พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2689/2560
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจศาลในคดีกล่าวหาคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องเป็นไปตามช่องทางที่กฎหมายเฉพาะกำหนด ตัดสิทธิฟ้องร้องต่อศาลทั่วไป
แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยซึ่งบัญญัติเรื่องการดำเนินคดีอาญาแก่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ไว้เป็นการเฉพาะไม่มีผลใช้บังคับแล้ว แต่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ยังมีผลใช้บังคับอยู่ และมีข้อกำหนดทำนองเดียวกับรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกของทั้งสองสภาตามจำนวนที่กำหนดมีสิทธิเข้าชื่อร้องขอว่า กรรมการ ป.ป.ช. ผู้ใดร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และเมื่อประธานวุฒิสภาได้รับคำร้องให้ส่งคำร้องไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยมี พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 9 (3) บัญญัติรับรองให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนั้น จึงเป็นการกำหนดช่องทางและวิธีการนำคดีอาญาดังกล่าวขึ้นสู่การพิจารณาของศาล และกำหนดศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีไว้เป็นการเฉพาะ มีผลเป็นการตัดสิทธิผู้เสียหายที่จะยื่นฟ้องคณะกรรมการ ป.ป.ช.ต่อศาลตาม ป.วิ.อ.
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 16/2559)
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 16/2559)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7337/2557
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
เขตอำนาจศาลเปลี่ยนแปลงหลังมีกฎหมายใหม่ คดีอยู่ในอำนาจศาลฎีกาฯ
ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 30 ข้อ 10/1 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 30 พ.ศ.2550 มาตรา 3 เป็นบทบัญญัติว่าด้วยการฟ้องและการพิจารณาคดีจึงเป็นกฎหมายในส่วนวิธีสบัญญัติและมีผลใช้บังคับทันทีนับตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับ เป็นผลให้คดีที่โจทก์ฟ้องกล่าวหาจำเลยในฐานะกรรมการตรวจสอบว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทั้งการดำเนินคดีต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งรวมทั้งคณะกรรมการตรวจสอบตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 36 ถึงมาตรา 44 มีวิธีพิเศษแตกต่างไปจากการดำเนินคดีอาญาทั่วไป เป็นการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ และคุ้มครองคณะกรรมการดังกล่าวมิให้ถูกกลั่นแกล้งดำเนินคดีได้โดยง่าย อันเป็นหลักประกันในการปฏิบัติหน้าที่ ศาลชั้นต้นจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้อีกต่อไป