คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 ม. 110

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 6 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3585/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานมีเครื่องหมายการค้าปลอม ความรับผิดของกรรมการบริษัท และการพิจารณาโทษ
ความผิดที่โจทก์บรรยายฟ้องมานั้นเป็นความผิดต่อเนื่องและกระทำต่อเนื่องเกี่ยวพันกันทั้งในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลพระราชวัง กรุงเทพมหานคร และสถานีตำรวจภูธรอำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ดังนั้น พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอบางบัวทองซึ่งเป็นท้องที่ที่จำเลยที่ 2 ถูกจับ จึงมีอำนาจสอบสวนได้โดยชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 19 วรรคหนึ่ง (3) และวรรคสาม (ก) โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 120
โจทก์ร่วมที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์และศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ร่วมที่ 1 เข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีได้นั้นต้องถือว่าเป็นการอนุญาตให้โจทก์ร่วมที่ 1 เข้าร่วมเป็นโจทก์ได้เฉพาะความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ ซึ่งมีโจทก์ร่วมที่ 1 และโจทก์ร่วมที่ 2 เป็นผู้เสียหายเท่านั้น เพราะโจทก์ร่วมทั้งสองมิได้เป็นผู้เสียหายในความผิดตามพระราชบัญญัติอาหารฯ
การที่จำเลยที่ 2 มีอาหารปลอมไว้เพื่อจำหน่ายและจำหน่าย โดยที่อาหารดังกล่าวนั้นมีเครื่องหมายการค้าปลอมอยู่ด้วยก็ด้วยเจตนาเดียวว่าประสงค์จำหน่ายและมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งอาหารปลอม เมื่ออาหารปลอมนั้นมีเครื่องหมายการค้าปลอมอยู่ด้วยและกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดไว้ จึงเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5687/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกานี้เกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญาเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้า การปลอมแปลงเครื่องหมายการค้า และการจำหน่ายสินค้าปลอม โดยศาลฎีกาได้พิจารณาแก้ไขโทษและยกฟ้องบางข้อหา
ตามพระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2542 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2542 ซึ่งมาตรา 3 ให้ยกเลิก พระราชบัญญัติว่าด้วยการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2474 กับพระราชบัญญัติว่าด้วยการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิงฉบับที่ 2 พ.ศ. 2496 ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2508 ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2520 และฉบับที่ 5พ.ศ. 2530 เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องคดีเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2543 หลังวันที่พระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2542 ใช้บังคับแล้ว 1 ปีเศษ โดยบรรยายฟ้องว่า จำเลยกับพวกร่วมกันมีเก็บไว้เพื่อจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดไม่น่ากลัวอันตราย มีปริมาณเกินกว่า 10,000 ลิตร ไว้ในสถานที่เก็บน้ำมันโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน และขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2474ซึ่งถูกยกเลิกไปก่อนแล้ว โดยมิได้บรรยายฟ้องให้ปรากฏว่าการกระทำของจำเลยยังคงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2542 ที่บัญญัติขึ้นใช้ในภายหลัง แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพก็รับฟังไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยในระหว่างเวลาที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2474 ยังมีผลใช้บังคับอยู่นั้นยังคงเป็นความผิดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง ต้องถือว่าจำเลยพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง ส่วนการกระทำของจำเลยนับแต่วันที่ พระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2542 บัญญัติขึ้นใช้ภายหลังและยกเลิก พระราชบัญญัติว่าด้วยการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2474 แล้ว โจทก์ยังบรรยายฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดและขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2474 ซึ่งถูกยกเลิกไป จึงมีผลเท่ากับโจทก์ไม่ได้อ้างบทกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำของจำเลยระหว่างวันเวลาดังกล่าวเป็นความผิดจึงเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ มาตรา 26ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(6) ต้องยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานนี้
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยหลอกลวงให้ผู้ซื้อสินค้าเข้าใจผิดว่าสินค้าที่จำเลยผลิตขึ้นนั้นเป็นของบริษัท ส. และบริษัท ฮ. ผู้เสียหาย โดยใช้ป้ายโฆษณาที่มีตราเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายติดที่สินค้า อันเป็นการใช้ฉลากซึ่งมีเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายในการขายสินค้าเพื่อลวงให้ผู้ซื้อเข้าใจผิดนั้นถือว่าเป็นการกระทำที่มีเจตนาเดียวกันในความผิดฐานเสนอจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอม กับฐานใช้ฉลากในการขายสินค้าเพื่อให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ ปริมาณของสินค้าดังกล่าว เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท มิใช่ความผิดหลายกรรมต่างกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1835/2545 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดเสนอขายสินค้าปลอมที่มีเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนนอกราชอาณาจักร ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 275 ยังใช้บังคับ
การที่พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นใช้ในภายหลังประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 275 ประกอบด้วยมาตรา 273 มีบทบัญญัติมาตรา 110(1) ประกอบด้วยมาตรา 108 ซึ่งกำหนดให้เฉพาะการเสนอจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรเท่านั้นเป็นความผิดทางอาญาเป็นเพราะเครื่องหมายการค้าที่ได้รับจดทะเบียนในราชอาณาจักรจะได้รับความคุ้มครองสำหรับสินค้าที่จดทะเบียนไว้ตามมาตรา 44 เฉพาะในเขตพื้นที่ภายในราชอาณาจักรเท่านั้น ผู้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนไว้นอกราชอาณาจักรแต่ยังไม่ได้รับการจดทะเบียนในราชอาณาจักรไม่อาจฟ้องคดีเพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนหรือเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อการละเมิดสิทธิดังกล่าวได้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 46วรรคแรก เว้นแต่จะเป็นกรณีที่มีบุคคลอื่นเอาสินค้าของตนไปลวงขายว่าเป็นสินค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นตามมาตรา 46 วรรคสอง ส่วนประมวลกฎหมายอาญามาตรา 275 ประกอบด้วยมาตรา 273 ซึ่งออกมาใช้บังคับก่อน พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ ให้ความคุ้มครองสิทธิของเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้นอกราชอาณาจักรที่จะดำเนินคดีอาญาแก่ผู้เสนอจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าดังกล่าวปลอมได้ด้วย แม้พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯมาตรา 110(1) ประกอบด้วยมาตรา 108 มิได้คุ้มครองสิทธิของเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนนอกราชอาณาจักรไว้เช่นนั้นก็ไม่อาจถือได้ว่าบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญา ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติในพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯเมื่อพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ เป็นกฎหมายเฉพาะซึ่งใช้บังคับในภายหลังมาตรา 3 วรรคแรก ให้ยกเลิกเฉพาะพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474และพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2504 เท่านั้น มิได้ให้ยกเลิกความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 275 ประกอบด้วยมาตรา 273 ด้วย ทั้งไม่อาจถือว่ามาตรา 275 ประกอบด้วยมาตรา 273 ขัดหรือแย้งกับมาตรา 110(1) ประกอบด้วยมาตรา 108 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ บทบัญญัติมาตรา 275 ประกอบด้วยมาตรา 273 จึงมิได้ถูกยกเลิกไปโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ ดังนั้นการที่จำเลยเสนอจำหน่ายสินค้ากระเป๋าที่มีเครื่องหมายการค้าซึ่งมีผู้ทำปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายที่ได้จดทะเบียนไว้นอกราชอาณาจักร จึงมีความผิดและต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 275 ประกอบด้วยมาตรา 273

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4207/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาปลอมเครื่องหมายการค้า: การพิสูจน์เจตนาของกรรมการบริษัทและผลต่อความรับผิดทางอาญา
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งหกปลอมเครื่องหมายการค้า (RELY) ของโจทก์ โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องนำสืบให้เห็นได้ว่าจำเลยทั้งหกมีเจตนากระทำผิด เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 4 ได้แสดงออกต่อจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ผู้เข้าร่วมทุนจัดตั้งบริษัทกับจำเลยที่ 4 ว่าเป็นเจ้าของผู้มีสิทธิใช้ เครื่องหมายการค้า (RELY) และจะนำมาร่วมลงทุนจัดตั้งบริษัทจำเลยที่ 1 ขึ้นมาผลิตสินค้าจำหน่ายโดยใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าว แม้จำเลยที่ 4 มิได้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า (RELY) ก็ตามแต่เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ในห้างหุ้นส่วนจำกัดที่โจทก์และจำเลยที่ 4 ร่วมเข้าหุ้นจัดตั้งขึ้นมาและได้ผลิตสินค้าโดยใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์นำออกจำหน่ายตลอดมา พฤติการณ์ของโจทก์ดังกล่าวย่อมทำให้บุคคลทั่วไปรวมทั้งจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 เข้าใจได้ว่าจำเลยที่ 4 เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้า (RELY) นี้ ทั้งเมื่อภายหลังจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ทราบว่า เครื่องหมายการค้า (RELY) เป็นของโจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้ใช้ เครื่องหมายการค้าดังกล่าวอีกต่อไป การที่จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นกรรมการ คนหนึ่งของจำเลยที่ 1 ได้ทราบว่าเครื่องหมายการค้าเป็นของโจทก์ ก็ยังไม่อาจถือได้ว่า จำเลยที่ 1 ทราบข้อเท็จจริงนั้น การกระทำของ จำเลยที่ 1 รวมทั้งจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ย่อมถือได้ว่าขาดเจตนา อันจะเป็นมูลความผิดทางอาญาฐานร่วมกันปลอมเครื่องหมายการค้า และจำหน่ายเครื่องหมายการค้าปลอมของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 476/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลียนเครื่องหมายการค้า: การพิจารณาเจตนาและสุจริตในการจดทะเบียน
ตามคำฟ้องโจทก์ได้ติดรูปเครื่องหมายการค้าที่อ้างว่าจำเลยใช้กับกางเกงยีนของกลางอันเป็นเครื่องหมายการค้าซึ่งเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมเข้ามาด้วยถึงแม้รูปเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ติดมาในฟ้องจะไม่ชัดเจนในรายละเอียด แต่ก็ยังเห็นได้ถึงลักษณะโครงสร้างที่เป็นสาระสำคัญได้ ซึ่งในชั้นพิจารณาโจทก์และโจทก์ร่วมย่อมสามารถนำสืบโดยเสนอเครื่องหมายการค้าที่อ้างว่าจำเลยใช้กับกางเกงยีนซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าที่เลียนแบบตามฟ้องได้ว่าคือเครื่องหมายการค้าตามภาพถ่ายกางเกงยีนของกลางเอกสารหมาย จ.5 ซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าแบบเดียวกับเครื่องหมายการค้าเอกสารหมาย ล.3 กรณีจึงไม่ใช่เรื่องข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวมาในฟ้อง
เป็นเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ใช้กับกางเกงยีนของกลาง แม้ว่าพิจารณาโดยรวมแล้วมีส่วนที่แตกต่างจากอันเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมก็ตาม แต่เครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมสาระสำคัญอยู่ที่เสียงเรียกขาน คำว่า CANTONAส่วนเครื่องหมายการค้าซึ่งใช้ติดกางเกงยีนก็มีตัวอักษรโรมันคำว่า CANTONA และออกเสียงเรียกขานว่า คันโตนา เช่นเดียวกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วม นอกจากนี้แถบผ้าแสดงขนาดของกางเกงยีนของจำเลยก็ปักอักษรโรมันคำว่า CANTONA แสดงว่าตัวอักษรโรมันคำว่า CANTONA เป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าซึ่งติดอยู่กับกางเกงยีนเช่นกัน มิใช่เป็นเพียงส่วนประกอบ ทั้งตัวอักษรโรมันคำว่า CANTONAเป็นคำเฉพาะ ไม่ใช่คำสามัญที่มีความหมายธรรมดาทั่ว ๆ ไป เมื่อเครื่องหมายการค้าที่ติดกับกางเกงยีนของจำเลยมีตัวอักษรโรมันคำว่า CANTONA เป็นสาระสำคัญแล้วแม้ตัวอักษรโรมันคำว่า CANTONA ในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมมีลักษณะเป็นอักษรประดิษฐ์ซึ่งต่างจากตัวอักษรโรมันในเครื่องหมายการค้าที่ติดกับกางเกงยีนของจำเลยซึ่งเขียนด้วยตัวพิมพ์ธรรมดาก็ถือได้ว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นเครื่องหมายการค้าที่เลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วม
เครื่องหมายการค้าซึ่งติดอยู่กับกางเกงยีนของกลางนั้น มีสาระสำคัญอยู่ที่คำว่า CANTONA เช่นเดียวกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วม การที่เครื่องหมายการค้าซึ่งติดอยู่กับกางเกงยีนถูกนำมาใช้กับสินค้าประเภทเดียวกันกับสินค้าประเภทกางเกงของโจทก์ร่วมที่ได้จดทะเบียนไว้ จึงอาจทำให้บุคคลอื่นเชื่อว่าเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วม อันเป็นการทำขึ้นเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมตามมาตรา 109 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534การที่จำเลยมีไว้เพื่อจำหน่ายกางเกงยีนของกลางที่มีเครื่องหมายการค้าเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมจึงเป็นความผิดตามมาตรา 110(1)
โจทก์ร่วมจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า CANTONA มาตั้งแต่ปี 2538 โจทก์ร่วมจึงได้รับความคุ้มครองในฐานะเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้น และมีสิทธิที่จะห้ามผู้ใดปลอม หรือเลียนเครื่องหมายการค้า ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯมาตรา 53 ซึ่งการที่โจทก์ร่วมจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านี้ก็ไม่ปรากฏว่าได้มีการขอให้เพิกถอนหรือนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้มีคำสั่งให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมตามมาตรา 63 แต่อย่างใด การที่โจทก์ร่วมขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า จึงถือว่าเป็นการกระทำโดยสุจริตตามมาตรา 6 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ประกอบกับโจทก์ร่วมได้ผลิตกางเกงยีนใช้ชื่อในการประกอบการว่า กิจเจริญ มาเป็นเวลาเกือบ 10 ปี แล้ว โดยโจทก์และโจทก์ร่วมได้อ้างส่งกางเกงยีนที่โจทก์ร่วมผลิตและใช้เครื่องหมายการค้า CANTONA เป็นวัตถุพยาน พฤติการณ์จึงเชื่อได้ว่าโจทก์ร่วมจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเพื่อประกอบกิจการของโจทก์ร่วมโดยสุจริต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6648/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลียนแบบเครื่องหมายการค้า แม้มีสิทธิใช้เครื่องหมายเดิม แต่เจตนาทำให้หลงเชื่อถือเป็นเครื่องหมายผู้เสียหาย ถือเป็นความผิด
แม้จำเลยที่ 2 จะได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นรูปรวงข้าวอยู่ในวงกลมสำหรับสินค้าจำพวกเครื่องจักร กับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นรูปรวงข้าวอยู่ในวงกลมและมีภาษาไทยคำว่า "ตรารวงข้าว" อยู่ใต้รูปสำหรับสินค้าจำพวกเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 และยังคงจดทะเบียนอยู่ในวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ จำเลยทั้งสองจึงมีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้าข้างต้นต่อไปตามมาตรา 117 ก็ตาม แต่การที่จำเลยทั้งสองใช้เครื่องหมายการค้ารูปรวงข้าวในวงกลมและคำว่า "InterNationalGroup" กับสินค้าจำพวกเครื่องไฟฟ้าโดยไม่มีคำว่า "ตรารวงข้าว" กำกับ ทั้งยังเน้นคำว่า "National" ซึ่งไม่ใช่เครื่องหมายการค้าของตนให้ใหญ่เป็นพิเศษยิ่งกว่าคำอื่น ย่อมแสดงว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหาย ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ไม่ได้วินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองยังคงมีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้าตรารวงข้าวที่จำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนไว้ตามกฎหมายเดิมต่อไปหรือไม่จึงไม่ทำให้จำเลยทั้งสองเสียเปรียบหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมแต่อย่างใด เพราะข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับสิทธิในการใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยทั้งสองเป็นคนละเรื่องกับการจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าเลียนเครื่องหมายการค้าคำว่า "National" ของผู้เสียหาย ฎีกาของจำเลยทั้งสองจึงไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น จำเลยคงมีความผิดตามฟ้อง