คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 ม. 8

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6131/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ให้เช่าเรือและผู้เช่าช่วงต่อความเสียหายสินค้า: เจ้าของเรือยังคงรับผิดชอบร่วมกับผู้เช่า
ตามแบบสัญญาเช่าเรือมาตรฐานที่บริษัทผู้ขาย (ผู้ส่ง) ลงลายมือชื่อไว้ภายหลังเจรจาตกลงกันถึงเงื่อนไขการขนส่งสินค้าพิพาทกับตัวแทนผู้ขนส่ง และมีการกรอกข้อความต่าง ๆ เกี่ยวกับการขนส่งไว้พร้อมกับมีข้อสัญญามาตรฐานแนบท้ายนั้น ได้มีการระบุไว้ในหัวข้อความรับผิดของเจ้าของเรือข้อ 2 ว่า เจ้าของเรือยังคงต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อความเสียหายของสินค้าที่เรือรับขน และตามสัญญาเช่าระหว่างจำเลยที่ 1 เจ้าของเรือกับจำเลยที่ 4 ผู้เช่าเรือรายแรกก่อนมีการให้จำเลยที่ 2 เช่าช่วงกันต่อไปได้ระบุไว้ว่า ในระหว่างระยะเวลาการเช่า ผู้เช่าเรือสามารถนำเรือออกให้เช่าช่วงต่อไปได้ การส่งมอบเรือที่เช่านั้น จำเลยที่ 1 ต้องส่งมอบเรือที่อยู่ในสภาพที่พร้อมที่จะรับสินค้า ระวางเรือต้องกวาดสะอาดและไม่มีรูรั่ว แข็งแรงกับเหมาะที่จะให้บริการทุกประการ เจ้าหน้าที่ ลูกเรือ วิศวกรและเจ้าหน้าที่ดับเพลิงยังต้องเป็นของจำเลยที่ 1 เต็มอัตรา นอกจากนี้ในเงื่อนไขของสัญญาข้อ 1 ระบุไว้ด้วยว่า ระหว่างระยะเวลาการเช่า จำเลยที่ 1 ยังจะต้องจ่ายค่าจ้างและเงินอื่น ๆ ที่ต้องจ่ายแก่ลูกเรือ ต้องชำระค่าประกันภัยเรือ และจะต้องดูแลเรือรวมทั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์เรือให้มีประสิทธิภาพสมบูรณ์ และข้อ 8 ระบุไว้ว่า นายเรือซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยเจ้าของเรือจะเป็นผู้ควบคุมดูแลการบรรทุก การเก็บจัดเรียงสินค้าและลงลายมือชื่อในใบตราส่งสำหรับสินค้าที่ตรงกับบัญชีตรวจนับสินค้าและใบรับขนถ่ายสินค้า และผู้เช่าเรือหรือตัวแทนของผู้เช่าเรือก็มีสิทธิที่จะลงลายมือชื่อในใบตราส่งแทนนายเรือได้ด้วย นอกจากนี้ในข้อ 26 ยังได้ระบุไว้ว่า จำเลยที่ 1 เจ้าของเรือยังคงต้องรับผิดชอบในการเดินเรือ การประกันภัย ลูกเรือ และเรื่องอื่น ๆ ทั้งหมดเช่นเดียวกับในขณะที่เดินเรือเพื่อประโยชน์ของตนเองอยู่ต่อไป การเช่าเรือดังกล่าวเป็นการเช่าแบบมีกำหนดเวลาที่แน่นอน ผู้เช่าสามารถนำเรือไปให้บุคคลอื่นเช่าช่วงต่อไปได้อีกเป็นทอด ๆ และรับขนส่งสินค้าได้ โดยเจ้าของเรือเป็นผู้จัดหานายเรือและลูกเรือให้แก่ผู้เช่า หากเกิดความเสียหายกับสินค้าที่บรรทุกอยู่ในเรือ เจ้าของเรือต้องรับผิดชอบต่อเจ้าของสินค้าหรือผู้รับใบตราส่ง ประกอบกับปรากฏในใบตราส่งว่า ผู้ที่ลงลายมือชื่อในใบตราส่งในช่องที่ผู้ขนส่งต้องลงลายมือชื่อไว้นั้น ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าลงลายมือชื่อไว้ในฐานะตัวแทนของนายเรือ ซึ่งตามปกติแล้วนายเรือย่อมเป็นตัวแทนของเจ้าของเรือ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของเรือที่แท้จริง จึงต้องมีส่วนร่วมกับจำเลยที่ 2 ในการทำสัญญารับขนของทางทะเลกับบริษัทผู้ขายซึ่งเป็นผู้ส่ง และแม้มีการให้เช่าช่วงจนถึงทอดสุดท้าย จำเลยที่ 1 ก็ยังเป็นผู้ควบคุมดูแลและรับผิดชอบในการเดินเรือและในความเรียบร้อยของอุปกรณ์เครื่องจักรและความปลอดภัยในเรือเพื่อการขนส่งสินค้าพิพาท ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้ขนส่งสินค้าพิพาทร่วมกับจำเลยที่ 2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 127/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขนส่งทางทะเลต่อความเสียหายสินค้า กรณีเหตุสุดวิสัยและสภาพเรือ
ตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 52 จำเลยในฐานะผู้ขนส่งจะไม่ต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้า ที่ตนขนส่งต่อเมื่อพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายเกิดจากเหตุตาม มาตรา 52(1) หรือ (11) จริง จำเลยจึงมีภาระการพิสูจน์ เพื่อให้ได้ความเช่นนั้น ซึ่งกรณีเป็นเหตุสุดวิสัยต้องปรากฏว่า เป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้ แม้ทั้งบุคคลผู้ต้องประสบหรือ ใกล้จะต้องประสบเหตุนั้นจะได้จัดการระมัดระวังตามสมควร อันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้น สินค้าเกลือพิพาทได้รับความเสียหายเนื่องจากน้ำทะเลรั่ว ผ่านรอยแตกผุกร่อนที่ดาดฟ้าและท่อระบายอากาศถังน้ำอับเฉา เข้าไปถึงสินค้าที่เก็บในระวางที่ 2 ซึ่งในระหว่างเดินทาง เรือประสบคลื่นลมแรง แต่ก็ไม่ปรากฏว่าคลื่นลมนั้นมีความรุนแรงเกินความคาดหมายในสภาพท้องทะเลช่วงนั้น ถึงขนาดที่ไม่อาจป้องกันมิให้น้ำทะเลรั่วซึม เข้าไปในเรือ ได้แต่อย่างใด จำเลยในฐานะผู้ขนส่งมีหน้าที่ต้องทำให้เรือ อยู่ในสภาพที่สามารถเดินทะเลได้อย่างปลอดภัยในเส้นทาง เดินเรือนั้น จัดให้มีคนประจำเรือ เครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องอุปกรณ์ และสิ่งจำเป็นให้เหมาะสมแก่ความต้องการ สำหรับเรือนั้น และจัดระวางบรรทุกและส่วนอื่น ๆ ที่ใช้บรรทุก ของให้เหมาะสมและปลอดภัยตามสภาพแห่งของที่จะรับขนส่ง และรักษาตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเลฯ มาตรา 8 แม้ก่อนหน้าที่จำเลยจะนำเรือดังกล่าวมาใช้ ขนส่งสินค้าพิพาทเพิ่งจะได้รับการตรวจสภาพโครงสร้าง ของตัวเรือมาก่อนก็ตาม แต่หลังจากการตรวจสภาพโครงสร้างเรือ แล้วก็อาจมีข้อบกพร่องเกี่ยวกับโครงสร้างหรือส่วนอื่นที่ไม่ใช่โครงสร้างของเรือเกิดขึ้นได้ซึ่งหากมีข้อบกพร่องดังกล่าวจำเลยก็มีหน้าที่ต้องแก้ไขเสียก่อนบรรทุก ของลงเรือหรือก่อนนำเรือออกเดินทางเพื่อให้เป็นไปตาม มาตรา 8 ปรากฏว่าหลังเกิดเหตุเพียงเล็กน้อยเจ้าหน้าที่ สำรวจความเสียหายของสินค้าก็สามารถตรวจพบรอยผุกร่อน ที่ดาดฟ้าและท่อระบายอากาศถังน้ำอับเฉาได้ จำเลยจึงต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้าที่เกิดขึ้นขณะอยู่ในความดูแลของจำเลย