คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
นพพร โพธิรังสิยากร

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 219 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7227/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ประมาทเลินเล่อจากการแย่งปืนทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ไม่เข้าข้อยกเว้นความจำเป็น
คำเบิกความและคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยได้ความว่า ผู้ตายชอบเล่นอาวุธปืน บางครั้งเอากระสุนปืนออกจากลูกโม่แล้วมาจ่อยิงที่ศีรษะตนเองหรือผู้อื่นเพื่อล้อเล่น ในวันเกิดเหตุผู้ตายก็เอาอาวุธปืนมาเล่นอีก แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าขณะที่ผู้ตายเอาอาวุธปืนมาจ่อที่ศีรษะตนเองแล้วจำเลยเข้าแย่งเป็นเหตุให้ปืนลั่นนั้น ผู้ตายจะยิงตนเองหรือผู้ตายเมาสุราจนไม่ได้สติแต่อย่างใด ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยรู้หรือไม่ว่าอาวุธปืนดังกล่าวบรรจุกระสุนปืนหรือไม่ ดังนั้น การที่จำเลยเข้าแย่งอาวุธปืนในสถานการณ์ดังกล่าวถือว่าจำเลยกระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และจำเลยอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ อันเป็นการกระทำโดยประมาทตาม ป.อ. มาตรา 59 วรรคสี่
การที่จะอ้างว่าเป็นการกระทำความผิดด้วยความจำเป็นได้นั้น ต้องเป็นเรื่องการกระทำผิดโดยเจตนา แต่คดีนี้จำเลยกระทำความผิดโดยประมาทจึงมิใช่เป็นการกระทำความผิดด้วยความจำเป็น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6158/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนสิทธิเรียกร้องจากสัญญาซื้อขายสินทรัพย์ของสถาบันการเงินที่ถูก ปรส. ชำระบัญชี ผู้ซื้อไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ชนะการประมูล
พระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 มาตรา16 (3) บัญญัติให้คณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน หรือ ปรส. มีอำนาจหน้าที่กำหนดวิธีการชำระบัญชีและขายทรัพย์สินของบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการ ซึ่งต่อมา ปรส. ได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 16 (3) แห่งบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ออกประกาศลงวันที่ 2 มิถุนายน 2541 เรื่องหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการขายสินทรัพย์หลักของสถาบันการเงินที่ไม่อาจแก้ไขหรือฟื้นฟูฐานะหรือการดำเนินงานได้จำนวน 56 ซึ่งสินเชื่อของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ เอ็ม ซี ซี จำกัด (มหาชน) เป็นสินทรัพย์หลักของบริษัทหนึ่งในจำนวน 56 บริษัทดังกล่าว และประกาศดังกล่าว ข้อ 2.1 ระบุว่าการจำหน่ายสินทรัพย์หลัก ให้กระทำโดยวิธีเปิดเผย หรือวิธีการอื่นตามที่ ปรส. กำหนด เมื่อพิจารณาประกาศดังกล่าวต่อไปมีข้อความระบุถึงผู้ประมูลและผู้ซื้อสินทรัพย์หลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในข้อ 3.2 ระบุว่า ผู้ประมูลและผู้ซื้อสินทรัพย์หลักต้องมีฐานะและสิทธิตามกฎหมายและมีศักยภาพทางการเงินเหมาะสมเพียงพอแก่การเข้าร่วมกระบวนการจำหน่ายสินทรัพย์ โดยที่ ปรส. มีสิทธิแต่ผู้เดียวในการวินิจฉัยคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมประมูลและผู้ซื้อ และในข้อ 4.1.5 (2) ระบุว่า หากผู้ชนะการประมูลต้องการโอนสิทธิที่จะทำสัญญาขายมาตรฐานให้ผู้อื่น ผู้ชนะการประมูลจะต้องให้การค้ำประกันที่ไม่อาจเพิกถอนได้ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการทำสัญญาขายมาตรฐาน ความข้อนี้สอดคล้องกับสัญญาซื้อขายข้อ 13 (8) ที่ว่า ผู้ซื้อไม่จำเป็นต้องร่วมการประมูลและไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ชนะการประมูล อีกทั้งผู้ซื้อเพียงแต่รับมอบสิทธิที่จะเข้าทำสัญญาซื้อขายเท่านั้น โจทก์จึงสามารถเข้าเป็นผู้ซื้อในสัญญาซื้อขาย ที่ทำกับ ปรส. ได้ โดยสัญญาซื้อขายดังกล่าวรวมถึงการขายสินเชื่อที่จำเลยทั้งสองเป็นหนี้ค้างชำระแก่บริษัทเจ้าหนี้เดิมด้วย อีกทั้งในขณะทำสัญญาซื้อขายดังกล่าวโจทก์จดทะเบียนมีฐานะเป็นนิติบุคคลแล้ว ดังนั้น โจทก์จึงเป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องโดยชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5749/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอายัดทรัพย์ซ้ำ: การอายัดเงินเดือนจำนวนที่แตกต่างกัน ไม่ถือเป็นการอายัดซ้ำ
การห้ามยึดหรืออายัดทรัพย์สินซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 290 วรรคหนึ่ง ต้องเป็นทรัพย์รายเดียวกันของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยมีเงินเดือน 27,000 บาท ถูกอายัดเงินเดือนครั้งแรกในคดีที่ 1 เป็นเงิน 3,000 บาท ครั้งที่ 2 ในคดีที่ 2 เป็นเงิน 3,000 บาท ครั้งที่ 3 คือคดีนี้โจทก์อายัดไว้ 5,000 บาท ดังนั้น การอายัดของโจทก์จึงเป็นการอายัดเงินเดือนของจำเลยในจำนวนที่แยกต่างหากจากที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษารายอื่นได้อายัดไว้ จึงไม่ใช่การอายัดซ้ำ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5332/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเปิดทางจำเป็น: ข้อจำกัดการฎีกาประเด็นใหม่ที่มิได้ยกขึ้นในศาลล่าง
ที่จำเลยฎีกาอ้างว่า ที่ดินของโจทก์เดิมเป็นที่ดินของบิดามารดาโจทก์ ต่อมามีการแบ่งแยกที่ดินออกเป็นที่ดินของโจทก์แปลงหนึ่ง เป็นของ น. แปลงหนึ่ง และเป็นของ ธ. อีกแปลงหนึ่ง โจทก์ชอบที่จะเปิดทางพิพาทผ่านที่ดินที่เคยรวมเป็นแปลงเดียวกันมาก่อนนั้น เมื่อโจทก์ฟ้องขอเปิดทางจำเป็นผ่านที่ดินของจำเลย อันเป็นการอ้างบทกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 จำเลยให้การแต่เพียงว่าโจทก์มีทางออกอื่นเพื่อไปสู่ทางสาธารณะ การฟ้องคดีโจทก์จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โดยจำเลยมิได้อ้างว่าที่ดินของโจทก์แบ่งแยกจากที่ดินแปลงอื่นอันทำให้ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะอันจะก่อให้เกิดประเด็นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1350 ฎีกาของจำเลยข้อนี้ถือว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 ทั้งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4789/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตการบังคับใช้ ป.วิ.พ. มาตรา 229: การอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่กระทบคำพิพากษา
ป.วิ.พ. มาตรา 229 ซึ่งบัญญัติบังคับให้ผู้อุทธรณ์ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมที่จะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาหรือคำสั่งมาวางศาลพร้อมอุทธรณ์นั้นใช้บังคับเฉพาะกรณีอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีของศาลชั้นต้นตลอดจนการอุทธรณ์คำสั่งอื่นๆ ของศาลชั้นต้นที่มีผลกระทบต่อคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีของศาลชั้นต้นเท่านั้น คดีนี้ปรากฏว่าหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ศาลชั้นต้นเห็นว่าคำร้องของจำเลยที่ 1 ยื่นเมื่อพ้นเวลาที่กฎหมายกำหนดและมีคำสั่งยกคำร้องจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 อุทธรณ์คำสั่งซึ่งตามอุทธรณ์ดังกล่าวแม้จะขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 6 กลับคำสั่งของศาลชั้นต้นและมีคำสั่งให้พิจารณาคดีใหม่ก็ตามแต่หากศาลอุทธรณ์ภาค 6 เห็นด้วยกับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ก็ทำได้เพียงแต่พิพากษายกคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและให้ศาลชั้นต้นรับคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ไว้พิจารณาและมีคำสั่งต่อไปตามรูปคดี การอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 1 ในชั้นนี้ไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อคำพิพากษาศาลชั้นต้น ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งต้องใช้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3547/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ใบอนุญาตให้ทำสิ่งล่วงล้ำลำน้ำไม่ใช่เอกสารสิทธิแสดงกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน
ใบอนุญาตให้ทำสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ เป็นเพียงคำสั่งอนุญาตของเจ้าท่าภูมิภาคที่ 6 ที่ให้สร้างท่าเทียบเรือขนาดไม่เกิน 500 ตันกรอส แม้ใบอนุญาตดังกล่าวจะระบุชื่อจำเลยผู้ขออนุญาต แต่ก็มีเงื่อนไขว่าผู้รับอนุญาตจะต้องเริ่มดำเนินการก่อสร้างภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่ลงไว้ในอนุญาต ถ้ามิได้จัดการตามคำขอภายในกำหนดจะต้องมาขอนุญาตใหม่ รวมทั้งมีเงื่อนไขระบุให้กรมเจ้าท่ามีสิทธิเรียกใบอนุญาตคืนได้ทุกเมื่อถ้ามีเหตุอย่างใดเกิดขึ้นตามที่ระบุไว้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าใบอนุญาตเช่นนี้สามารถออกใหม่ได้หรือถูกเรียกคืนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่มีข้อความที่แสดงว่าผู้ขออนุญาตเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์สะพานปลาท่าเทียบเรือประมงพิพาท ใบอนุญาตให้ทำสิ่งล่วงล้ำลำน้ำดังกล่าวจึงไม่ใช่เอกสารสิทธิที่แสดงว่าสะพานปลาท่าเทียบเรือประมงพิพาทเป็นของจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3248/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโฆษณาจัดสรรที่ดินโดยยังไม่ได้รับอนุญาต และผลกระทบจากภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจ ไม่ถือเป็นการหลอกลวง
ใบโฆษณาขายที่ดินในโครงการจัดสรรที่ดินของจำเลยที่ 1 ระบุว่า ที่ดินในโครงการมีเนื้อที่ 200 ไร่ ซึ่งตามใบโฆษณาก็มีเครื่องหมาย "ฯลฯ" ไว้ด้านหลังข้อความ โฉนดเลขที่ 48513 ถึง 48535 ที่โจทก์อ้างว่ามีชื่อนาง ล. เป็นเจ้าของมิใช่จำเลยที่ 1 ซึ่งมีความหมายว่า นอกจากที่ดินทั้ง 23 แปลง ดังกล่าวที่มีเนื้อที่รวมเพียง 3 ไร่เศษ นี้แล้วยังมีที่ดินแปลงอื่น ๆ อีก ทั้งใบโฆษณายังระบุอีกว่าอยู่ระหว่างการดำเนินการขออนุญาตจัดสรรที่ดิน แต่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถดำเนินการขออนุญาตจัดสรรที่ดินให้แล้วเสร็จได้เนื่องจากจำเลยที่ 1 ประสบภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจถูกเจ้าหนี้ฟ้องหลายราย ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ และโจทก์ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้แล้วก่อนที่โจทก์จะฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เป็นคดีนี้ ดังนั้น ยังไม่ฟังว่าจำเลยทั้งห้าโฆษณาหลอกลวงโจทก์ว่าจะจัดสรรที่ดินโดยไม่มีเจตนาที่จะจัดสรรที่ดินจริง การกระทำของจำเลยทั้งห้าจึงไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2573/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ: เจ้าพนักงานตำรวจข่มขืนใจเพื่อรับเงิน แต่ผู้เสียหายวางแผนจับกุม ศาลแก้ไขเป็นพยายามกรรโชก
จำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจกองปราบปรามขู่ให้โจทก์ร่วมนำเงินมามอบให้โดยอ้างว่าเพื่อลบชื่อโจทก์ร่วมออกจากบัญชีผู้ค้ายาเสพติดของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และเพื่อที่จะไม่จับกุมโจทก์ร่วม จึงเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบข่มขืนใจและจูงใจเพื่อให้โจทก์ร่วมมอบให้ซึ่งทรัพย์สินแก่ตนเอง แต่การที่โจทก์ร่วมนำเงินไปมอบให้แก่จำเลยก็เพื่อที่จะให้เจ้าพนักงานจับกุม แสดงว่าโจทก์ร่วมไม่ได้กลัวคำขู่ของจำเลย ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยข่มขืนใจโจทก์ร่วมจนโจทก์ร่วมยอมเช่นว่านั้น การกระทำของจำเลยเป็นเพียงความผิดฐานพยายามกรรโชก แม้จำเลยจะไม่ได้ฎีกาในปัญหานี้ แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1864/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาล: คดีขับไล่ที่ดินงอกริมตลิ่งเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ หากจำเลยไม่ได้อ้างกรรมสิทธิ์ในที่ดิน
โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากอสังหาริมทรัพย์และออกไปจากที่ดินซึ่งเป็นที่งอกริมตลิ่งของโจทก์ จำเลยให้การเพียงว่าที่งอกริมตลิ่งตามฟ้องเป็นที่สาธารณประโยชน์ไม่ได้กล่าวอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย จึงเท่ากับมิได้กล่าวแก้เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ กรณีจึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ โดยเป็นคดีฟ้องขับไล่บุคคลใดๆ ออกจากอสังหาริมทรัพย์ ศาลแขวงจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1632/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิสูจน์ความผิดฐานมียาเสพติดไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย: พยานหลักฐานที่ไม่น่าเชื่อถือและการยกประโยชน์แห่งความสงสัย
ข้อนำสืบของโจทก์ที่ว่าก่อนมอบธนบัตรที่จะใช้ล่อซื้อให้แก่สายลับมีการเปลี่ยนแผนโดยตกลงกับสายลับใหม่ว่า หากสายลับพูดคุยกับจำเลยแล้ว ได้ความว่าจำเลยนำเมทแอมเฟตามีนมาจริงให้ส่งสัญญาณด้วยการลูบผมโดยไม่มีการส่งมอบธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อแก่จำเลยนั้น มีเพียงร้อยตำรวจเอก ม. เบิกความยืนยันในข้อนี้ ซึ่งแตกต่างจากคำเบิกความของสิบตำรวจโท ส. ที่ว่า มีการให้สายลับนำธนบัตรไปใช้ล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลย ซึ่งเป็นข้อแตกต่างในสาระสำคัญ ทั้งยังขัดต่อเหตุผลที่ว่าเหตุใดสิบตำรวจโท ส. จึงไม่ทราบถึงข้อความนี้ ส่วนแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุ ไม่ได้ระบุจุดที่พยานโจทก์ทั้งสองนำรถยนต์ไปจอดซุ่มดูเหตุการณ์และในข้อนี้พยานโจทก์ทั้งสองเบิกความแตกต่างกัน โดยร้อยตำรวจเอก ม. เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ซุ่มอยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุประมาณไม่เกิน 50 เมตรส่วนสิบตำรวจโท ส. เบิกความตอบทนายความจำเลยถามค้านว่า ซุ่มอยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุประมาณ 10 ถึง 15 เมตร ทั้งการติดต่อระหว่างสายลับกับจำเลยมีแต่เพียงการพูดคุยกันเท่านั้นไม่มีการส่งมอบสิ่งของหรือธนบัตร ซึ่งในระยะห่างเช่นนั้นพยานโจทก์ทั้งสองย่อมไม่ได้ยินการพูดคุยกัน ส่วนสายลับที่เป็นประจักษ์พยานโดยตรงโจทก์มิได้อ้างและนำสืบเป็นพยาน คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองจึงมีข้อสงสัยนอกจากนี้เมทแอมเฟตามีนของกลางมีเพียง 10 เม็ด แตกต่างจากที่มีการตกลงซื้อขาย 30 เม็ด ทั้งมีจำนวนไม่มากนัก น้ำหนักสุทธิและปริมาณสารบริสุทธิ์ก็ไม่เข้าข้อสันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ลำพังคำให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนของจำเลย รวมทั้งรับว่าใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางในการติดต่อจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนนั้น ยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอต่อการรับฟัง พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมายังมีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แต่ข้อเท็จจริงรับฟังได้เพียงว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ศาลมีอำนาจลงโทษในความผิดฐานนี้ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย
of 22