คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลจังหวัดที่อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ พ.ศ.2537

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6984/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลในการนั่งพิจารณาคดีนอกสถานที่และการรับคำฟ้องตามคำสั่งศาลจังหวัดบุรีรัมย์
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 35ที่ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ระบุเป็นที่มาแห่งอำนาจในการออกคำสั่งให้ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ไปนั่งพิจารณา ณ ที่ทำการศาลจังหวัดบุรีรัมย์ (นางรอง) บัญญัติเป็นหลักการไว้ว่าการนั่งพิจารณาคดีที่ยื่นไว้ต่อศาลใดจะต้องกระทำในศาลนั้นในวันที่ศาลเปิดทำการและตามเวลาทำงานที่ศาลได้กำหนดไว้แต่ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินหรือเป็นการจำเป็น ศาลมีอำนาจที่จะมีคำสั่งกำหนดการนั่งพิจารณา ณ สถานที่อื่นในวันหยุดงานหรือในเวลาใด ๆ ก็ได้ ทั้งนี้ก็โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การพิจารณาคดีเป็นไปโดยรวดเร็วเป็นประโยชน์แก่ประชาชนผู้มีอรรถคดี ดังนั้น คำสั่งกำหนดการนั่งพิจารณาณ สถานที่อื่นหรือในวันหยุดงานหรือในเวลาใด ๆ ตามบทบัญญัติในมาตรา 35 จึงต้องแปลความหมายให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์แห่งกฎหมายดังกล่าวด้วย กล่าวคือย่อมรวมถึงการนั่งพิจารณาคดีและการดำเนินกระบวนพิจารณาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับการนั่งพิจารณาคดีอันได้แก่ การยื่นคำฟ้องคำร้อง คำขอต่าง ๆ มิใช่แปลจำกัดเคร่งครัดแต่เฉพาะการนั่งพิจารณาคดีเป็นรายเรื่องไป และแม้ในขณะที่ศาลจังหวัดบุรีรัมย์มีคำสั่งดังกล่าวจะมีพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลจังหวัดนางรองขึ้นแล้วก็ตาม แต่เมื่อยังไม่มีพระราชกฤษฎีกาให้เปิดทำการ ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ก็ยังคงมีอำนาจเหนือพื้นที่ดังกล่าวและมีอำนาจกำหนดการนั่งพิจารณาโดยอาศัย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 35 ได้เมื่อคดีที่โจทก์ฟ้องมูลคดีเกิดขึ้นที่อำเภอนางรองและจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ที่อำเภอนางรอง โจทก์จึงชอบที่จะยื่นคำฟ้องต่อศาลจังหวัดบุรีรัมย์ (นางรอง) ตามคำสั่งของศาลจังหวัดบุรีรัมย์ อีกทั้งกรณีไม่ปรากฏว่ามีอุปสรรคหรือเหตุขัดข้องที่โจทก์ไม่อาจยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดบุรีรัมย์(นางรอง) ได้ การที่ศาลจังหวัดบุรีรัมย์มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของโจทก์โดยให้โจทก์นำคำฟ้องไปยื่นที่ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ (นางรอง) จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6984/2541 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตอำนาจศาลในการกำหนดสถานที่นั่งพิจารณาคดีและการรับคำฟ้องตาม ป.วิ.พ.มาตรา 35
ป.วิ.พ.มาตรา 35 บัญญัติให้การนั่งพิจารณาคดีที่ยื่นไว้ต่อศาลใดจะต้องกระทำในศาลนั้น ในวันที่ศาลเปิดทำการและตามเวลาทำงานที่ศาลได้กำหนดไว้ แต่ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินหรือเป็นการจำเป็น ศาลมีอำนาจที่จะมีคำสั่งกำหนดการนั่งพิจารณา ณ สถานที่อื่นหรือในวันหยุดงานหรือในเวลาใด ๆ ก็ได้เพื่อให้การพิจารณาคดีเป็นไปโดยรวดเร็ว เป็นประโยชน์แก่ประชาชนผู้มีอรรถคดีดังนั้น คำสั่งกำหนดการนั่งพิจารณา ณ สถานที่อื่นหรือในวันหยุดงาน หรือในเวลาใด ๆ ตามบทบัญญัติดังกล่าว ย่อมรวมถึงการนั่งพิจารณาคดีและการดำเนินกระบวนพิจารณาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับการนั่งพิจารณาคดีอันได้แก่ การยื่นคำฟ้อง คำร้อง คำขอต่าง ๆ มิใช่แปลจำกัดเคร่งครัดแต่เฉพาะการนั่งพิจารณาคดีเป็นรายเรื่องไป
แม้ ป.วิ.พ.มาตรา 1 (9) จะให้คำนิยามคำว่า การนั่งพิจารณา หมายความว่า การที่ศาลออกนั่งเกี่ยวกับการพิจารณาคดีเช่นชี้สองสถานสืบพยาน ทำการไต่สวน ฟังคำขอต่าง ๆ และฟังคำแถลงการณ์ด้วยวาจา แต่เมื่อถ้อยคำในมาตรา 35 มีวัตถุประสงค์แสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น กล่าวคือ หมายความรวมถึงการดำเนินกระบวนพิจารณาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับการนั่งพิจารณาด้วยแล้ว การที่ศาลจังหวัดบุรีรัมย์มีคำสั่งกำหนดการนั่งพิจารณาคดีของศาลจังหวัดบุรีรัมย์ ณ อาคารที่ว่าการ อำเภอนางรอง (หลังเก่า) จังหวัดบุรีรัมย์โดยให้มีเขตอำนาจครอบคลุมพื้นที่อำเภอนางรองและอำเภออื่นๆ ดังกล่าวในคำสั่งโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 35 แห่ง ป.วิ.พ.จึงเป็นคำสั่งที่อยู่ในขอบเขตของกฎหมายที่ให้อำนาจออกคำสั่งซึ่งมีความหมายถึงการนั่งพิจารณาคดีที่เกิดขึ้นในท้องที่อำเภอนางรองและอำเภออื่น ๆ ที่ระบุในคำสั่ง รวมทั้งการดำเนินกระบวนพิจารณาที่เกี่ยวข้องกับการนั่งพิจารณาคดีดังกล่าวด้วย
เมื่อคดีที่โจทก์ฟ้องมูลคดีเกิดขึ้นที่อำเภอนางรองและจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ที่อำเภอนางรอง ซึ่งโจทก์ต้องยื่นคำฟ้องต่อศาลจังหวัดบุรีรัมย์ (นางรอง)ตามคำสั่งของศาลจังหวัดบุรีรัมย์ และเมื่อไม่ปรากฎว่ามีอุปสรรคหรือเหตุขัดข้องที่โจทก์ไม่อาจยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดบุรีรัมย์ (นางรอง) ได้ การที่ศาลจังหวัดบุรีรัมย์มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของโจทก์โดยให้โจทก์นำคำฟ้องไปยื่นที่ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ (นางรอง)นั้น จึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่ชอบ คำสั่งศาลจังหวัดบุรีรัมย์ที่ไม่รับคำฟ้องของโจทก์จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย