คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ม. 45 (2)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 11 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2050/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัย แม้ไม่มีคู่ความอุทธรณ์
การที่คณะอนุญาโตตุลาการมีคําชี้ขาดให้ผู้ร้องที่ 1 และที่ 2 เข้าทำสัญญาเงินกู้หรือบันทึกข้อตกลงค้ำประกันการชําระหนี้และสัญญาจำนำหุ้น และในสถานการณ์นี้จะสั่งให้เพิกถอนการโอนกรรมสิทธิ์ในสิ่งปลูกสร้างระหว่างผู้คัดค้านและ อ. ซึ่งเป็นผู้รับโอน และจะต้องโอนกรรมสิทธิ์ในสิ่งปลูกสร้างกลับคืนไปยังผู้คัดค้าน และในทางกลับกันจะต้องดำเนินการในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจของผู้คัดค้านยอมรับการโอนกรรมสิทธิ์ในสิ่งปลูกสร้างกลับไปยังผู้คัดค้าน อันเป็นคําชี้ขาดที่มีผลบังคับให้ผู้คัดค้านชําระหนี้ตอบแทนโดยเพิกถอนนิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ในสิ่งปลูกสร้างระหว่างผู้คัดค้านกับ อ. กลับมาเป็นของผู้คัดค้านแล้วโอนให้แก่ฝ่ายผู้ร้อง ซึ่งการจะเพิกถอนนิติกรรมระหว่างผู้คัดค้านกับ อ. ได้ต้องปรากฏว่าผู้คัดค้านกับ อ. เป็นคู่พิพาทหรือคู่ความในคดีจึงจะบังคับได้ เมื่อ อ. เป็นบุคคลภายนอกไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีในชั้นอนุญาโตตุลาการ การบังคับตามคําชี้ขาดในกรณีนี้จึงไม่อาจบังคับกับ อ. บุคคลนอกคดีได้ การยอมรับหรือการบังคับตามคําชี้ขาดในส่วนนี้ย่อมเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
การที่อนุญาโตตุลาการมีคําชี้ขาดให้ผู้ร้องที่ 1 และ ที่ 2 เข้าทำสัญญาเงินกู้หรือบันทึกข้อตกลงค้ำประกันการชําระหนี้และสัญญาจำนำหุ้น ทั้งที่ผู้คัดค้านยื่นคําคัดค้านและข้อเรียกร้องแย้งโดยขอเพียงให้ผู้ร้องทั้งสามชําระเงินพร้อมดอกเบี้ยและค่าขาดประโยชน์แก่ผู้คัดค้านเป็นคําชี้ขาดที่เกินคําขอของผู้คัดค้าน ไม่ชอบตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 37 วรรคสอง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6411/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยได้ถูกต้อง ศาลยืนตามคำชี้ขาด ไม่ถือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรม
ผู้คัดค้านยื่นอุทธรณ์คัดค้านอ้างว่า การรับฟังพยานหลักฐานของอนุญาโตตุลาการทำให้การยอมรับหรือบังคับตามคำชี้ขาดนั้น เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลแพ่งที่บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการนั้น เป็นการฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ผู้คัดค้านจะหยิบยกข้อเท็จจริงต่าง ๆ ขึ้นอ้าง เพื่อโต้แย้งการรับฟังพยานหลักฐานของอนุญาโตตุลาการและศาลชั้นต้น เพื่อให้ศาลฎีการับฟังข้อเท็จจริงว่า ผู้ร้องเป็นฝ่ายผิดข้อตกลงตามบันทึกความเข้าใจและข้อตกลงต่อท้ายบันทึกความเข้าใจ จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญา แต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าอนุญาโตตุลาการใช้ดุลพินิจไม่สุจริตและประพฤติไม่ชอบในการดำเนินกระบวนพิจารณา ทั้งมาตรา 25 วรรคสอง บัญญัติวิธีพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการในกรณีที่คู่พิพาทมิได้ตกลงกันหรือกฎหมายมิได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ให้คณะอนุญาโตตุลาการมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ได้ตามที่เห็นสมควร อำนาจของคณะอนุญาโตตุลาการนี้ให้รวมถึงอำนาจวินิจฉัยในเรื่องการรับฟังพยานหลักฐานและการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง ทั้งไม่ใช่กรณีผู้คัดค้านเป็นฝ่ายยื่นคำร้องคัดค้านคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ (ตามมาตรา 40 (1)
ผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่า ผู้ร้องไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ย เป็นการอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการให้ผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้ผิดนัดต้องชำระดอกเบี้ยเมื่อครบกำหนดเวลาทวงถามให้แก่ผู้ร้อง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน คำพิพากษาของศาลชั้นต้นไม่ฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน อุทธรณ์ของผู้คัดค้านในส่วนนี้ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 วรรคหนึ่ง (1) (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9857/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย: ลูกจ้างในทางการจ้างไม่ใช่บุคคลภายนอก
อนุญาโตตุลาการสืบพยานของคู่พิพาทเสร็จแล้ว รับฟังข้อเท็จจริงว่าผู้ตายเป็นลูกจ้างของ ช. มีหน้าที่ขนไก่ขึ้นลงจากรถ วันเกิดเหตุหลังจากส่งไก่เสร็จแล้ว ช. จะไปซื้อหญ้าที่อำเภอองครักษ์มาปลูกที่บ้าน ผู้ตายขอไปด้วยเพราะรู้จักสถานที่ จึงโดยสารมาในรถ ระหว่างที่ ช. ขับรถยนต์พาผู้ตายกลับบ้าน เกิดอุบัติเหตุเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย ถือว่าอุบัติเหตุเกิดขึ้นในระหว่างทางการที่จ้าง ผู้คัดค้านไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ผู้ร้องอุทธรณ์ว่า ผู้ตายเดินทางไปกับ ช. หลังจากเสร็จสิ้นการส่งไก่ ไม่ใช่ทางการที่จ้าง เป็นการโต้แย้งดุลพินิจของอนุญาโตตุลาการในการวินิจฉัยข้อเท็จจริง ไม่ใช่กรณีที่ศาลจะเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการได้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 (1) (2) วรรคสาม ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชอบแล้ว ส่วนอุทธรณ์ของผู้ร้องอีกข้อหนึ่งว่า ตามเงื่อนไขท้ายกรมธรรม์ หมวดการคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ข้อ 8 วรรคหนึ่ง ผู้คัดค้านไม่อาจยกความไม่สมบูรณ์ของกรมธรรม์หรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัยเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอก เพื่อปฏิเสธความรับผิดนั้น แต่เงื่อนไขท้ายกรมธรรม์หมวดการคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ข้อ 1.1 วรรคท้าย ระบุว่า บุคคลภายนอกไม่รวมถึงผู้ขับขี่ที่เป็นฝ่ายต้องรับผิดตามกฎหมายตลอดจนลูกจ้างในทางการที่จ้างของผู้ขับขี่ ผู้ตายจึงไม่ใช่บุคคลภายนอกตามความหมายในเงื่อนไขกรมธรรม์ข้อนี้ ผู้คัดค้านย่อมไม่ถูกห้ามปฏิเสธความรับผิดตามเงื่อนไขข้อ 8 ที่อนุญาโตตุลาการชี้ขาดว่าผู้คัดค้านไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจึงไม่ขัดต่อข้อสัญญา การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และคำสั่งของศาลชั้นต้นก็ไม่ได้ฝ่าฝืนต่อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 (1) (2) วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4896/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความการเรียกร้องค่าจ้างตามสัญญาจ้าง – การตีความสัญญาและข้อบังคับอนุญาโตตุลาการ
ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการว่า สัญญาจ้างมุ่งถึงผลสำเร็จของงานทั้งหมด ผู้ร้องกับผู้คัดค้านต่างมิได้ยึดถือเอาการชำระค่าจ้างตามเนื้องานที่ระบุในแต่ละงวดตามสัญญาเป็นข้อสาระสำคัญ แม้ผู้คัดค้านไม่ชำระค่าจ้างงานงวดที่ 11 อายุความยังไม่เริ่มนับ อายุความเริ่มนับเมื่อส่งมอบงานทั้งหมดแล้ว ผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่า คำพิพากษาของศาลชั้นต้นคลาดเคลื่อนต่อความเป็นจริงเพราะสัญญาจ้างระบุงานในแต่ละงวดและระบุค่าจ้างไว้ชัดเจน อายุความย่อมเริ่มนับเมื่อผู้ว่าจ้างไม่ชำระค่าจ้างในแต่ละงวดนั้น อุทธรณ์ของผู้คัดค้านเป็นการโต้แย้งการวิเคราะห์พยานหลักฐานและดุลพินิจในการวินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานในสำนวนของอนุญาโตตุลาการ และโต้แย้งการให้เหตุผลในการวินิจฉัยตีความข้อสัญญาระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านของอนุญาโตตุลาการและศาลชั้นต้นโดยไม่ปรากฏว่ามีการวินิจฉัยผิดจากวิธีพิจารณาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด จึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ข้อยกเว้นตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 (2) ที่ว่าคำพิพากษาของศาลชั้นต้นนั้นฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแต่ประการใด ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์ทำนองว่า อนุญาโตตุลาการทำคำวินิจฉัยชี้ขาดคดีนี้นานถึงหนึ่งปี ย่อมขัดต่อข้อบังคับสำนักงานศาลยุติธรรมว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ ข้อ 27 ที่ต้องทำคำชี้ขาดให้เสร็จภายในกำหนดเวลาหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ตั้งอนุญาโตตุลาการนั้น ข้อบังคับดังกล่าวเป็นเพียงกรอบเวลาที่ได้กำหนดให้ดำเนินการเท่านั้น การที่อนุญาโตตุลาการไม่อาจทำคำชี้ขาดได้เสร็จภายในกำหนดเวลาตามข้อบังคับ ไม่ถึงกับทำให้กระบวนพิจารณาในชั้นอนุญาโตตุลาการไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด ดังนั้น การบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจึงไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11454/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตการวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการ การเพิกถอนคำชี้ขาด และการใช้ดุลพินิจปรับบทกฎหมาย
ผู้ร้องอุทธรณ์ว่า ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการซึ่งวินิจฉัยให้ผู้ร้องชำระค่าจ้างงวดที่ 18 แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ไม่เกินขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการ และคณะอนุญาโตตุลาการมีอำนาจวินิจฉัยเกี่ยวกับจำนวนค่าภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งหมด รวมถึงการหักจำนวนค่าภาษีมูลค่าเพิ่มออกจากค่าจ้างที่ชำระ เป็นการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดที่เป็นการขัดต่อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนนั้น เป็นการโต้แย้งการวิเคราะห์พยานหลักฐานและดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานในสำนวนของคณะอนุญาโตตุลาการ และโต้แย้งการให้เหตุผลในการวินิจฉัยตีความข้อสัญญาของคณะอนุญาโตตุลาการและศาลชั้นต้น โดยไม่ปรากฏว่ามีการวินิจฉัยผิดจากวิธีพิจารณาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด อุทธรณ์ของผู้ร้องต้องห้ามเพราะมิใช่กรณียกเว้นให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 (1) (2)
ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสอง กำหนดให้คู่พิพาทยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดได้ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันได้รับสำเนาคำชี้ขาด หรือถ้าเป็นกรณีมีการขอให้คณะอนุญาโตตุลาการแก้ไขคำชี้ขาด ก็นับแต่วันที่คณะอนุญาโตตุลาการได้แก้ไขคำชี้ขาดแล้ว โดยไม่ได้บัญญัติว่า จะต้องเป็นการแก้ไขคำชี้ขาดในส่วนสาระสำคัญเท่านั้น แม้จะเป็นการแก้ไขคำชี้ขาดในส่วนสาระสำคัญ หรือเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดหรือผิดหลงเล็กน้อย คู่พิพาทก็อาจยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดได้ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่คณะอนุญาโตตุลาการได้แก้ไขคำชี้ขาดแล้ว คดีนี้คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดในวันที่ 8 มีนาคม 2548 แต่ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอให้ตีความหรืออธิบายข้อความในคำชี้ขาดคณะอนุญาโตตุลาการมีการแก้ไขคำชี้ขาดในข้อผิดพลาดหรือผิดหลงเล็กน้อยเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2548 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2548 ซึ่งเมื่อนับจากวันที่คณะอนุญาโตตุลาการได้แก้ไขคำชี้ขาดข้างต้นยังไม่เกินเก้าสิบวัน ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องดังกล่าวได้
ข้อพิพาทในส่วนเงินค่าจ้างงานเพิ่มเติมนอกสัญญาและค่าวัสดุก่อสร้างงานที่เพิ่มขึ้นเป็นข้อพิพาทที่สืบเนื่องจากสัญญาจ้างเหมางานก่อสร้าง คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในส่วนนี้จึงหาได้เกินขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการอันจะเป็นเหตุให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดแต่อย่างใดไม่
การระงับข้อพิพาททางอนุญาโตตุลาการเกิดจากข้อตกลงตามสัญญาระหว่างคู่พิพาท โดยการดำเนินกระบวนพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการ นอกจากจะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ซึ่งบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะแล้ว ยังให้สิทธิแก่คู่พิพาทที่จะตกลงวิธีพิจารณากันได้ และในกรณีที่คู่พิพาทไม่ได้ตกลงกัน หรือ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ไม่ได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น มาตรา 25 วรรคสอง และวรรคสาม ยังให้อำนาจคณะอนุญาโตตุลาการดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ได้ตามที่เห็นสมควร รวมทั้งอาจนำ ป.วิ.พ. ว่าด้วยพยานหลักฐานมาใช้โดยอนุโลม คดีนี้ชั้นพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการมีการกำหนดประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับเบี้ยปรับว่า ผู้ร้องคดีนี้มีสิทธิเรียกค่าปรับหรือไม่ เพียงใด การที่คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ส่งมอบงานแก่ผู้ร้องล่าช้า อันเป็นเหตุให้ผู้คัดค้านที่ 1 ต้องชำระเบี้ยปรับแก่ผู้ร้องตามสัญญา แต่เนื่องจากผู้ร้องไม่ได้สงวนสิทธิที่เรียกเอาเบี้ยปรับในเวลารับชำระหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 381 วรรคสาม จึงหมดสิทธิที่จะเรียกเอาเบี้ยปรับจากผู้คัดค้านที่ 1 นั้น เป็นการที่คณะอนุญาโตตุลาการใช้ดุลพินิจในการปรับบทกฎหมายกับข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความ ทั้งเป็นไปตามประเด็นข้อพิพาทที่กำหนดไว้ แม้ผู้คัดค้านที่ 1 จะไม่ได้ยกข้อเท็จจริงที่ว่า ผู้ร้องไม่ได้บอกกล่าวสงวนสิทธิที่จะเรียกเอาเบี้ยปรับขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในคำคัดค้านแก้ข้อเรียกร้องแย้ง ก็หาทำให้คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น หรือเป็นคำชี้ขาดที่เกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาท อันจะเป็นเหตุให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2231-2233/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความเป็นกลางของอนุญาโตตุลาการเป็นหลักประกันความยุติธรรม การไม่เปิดเผยข้อมูลการถือหุ้นถือเป็นเหตุแห่งความไม่เป็นอิสระ
ความเป็นกลางและเป็นอิสระของอนุญาโตตุลาการถือเป็นคุณสมบัติที่สำคัญที่จะเป็นหลักประกันความยุติธรรมให้แก่คู่พิพาท หากอนุญาโตตุลาการปราศจากเสียซึ่งความเป็นกลางและเป็นอิสระแล้ว คู่พิพาทก็จะไม่ได้รับความเป็นธรรมและกระบวนการอนุญาโตตุลาการก็จะไม่ได้รับการยอมรับ บทบัญญัตินี้จึงเป็นบทกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ใช่ผู้ถือหุ้นที่แท้จริงของผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 5 จึงไม่มีเหตุอันควรสงสัยถึงความเป็นกลางและเป็นอิสระของผู้คัดค้านที่ 1 ในการปฏิบัติหน้าที่อนุญาโตตุลาการเพื่อพิจารณาข้อพิพาทระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 5 ดังนั้น การที่ผู้ร้องทั้งสามสำนวนอุทธรณ์คัดค้านว่าผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งได้รับเลือกเป็นประธานอนุญาโตตุลาการขาดความเป็นกลางและเป็นอิสระ จึงเป็นการกล่าวอ้างคัดค้านว่าคำสั่งศาลชั้นต้นขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา 45 (2) แห่งพ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545
ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้ลงชื่อโอนหุ้นให้แก่ผู้ใต้บังคับบัญชาย่อมต้องรู้อยู่ก่อนแล้วว่าหุ้นของผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 5 ออกในนามของตนเอง แม้ผู้คัดค้านที่ 1 จะเห็นว่าตนไม่มีส่วนได้เสียในการซื้อหุ้นของผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 5 แต่ผู้คัดค้านที่ 1 ก็มีหน้าที่ต้องเปิดเผยข้อเท็จจริงดังกล่าวซึ่งอาจเป็นเหตุอันควรสงสัยถึงความเป็นกลางหรือความเป็นอิสระของตนให้คู่พิพาททราบ การที่ผู้คัดค้านไม่เปิดเผยข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นการขัดต่อหน้าที่ของอนุญาโตตุลาการตามมาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ผู้คัดค้านที่ 1 จึงไม่อาจทำหน้าที่เป็นอนุญาโตตุลาการรวมทั้งเป็นประธานอนุญาโตตุลาการได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2503/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาโครงการกิจการของรัฐที่ไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมงานฯ ทำให้สัญญาและคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการเป็นโมฆะ
กิจการจำหน่ายและจ่ายรางวัลสลากบำรุงการกุศลแบบอัตโนมัติ เป็นกิจการที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ซึ่งเป็น "รัฐวิสาหกิจ" และเป็น "หน่วยงานเจ้าของโครงการ" มีอำนาจหน้าที่ที่จะกระทำได้ตาม พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 มาตรา 5 (3) เพราะเป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องหรือที่เป็นประโยชน์แก่การดำเนินกิจการของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล จึงเข้าลักษณะเป็น "กิจการของรัฐ" และเป็นกิจการที่มีเงินลงทุนหรือทรัพย์สินตั้งแต่หนึ่งพันล้านบาทขึ้นไป ซึ่งเข้าเกณฑ์เป็น "โครงการ" ในกิจการของรัฐตามนัยของบทนิยามความหมายต่างๆ ที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 และตามข้อตกลงในสัญญาแต่งตั้งผู้แทนจำหน่ายและจ่ายรางวัลสลากบำรุงการกุศลแบบอัตโนมัติก็มีข้อตกลงในสาระสำคัญว่าผู้คัดค้านได้มอบหมายให้ผู้ร้องซึ่งเป็นเอกชนลงทุนแต่ฝ่ายเดียวโดยวิธีการอนุญาตหรือให้สิทธิที่จะดำเนินกิจการแทนผู้คัดค้านในการดำเนินการเกี่ยวกับกิจการของรัฐ ซึ่งเข้าบทนิยามความหมายของคำว่า "ร่วมงานหรือดำเนินการ" ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 ด้วย สัญญาแต่งตั้งผู้แทนจำหน่ายและจ่ายรางวัลสลากบำรุงการกุศลแบบอัตโนมัติจึงเป็นสัญญาที่คู่สัญญาคือผู้ร้องและผู้คัดค้านจะต้องกระทำภายใต้บังคับของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 เมื่อการทำสัญญาฉบับนี้มิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติไว้ ทั้งขั้นตอนการเสนอโครงการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบตามที่บัญญัติไว้ในหมวด 2 มาตรา 6 ถึงมาตรา 11 ตลอดจนขั้นตอนในส่วนของวิธีการดำเนินโครงการภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้วตามความในหมวด 3 ตั้งแต่มาตรา 12 ถึงมาตรา 21 สัญญาแต่งตั้งผู้แทนจำหน่ายและจ่ายรางวัลสลากบำรุงการกุศลแบบอัตโนมัติจึงกระทำขึ้นโดยไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 จึงเป็นสัญญาที่ไม่มีผลผูกพันผู้ร้องและผู้คัดค้านซึ่งเป็นคู่สัญญา และย่อมส่งผลทำให้สัญญาข้อ 26 ซึ่งเป็นข้อตกลงส่วนหนึ่งในสัญญาแต่งตั้งผู้แทนจำหน่ายและจ่ายรางวัลสลากบำรุงการกุศลแบบอัตโนมัติอันเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทโดยเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการเพื่อชี้ขาดไม่มีผลบังคับใช้ไปด้วย ดังนั้น คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ฉบับลงวันที่ 4 ธันวาคม 2543 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลพิพากษาตามคำชี้ขาดจึงเป็นคำชี้ขาดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายที่ใช้บังคับแก่ข้อพิพาทนั้น กรณีย่อมเข้าเกณฑ์ตามมาตรา 24 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 ที่ศาลมีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดนั้นได้
การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาบังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการให้จึงเป็นการพิพากษารับบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ โดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 24 วรรคหนึ่ง ของ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 และเนื่องจาก พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 เป็นบทกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์ให้การลงทุนในกิจการของรัฐที่มีวงเงินลงทุนสูงไม่ตกอยู่ภายใต้การพิจารณาของบุคคลผู้เดียวหรือหน่วยงานเดียว เพื่อประโยชน์โดยรวมของประเทศชาติ ซึ่งเป็นบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน กรณีจึงต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 26 (2) แห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 และมาตรา 45 (2) แห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ผู้คัดค้านมีสิทธิที่จะอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยตรงต่อศาลฎีกาได้ ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8960/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทสัญญาซื้อขายน้ำมัน: ศาลบังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการได้ แม้ไม่ได้วินิจฉัยทุกประเด็นที่คู่ความอ้าง
ประเด็นข้อพิพาทที่ผู้คัดค้านอ้างเป็นข้อพิพาทที่เกิดจากหรือเกี่ยวข้องกับสัญญาซื้อขายน้ำมันปิโตรเลียมซึ่งจะต้องพิจารณาและชี้ขาดโดยอนุญาโตตุลาการตามข้อบังคับของสถาบันอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศแห่งกรุงลอนดอน (London Court of International Arbitration) ตามที่ระบุไว้ในข้อกำหนดและเงื่อนไขของสัญญาระหว่างผู้ร้องและผู้คัดค้าน จึงมิใช่ประเด็นข้อพิพาทที่ศาลจะวินิจฉัยในชั้นนี้ การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่วินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวจึงชอบแล้ว
ที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่าศาลชั้นต้นพิจารณาแต่เพียงพยานหลักฐานที่ผู้คัดค้านนำสืบตามข้อต่อสู้ว่ารับฟังไม่ได้ ทั้งที่ผู้ร้องนำสืบไม่น่าเชื่อว่าผู้ร้องเป็นนิติบุคคลจริงเพราะไม่แสดงหนังสือรับรองนิติบุคคลที่ส่วนราชการซึ่งกำกับดูแลออกให้เป็นพยานหลักฐานนั้นเป็นการอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลเรื่องความเป็นผู้บกพร่องในเรื่องความสามารถของคู่สัญญาตามกฎหมายที่ใช้บังคับแก่คู่สัญญานั้น ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 43 (1) ซึ่งภาระการพิสูจน์ตกแก่ผู้คัดค้าน และการที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะรับฟังพยานหลักฐานที่คู่ความนำมาสืบแสดงอย่างไรย่อมเป็นดุลพินิจของศาล เมื่อไม่ปรากฏว่าศาลรับฟังพยานหลักฐานโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายว่าด้วยพยานหลักฐานแต่อย่างใด จึงไม่ต้องวินิจฉัยว่าคำพิพากษาของศาลฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 (2) หรือไม่ อุทธรณ์ข้อนี้ของผู้คัดค้านจึงต้องห้ามตามกฎหมาย
ที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่าศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่ได้วินิจฉัยประเด็นที่ผู้คัดค้านโต้แย้งว่าผู้คัดค้านไม่ได้รับสำเนาคำชี้ขาดจากอนุญาโตตุลาการ จึงถือว่าศาลมิได้วินิจฉัยข้อโต้แย้งทุกข้อทุกประเด็น เป็นคำพิพากษาที่ฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนนั้น ไม่ปรากฏว่าผู้คัดค้านได้โต้แย้งไว้ในคำคัดค้าน จึงเป็นการนำสืบนอกประเด็นคำคัดค้าน ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมิได้วินิจฉัยเรื่องดังกล่าวจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7277/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างเหมาที่เกิดจากการทุจริตและผลประโยชน์ทับซ้อน ทำให้สัญญาเป็นโมฆะ และศาลไม่ต้องบังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ
ผู้คัดค้านเป็นหน่วยงานทางปกครองที่จัดตั้งขึ้นโดยกฎหมายฝ่ายมหาชนทำสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนกับผู้ร้องทั้งสาม ผู้คัดค้านทำโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายในฐานะหน่วยงานทางปกครองที่เป็นองค์กรนิติบุคคลข้อ 17 ของประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 บัญญัติให้มีผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเป็นผู้กระทำการในนามผู้คัดค้านในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอกและเป็นผู้กระทำการแทนผู้คัดค้านตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว การใช้อำนาจของผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยซึ่งกระทำการในนามผู้คัดค้านจะผูกพันผู้คัดค้านต่อเมื่ออยู่ภายใต้หลักความชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือ นอกจากจะต้องอยู่ภายในขอบเขตแห่งอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่จัดตั้งกำหนดไว้เป็นไปตามระเบียบวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองและไม่ฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งกฎหมายหรือกฎระเบียบและข้อบังคับที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายแล้ว การใช้อำนาจของผู้คัดค้านจะต้องมิใช่เป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบหรือมีการบิดผันอำนาจทางหนึ่งทางใดอีกด้วย
ผู้คัดค้านโต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยว่า นิติกรรมหรือสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนหากมีการทำขึ้นเพราะกลฉ้อฉลก็เป็นเพียงโมฆียะ เมื่อไม่มีการบอกล้าง ก็ไม่ทำให้สัญญาจ้างดังกล่าวตกเป็นโมฆะนั้นไม่ชอบ โดยผู้คัดค้านอ้างทำนองเดียวกันกับที่ได้ยกข้อต่อสู้ไว้แล้วว่า ในการทำสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วน มีการทุจริตและประพฤติมิชอบ เอื้อประโยชน์แก่ผู้ร้อง ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ มีเจ้าหน้าที่ของรัฐร่วมมือกับผู้ร้อง โดยเฉพาะ ศ. ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ว่าการของผู้คัดค้านในขณะนั้นและเป็นผู้ลงนามในสัญญาจ้างดังกล่าวในนามผู้คัดค้านกระทำโดยมิชอบหลายประการ ทั้ง ศ. และเจ้าหน้าที่อื่นและเจ้าหน้าที่รัฐหน่วยอื่น ๆ รับประโยชน์จากผู้ร้อง สัญญาจ้างดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ เป็นการกล่าวอ้างว่า การใช้อำนาจของ ศ. และเจ้าหน้าที่รัฐคนอื่นดังกล่าวกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 ซึ่งเป็นกฎหมายฝ่ายมหาชน เป็นการโต้แย้งว่า คำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนนี้ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 290 อันเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนซึ่งผู้คัดค้านย่อมอุทธรณ์ได้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 (2) ซึ่งบัญญัติไว้อย่างเดียวกับพ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 มาตรา 26 (2) ศ. ช่วยเหลือผู้ร้องโดยเห็นแก่ประโยชน์ที่ผู้ร้องจัดให้จึงถือว่าการใช้อำนาจในฐานะผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยของ ศ. ที่ลงนามในสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย และขณะเดียวกันการที่ผู้ร้องเพิ่มทุนและจัดสรรหุ้นของบริษัท ท. ให้แก่ ศ. กับเจ้าหน้าที่ของรัฐคนอื่นมีสิทธิซื้อหุ้นในฐานะผู้มีอุปการะคุณก่อนทำสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนถือได้ว่าผู้ร้องได้ให้ผลประโยชน์แก่ ศ. และเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการทำสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วน โดยเอื้อประโยชน์แก่ผู้ร้อง กรณีต้องถือว่า ในการทำสัญญาดังกล่าวของผู้ร้อง ผู้ร้องใช้สิทธิโดยไม่สุจริต สัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนซึ่งเกิดจากการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงไม่มีผลผูกพันผู้คัดค้าน คำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการที่ชี้ขาดให้ผู้คัดค้านชำระเงินให้แก่ผู้ร้องตามสัญญาที่เกิดขึ้นจากการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวนั้นหากศาลบังคับให้ตามคำชี้ขาดนั้นย่อมเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนชอบที่ศาลชั้นต้นจะปฏิเสธไม่รับบังคับให้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 44 ดังนั้นคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่บังคับตามคำชี้ขาดขออนุญาตโดยตุลาการดังกล่าวจึงฝ่าฝืนต่อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน
of 2