คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ม. 52

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 323 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 940-942/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลือกปฏิบัติในการลงโทษทางวินัย: กรณีการแต่งกายและฐานะกรรมการลูกจ้าง
ผู้คัดค้านทั้งสามเป็นกรรมการลูกจ้าง การที่ผู้คัดค้านทั้งสามติดตาม จ. ซึ่งเป็นเพื่อนพนักงานไปยังฝ่ายบุคคลโดยได้รับอนุญาตจากหัวหน้างานซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา และเมื่อไปถึงก็ไม่ปรากฏว่า ภ. ผู้จัดการฝ่ายบุคคลมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านทั้งสามกลับมาทำงานแต่อย่างใด การกระทำของผู้คัดค้านทั้งสามจึงยังไม่อาจถือได้ว่าเป็นการละทิ้งหน้าที่อันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบและข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้อง
ผู้ร้องออกประกาศเรื่อง ระเบียบการแต่งกายของพนักงานเพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยมากยิ่งขึ้น รวมถึงเป็นการสร้างภาพพจน์ที่ดีแก่บริษัท โดยผู้ร้องได้กำหนดระเบียบ ข้อ 4 ห้ามพนักงานชายทุกคนสวมใส่ตุ้มหูและไว้ผมยาว (ซึ่งเป็นการสร้างบุคลิกภาพไม่เหมาะสมในการเป็นพนักงานที่ดีของบริษัท) ซึ่งผู้ร้องสามารถกระทำได้ ประกาศดังกล่าวจึงใช้บังคับได้ แต่เมื่อได้ความว่ามีลูกจ้างผู้ร้องคนอื่นซึ่งเป็นพนักงานชายใส่ตุ้มหูหรือต่างหูมาทำงานอันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบตามประกาศดังกล่าวโดยผู้ร้องมิได้ลงโทษ คงลงโทษเฉพาะผู้คัดค้านที่ 1 เพราะเหตุที่ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นกรรมการลูกจ้าง จึงเป็นการเลือกปฏิบัติ กรณีจึงไม่มีเหตุสมควรอนุญาตให้ผู้ร้องลงโทษตักเตือนผู้คัดค้านที่ 1 ด้วยวาจา ฐานแต่งกายผิดระเบียบของผู้ร้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6947/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การมอบหมายงานข้ามประเภทหน้าที่ ไม่ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง และการปฏิบัติตามคำสั่งนายจ้าง
ผู้ร้องประกอบธุรกิจขนส่งสินค้าที่เป็นวัตถุอันตรายและสินค้าทั่วไป แม้ผู้คัดค้านทำงานในตำแหน่งพนักงานขับรถบรรทุกน้ำมันเคมีซึ่งเป็นวัตถุอันตราย แต่ก็ไม่มีข้อตกลงว่าผู้ร้องจะมอบหมายงานให้ผู้คัดค้านขับรถบรรทุกสินค้าทั่วไปไม่ได้ ทั้งผู้คัดค้านมีใบอนุญาตขับรถที่สามารถขับรถบรรทุกได้ทุกประเภท เมื่องานด้านบรรทุกสารเคมีลดลง การที่ผู้บังคับบัญชามอบหมายให้ผู้คัดค้านขับรถบรรทุกหัวลากนำสินค้าจากบริษัทไปส่งที่ท่าเรือแหลมฉบัง จากนั้นให้ไปรับสารเคมีที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเพื่อเตรียมนำส่งให้แก่ลูกค้า จึงไม่ใช่การเพิ่มหน้าที่และเพิ่มงาน แต่เป็นการใช้อำนาจบริหารงานภายในบริษัทให้เหมาะสมเท่านั้น มิใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง ทั้งมิใช่เป็นการกลั่นแกล้งผู้คัดค้านเนื่องจากผู้คัดค้านไม่ได้รับมอบหมายจากสหภาพแรงงานให้เข้าร่วมฟังผลการสอบสวนพนักงานที่เป็นสมาชิกของสหภาพแรงงาน และไม่ปรากฏว่ามีความจำเป็นอย่างไรที่ผู้คัดค้านจะต้องอยู่รอฟังผลการสอบสวน ผู้คัดค้านจึงต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาดังกล่าว การที่ผู้คัดค้านไม่ปฏิบัติตามจึงเป็นการฝ่าฝืนวินัย ต้องถูกพิจารณาโทษตามลักษณะแห่งความผิดตามข้อบังคับการทำงานของผู้ร้อง ที่ศาลแรงงานภาค ๒ อนุญาตให้ผู้ร้องลงโทษผู้คัดค้านโดยตักเตือนเป็นหนังสือจึงเหมาะสมแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13580/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างกรณีเข้าร่วมการนัดหยุดงานที่ผิดกฎหมาย และจงใจทำให้นายจ้างเสียหาย
การนัดหยุดงานเป็นการที่ลูกจ้างแต่ละคนที่ร่วมนัดหยุดงานต่างละทิ้งการงานที่ตามปกติตนมีหน้าที่ปฏิบัติ ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้าง
ผู้คัดค้านซึ่งเป็นลูกจ้างของผู้ร้อง เป็นกรรมการลูกจ้าง และเป็นผู้แทนเจรจาของสหภาพแรงงาน ล. เข้าร่วมในการนัดหยุดงานที่ไม่มีการแจ้งเป็นหนังสือให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานและผู้ร้องผู้เป็นนายจ้างทราบล่วงหน้า นอกจากเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 34 วรรคสอง ซึ่งมีโทษตามมาตรา 139 แล้ว การที่ผู้คัดค้านเข้าร่วมในการนัดหยุดงานยังมีผลกระทบกระเทือนต่อกิจการของผู้ร้องไม่ให้ดำเนินไปได้ตามปกติ ย่อมทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหาย เป็นกรณีผู้คัดค้านจงใจทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหาย ประกอบกับผู้คัดค้านเข้าร่วมการนัดหยุดงานตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน 2549 จนถึงวันฟ้อง (วันที่ 8 ตุลาคม 2551) ก็ยังไม่กลับเข้าทำงาน จึงมีเหตุสมควรที่ผู้ร้องจะเลิกจ้างผู้คัดค้านได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7791/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างเนื่องจากพฤติกรรมไม่เหมาะสมและสร้างความเสียหายต่อชื่อเสียงของนายจ้าง
ผู้คัดค้านเป็นลูกจ้างของผู้ร้อง ผู้ร้องประกอบกิจการผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์จำหน่ายภายในประเทศและต่างประเทศ รถยนต์ที่จำหน่ายใช้ชื่อทางการค้าว่า "เชฟโรเลต" ผู้คัดค้านเป็นกรรมการลูกจ้างและเป็นกรรมการสหภาพแรงงาน วันที่ 13 มีนาคม 2552 คณะกรรมการสหภาพแรงงานมีมติให้นัดหยุดงาน เวลา 22 นาฬิกา ของวันนั้นผู้คัดค้านเปลือยกายถ่ายรูปทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวที่หน้าป้ายชื่อบริษัทผู้ร้องและป้ายชื่อ "เชฟโรเลต" เป็นการกระทำไม่ให้เกียรติแก่สถานที่ทำงานของผู้คัดค้าน ลบหลู่ไม่ให้เกียรติแก่ผู้ร้อง ต่อมามีการนำภาพถ่ายดังกล่าวไปเผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ทั่วประเทศ ย่อมมีผลทำให้ผู้ร้องเสียหายต่อชื่อเสียงเกียรติคุณในทางการค้าของผู้ร้องอันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน จึงมีเหตุสมควรและเพียงพอให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4749/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้าง: ศาลฎีกาแก้คำสั่งอนุญาตเลิกจ้างเป็นลงโทษภาคทัณฑ์เนื่องจากความผิดไม่ร้ายแรง
ผู้คัดค้านเป็นลูกจ้างของผู้ร้องตำแหน่งซ่อมงาน แผนกบรรจุหีบห่อ และเป็นกรรมการลูกจ้าง ผู้คัดค้านไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ร้องที่ให้ขนย้ายวัสดุอุปกรณ์และตรวจคุณภาพของผ้า แม้งานที่ผู้ร้องสั่งให้ทำไม่ใช่งานในหน้าที่ของผู้คัดค้านโดยตรง แต่เป็นงานที่ผู้ร้องซึ่งเป็นนายจ้างอาจมอบหมายให้ผู้คัดค้านซึ่งเป็นลูกจ้างทำได้เป็นการพิเศษ การที่ผู้คัดค้านไม่ปฏิบัติตามคำสั่งจึงเป็นการกระทำผิดวินัยตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน แต่ผู้ร้องไม่ได้กำหนดให้การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดวินัยร้ายแรง
โทษทางวินัยของผู้ร้องมี 4 ขั้น คือภาคทัณฑ์ พักงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง ปลดออก และเลิกสัญญาจ้าง เมื่อความผิดทางวินัยของผู้คัดค้านไม่ถึงกับเป็นความผิดร้ายแรง จึงยังไม่มีเหตุผลสมควรที่จะอนุญาตให้เลิกจ้างผู้คัดค้านอันเป็นโทษขั้นสูงสุด แต่เห็นสมควรให้ผู้ร้องลงโทษภาคทัณฑ์ผู้คัดค้าน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1902-1904/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพักงาน-เลิกจ้าง: การพักงานโดยจ่ายค่าจ้างไม่ถือเป็นการลงโทษ การละทิ้งหน้าที่ต้องมีเหตุร้ายแรงและตักเตือนก่อน
การพักงานไม่เกิน 7 วัน โดยไม่จ่ายค่าจ้างเป็นโทษทางวินัยตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องซึ่งเป็นนายจ้าง การที่ผู้ร้องมีคำสั่งพักงานผู้คัดค้านทั้งสองซึ่งเป็นลูกจ้างและเป็นกรรมการลูกจ้างโดยจ่ายค่าจ้างให้ไม่เป็นการลงโทษ แต่เป็นการสั่งให้ผู้คัดค้านทั้งสองหยุดทำงานชั่วคราวเพื่อดำเนินการยื่นคำร้องขออนุญาตลงโทษผู้คัดค้านทั้งสองต่อศาลแรงงานภาค 1 การกระทำของผู้ร้องไม่เป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 52
การละทิ้งหน้าที่ที่เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องกรณีร้ายแรงต้องเป็นกรณีลูกจ้างมีหน้าที่ปฏิบัติที่สำคัญให้นายจ้างแล้วไม่ปฏิบัติเป็นเวลานาน เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้คัดค้านที่ 1 มีหน้าที่สำคัญอย่างไร หากออกไปจากการปฏิบัติหน้าที่แล้วจะเกิดความเสียหายแก่ผู้ร้องอย่างไร การที่ผู้คัดค้านที่ 1 ออกไปบอกพนักงานของบริษัทรับเหมาค่าแรงให้ไปรวมตัวกันที่โรงอาหารซึ่งเป็นเวลาช่วงบ่ายใกล้เลิกงานแล้วถือไม่ได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องเป็นกรณีร้ายแรง
การที่ผู้คัดค้านที่ 1 ละทิ้งหน้าที่แต่ยังไม่ถึงขนาดหรือมีเหตุสมควรที่จะอนุญาตให้เลิกจ้างผู้คัดค้านที่ 1 ตามคำร้องของผู้ร้อง เมื่อศาลแรงงานภาค 1 เห็นว่าผู้ร้องควรลงโทษด้วยการตักเตือนเป็นหนังสือเสียก่อน ศาลแรงงานภาค 1 ก็สามารถอนุญาตให้ลงโทษผู้คัดค้านที่ 1 ด้วยการตักเตือนเป็นหนังสือซึ่งเป็นโทษที่อยู่ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้อง และเป็นโทษสถานเบากว่าการเลิกจ้างได้ ถือเป็นการใช้ดุลพินิจตามที่เห็นสมควรและเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดี ไม่เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าคำขอ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20447/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างฐานฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน กรณีลูกจ้างดื่มสุราจนมึนเมา แม้ไม่ได้ทำงานแต่เข้าโรงงาน
ผู้คัดค้านเป็นลูกจ้างของผู้ร้องในตำแหน่งพนักงานปั๊มโลหะและเป็นกรรมการลูกจ้าง ผู้คัดค้านดื่มสุราในเวลาพักรับประทานอาหารนอกเขตโรงงานของผู้ร้องจนมึนเมา เวลา 12.50 นาฬิกา ผู้คัดค้านกลับเข้ามาตอกบัตรเลิกงานและออกจากโรงงานไปไม่ได้ทำงานในช่วงบ่าย
การที่ผู้คัดค้านดื่มสุราจนมึนเมาเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ข้อ 3.5.6 ซึ่งมีเจตนารมณ์ที่จะไม่ให้ลูกจ้างมีอาการมึนเมาในขณะทำงานไม่ว่าในหรือนอกโรงงาน เนื่องจากงานส่วนใหญ่ของผู้ร้องคือปั๊มชิ้นโลหะด้วยเครื่องจักร หากพนักงานคุมเครื่องปั๊มโลหะขณะมีอาการมึนเมาจากการดื่มสุรา เสพยาเสพติด หรือเพราะเหตุอื่นอาจเกิดอันตรายจากเครื่องจักรแก่พนักงานคนนั้นหรือพนักงานอื่นได้ พฤติกรรมของผู้คัดค้านไม่เหมาะสมแก่การเป็นลูกจ้างที่ดีอย่างยิ่ง เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องเป็นกรณีร้ายแรง ผู้ร้องมีสิทธิเลิกจ้างผู้คัดค้านได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13889/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สถานะนายจ้าง-ลูกจ้างซ้อน: กรรมการลูกจ้างต้องไม่มีสถานะขัดแย้งกับนายจ้าง
โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยแต่ในขณะเดียวกันโจทก์ก็ได้รับมอบอำนาจจากจำเลยให้มีอำนาจลงนามในหนังสือสัญญาจ้าง เลิกจ้าง อนุมัติ ระงับทดลองงาน และแต่งตั้งโยกย้ายพนักงาน พิจารณาลงโทษพนักงานที่กระทำผิดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้าง และลงนามในหนังสือคำเตือนห้ามพนักงานกระทำผิดซ้ำคำเตือน ซึ่งอำนาจดังกล่าวของโจทก์ไม่ปรากฏว่าโจทก์ต้องได้รับความเห็นชอบหรือได้รับอนุมัติจากผู้ใดอีก โจทก์ย่อมมีอำนาจกระทำการแทนตามที่ได้รับมอบโดยเด็ดขาด โจทก์จึงมีฐานะเป็นนายจ้างด้วยตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 5 ซึ่งฐานะนายจ้างและลูกจ้างย่อมมีผลประโยชน์บางส่วนขัดกัน การที่สหภาพแรงงานแต่งตั้งโจทก์เป็นกรรมการลูกจ้างจึงขัดต่อเจตนารมณ์และวัตถุประสงค์ของการประชุมระหว่างนายจ้างและคณะกรรมการลูกจ้างตาม มาตรา 50 สหภาพแรงงานแต่งตั้งโจทก์เป็นกรรมการลูกจ้างจึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีฐานะเป็นกรรมการลูกจ้างและไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 52 จำเลยไม่จำต้องได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานในการเลิกจ้างโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10786/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อบังคับบริษัทจำกัดสิทธิลูกจ้างในการแต่งกายเพื่อความปลอดภัยในการทำงาน ไม่ขัดต่อกฎหมายและรัฐธรรมนูญ
ผู้ร้องประกอบธุรกิจผลิตอัญมณี เครื่องประดับที่ทำด้วยทองเคและเงินเพื่อการส่งออก จึงเป็นเหตุผลให้ต้องมีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานที่ระบุว่า "พนักงานต้องไม่สวมใส่เครื่องประดับ หรือประดับกายด้วยสิ่งที่เป็นโลหะ รวมถึงการสวมใส่เครื่องนุ่งห่มที่มีโลหะตกแต่ง หรือยึดเกาะ เข้า - ออกอาคารผลิต หากพนักงานรักษาความปลอดภัยตรวจพบถือเป็นความผิดร้ายแรง" เพื่อป้องกันไม่ให้พนักงานนำชิ้นงานอัญมณีรวมทั้งเศษทองเคและเงินซุกซ่อนออกจากโรงงาน ซึ่งหากพนักงานสวมใส่สิ่งที่มีโลหะประกอบอยู่ด้วยก็จะเป็นการยากต่อการตรวจสอบ การที่ผู้คัดค้านสวมสร้อยคอเชือกสายร่มและห้อยพระเนื้อดิน แม้จะไม่มีสิ่งที่เป็นโลหะประกอบอยู่ด้วย แต่ก็ถือได้ว่าเป็นการสวมใส่เครื่องประดับที่อาจใช้ซุกซ่อนอัญมณีหรือชิ้นงานมีค่าอื่น ๆ ของผู้ร้องออกไปได้ จึงเป็นการขัดต่อข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานข้อดังกล่าว
ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานข้อดังกล่าวเป็นการกำหนดให้ลูกจ้างปฏิบัติเกี่ยวกับการแต่งกายในการทำงาน ในระหว่างเวลาทำงานและเฉพาะในสถานประกอบการของนายจ้างเท่านั้น มิได้จำกัดหรือห้ามลูกจ้างไปถึงนอกเวลาทำงานหรือในพื้นที่ทั่วไปแต่ประการใด และมิได้มีส่วนที่จำกัดเสรีภาพของลูกจ้างในการนับถือศาสนาแต่ประการใด จึงมิได้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9832-9836/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างต้องได้รับอนุญาตจากศาล การลงชื่อรับเงินไม่ถือเป็นการยินยอมเลิกจ้าง
การที่โจทก์ทั้งห้าลงชื่อรับเงินสิทธิประโยชน์ที่มีสิทธิได้รับตามสัญญาจ้างแรงงานและกฎหมายคุ้มครองแรงงานในหนังสือยกเลิกสัญญาจ้างที่จำเลยทำขึ้นโดยไม่มีข้อความใดว่าโจทก์ทั้งห้าขอลาออกจากการเป็นลูกจ้าง ถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งห้าลาออกด้วยความสมัครใจ การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างของจำเลยโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานจึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 52 จำเลยต้องรับโจทก์ทั้งห้ากลับเข้าทำงาน แต่เมื่อระหว่างเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าไม่ได้ทำงานให้จำเลย จึงนำเอาระยะเวลาดังกล่าวรวมเข้าเป็นอายุงานด้วยไม่ได้ คงนับอายุงานใหม่ต่อจากอายุงานเดิมที่คำนวณถึงวันก่อนวันเลิกจ้างเท่านั้น
โจทก์ทั้งห้าบรรยายฟ้องขอให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายเนื่องจากการเลิกจ้างที่ไม่ชอบ เป็นการตั้งประเด็นโดยตรงว่าจำเลยผิดสัญญาจ้างแรงงาน จึงเป็นการขอให้ชดใช้ค่าเสียหายตามสัญญาจ้างแรงงานตาม ป.พ.พ. มาตรา 575 เมื่อการเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งห้าจึงเรียกร้องค่าเสียหายระหว่างที่ถูกเลิกจ้างได้
of 33