คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 ม. 12 ทวิ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2191/2541 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมการธนาคารต้องใช้ความเอื้อเฟื้อสอดส่องในการบริหารจัดการธุรกิจ หากปล่อยปละละเลยจนเกิดความเสียหายต้องรับผิด
มีการปล่อยสินเชื่อจำนวน 28 ราย โดยไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบของธนาคารโจทก์ การให้สินเชื่อทั้ง 28 ราย ไม่เคยนำเข้าคณะกรรมการพิจารณาสินเชื่อ คณะกรรมการสะสางหนี้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ต่างก็เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของโจทก์ต่างวาระกัน มีหน้าที่ดูแลกิจการทั้งหมดของธนาคารโจทก์ให้พนักงานปฏิบัติตามระเบียบของธนาคารที่ได้วางไว้ตลอดถึงการปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยธนาคารพาณิชย์ เมื่อมีการปล่อยสินเชื่อให้กู้ยืมเงิน การค้ำประกันและอาวัลตั๋วเงินไม่เป็นไปตามระเบียบปกติของธนาคาร มิได้เร่งรัดติดตามหนี้สิน หรือดำเนินการใด เพื่อแก้ไขหนี้ดังกล่าว เป็นเหตุให้ธนาคารโจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้ชื่อว่าทำละเมิดต่อโจทก์ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ สำหรับจำเลยที่ 4 แม้มิใช่เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่แต่มีหน้าที่ดูแลด้านสินเชื่อภายในประเทศ ซึ่งได้มีการสรุปภาระหนี้สินของธนาคารโจทก์เสนอต่อจำเลยที่ 4 หลายครั้ง เพื่อให้สั่งการ แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 4 มิได้สั่งการแต่ประการใด เป็นเหตุให้ไม่สามารถติดตามหนี้สินจากลูกหนี้ของธนาคารโจทก์ได้ ทั้งนี้เนื่องจากลูกหนี้ทั้ง 28 ราย ที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นบริษัทซึ่งกรรมการของโจทก์หลายคนเป็นกรรมการในบริษัทลูกหนี้หลายบริษัทหรือมิฉะนั้นเป็นเพื่อนสนิทของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบิดาของจำเลยที่ 4 การที่จำเลยที่ 4 ละเว้นไม่ปฏิบัติตามหน้าที่และระเบียบปฏิบัติของธนาคารโจทก์ จำเลยที่ 4 ได้ชื่อว่าทำละเมิดต่อโจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย จำเลยที่ 4 ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์
ป.พ.พ. มาตรา 1168 เป็นบทบัญญัติว่าด้วยการประกอบกิจการบริษัทของกรรมการ ซึ่งอำนาจของกรรมการจะมีเพียงใด ย่อมเป็นไปตามมาตรา 1158 ถึง 1164 ส่วนมาตรา 1168 เป็นบทบัญญัติว่าด้วยหน้าที่และความรับผิดชอบของกรรมการ ซึ่งโดยมาตรา 1168 วรรคแรก บัญญัติให้กรรมการใช้ความเอื้อเฟื้อสอดส่องอย่างบุคคลค้าขายผู้ประกอบด้วยความระมัดระวัง ส่วนวรรคสองหมายถึงกิจการที่จะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษมากขึ้น หาได้หมายความว่า กรรมการจะต้องร่วมกันรับผิดเฉพาะกิจการ 4 ประการ ที่บัญญัติในวรรคสอง มาตรา 1168 เท่านั้นไม่ เมื่อมาตรา 1168 บัญญัติให้กรรมการทุกคนต้องมีหน้าที่เอื้อเฟื้อสอดส่อง การจะเป็นกรรมการของบริษัทใด กรรมการผู้นั้นจึงต้องประกอบด้วยความรู้ความเข้าใจในการประกอบกิจการของบริษัทนั้นด้วย มิฉะนั้นกรรมการก็ไม่อาจเอื้อเฟื้อสอดส่องกิจการให้ดีได้
โจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์ ประกอบธุรกิจการธนาคารพาณิชย์ ซึ่งมีความหมายตามมาตรา 4 ของ พ.ร.บ. การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 ว่า การประกอบธุรกิจประเภทรับฝากเงินที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามหรือเมื่อสิ้นระยะเวลาอันกำหนดไว้และใช้ประโยชน์เงินนั้นในทางหนึ่งหรือหลายทาง เช่น ก. ให้สินเชื่อ ข. ซื้อขายตั๋วแลกเงินหรือตราสารเปลี่ยนมืออื่นใด ค. ซื้อขายเงินปริวรรตต่างประเทศ และอาจกระทำธุรกิจตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 ทวิ คือธุรกิจที่เกี่ยวกับหรือเนื่องจากการธนาคารพาณิชย์ หรือธุรกิจอันเป็นประเพณีที่ธนาคารพาณิชย์พึงกระทำ เช่น การเรียกเก็บเงินตามตั๋วเงิน การรับอาวัลตั๋วเงิน การรับรองตั๋วเงิน การออกเลตเตอร์ออฟเครดิต หรือการค้ำประกันหรือธุรกิจทำนองเดียวกันด้วย ซึ่งเมื่อมีการดำเนินการประกอบธุรกิจด้วยการให้สินเชื่อไปแล้ว ก็จะต้องมีหน้าที่ติดตามประเมินผลและเร่งรัดจัดเก็บหนี้ดังกล่าวให้ได้ด้วย มิฉะนั้นก็จะทำให้การประกอบธุรกิจธนาคารมีข้อขัดข้อง และทำให้สินทรัพย์ขาดสภาพคล่อง ดังนั้น ธุรกิจการธนาคารพาณิชย์จึงต้องอาศัยกรรมการผู้มีความรอบรู้ในธุรกิจการธนาคารพาณิชย์ด้วย เพื่อให้เอื้อเฟื้อสอดส่องกิจการของธนาคารให้ลุล่วงไปด้วยดี การที่ธุรกิจของโจทก์ประสบปัญหามาเป็นเวลานานตั้งแต่ปี 2523 ไม่ว่าการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องอยู่ในระดับไม่พอใช้จนถึงด้อยคุณภาพ จัดชั้นเป็นสูญและสงสัยจำนวนสูง การแสดงผลกำไรตั้งแต่ปี 2522 ผิดพลาดเพราะแท้จริงแล้วธุรกิจของโจทก์ขาดทุนมิใช่กำไร มีการให้สินเชื่อแก่กลุ่มผู้บริหารมาก แม้ว่าการให้สินเชื่อดังกล่าวจะไม่ขัดต่อ พ.ร.บ. การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 มาตรา 12 (2) และมาตรา 12 ทวิ ก็ตาม แต่หนี้ในกลุ่มดังกล่าว หลักประกันไม่คุ้มหรือไม่มีเลย ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 2 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 เป็นกรรมการของโจทก์ มีหน้าที่ต้องดูแลการบริหารกิจการของโจทก์มิให้เสียหาย กลับปล่อยให้มีการให้สินเชื่อโดยหลักประกันไม่คุ้ม เมื่อหนี้ถูกจัดเป็นหนี้เสียก็มิได้เร่งรัดติดตามหนี้ แม้ธนาคารแห่งประเทศไทยแจ้งให้มีการแก้ไขข้อผิดพลาดในการปฏิบัติงานดังกล่าว จำเลยที่ 2 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 ก็หาได้ดำเนินการใดเพื่อแก้ไขไม่ ดังนั้น เมื่อตามพฤติการณ์ควรจะรู้ข้อปัญหาดังกล่าว หรือโดยสามัญสำนึกของวิญญูชนผู้ประกอบการค้าเช่นนั้นควรจะพึงรู้ได้ แต่มิได้กระทำการใดเพื่อปกป้องความเสียหายอันจะเกิดแก่โจทก์ จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 มิได้ใช้ความเอื้อเฟื้อสอดส่องในการประกอบกิจการของโจทก์ จะอ้างว่าไม่รับรู้การบริหารงานของโจทก์หรือมิได้มาทำงานเป็นประจำก็ดี ไม่มีหน้าที่ก็ดี เพื่อปัดความรับผิดของตนหาได้ไม่
กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยกับจำเลยที่ 3จำเลยที่ 5 และกรรมการธนาคารโจทก์ชุดเดิมทำสัญญาให้ความช่วยเหลือพยุงฐานะธนาคารโจทก์เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2527 แสดงให้เห็นว่าโจทก์เพิ่งทราบถึงการทำละเมิดและผู้ที่จะต้องรับผิดในวันนั้น คดีโจทก์ฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2528 ไม่เกิน 1 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ