คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
นพพร โพธิรังสิยากร

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 219 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1490/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแบ่งสินสมรสและการรับผิดในหนี้ร่วม ศาลมิอาจหักหนี้ออกจากสินสมสรก่อนแบ่งได้หากมิได้มีการขอมา
จำเลยให้การและฟ้องแย้งโดยมิได้ขอให้ศาลพิพากษาแสดงว่าหนี้ที่จำเลยกู้เงินจากบิดามานั้นเป็นหนี้ร่วมที่โจทก์จำเลยต้องรับผิดคนละกึ่งหนึ่ง หรือขอให้แบ่งบ้านอันเป็นสินสมรสโดยให้หักใช้หนี้เงินกู้ดังกล่าวก่อน การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้แบ่งบ้านอันเป็นสินสมรสโดยหักใช้หนี้เงินกู้ดังกล่าวก่อนจึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าที่ปรากฏในฟ้องแย้ง ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142
การที่สามีภริยารับผิดในหนี้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1489 และมาตรา 1490 นั้น จะต้องรับผิดต่อเมื่อสามีหรือภริยาชำระหนี้ร่วมให้แก่เจ้าหนี้ไปแล้ว หากฝ่ายที่ชำระหนี้ร่วมให้แก่เจ้าหนี้ไปเกินส่วนที่ตนได้สินสมรสไปเท่าใดก็มีสิทธิเรียกร้องอีกฝ่ายหนึ่งชดใช้ให้ มิใช่ว่าหากสามีหรือภริยาหย่าและแบ่งสินสมรสแล้วจะต้องนำหนี้ร่วมมาหักออกจากสินสมรสให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเก็บรักษาไว้เพื่อชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ก่อนแล้วจึงจะแบ่งสินสมรสส่วนที่เหลือกัน เพราะหากไม่นำเงินที่หักไว้ไปชำระให้แก่เจ้าหนี้ เจ้าหนี้อาจเรียกให้อีกฝ่ายรับผิดชำระหนี้เงินกู้เต็มจำนวนได้อยู่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1359/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีทุจริตของนายก อบต. และขอบเขตความหมาย 'ข้าราชการการเมืองอื่น' ตาม พ.ร.บ. ป.ป.ช.
การดำเนินคดีอาญาตามมาตรา 66 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มีเจตนารมณ์ในการดำเนินคดีเกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบของนักการเมืองและข้าราชการระดับสูงเป็นไปด้วยความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ จึงกำหนดให้มีคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทำหน้าที่ไต่สวนข้อเท็จจริงและให้อัยการสูงสุดฟ้องคดียังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิจารณาคดีใช้ระบบไต่สวน ฉะนั้นความหมายของคำว่าข้าราชการการเมืองอื่นตามมาตรา 66 วรรคหนึ่ง ต้องอยู่ในระดับเดียวกับตำแหน่งทางการเมืองที่กล่าวไว้โดยเฉพาะ มิใช่ข้าราชการการเมืองทั่วไป ทั้งความหมายของคำว่า ข้าราชการการเมืองอื่นตามคำนิยามศัพท์ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 4 (5) ก็บัญญัติไว้แยกต่างหากจากคำว่าผู้บริหารท้องถิ่น ตามมาตรา 4 (7) ตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลที่จำเลยดำรงตำแหน่ง มิได้อยู่ในความหมายของคำว่าข้าราชการการเมือง ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 66 คดีของจำเลยไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นซึ่งมีเขตอำนาจตามที่โจทก์ฟ้อง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 682/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิสูจน์ความสัมพันธ์ทางเพศเพื่อยืนยันความเป็นบิดร: พยานหลักฐานทางอีเมลและคำเบิกความ
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ยื่นคำร้องขอให้มีการตรวจสารพันธุกรรมเพื่อพิสูจน์ว่า เด็กชาย ธ. เป็นบุตรของโจทก์กับจำเลยที่ 1 หรือไม่ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพียงให้ส่งสำเนาให้จำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยทั้งสองยื่นคำคัดค้าน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพียงว่า "รับเป็นคำคัดค้านของจำเลยทั้งสอง สำเนาให้โจทก์" การที่เมื่อถึงวันตรวจ จำเลยที่ 1 ไม่ยินยอมไปตรวจโดยไม่มีเหตุอันสมควร แล้วศาลล่างทั้งสองนำบทข้อสันนิษฐานที่เป็นผลร้ายแก่จำเลยทั้งสองมาบังคับใช้นั้นไม่ถูกต้องตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 160 วรรคสาม เนื่องจากการจะสันนิษฐานไว้ก่อนว่าข้อเท็จจริงที่ต้องการตรวจเป็นผลร้ายแก่คู่ความฝ่ายนั้นได้ ศาลชั้นต้นต้องมีคำสั่งให้ไปตรวจเสียก่อน เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพียงรับคำร้อง รับคำคัดค้านและสำเนาให้อีกฝ่าย ยังมิได้มีคำสั่งเลยว่าให้บุคคลที่เกี่ยวข้อง คือโจทก์ จำเลยที่ 1 และเด็กชาย ธ. ไปดำเนินการตรวจสารพันธุกรรม กรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 160 วรรคหนึ่ง จึงไม่อาจนำบทข้อสันนิษฐานเป็นผลร้ายตามมาตรา 160 วรรคสาม มาใช้บังคับในคดีได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17549/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยค้างชำระ: แม้มีการซื้อทรัพย์หลุดจำนอง แต่การร้องคัดค้านทำให้สิทธิรับชำระหนี้ยังไม่สมบูรณ์ โจทก์มีสิทธิรับดอกเบี้ยจนกว่าการชำระหนี้จะเสร็จสิ้น
โจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและเป็นผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาด แต่จำเลยร้องคัดค้านการยึดทรัพย์ ร้องขอมิให้ขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึด อ้างว่าจะขอจัดการทรัพย์และร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดหลายครั้ง ทำให้โจทก์ไม่ได้รับชำระหนี้เป็นเวลาหลายปี พฤติการณ์ของจำเลยเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ขัดขวางการได้รับชำระหนี้ของโจทก์ ไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ได้รับชำระหนี้แล้วเสร็จในวันขายทอดตลาด และไม่แน่ว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้เมื่อใด กรณีจึงทำให้โจทก์ยังมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยต่อไปตามสิทธิที่ปรากฏในคำพิพากษา เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยยื่นคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดที่โจทก์ซื้อทรัพย์ได้ คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยผู้ฎีกายื่นคำร้องขอถอนฎีกา ศาลฎีกาอนุญาต ศาลชั้นต้นอ่านให้คู่ความฟังวันใด ถือว่าวันดังกล่าวโจทก์ได้รับชำระหนี้จากจำเลยเพราะไม่มีข้อขัดแย้งใด ๆ มาขัดข้องต่อการได้รับชำระหนี้ของโจทก์อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17502/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความคดีมรดก: การฟ้องเรียกทรัพย์มรดกจากทายาทหลังพ้นกำหนดระยะเวลาตามกฎหมาย
เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะส่วนตัวผู้รับโอนทรัพย์มรดกและในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. อ้างว่าจำเลยจัดการมรดกโดยไม่ชอบเพื่อขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการโอนและให้จำเลยโอนที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์มรดกกลับคืนมาเป็นกองมรดกของ พ. เป็นการฟ้องเรียกทรัพย์มรดกจากทายาทคนหนึ่ง จึงเป็นคดีมรดก จำเลยมีสิทธิยกอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 ขึ้นต่อสู้โจทก์ได้
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์และบุตรทุกคนของ พ. ไม่เคยติดตามการจัดการทรัพย์มรดกของ ส. และการที่โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2551 เป็นเวลา 22 ปี นับแต่ พ. ถึงแก่ความตายและเกือบ 20 ปี นับแต่วันที่ ส. โอนที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลย สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในทรัพย์มรดกของ พ. จึงเป็นอันขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคท้าย โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่ ส. โอนที่ดินให้แก่จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17217/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อหน่วยลงทุน RMF เกินสิทธิลดหย่อนภาษี สามารถขายได้โดยไม่ครบ 5 ปี และไม่กระทบสิทธิลดหย่อนเดิม
ผู้มีเงินได้ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดก็สามารถทำได้เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามไว้ แต่ส่วนที่เกินกว่ากฎหมายกำหนดไว้จะไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ ดังนั้น หากผู้มีเงินได้ต้องการขายในส่วนที่ซื้อไว้เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ก่อนครบ 5 ปี ก็ย่อมกระทำได้ โจทก์จึงมีสิทธิที่จะขายหน่วยลงทุนที่เหลือเกินจากการใช้สิทธินำไปหักลดหย่อนภาษีดังกล่าวได้โดยไม่จำต้องถือไว้จนครบ 5 ปี และได้รับประโยชน์จากส่วนต่างของราคาหน่วยลงทุนที่เพิ่มขึ้น 1,545.84 บาท ซึ่งโจทก์ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากส่วนต่างดังกล่าวในปีที่ขายหน่วยลงทุน โดยโจทก์ยังมีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้จากการซื้อหน่วยลงทุนในส่วนที่มีสิทธิหักลดหย่อนได้ตามกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15079/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัมปทานเก็บรังนก: โครงการประมูลไม่ถึง 1 พันล้านบาท ไม่ต้องใช้ PPA สัญญาชอบด้วยกฎหมาย
สัมปทานเก็บรังนกในเขตพื้นที่จังหวัดชุมพรตามประกาศคณะกรรมการพิจารณาจัดเก็บอากรรังนกอีแอ่นจังหวัดชุมพรได้แบ่งพื้นที่การประมูลเงินอากรรังนกอีแอ่นออกเป็น 5 พื้นที่ การยื่นซองประมูลเงินอากรเก็บรังนกอีแอ่นได้กำหนดให้ผู้เสนอประมูลจะต้องเสนอประมูลเงินอากรเก็บรังนกอีแอ่นในแต่ละพื้นที่ในเขต 5 พื้นที่ดังกล่าวไม่ต่ำกว่าที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ยังมีการทำสัญญาสัมปทานเก็บรังนกอีแอ่นแยกต่างหากจากกันในแต่ละพื้นที่ดังกล่าวด้วย ดังนี้ ย่อมแสดงให้เห็นว่า ประกาศคณะกรรมการพิจารณาจัดเก็บอากรรังนกอีแอ่นจังหวัดชุมพร มีการลงทุนในกิจการของรัฐแยกออกเป็น 5 โครงการ ทั้งห้าโครงการมีการประมูลได้รวมเกินหนึ่งพันล้านบาทตามที่จำเลยทั้งสามอ้าง แต่เมื่อสัญญาแต่ละฉบับประมูลได้ไม่เกินฉบับละหนึ่งพันล้านบาท โจทก์ในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการที่ประสงค์จะให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในโครงการสัมปทานเก็บรังนกในเขตพื้นที่โจทก์ จึงไม่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9653/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาข้อเท็จจริงจากการไกล่เกลี่ยในการกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร ศาลรับฟังได้หากเป็นข้อมูลที่เปิดเผยและคู่ความยินยอม
ข้อเท็จจริงที่ได้ความจากการไกล่เกลี่ยประนีประนอมยอมความจะนำมาพิจารณาในชั้นพิจารณาของศาลได้หรือไม่ ย่อมขึ้นอยู่กับสภาพของข้อเท็จจริงแต่ละราย หากข้อเท็จจริงใดเป็นเรื่องที่คู่ความประสงค์จะให้เป็นข้อพิจารณาโดยแท้ในชั้นไกล่เกลี่ย ซึ่งเป็นกระบวนการที่อาศัยความจริงใจของคู่กรณีที่จำเลยแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจที่จะหาทางระงับข้อพิพาทด้วยการตกลงกัน ข้อมูลบางอย่างอาจเป็นคุณเป็นโทษต่อเจ้าของข้อมูล ข้อมูลเช่นนี้ก็ไม่อาจนำมาใช้เป็นประโยชน์ในภายหลังได้ มิฉะนั้นจะเป็นการทำลายความเชื่อมั่นของคู่กรณีต่อระบบการไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาทที่ต่อไปคู่กรณีอาจไม่เปิดเผยข้อมูลแก่กันเพื่อหาทางระงับคดี แต่ข้อมูลเกี่ยวกับข้อเท็จจริงใดที่ไม่ว่าจะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลในชั้นไกล่เกลี่ยกันหรือไม่ ก็เป็นที่ทราบของคู่กรณีอยู่แล้วก็ดี หรือข้อมูลใดคู่ความประสงค์ให้นำมาเป็นประโยชน์ในชั้นพิจารณา เมื่อการไกล่เกลี่ยไม่อาจตกลงกันได้ก็ดี ศาลย่อมรับฟังข้อเท็จจริงนั้นได้ เมื่อในการไกล่เกลี่ยจำเลยเสนอว่าสามารถชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูได้เพียงเดือนละ 3,000 บาท แต่ตกลงกันไม่ได้ แล้วต่อมาจำเลยแถลงต่อศาลตามรายงานกระบวนพิจารณาว่า ในชั้นไกล่เกลี่ยจำเลยยินดีให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเดือนละ 3,000 บาท และแถลงแทนการสืบพยานบุคคล ศาลจึงรับฟังคำแถลงดังกล่าวได้ในฐานเป็นจำนวนเงินเบื้องต้นที่จะให้ศาลใช้ดุลพินิจกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่บุตรของโจทก์จำเลยต่อไป โดยพิจารณาประกอบสภาพเศรษฐกิจและพฤติการณ์ในการทำมาหาได้ของจำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูเดือนละ 4,000 บาท จึงเหมาะสมแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9136/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีสมรสซ้อน และการรับฟังเอกสารหลักฐานการสมรสก่อน
ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ผู้คัดค้านจะมิได้ยกขึ้นกล่าวอ้างไว้ในคำคัดค้าน แต่เมื่อปัญหานี้ปรากฏตามคำร้องขอในสำนวน ผู้คัดค้านชอบจะหยิบยกขึ้นอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง และศาลอุทธรณ์ภาค 7 ต้องวินิจฉัยปัญหานี้ให้ตามมาตรา 240 วรรคหนึ่ง ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องจึงถือว่าได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 7 ผู้คัดค้านจึงชอบจะฎีกาปัญหานี้ได้ ตามมาตรา 249 วรรคหนึ่ง
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าการสมรสระหว่าง ก. กับผู้คัดค้านเป็นโมฆะ เนื่องจากเป็นการสมรสซ้อนกับการสมรสระหว่าง ก. กับผู้ร้อง ซึ่งมาตรา 1497 กำหนดให้บุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งจะกล่าวอ้างหรือจะร้องขอให้ศาลพิพากษาก็ได้ กรณีจึงเป็นเรื่องที่กฎหมายให้สิทธิบุคคลใช้สิทธิทางศาลได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ซึ่งตามมาตรา 171 กำหนดให้เสนอคดีได้ทั้งรูปคำฟ้องหรือคำร้องขอก็ได้แล้วแต่รูปเรื่องแห่งคดี และไม่ว่าจะเป็นการฟ้องคดีหรือการร้องขอก็ถือเป็นคำฟ้องเช่นกัน ผู้ร้องจึงมีอำนาจฟ้องด้วยการยื่นคำร้องขอตามมาตรา 171 ได้
ผู้ร้องนำสืบว่า ใบทะเบียนสมรสหาย ผู้ร้องขอคัดสำเนาโดยเจ้าพนักงานรับรองตามสำเนาทะเบียนสมรส เอกสารหมาย ร. 1 ตามที่ผู้ร้องได้ยื่นขอคัดข้อมูลทะเบียนครอบครัว เอกสารหมาย ร. 2 สำเนาทะเบียนสมรสดังกล่าวระบุว่า ผู้ร้องจดทะเบียนสมรสกับ ก. เป็นเอกสารมหาชนซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้นหรือรับรอง หรือสำเนาอันรับรองถูกต้องแห่งเอกสารนั้น ซึ่ง ป.วิ.พ. มาตรา 127 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง ผู้คัดค้านจึงมีหน้าที่นำสืบให้เห็นว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่เป็นจริงหรือไม่มีอยู่ การที่ผู้คัดค้านคาดคะเนว่าจะไม่เป็นจริง เพราะเหตุการณ์เกิดมานานแล้วเพิ่งจะคัดเอกสารนั้น เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่อาจหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าวได้ กรณีต้องฟังว่า ก. สมรสกับผู้ร้องอยู่แล้ว ผู้คัดค้านกับ ก. มาสมรสกันภายหลัง จึงเป็นสมรสซ้อนซึ่งเป็นโมฆะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8917/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแบ่งสินสมรสก่อนและหลังใช้ ป.พ.พ. บรรพ 5 และสิทธิในมรดกของคู่สมรส
การที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทในชั้นชี้สองสถานว่า ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสระหว่าง ส. และ จ. หรือไม่ และหากเป็นสินสมรสแล้วโจทก์ทั้งสองและจำเลยมีสิทธิในที่ดินพิพาทเพียงใด ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นสินสมรสและบังคับตามกฎหมายลักษณะผัวเมีย บทที่ 68 ส่วนแบ่งในสินสมรสว่าต้องแบ่งตามกฎหมายฉบับใดและควรจะเป็นเท่าใดตามกฎหมายเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน โจทก์มีสิทธิอุทธรณ์ในปัญหานี้ได้
ส. และ จ. อยู่กินเป็นสามีภริยาก่อนปี 2478 จึงเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย แม้ไม่จดทะเบียนสมรสเพราะอยู่กินกันก่อนใช้ ป.พ.พ. บรรพ 5 พ.ศ.2477 ซึ่งตาม พ.ร.บ.ให้ใช้บทบัญญัติ บรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2519 มาตรา 4 บัญญัติว่า บทบัญญัติ บรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ไม่กระทบกระเทือนถึงบทบัญญัติ มาตรา 4 และมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ให้ใช้บทบัญญัติ บรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2477 การแบ่งสินสมรสของ ส. และ จ. จึงต้องแบ่งตามกฎหมายลักษณะผัวเมีย บทที่ 68 แม้ ส. จะได้ที่ดินพิพาทมาหลังจากใช้ ป.พ.พ. บรรพ 5 แล้ว คือ ส. ได้ 2 ใน 3 ส่วน จ. ได้ 1 ใน 3 ส่วน โดยทรัพย์ส่วนของ จ. เป็นมรดกตกได้แก่ทายาทของ จ. ซึ่งรวมโจทก์ทั้งสองด้วย
of 22