คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.อ. ม. 297 (8)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 73 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1336/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ การใช้ปืนป้องกันตัว และเหตุรอการลงโทษ
ผู้เสียหายที่ 1 กับพวกเข้าไปรุมทำร้ายจำเลยกับพวก จำเลยใช้อาวุธปืนยิงขึ้นฟ้า 1 นัด เพื่อขู่ไม่ให้ผู้เสียหายที่ 1 กับพวกเข้ามาทำร้าย ลักษณะจึงเป็นการเตือนก่อน จากนั้นได้ยิงลงพื้นดินระหว่างจำเลยกับกลุ่มผู้เสียหายที่ 1 กับพวกเพื่อให้ถอยไป เมื่อไม่ได้ผลจึงยิงจนกระสุนปืนหมดลูกโม่ แต่ละนัดที่ยิงจำเลยพยายามยิงลงพื้นและในระดับต่ำเพื่อไม่ให้ถูกอวัยวะส่วนสำคัญของผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 กับพวก ลักษณะบาดแผลที่ผู้เสียหายทั้งสี่ได้รับจะอยู่ในระดับต่ำกว่าสะเอวลงมาคงมีเพียงผู้เสียหายที่ 3 ได้รับบาดแผลที่แผ่นหลังเมื่อนอนหมอบลงแล้ว แสดงว่าจำเลยมิได้มุ่งหมายที่จะให้ผู้เสียหายที่ 1 กับพวกได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิต ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยมิได้มีเจตนาฆ่าผู้เสียหายทั้งสี่ โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่าตาม ป.อ. มาตรา 288, 80 โดยมิได้บรรยายว่าผู้เสียหายทั้งสี่ทุพพลภาพหรือป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวันหรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน เมื่อฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าจะพิพากษาลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 297 (8) มิได้ คงลงโทษได้เพียงตามมาตรา 295
จำเลยกับพวกได้กลับมาที่เกิดเหตุก็เพื่อเอารถจักรยานยนต์ของพวกจำเลยที่จอดทิ้งไว้ มิได้กลับมาหาเรื่องและชวนทะเลาะวิวาทกับผู้เสียหายที่ 1 กับพวก การที่ผู้เสียหายที่ 1 กับพวกเข้าไปรุมทำร้ายจำเลยกับพวก จำเลยกับพวกไม่มีหน้าที่ที่จะต้องหลบหนีแต่มีอำนาจที่จะป้องกันตนให้พ้นจากภยันตรายที่เกิดจากการรุมทำร้ายของผู้เสียหายที่ 1 กับพวกได้ ทั้งข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้เสียหายที่ 1 กับพวกได้ลงมือทำร้ายชกต่อยจำเลยตกจากรถจักรยานยนต์ ภยันตรายที่จำเลยได้รับจึงถึงตัวจำเลยไม่สามารถหลีกเลี่ยงเป็นอย่างอื่น แต่การที่จำเลยใช้อาวุธปืนซึ่งมีอานุภาพร้ายแรงยิงไปทางผู้เสียหายที่ 1 กับพวกจนหมดลูกโม่จำนวน 6 นัด การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการป้องกันสิทธิของตนและผู้อื่นเกินสมควรแก่เหตุตาม ป.อ. มาตรา 69
การที่จำเลยมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ถือว่าเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7 แล้ว เมื่อจำเลยพาอาวุธปืนติดตัวโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและไม่มีสาเหตุสมควร ทั้งไม่เป็นกรณีต้องมีติดตัวเมื่อมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ จึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง อีกกรรมหนึ่งแยกต่างหากจากกัน การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6494/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การทำร้ายร่างกายโดยบันดาลโทสะของเจ้าพนักงานตำรวจหลังถูกทำร้ายและเหตุการณ์ต่อเนื่อง ศาลฎีกาพิจารณาโทษกรรมเดียว
ผู้เสียหายที่ 4 เป็นผู้ก่อเหตุขึ้นก่อนโดยกระโดดถีบหน้าอกจำเลย แต่เมื่อผู้เสียหายที่ 4 เห็นจำเลยชักปืนพกออกมาจึงร้องบอกให้ผู้เสียหายอื่นทราบ แล้วผู้เสียหายทั้งสี่ต่างก็วิ่งหนีเช่นนี้ ภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายที่มีต่อจำเลยจึงไม่มีต่อไปแล้ว การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายทั้งสี่หลายนัดและกระสุนปืนถูกผู้เสียหายที่ 3 ที่ด้านหลังของต้นขาขวา ทำให้ผู้เสียหายที่ 3 ได้รับอันตรายสาหัส แต่กระสุนปืนไม่ถูกผู้เสียหายอื่น อันแสดงให้เห็นว่าเป็นการยิงขณะผู้เสียหายทั้งสี่หันหลังให้จำเลย การกระทำของจำเลยดังกล่าวจึงหาเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายไม่ แต่เห็นได้ว่าเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะ เพราะผู้เสียหายทั้งสี่อยู่ในวัยรุ่นและจำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจด้วย แม้ผู้เสียหายทั้งสี่จะไม่รู้ก็ตาม ทั้งเหตุแต่แรกก็เป็นสาเหตุเล็กน้อยเพียงแต่โต้เถียงกันเรื่องขวางทางเดินเท่านั้น การที่ผู้เสียหายทั้งสี่กลับมาพบจำเลยในที่เกิดเหตุอีก แล้วผู้เสียหายที่ 4 กระโดดถีบหน้าอกจำเลยเช่นนี้ ย่อมทำให้จำเลยโกรธเพราะถือว่าเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามศักดิ์ศรีของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ มีลักษณะเป็นการข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมและจำเลยได้ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายทั้งสี่ทันทีในขณะผู้เสียหายทั้งสี่วิ่งหนี จึงเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะตาม ป.อ. มาตรา 72 ในขณะที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงนั้น ผู้เสียหายที่ 3 อยู่ห่างจำเลยเพียง 2 ถึง 3 เมตร ส่วนผู้เสียหายอื่นก็อยู่ห่างจำเลยเพียง 5 เมตร ถึง 6 เมตร เท่านั้น จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจย่อมมีความชำนาญในการใช้อาวุธปืนมากกว่าบุคคลทั่วไปและได้ยิงถึง 6 นัด แต่กระสุนปืนถูกผู้เสียหายที่ 3 เพียงคนเดียวและถูกที่ด้านหลังของต้นขาขวา ซึ่งเป็นอวัยวะที่ไม่สำคัญอันไม่สามารถทำให้ถึงตายได้ แสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาเพียงทำร้ายผู้เสียหายทั้งสี่เท่านั้น เมื่อปรากฏว่าผู้เสียหายที่ 3 ได้รับอันตรายสาหัสจากการถูกยิง ส่วนผู้เสียหายที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ไม่ได้รับอันตรายใด ๆ จำเลยจึงมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสโดยบันดาลโทสะตาม ป.อ. มาตรา 297 (8) ประกอบมาตรา 72 และพยายามทำร้ายร่างกายผู้อื่นโดยบันดาลโทสะตาม ป.อ. มาตรา 295 ประกอบมาตรา 80 และ 72 อันเป็นการกระทำกรรมเดียว ผิดต่อกฎหมายหลายบทตาม ป.อ. มาตรา 90

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5087/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาความผิดฐานพยายามฆ่าในคดีชุลมุนต่อสู้ ศาลฎีกาไม่รับฎีกาในประเด็นข้อเท็จจริงที่โต้แย้งดุลพินิจศาลอุทธรณ์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้มีดปลายแหลมแทงและฟันผู้เสียหายที่ 1 มีบาดแผลฉีกขาดที่แขนขวาท่อนล่างยาว 5 เซนติเมตร เอ็นฉีกขาดและเส้นประสาทขาด บาดแผลถูกแทงบริเวณหน้าอกด้านซ้ายกว้าง 1.5 เซนติเมตร ลึก 2 เซนติเมตร นิ้วก้อยซ้ายและนิ้วนางซ้ายขยับไม่ได้ ตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ แสดงให้เห็นว่า ผู้เสียหายที่ 1 ได้รับบาดเจ็บมากจนนิ้วก้อยซ้ายและนิ้วนางซ้ายขยับไม่ได้ ผู้เสียหายที่ 1 รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเป็นเวลา 5 วัน และรักษาตัวที่บ้านประมาณ 2 เดือน แผลจึงหายเป็นปกติ ระหว่างที่รักษาตัวไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ จึงรับฟังได้ว่าผู้เสียหายที่ 1 ป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาและประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน อันเป็นอันตรายสาหัส
ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฐานพยายามฆ่าแต่ทางพิจารณาได้ความว่าผู้เสียหายที่ 1 ถูกทำร้ายเนื่องจากการชุลมุนต่อสู้ ถือว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญจึงลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้นั้น ในการวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวศาลฎีกาจำต้องย้อนไปวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 เข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกอันเป็นการชุลมุนต่อสู้ระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป และผู้เสียหายที่ 1 ได้รับอันตรายสาหัสเนื่องจากการชุลมุนดังกล่าวหรือไม่ ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมีลักษณะเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ฟังมาเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยกขึ้นอ้าง จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4605/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบรรยายฟ้องคดีอาญา การพิสูจน์ข้อเท็จจริง และการกำหนดโทษที่เหมาะสม
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยใช้มีดปลายแหลม 1 เล่ม และไม้ปลายแหลม 1 อัน เป็นอาวุธแทงผู้เสียหาย 2 ครั้ง ถูกบริเวณหน้าแข้งซ้ายส่วนล่าง บาดแผลกว้าง 3 เซนติเมตร และ 4 เซนติเมตร ลึกตัดกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นส่วนหน้าขาด เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส ขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 297 ฟ้องของโจทก์ได้บรรยายชัดเจนแล้วว่าจำเลยทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสอันเป็นความผิดตาม ป.อ. 297 (8) ส่วนบาดแผลของผู้เสียหายจะเกิดจากไม้ปลายแหลมหรือไม่ เป็นข้อเท็จจริงซึ่งเป็นรายละเอียดที่โจทก์จะต้องนำสืบในชั้นพิจารณา และโจทก์ไม่จำต้องระบุอนุมาตราที่ขอให้ลงโทษมาในคำขอท้ายฟ้องด้วย ฟ้องของโจทก์จึงได้บรรยายการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยกระทำความผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ที่เกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี และอ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) และ (6) แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 774/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน และทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา
จำเลยรู้ว่ากำลังถูกผู้เสียหายที่ 2 กับพวกซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจติดตามจับกุม การที่จำเลยกอดปล้ำต่อสู้และใช้มีดฟันแทงผู้เสียหายที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติงานตามหน้าที่ตาม ป.อ. มาตรา 138, 140 และเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติงานตามหน้าที่ด้วย
การเป็นอันตรายสาหัสตาม ป.อ. มาตรา 297 (8) นั้น ต้องป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวันหรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน แต่ผู้เสียหายที่ 2 มีบาดแผลที่ต้นขาซ้ายด้านหลังต้องรักษาที่โรงพยาบาล 11 วัน หลังจากนั้นให้กลับไปรักษาตัวที่บ้านและต้องไปทำแผลทุกวัน ในระหว่างรักษาบาดแผลผู้เสียหายที่ 2 ยังสามารถทำงานได้ตามปกติและต้องไปล้างแผลทุกวัน แสดงว่าผู้เสียหายที่ 2 มิได้ป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาหรือประกอบกรณียกิจไม่ได้ จึงไม่เข้าลักษณะอันตรายสาหัสตาม ป.อ. 297 (8) เพียงแต่เป็นอันตรายแก่กายหรือจิตใจตาม ป.อ. มาตรา295 เท่านั้น การที่จำเลยทำร้ายร่ายกายผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 296

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6519/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางอาญาจากการทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส แม้ไม่มีเจตนา
ความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสตาม ป.อ. มาตรา 297 เป็นเหตุที่ทำให้ผู้กระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายตามมาตรา 295 ต้องรับโทษหนักขึ้นเพราะผลที่เกิดจากการกระทำโดยที่ผู้กระทำไม่จำต้องมีเจตนาต่อผลที่ทำให้ต้องรับโทษหนักขึ้น ดังนั้น เมื่อจำเลยใช้ท่อนไม้ขว้างปาผู้เสียหายถูกบริเวณศีรษะทำให้ผู้เสียหายตกรถจักรยานยนต์ได้รับบาดเจ็บ แม้จำเลยไม่มีเจตนาให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส คงมีเจตนาทำร้ายร่างกายผู้เสียหายก็ตาม จำเลยก็ต้องรับผิดในผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำของจำเลยที่ทำร้ายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสตาม ป.อ. มาตรา 297 (8)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4959/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลดโทษคดีทำร้ายร่างกายและพาอาวุธ การแก้ไขโทษปรับที่ไม่สามารถกักขังแทนค่าปรับได้
ในความผิดฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษปรับจำเลยเป็นเงิน 50 บาท แต่ ป.อ. มาตรา 30 บัญญัติว่า ในการกักขังแทนค่าปรับให้ถืออัตรา 200 บาทต่อหนึ่งวัน ฉะนั้น การบังคับค่าปรับจึงกักขังแทนค่าปรับไม่ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่า ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา 29, 30 นั้น เป็นการไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้องโดยแก้เป็นว่า "...ปรับ 50 บาท หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา 29 แต่ประการเดียว..."

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3801/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การทำร้ายร่างกายภริยา: ศาลฎีกาแก้ไขความผิดฐานทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายทางกาย และลดโทษพร้อมรอการลงโทษ
จำเลยใช้อาวุธมีดของกลางทำร้ายผู้เสียหายซึ่งเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย เป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กาย มีบาดแผลที่คอและข้อมือซ้าย ตามรายงานผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ระบุว่า ผู้เสียหายมีบาดแผลฉีกขาดที่คอไม่ลึกยาว 3 เซนติเมตร กับแผลฉีกขาดที่ข้อมือซ้ายขนาด 4x1 เซนติเมตรลึก 2 เซนติเมตร มีเอ็นฉีกขาดและเส้นเลือดแดงเล็กฉีกขาด ต้องใช้เวลารักษาประมาณ 21 ถึง 28 วัน จึงจะหายเป็นปกติ แต่ผู้เสียหายเบิกความตอบโจทก์ว่านอนพักรักษาตัวอยู่โรงพยาบาลประมาณ 7 วัน และตอบทนายจำเลยถามค้านว่าเอ็นข้อมือซ้ายไม่ขาด ดังนี้ แม้แพทย์ผู้ตรวจรักษาจะมาเบิกความยืนยันบาดแผล แต่ที่ ระบุว่าต้องรักษาบาดแผลประมาณ 21 ถึง 28 วัน ก็เป็นเพียงความเห็น ของแพทย์เกี่ยวกับการรักษาบาดแผลให้หายเป็นปกติโดยคาดคะเนเอาเท่านั้น เมื่อโจทก์มิได้นำสืบให้ปรากฏว่าบาดแผลดังกล่าวเป็นเหตุให้ผู้เสียหายต้องป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวันหรือประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวันตลอดระยะเวลานั้นด้วย จึงฟังไม่ได้ว่าผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297(8)
จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและสอบสวน แม้ในชั้นพิจารณาจำเลยให้การปฏิเสธ แต่จำเลยก็อ้างตัวเองเบิกความเป็นพยานทำนองรับสารภาพความผิดทุกข้อหาตามฟ้อง และข้อเท็จจริงก็ปรากฏว่าจำเลยกับผู้เสียหายเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย หลังเกิดเหตุยังคงอยู่กินด้วยกัน ประกอบกับผู้เสียหายยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นและศาลฎีกาขอให้รอการลงโทษแก่จำเลย ตามพฤติการณ์จึงสมควรลดโทษแก่จำเลยกึ่งหนึ่งและรอการลงโทษแก่จำเลยด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5830/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ทำร้ายร่างกายจนเป็นอันตรายสาหัส: การพิเคราะห์อาการบาดเจ็บและระยะเวลาพักรักษาเพื่อประกอบการพิจารณาความผิด
จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันทำร้ายผู้เสียหาย โดยใช้ก้อนหินทุบกราม ผู้เสียหาย ผู้เสียหายได้ไปให้แพทย์ที่คลินิก รักษาบาดแผล หลังจากผู้เสียหายไปให้แพทย์ที่คลินิก รักษาบาดแผลแล้วไปแจ้งต่อพนักงานสอบสวนปรากฏว่าพนักงานสอบสวนได้ส่งตัวผู้เสียหายไปให้แพทย์โรงพยาบาลตรวจรักษาอีกครั้ง แสดงให้เห็นว่าผู้เสียหายมีอาการได้รับบาดเจ็บมาก แพทย์โรงพยาบาลได้ตรวจร่างกายผู้เสียหายด้วยวิธีเอกซเรย์ พบว่า กระดูกแก้มขวาแตกมีเลือดออกในโพรงกระดูก และมีความเห็นว่า ตามปกติต้องใช้เวลารักษาประมาณ 3 เดือน ผู้เสียหายเองก็เบิกความยืนยันว่า ได้รับบาดเจ็บกราม หัก เคี้ยวอาหารไม่ได้ตามปกติ รักษาอยู่ประมาณ 25 วันจึงหาย จึงรับฟังได้ว่าผู้เสียหายป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวันและประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวันอันเป็นอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297(8)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5830/2541 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ทำร้ายร่างกายจนเกิดอันตรายสาหัส: การพิจารณาอาการบาดเจ็บและระยะเวลาพักรักษา
จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันทำร้ายผู้เสียหาย โดยใช้ก้อนหินทุบกรามผู้เสียหาย ผู้เสียหายได้ไปให้แพทย์ที่คลินิครักษาบาดแผล หลังจากผู้เสียหายไปให้แพทย์ที่คลินิครักษาบาดแผลแล้วไปแจ้งต่อพนักงานสอบสวน ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนได้ส่งตัวผู้เสียหายไปให้แพทย์โรงพยาบาลตรวจรักษาอีกครั้ง แสดงให้เห็นว่าผู้เสียหายมีอาการได้รับบาดเจ็บมาก แพทย์โรงพยาบาลได้ตรวจร่างกายผู้เสียหายด้วยวิธีเอกซเรย์พบว่า กระดูกแก้มขวาแตกมีเลือดออกในโพรงกระดูก และมีความเห็นว่า ตามปกติต้องใช้เวลารักษาประมาณ 3 เดือน ผู้เสียหายเองก็เบิกความยืนยันว่า ได้รับบาดเจ็บกรามหัก เคี้ยวอาหารไม่ได้ตามปกติ รักษาอยู่ประมาณ25 วันจึงหาย จึงรับฟังได้ว่า ผู้เสียหายป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวันและประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวันอันเป็นอันตรายสาหัสตาม ป.อ.มาตรา 297 (8)
of 8