คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.อ. ม. 158

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,873 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7732/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองยาเสพติดเพื่อจำหน่าย: พยานหลักฐานและข้อสันนิษฐานทางกฎหมาย
ในวันเกิดเหตุ จำเลยที่ 2 นั่งรถยนต์มากับจำเลยที่ 1 และได้รู้เห็นจำเลยที่ 3 ส่งมอบเมทแอมเฟตามีนจำนวน 3 มัด ให้แก่สายลับภายในรถยนต์ของจำเลยที่ 1 หากจำเลยที่ 2 มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการซื้อขายเมทแอมเฟตามีนของกลางจำนวน 4 มัด แล้ว ไม่น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ยินยอมให้จำเลยที่ 2 มีโอกาสรู้เห็นการซื้อขายเมทแอมเฟตามีนระหว่างจำเลยที่ 1 กับสายลับ เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 นอกจากพบเงินจำนวน 50,000 บาท ที่สายลับใช้ล่อซื้อแล้วยังพบเงินอีก 20,000 บาท ที่จำเลยที่ 2 มอบให้จำเลยที่ 1 เป็นค่าเมทแอมเฟตามีนอยู่ในช่องเก็บของข้างที่นั่งคนขับ ฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้มาซื้อเมทแอมเฟตามีนจำนวน 1 มัด รวม 2,000 เม็ด จากจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 2 ยังไม่ได้ครอบครองเมทแอมเฟตามีนที่จะซื้อเพราะถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมขณะที่จำเลยที่ 1 กำลังจะส่งมอบ ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 พยายามมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 2,000 เม็ด ไว้ในครอบครอง เนื่องจากเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ตั้งแต่ยี่สิบกรัมขึ้นไป ต้องด้วยข้อสันนิษฐานมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานพยายามมีเมทแอมเฟตามีนของกลางจำนวน 2,000 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7713/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การริบของกลางในคดีอาญา: ศาลอุทธรณ์มีอำนาจวินิจฉัยแม้โจทก์มิอุทธรณ์ หากศาลชั้นต้นละเลยการวินิจฉัย
ป.วิ.อ. มาตรา 158 บัญญัติว่า ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือและมีรายการต่าง ๆ ที่จะต้องมีในคำฟ้องอีกรวม 7 อนุมาตรา แต่มิได้มีเงื่อนไขเกี่ยวกับทรัพย์ที่จะขอให้ศาลสั่งริบว่าจะต้องมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง เมื่อโจทก์ได้บรรยายมาในคำฟ้องว่าเจ้าพนักงานจับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้พร้อมกับยึดเครื่องสูบน้ำเป็นของกลางและมีคำขอให้ริบเครื่องสูบน้ำดังกล่าวจึงเป็นการเพียงพอแล้ว ไม่จำต้องบรรยายมาในฟ้องว่าเป็นของผู้ใดและใช้ในการกระทำความผิดอย่างไร
เมื่อโจทก์มีคำขอให้ริบเครื่องสูบน้ำของกลางแล้ว แต่ศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยว่าจะริบเครื่องสูบน้ำของกลางหรือไม่ คำพิพากษาของศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 186 (9) แม้โจทก์มิได้อุทธรณ์แต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง และการริบทรัพย์สินแม้ ป.อ. มาตรา 18 จะบัญญัติว่าเป็นโทษสถานหนึ่ง แต่เป็นโทษที่มุ่งถึงตัวทรัพย์เป็นสำคัญต่างกับโทษสถานอื่นซึ่งแม้จำเลยจะไม่ได้กระทำความผิดหรือกระทำความผิดแต่ไม่ต้องรับโทษ ศาลก็มีอำนาจสั่งริบทรัพย์สินของกลางได้ จึงมิใช่เป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ย่อมมีอำนาจสั่งริบของกลางได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2986/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบรรยายฟ้องไม่ชัดเจน ศาลลงโทษเกินกว่าฟ้องได้หรือไม่ และการรวมกรรมความผิด
โจทก์มิได้บรรยายฟ้องแยกการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองพอที่จะเห็นได้ว่าโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามฟ้องข้อ ค. ในแต่ละข้อหาเป็นแต่ละกรรมแยกต่างหากจากกัน แม้ทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันบุกรุกทำให้เสียทรัพย์และทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองในข้อหาร่วมกันบุกรุกในเวลากลางคืนโดยมีอาวุธหรือโดยร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไป ข้อหาทำให้เสียทรัพย์และข้อหาร่วมกันทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตรายสาหัส 2 กรรมเกินจากฟ้องหาได้ไม่ เพราะเป็นการขัดต่อ ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2312/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำผิดเกี่ยวกับไม้หวงห้าม เลื่อยโซ่ยนต์ และการนำเข้าหลีกเลี่ยงอากร ศาลพิจารณาองค์ประกอบความผิดและแก้ไขโทษ
เมื่อจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง การที่โจทก์ไม่ได้อ้างมาตรา 83 แห่ง ป.อ. หาทำให้คำฟ้องบกพร่องจนศาลไม่อาจจะลงโทษจำเลยที่ 1 ได้ไม่ เพราะตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 บัญญัติว่า "ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือและมี... (6) อ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด..." ซึ่ง ป.อ. มาตรา 83 มิใช่บทมาตราที่กฎหมายบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด ดังนั้น เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดแล้ว แม้จะไม่ได้ระบุมาตรา 83 มาในคำขอท้ายฟ้องด้วย ศาลก็ลงโทษจำเลยทั้งสองฐานตัวการร่วมกันกระทำความผิดได้
โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองมีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ในครอบครองโดยมิได้รับอนุญาต ฟ้องโจทก์ในส่วนนี้จึงขาดองค์ประกอบความผิด แม้โจทก์จะขอให้ลงโทษฐานดังกล่าว โดยอ้างมาตรา 4, 19 แห่ง พ.ร.บ.เลื่อยโซ่ยนต์ ฯ มาด้วย ศาลฎีกาไม่สามารถลงโทษได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยทั้งสองจะให้การรับสารภาพและมิได้ยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาก็ตาม ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1809/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องก่อสร้างดัดแปลงอาคาร และความสมบูรณ์ของฟ้องฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงาน
ความผิดข้อหาก่อสร้างดัดแปลงอาคารโดยไม่ได้รับใบอนุญาตเกิดขึ้นนับแต่วันทำการก่อสร้างอาคารต่อเนื่องกันไปจนถึงวันปลูกสร้างอาคารเสร็จ อายุความฟ้องร้องต้องนับถัดจากวันที่ก่อสร้างดัดแปลงเสร็จลง มิใช่เป็นความผิดต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลาที่ผู้กระทำยังไม่ได้รื้ออาคาร ส่วนเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้รื้อถอนหรือร้องขอต่อศาลให้บังคับให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารรื้อถอนได้เสมอตราบเท่าที่อาคารที่ฝ่าฝืนยังคงอยู่ เป็นเรื่องความรับผิดในทางแพ่ง
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดข้อหาก่อสร้างดัดแปลงอาคารเพื่อใช้เป็นอาคารพาณิชยกรรมขายอาหารตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 21 ต้องระวางโทษตามมาตรา 65 วรรคหนึ่ง จำคุกไม่เกินสามเดือนหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และถือเป็นการกระทำอันเกี่ยวกับอาคารเพื่อพาณิชยกรรมตามมาตรา 70 ต้องระวางโทษเป็นสองเท่าของโทษที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น จึงระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี อายุความฟ้องร้องมีกำหนด 5 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (4) เมื่อการก่อสร้างดัดแปลงอาคารได้เสร็จลงก่อนวันที่ 30 กรกฎาคม 2540 โจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ 5 พฤศจิกายน 2545 จึงเกินกว่า 5 ปี ล่วงเลยกำหนดเวลาฟ้องร้อง ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ
การกระทำความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 66 ทวิ ต้องเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 42 ก่อนกล่าวคือกรณีแรกอาคารที่จำเลยก่อสร้างนั้นสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 41 กรณีที่สองอาคารที่จำเลยก่อสร้างไม่สามารถแก้ไขให้ถูกต้องได้ เมื่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นออกคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนแล้วจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นจึงเกิดขึ้น ข้อเท็จจริงที่ว่าอาคารก่อสร้างดัดแปลงโดยผิดกฎหมายสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้หรือไม่ จึงเป็นสาระสำคัญที่ต้องบรรยายมาในฟ้อง เพราะเป็นเงื่อนไขที่กฎหมายบัญญัติไว้ หาใช่เป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณาไม่ เมื่อโจทก์มิได้บรรยายในฟ้อง ฟ้องโจทก์จึงไม่สมบูรณ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 390/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความชัดเจนของฟ้องอาญา: การบรรยายฟ้องแยกกรรมความผิดชัดเจนเพียงพอ ศาลพิพากษาลงโทษหลายกรรมได้
คำฟ้องโจทก์บรรยายว่า ระหว่างเวลาที่โจทก์ระบุไว้ในคำฟ้องข้อ 2 และข้อ 2.2 จำเลยที่ 2 และที่ 3 เข้าไปก่อสร้าง แผ้วถาง หรือเผาป่า อันเป็นความผิดตามกฎหมายกรรมหนึ่ง และข้อ 2.3 โจทก์บรรยายฟ้องตอนต้นว่า "หลังจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันบุกรุกครอบครองป่าและป่าสงวนแห่งชาติแล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ร่วมกันทำไม้โดยการใช้มีดพร้าตัด ฟัน กาน ต้นไม้หวงห้ามรวม 92 ต้น ซึ่งก็เข้าใจได้ว่า ตามวันเวลาที่โจทก์ระบุไว้ในข้อ 2 แต่เป็นเวลาหลังจากที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้บุกรุกเข้าไปครอบครองป่าและป่าสงวนแห่งชาติแล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ร่วมกันทำไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมายอีกกรรมหนึ่ง ฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ชัดแจ้งว่า เมื่อวันเวลาใด จำเลยที่ 2 ได้กระทำความผิดฐานใดบ้าง อันเป็นความผิดต่างกระทงต่างกรรมกัน มิใช่เป็นการบรรยายฟ้องที่ไม่ชัดแจ้ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14226/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบรรยายฟ้องยาเสพติด - หน่วยการใช้ - ข้อสันนิษฐานตามกฎหมาย
การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีน จำนวน 24 เม็ด (หน่วยการใช้) แม้จะเป็นการบรรยายคำว่าหน่วยการใช้ไว้ในวงเล็บหลังคำว่าเม็ด ก็ถือว่าเป็นการบรรยายคำฟ้องว่าจำนวนเม็ดของเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวเป็นหน่วยการใช้ด้วยแล้ว กรณีจึงเข้าข้อสันนิษฐานของกฎหมายตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) ว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองมีปริมาณสิบห้าหน่วยการใช้ขึ้นไป ถือว่าเป็นการมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12082/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การละเมิดลิขสิทธิ์ต้องกระทำต่อ 'งานที่ละเมิดลิขสิทธิ์' การซื้อของละเมิดลิขสิทธิ์ไม่ถือเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์
การละเมิดลิขสิทธิ์งานของผู้อื่น ตามพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 31, 70 ต้องเป็นการกระทำแก่งานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์เท่านั้น แต่ตามที่โจทก์บรรยายฟ้องนั้น ไม่ปรากฏกว่าแผ่นวีซีดีและซีดีเอ็มพี 3 ตามฟ้องที่จำเลยซื้อไว้เพื่อขายต่อนั้นเป็นแผ่นวีซีดีและซีดีเอ็มพี 3 ที่ได้มีการทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของเจ้าของลิขสิทธิ์แต่อย่างใด จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามบทมาตราดังกล่าว แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ ก็ไม่อาจลงโทษจำเลยได้ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาฯ มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9202/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องฐานโกงเจ้าหนี้ต้องระบุเจตนาซ่อนเร้นทรัพย์สินเพื่อหนีการชำระหนี้
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อปี 2538 โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 กับพวกให้ร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยที่ 1 กับพวกรับผิดต่อโจทก์ เมื่อโจทก์บังคับคดีแก่จำเลยที่ 1 จึงทราบว่าเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2538 จำเลยที่ 1 บังอาจจดทะเบียนยกที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงมีเจตนาซ่อนเร้นทรัพย์ดังกล่าว ซึ่งโจทก์ได้ใช้สิทธิหรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลแล้วให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ เพื่อให้พ้นไปเสียจากการที่โจทก์จะบังคับคดีเอากับทรัพย์ดังกล่าวเพื่อชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วนแก่โจทก์ โดยจำเลยทั้งสองทราบดีว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นที่จะให้โจทก์บังคับคดีได้อีก ตามคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวมีความหมายให้เข้าใจได้อย่างชัดแจ้งแล้วว่า จำเลยทั้งสองได้กระทำไปโดยรู้ว่าเจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้แล้ว ซึ่งครบองค์ประกอบของความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8552/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางอาญาในคดีรถชน: การพิสูจน์ความผิดต้องชัดเจนว่าเกิดจากจำเลย หากไม่มีหลักฐานเพียงพอ ศาลต้องยกฟ้อง
โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าจุดชนเกิดในช่องเดินรถของจำเลยที่ 2 และในชั้นฎีกาโจทก์ฎีการับว่าจุดชนอยู่ในช่องเดินรถของจำเลยที่ 1 ทำให้รับฟังเป็นยุติว่า เหตุรถชนกันมิได้เกิดจากจำเลยที่ 1 ขับรถล้ำเข้าไปในช่องเดินรถของจำเลยที่ 2 ดังนี้หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่างขับรถอยู่ในช่องเดินรถของตน ก็จะต้องไม่มีเหตุคดีนี้เกิดขึ้น ดังนี้จึงจะนำข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 1 ขับรถในขณะเมาสุราและขับด้วยความเร็วสูงผ่านทางแยกตามฟ้องมาเป็นเหตุลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 ได้รับอันตรายสาหัสตาม ป.อ. มาตรา 300 หาได้ไม่ เพราะข้อเท็จจริงตามที่โจทก์บรรยายฟ้องนั้น การที่รถทั้งสองคันเฉี่ยวชนกันมิได้เป็นความผิดของจำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 1 จะให้การรับสารภาพ ศาลก็ต้องพิพากษายกฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง
of 188