ร่วมในทรัพย์สินที่ได้มาจากการอยู่กินฉันสามีภริยา แม้จดทะเบียนซื้อด้วยชื่อฝ่ายเดียว
ขณะที่ซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทจำเลยกับผู้ร้องยังอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา ร่วมกันประกอบกิจการค้าขายเสื้อผ้าจนกระทั่งจดทะเบียนตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดในเวลาต่อมา ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทจึงเป็นทรัพย์ที่ได้มาระหว่างอยู่กินด้วยกัน แม้จะมีชื่อผู้ร้องเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียว ก็ต้องถือว่าเป็นทรัพย์ที่จำเลยและผู้ร้องทำมาหาได้ร่วมกันและมีเจตนาเป็นเจ้าของในทรัพย์ที่ทำมาหาได้ร่วมกัน จำเลยและผู้ร้องจึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกัน
เจ้าของกรรมสิทธิ์รวมไม่มีสิทธิ์ร้องขอให้ปล่อยทรัพย์สินพิพาทคงมีสิทธิเฉพาะที่จะร้องขอกันส่วนในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2968/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีแบ่งมรดก: เจ้าของรวมไม่ใช่เจ้าหนี้/ลูกหนี้ตามคำพิพากษา ไม่มีสิทธิขอปล่อยทรัพย์
โจทก์ฟ้องจำเลยให้แบ่งมรดกของ ล. ให้แก่โจทก์ตามสัญญาแบ่งมรดก ศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยแบ่งมรดกบางส่วนให้โจทก์ตามสัญญาแบ่งมรดก หากแบ่งกันไม่ได้ให้เอาออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งกันตามส่วน เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์ขอให้บังคับคดีและเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดทรัพย์พิพาทเป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของรวมในทรัพย์พิพาทดำเนินการเพื่อแบ่งทรัพย์สินในฐานะเจ้าของรวมเท่านั้น โจทก์และจำเลยจึงมิใช่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาต่อกัน กรณีไม่ใช่การร้องขอให้บังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ผู้ร้องและจำเลยย่อมไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288 ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความไม่ได้อุทธรณ์ขึ้นมา ศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2968/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในการยื่นคำร้องคัดค้านการบังคับคดีมรดก: เจ้าของรวมไม่ใช่เจ้าหนี้/ลูกหนี้ตามคำพิพากษา
คดีเดิมโจทก์ทั้งสามฟ้องจำเลยให้แบ่งมรดกของ ล. ตามสัญญาแบ่งมรดก ศาลพิพากษาให้จำเลยแบ่งมรดกบางส่วนให้โจทก์ทั้งสาม หากแบ่งกันไม่ได้ให้เอาออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งกัน เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์ทั้งสามได้ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์พิพาท จึงเป็นกรณีที่เจ้าของรวมดำเนินการเพื่อแบ่งทรัพย์สินในฐานะเจ้าของรวมเท่านั้น โจทก์ทั้งสามและจำเลยมิใช่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาต่อกัน จึงไม่ใช่การร้องขอให้บังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 ผู้ร้องทั้งสองไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดตามมาตรา 288
of 82