คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ม. 119 วรรคสาม

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2222/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม นายจ้างมีสิทธิยกเหตุอื่นนอกเหนือจากที่ระบุในหนังสือเลิกจ้างได้ ศาลมิอาจตัดสิทธิ
การพิจารณาว่ากรณีจะเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 และบทกฎหมายดังกล่าวมิได้บัญญัติไว้ว่าถ้านายจ้างไม่ได้แจ้งระบุข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุที่เลิกจ้างไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างหรือไม่ได้แจ้งเหตุที่เลิกจ้างให้ลูกจ้างทราบในขณะที่เลิกจ้าง นายจ้างจะยกเหตุนั้นขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้ ทั้งไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติให้นำ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 วรรคสาม มาใช้บังคับแก่กรณีการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมด้วย ดังนั้นแม้จำเลยไม่ได้ระบุข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุที่เลิกจ้างไว้ในหนังสือเลิกจ้าง จำเลยก็ย่อมยกเหตุผลในการเลิกสัญญาจ้างขึ้นอ้างในภายหลังเพื่อเป็นข้อต่อสู้ในเรื่องการเลิกจ้าง ที่ไม่เป็นธรรมได้ การที่ศาลแรงงานภาค 7 วินิจฉัยโดยตัดสิทธิจำเลยมิให้ยกเอาข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุอื่นนอกเหนือจากที่ระบุไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างมาต่อสู้คดีจึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1538/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างที่ไม่แจ้งเหตุในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้าง ทำให้ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าวันหยุดพักผ่อนตามกฎหมาย
การเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 วรรคท้ายนั้น นายจ้างต้องระบุข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุที่เลิกจ้างหรือแจ้งเหตุที่เลิกจ้างให้ลูกจ้างทราบในขณะที่เลิกจ้างเมื่อวันที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2551 และตามหนังสือของจำเลยฉบับลงวันที่ 10 มิถุนายน 2551 ซึ่งในวันดังกล่าวจำเลยมิได้แจ้งเหตุและระบุข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำของโจทก์ที่จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายเนื่องจากโจทก์ไปทำงานให้บริษัทอื่นที่เป็นคู่แข่งขันทางการค้าของจำเลยให้โจทก์ทราบแต่อย่างใด จึงไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นที่จำเลยจะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามมาตรา 119 วรรคหนึ่ง (4)
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 67 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างโดยมิใช่กรณีตามมาตรา 119 ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่เลิกจ้างตามส่วนของวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ลูกจ้างพึงมีสิทธิได้รับตามมาตรา 30" และมาตรา 119 วรรคท้าย บัญญัติว่า "การเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยตามวรรคหนึ่ง ถ้านายจ้างไม่ได้ระบุข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุที่เลิกจ้างไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างหรือไม่ได้แจ้งเหตุที่เลิกจ้างให้ลูกจ้างทราบในขณะที่เลิกจ้าง นายจ้างจะยกเหตุนั้นขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้" แม้ศาลแรงงานกลางจะฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์จงใจทำให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างได้รับความเสียหายตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 วรรคหนึ่ง (2) แต่เมื่อจำเลยมิได้ระบุข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ในหนังสือที่แจ้งให้โจทก์ทราบว่าโจทก์พ้นสภาพจากการเป็นพนักงาน ฉบับลงวันที่ 10 มิถุนายน 2551 และไม่ได้แจ้งข้อเท็จจริงดังกล่าวให้โจทก์ทราบในขณะที่เลิกจ้าง จำเลยจึงยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นอ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดตามมาตรา 67 ไม่ได้และยังต้องถือว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยมิใช่กรณีตามมาตรา 119 จำเลยจึงต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามมาตรา 67 ให้แก่โจทก์