คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2505 ม. 14

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1001/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแจ้งความเท็จและใช้เอกสารราชการปลอมเพื่อขอมีบัตรประจำตัวประชาชนใหม่ ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อทางราชการ
บัตรประจำตัวประชาชนเป็นเอกสารสำคัญของทางราชการที่ออกให้โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานในการแสดงตนของบุคคล การที่จำเลยที่ 1 แจ้งความเท็จว่าตนชื่อ ป. และบัตรประจำตัวประชาชนของตนสูญหายไป เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานหลงเชื่อจดข้อความอันเป็นเท็จดังกล่าวลงในเอกสารราชการและจำเลยที่ 2 รับรองต่อเจ้าพนักงานว่าจำเลยที่ 1 คือ ป. และบัตรประจำตัวประชาชนของจำเลยที่ 1 สูญหายจริงพร้อมทั้งลงลายมือชื่อในช่องผู้รับรอง และจำเลยทั้งสองยังร่วมกันใช้เอกสารราชการปลอมที่จำเลยทั้งสองร่วมกันทำปลอมขึ้นแสดงต่อเจ้าพนักงานเพื่อขอมีบัตรใหม่ อันเป็นเหตุให้เจ้าพนักงานออกบัตรประจำตัวประชาชนฉบับใหม่ให้แก่จำเลยที่ 1 นั้น นับว่าก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ทางราชการ และอาจสร้างความเสียหายให้แก่ประชาชนผู้สุจริตทั่วไปที่จำเลยที่ 1 อาจนำบัตรประจำตัวประชาชนฉบับใหม่ไปใช้แอบอ้างอีกด้วย พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องร้ายแรงไม่สมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยทั้งสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9173/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายบัตรประจำตัวประชาชน และผลต่อการฟ้องคดีอาญา
ขณะที่จำเลยกระทำความผิดยังไม่มีการแก้ไขพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2526 มาตรา 14 แต่ต่อมาก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้มีพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542 มาตรา 8 ให้ยกเลิกความในมาตรา 14 และให้ใช้ความใหม่ ซึ่งกฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำความผิดในคดีนี้ได้ขยายองค์ประกอบความผิดจากเดิมที่กำหนดให้ผู้กระทำความผิดต้องเป็น"ผู้มีสัญชาติไทยผู้ใด" ให้เป็น "ผู้ใด" ซึ่งจะเป็นผู้ที่มีสัญชาติไทยหรือไม่ก็ได้ ดังนั้นในการพิจารณาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหรือไม่จึงต้องพิจารณาตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2526 มาตรา 14 เดิม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 เมื่อคำฟ้องของโจทก์ปรากฏว่าจำเลยเป็นผู้มีสัญชาติไทย ส่วนพวกของจำเลยที่มาแอบอ้างและขอทำบัตรประจำตัวประชาชนใหม่ในนามของ น. นั้น ฟ้องโจทก์ก็มิได้ระบุว่าเป็นผู้ไม่มีสัญชาติไทยฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2526 มาตรา 14 เดิม จึงเป็นฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิดมาตราดังกล่าว ถือเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ลงโทษจำเลยในข้อหาตามพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่ได้ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสองประกอบด้วยมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1442/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิสูจน์ตัวตนผู้ต้องหา, การแจ้งความเท็จ, และความผิดสำเร็จจากการแสดงหลักฐานเท็จต่อเจ้าหน้าที่
องค์ประกอบความผิดตามมาตรา 14 แห่ง พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2526คือ ผู้ใดยื่นคำขอมีบัตรต่อพนักงานเจ้าหน้าที่การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยเป็นผู้ไม่มีสัญชาติไทยยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โดยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จว่าจำเลยเป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ จึงครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 14 แล้ว จำเลยยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนต่อ พนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ที่ว่าการอำเภอแม่จัน ในครั้งแรกโดยแจ้งข้อความและแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จความผิดก็สำเร็จแล้วเมื่อจำเลยยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชน ใหม่ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ที่ว่าการอำเภอกระทุ่มแบน จึงเป็นความผิดกรรมใหม่กระทงใหม่ ต่างกรรมต่างวาระกัน ไม่ใช่เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท