พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4810/2542 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจศาลและการกำหนดที่ทำการศาล: การใช้ดุลพินิจเพื่อความสะดวกของประชาชน
คำสั่งศาลจังหวัดที่กำหนดการนั่งพิจารณาคดีของศาลจังหวัด ณ ที่ว่าการอำเภอ ในเขตศาลจังหวัดมิใช่เป็นการจัดตั้งศาลขึ้นใหม่ต่างหากจากศาลจังหวัด เขตอำนาจศาลที่กำหนดในคำสั่งนี้ยังคงอยู่ในอำนาจของศาลจังหวัด บรรดาคดีที่กำหนดในคำสั่งนั่งพิจารณา ณ ที่ว่าการอำเภอก็ยังคงอยู่ในอำนาจศาลจังหวัด คำสั่งดังกล่าวมิใช่เป็นการกำหนดสถานที่เปิดเป็นที่ตั้งศาลถาวรแห่งใหม่ แต่เป็นการกำหนดสถานที่เพื่อให้ประชาชนทราบว่าศาลจังหวัดมีที่ทำการอีกแห่งหนึ่งตั้งอยู่ในเขตอำเภอที่กำหนดเท่านั้นซึ่งเป็นอำนาจของศาลที่จะกำหนดให้นั่งพิจารณา ณ สถานที่อื่นหรือที่ใด ๆ ภายในเขตอำนาจของตนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 35 คำสั่งดังกล่าวจึงมิใช่คำสั่งจัดตั้งศาลยุติธรรมขึ้นมาใหม่ มิใช่เรื่องที่ต้องตราเป็นพระราชบัญญัติและไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1(9) จะให้คำนิยามคำว่าการนั่งพิจารณาไว้แต่เมื่อถ้อยคำในมาตรา 35 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การพิจารณาคดีเป็นไปโดยรวดเร็วเป็นประโยชน์แก่ประชาชนผู้มีอรรถคดี การแปลความบทบัญญัติดังกล่าวจึงต้องแปลความหมายให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ กล่าวคือย่อมรวมถึงการนั่งพิจารณาคดีอันได้แก่ การยื่นคำฟ้อง คำร้องคำขอต่าง ๆ รวมถึงการดำเนินกระบวนพิจารณาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับการนั่งพิจารณาด้วยมิใช่แปลจำกัดเคร่งครัดแต่เฉพาะการนั่งพิจารณาคดีเป็นรายเรื่องไปเพราะมิฉะนั้นแล้วย่อมไม่อาจบรรลุวัตถุประสงค์แห่งกฎหมายและหาประโยชน์อันแท้จริงมิได้อีกทั้งการแปลความจำกัดเฉพาะอำนาจที่กำหนดการนั่งพิจารณา ณ สถานที่อื่นไม่รวมถึงการดำเนินกระบวนพิจารณาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วยแล้ว ยิ่งก่อให้เกิดความไม่สะดวกและล่าช้ายิ่งขึ้น คำสั่งศาลจังหวัดดังกล่าวจึงถือว่าเป็นการจำเป็นตามความหมายแห่งมาตรา 35 หาต้องเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 218 หรือความจำเป็นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 67 ทั้งคำสั่งดังกล่าวมิใช่คำสั่งให้เปิดทำการศาล จึงไม่ต้องกระทำในรูปพระราชกฤษฎีกาและไม่ใช่อำนาจของรัฐมนตรีตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมและไม่นอกเหนืออำนาจของผู้พิพากษาหัวหน้าศาลตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 10การที่ศาลแปลความมาตรา 35 ตามวัตถุประสงค์หรือความมุ่งหมายของบทบัญญัติดังกล่าวเป็นการปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 โดยชอบแล้ว