คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
สถาพร วงศ์ตระกูลรักษา

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 15 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3114/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผลของคำสั่งรับฟื้นฟูกิจการต่อคดีแพ่งและอนุญาโตตุลาการ: ต้องงดการพิจารณาตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย
เมื่อมีการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้และศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการแล้วย่อมมีผลต่อการดำเนินคดีแพ่งแก่ลูกหนี้ โดยต้องบังคับตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ซึ่ง ม. 90/12 (4) ห้ามมิให้ฟ้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้หรือเสนอข้อพิพาทที่ลูกหนี้อาจต้องรับผิดหรือได้รับความเสียหายให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาด ถ้ามูลแห่งหนี้นั้นเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน และห้ามมิให้ฟ้องลูกหนี้เป็นคดีล้มละลาย ในกรณีที่มีการฟ้องคดีหรือเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดไว้ก่อนแล้ว ให้งดการพิจารณาไว้ เว้นแต่ศาลที่รับคำร้องขอจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
คดีนี้ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของผู้ร้องไว้เพื่อพิจารณาแล้ว ในระหว่างการพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการเมื่อไม่ปรากฏว่าศาลล้มละลายกลางที่รับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น จึงต้องด้วยกรณีที่คณะอนุญโตตุลาการต้องงดการพิจารณาไว้จนถึงวันครบกำหนดระยะเวลาดำเนินการตามแผนหรือวันที่ดำเนินการเป็นผลสำเร็จตามแผน หรือวันที่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอหรือจำหน่ายคดีหรือยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการหรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการหรือพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด การที่คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดโดยไม่ได้งดการพิจารณาไว้จึงเป็นการขัดต่อ พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/12 (4) อันเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนและเป็นเหตุให้ต้องเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2987/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์คำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด โดยเฉพาะประเด็นความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 45 วรรคหนึ่ง บัญญัติห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลตามพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ (1) การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน (2) คำสั่งหรือคำพิพากษานั้นฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน (3) คำสั่งหรือคำพิพากษานั้นไม่ตรงกับคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ (4) ผู้พิพากษาหรือตุลาการซึ่งพิจารณาคดีนั้นได้ทำความเห็นแย้งไว้ในคำพิพากษา หรือ (5) เป็นคำสั่งเกี่ยวด้วยการใช้วิธีการชั่วคราวเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของคู่พิพาทตามมาตรา 16 คดีนี้ คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยในคำชี้ขาดว่า ผู้ร้องมิได้นำสืบให้ฟังได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองมิได้ เพียงแต่นำสืบว่าผู้ร้องเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถตามคำสั่งศาลเท่านั้น และคำสั่งศาลดังกล่าวก็มีคำสั่งหลังจากผู้ตายถึงแก่ความตายถึง 1 ปีเศษ อีกทั้งเหตุแห่งการเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถก็เป็นเพราะความบกพร่องทางจิต คือเป็นคนไอคิวต่ำเท่านั้น มิใช่เหตุทุพพลภาพแต่อย่างใด นอกจากนี้ข้อเท็จจริงยังปรากฏด้วยว่า ผู้ร้องเคยมีสามีและเคยมีบุตรมาแล้ว 3 คน อันเป็นข้อสนับสนุนได้อีกข้อหนึ่งว่า ผู้ร้องมิได้เป็นผู้ทุพพลภาพ ส่วนข้อที่อ้างว่าขณะที่ผู้ตายยังมีชีวิตอยู่เคยให้การอุปการะเลี้ยงดูผู้ร้องนั้น ก็ไม่มีพยานหลักฐานใดมาแสดง ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองมิได้ จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าขาดไร้อุปการะ การที่ผู้ร้องอุทธรณ์โต้แย้งว่า ทางนำสืบในชั้นอนุญาโตตุลาการผู้ร้องอ้างใบรับรองแพทย์ว่าผู้ร้องหย่อนกำลังความสามารถที่จะประกอบการงานได้ตามปกติ แพทย์ได้ให้ความเห็นว่าผู้ร้องมีความสามารถทางเชาวน์ปัญญาอยู่ระดับปัญญาอ่อน ไอคิวเท่ากับ 65 เทียบเท่ากับอายุ 9 ปี มีพยาธิทางสมอง และสภาพจิตใจในลักษณะการรับรู้ความเป็นจริงไม่เหมาะสม มีปัญหาการตัดสินใจและการปรับตัว จำเป็นต้องมีผู้ดูแลในการดำเนินชีวิต มีความบกพร่องในการวางแผนการตัดสินใจ การรับรู้ความเป็นจริง ถูกชักจูงใจได้ง่าย สามารถทำกิจวัตรประจำวันขั้นปกติได้ กิจกรรมที่มีความซับซ้อนต้องมีผู้ช่วยเหลือดูแล ความเห็นแพทย์ดังกล่าวจึงแสดงให้เห็นชัดแล้วว่าผู้ร้องเป็นผู้หย่อนความสามารถที่จะประกอบการงานตามปกติได้ จึงไม่อาจหาเลี้ยงตนเองได้ตามปกติ แต่คณะอนุญาโตตุลาการมิได้หยิบยกใบรับรองแพทย์ซึ่งเป็นสาระสำคัญในการวินิจฉัยว่าผู้ร้องเป็นผู้ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองมิได้ขึ้นพิจารณา จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน อุทธรณ์ของผู้ร้องดังกล่าวเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นอ้างเพื่อโต้แย้งการวิเคราะห์พยานหลักฐานและดุลพินิจในการวินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานในสำนวนของคณะอนุญาโตตุลาการ เพื่อให้ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าผู้ร้องเป็นผู้ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองมิได้ โดยไม่ปรากฏว่ามีการวินิจฉัยผิดจากวิธีพิจารณาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด การที่คณะอนุญาโตตุลาการจะหยิบยกหลักฐานใดขึ้นวินิจฉัยภายในขอบเขตของกฎหมายและสัญญาที่พิพาทกัน ย่อมกระทำได้โดยชอบ อุทธรณ์ของผู้ร้องจึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ข้อยกเว้นตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 45 วรรคหนึ่ง (1) ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2050/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัย แม้ไม่มีคู่ความอุทธรณ์
การที่คณะอนุญาโตตุลาการมีคําชี้ขาดให้ผู้ร้องที่ 1 และที่ 2 เข้าทำสัญญาเงินกู้หรือบันทึกข้อตกลงค้ำประกันการชําระหนี้และสัญญาจำนำหุ้น และในสถานการณ์นี้จะสั่งให้เพิกถอนการโอนกรรมสิทธิ์ในสิ่งปลูกสร้างระหว่างผู้คัดค้านและ อ. ซึ่งเป็นผู้รับโอน และจะต้องโอนกรรมสิทธิ์ในสิ่งปลูกสร้างกลับคืนไปยังผู้คัดค้าน และในทางกลับกันจะต้องดำเนินการในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจของผู้คัดค้านยอมรับการโอนกรรมสิทธิ์ในสิ่งปลูกสร้างกลับไปยังผู้คัดค้าน อันเป็นคําชี้ขาดที่มีผลบังคับให้ผู้คัดค้านชําระหนี้ตอบแทนโดยเพิกถอนนิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ในสิ่งปลูกสร้างระหว่างผู้คัดค้านกับ อ. กลับมาเป็นของผู้คัดค้านแล้วโอนให้แก่ฝ่ายผู้ร้อง ซึ่งการจะเพิกถอนนิติกรรมระหว่างผู้คัดค้านกับ อ. ได้ต้องปรากฏว่าผู้คัดค้านกับ อ. เป็นคู่พิพาทหรือคู่ความในคดีจึงจะบังคับได้ เมื่อ อ. เป็นบุคคลภายนอกไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีในชั้นอนุญาโตตุลาการ การบังคับตามคําชี้ขาดในกรณีนี้จึงไม่อาจบังคับกับ อ. บุคคลนอกคดีได้ การยอมรับหรือการบังคับตามคําชี้ขาดในส่วนนี้ย่อมเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
การที่อนุญาโตตุลาการมีคําชี้ขาดให้ผู้ร้องที่ 1 และ ที่ 2 เข้าทำสัญญาเงินกู้หรือบันทึกข้อตกลงค้ำประกันการชําระหนี้และสัญญาจำนำหุ้น ทั้งที่ผู้คัดค้านยื่นคําคัดค้านและข้อเรียกร้องแย้งโดยขอเพียงให้ผู้ร้องทั้งสามชําระเงินพร้อมดอกเบี้ยและค่าขาดประโยชน์แก่ผู้คัดค้านเป็นคําชี้ขาดที่เกินคําขอของผู้คัดค้าน ไม่ชอบตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 37 วรรคสอง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1994/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ศาลฎีกายืนตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการเรื่องกรรมสิทธิ์วิลล่า ย้ำศาลต้องไม่ก้าวก่ายดุลพินิจอนุญาโตตุลาการ
คณะอนุญาโตตุลาการมีคำวินิจฉัยสรุปได้ความว่า ข้อเสนอที่จะขายที่ดินพิพาทในราคาพิเศษให้ผู้คัดค้านนั้นไม่ถือว่าเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 และไม่ขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 152 ทั้งประเด็นเรื่องสิทธิเหนือบ้านพักหรือวิลล่า 16 และความสมบูรณ์ของข้อตกลงพิพาทนั้นเป็นเรื่องระหว่างผู้ร้องและผู้คัดค้านซึ่งไม่จำต้องจดทะเบียน กรณีจึงเป็นการที่คณะอนุญาโตตุลาการรับฟังพยานหลักฐานแล้ววินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า ข้อตกลงระหว่างผู้ร้องและผู้คัดค้านดังกล่าวมิใช่สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด แต่เป็นเพียงสัญญาจะซื้อจะขายที่สามารถเรียกร้องและบังคับกันได้ระหว่างผู้ร้องและผู้คัดค้าน ส่วนการทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบที่กฎหมายกำหนดอันจะมีผลใช้ยันบุคคลภายนอกนั้นก็เป็นเรื่องที่ผู้ร้องและผู้คัดค้านต้องไปดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป ไม่ใช่ประเด็นที่คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาด ดังนั้น คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในส่วนที่ว่าสัญญาระหว่างผู้ร้องและผู้คัดค้านเป็นโมฆะจึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการวินิจฉัยเจตนาของผู้ร้องและผู้คัดค้านในขณะทำสัญญา อันเป็นปัญหาข้อเท็จจริงและเป็นอำนาจของอนุญาโตตุลาการ ซึ่งศาลจะแทรกแซงโดยเข้ามาตรวจสอบการใช้ดุลพินิจของคณะอนุญาโตตุลาการแก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือทำลายคำชี้ขาดไม่ได้ เว้นแต่กฎหมายให้อำนาจไว้อย่างชัดแจ้ง เพราะมิฉะนั้นแล้วระบบอนุญาโตตุลาการย่อมไม่อาจบรรลุผลสมดังเจตนารมณ์ของกฎหมาย ที่ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำชี้ขาดเฉพาะส่วนที่ผู้คัดค้านมีกรรมสิทธิ์เหนือวิลล่า 16 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
of 2