คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ม. 271

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7696/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำฟ้องไม่ชัดเจน ขาดข้อเท็จจริงเพียงพอ ศาลยกฟ้องคดีบุคคลถูกตัดสิทธิสอบ
จำเลยทั้งสิบห้าเป็นคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 274 และพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 บัญญัติให้มีขึ้น การดำเนินงานของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมเป็นการใช้อำนาจในการบริหารงานบุคคล และเป็นการกระทำทางปกครองประเภทหนึ่ง ถ้าการดำเนินงานของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้มีสิทธิเสนอคดีย่อมนำคดีขึ้นสู่การวินิจฉัยของศาลได้ แต่เนื่องจากพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 9 วรรคสอง (2) บัญญัติว่า การดำเนินการของคณะกรรมการตุลาการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ ไม่อยู่ในอำนาจศาลปกครอง และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 271 บัญญัติว่า "ศาลยุติธรรมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวง เว้นแต่คดีที่รัฐธรรมนูญนี้หรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลอื่น" ดังนั้น คดีที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้สมัครสอบคัดเลือกเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการตุลาการในตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากาษากล่าวอ้างว่าการดำเนินงานของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมที่เกี่ยวกับการไม่รับสมัครสอบโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงอยู่ในอำนาจศาลยุติธรรม
โจทก์บรรยายฟ้องสรุปได้ว่า จำเลยทั้งสิบห้าในฐานะคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมได้ประกาศรับสมัครสอบคัดเลือกเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการตุลาการในตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษาประจำปี 2546 รวมทั้งกำหนดคุณสมบัติต่าง ๆ ไว้ และโจทก์ซึ่งมีคุณสมบัติครบถ้วนจึงสมัครสอบ แต่เมื่อประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสอบกลับไม่ปรากฏชื่อโจทก์ โจทก์มีหนังสือสอบถาม แต่ไม่ได้รับคำชี้แจง เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่ได้รับสิทธิสอบคัดเลือก คำสั่งในการตัดสิทธิสอบดังกล่าวเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า คุณสมบัติต่าง ๆ ดังกล่าว คือ คุณสมบัติประการใดบ้างโจทก์มีคุณสมบัติครบถ้วนทุกประการอย่างไร ที่ทำให้โจทก์มีสิทธิสอบ ส่วนที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสิบห้าประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสอบแต่ไม่ปรากฏรายชื่อโจทก์ โจทก์จึงมีหนังสือสอบถามเหตุผลไปยังเลขาธิการคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม แต่คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมไม่ชี้แจงโดยไม่มีเหตุผล โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า โจทก์อาศัยสิทธิตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดเพื่อให้ต้องตอบหนังสือสอบถามของโจทก์ หากไม่ตอบเป็นการผิดต่อกฎหมายฉบับใด เพราะเหตุใด นอกจากนี้ที่โจทก์กล่าวในคำฟ้องว่าการกระทำของจำเลยทั้งสิบห้าในการมีคำสั่งตัดสิทธิสอบของโจทก์เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ก็มิได้ระบุว่าไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายใด มาตราใด เพราะเหตุใด ทั้งข้อหาหรือฐานความผิดโจทก์ระบุแต่เพียงว่าละเมิด ปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และอื่น ๆ แต่ไม่มีข้อความตอนใดที่บรรยายถึงการกระทำของจำเลยทั้งสิบห้าว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เรื่องใด มาตราใด คำฟ้องของโจทก์จึงไม่มีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะให้รับฟังได้ว่า มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ที่จะทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 884/2542 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจยุบสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด: การมอบอำนาจรัฐมนตรีช่วยฯ ชอบด้วยกฎหมาย
คำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ 147/2541 ที่ให้ยุบสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดบุรีรัมย์เพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดบุรีรัมย์ใหม่เป็นคำสั่งทางปกครองตามความหมายในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 เมื่อโจทก์ทั้งยี่สิบเอ็ด และโจทก์ร่วมทั้งเจ็ดอ้างว่าจำเลยทั้งสามออกคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเป็นคำสั่งที่ลงนามโดยจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยขัดต่อพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัดพ.ศ. 2540 มาตรา 80 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยโดยคำแนะนำของผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจยุบสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดใหม่ ดังนี้คำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวย่อมเป็นการโต้แย้ง สิทธิของโจทก์ทั้งยี่สิบเอ็ด และโจทก์ร่วมทั้งเจ็ดตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 โจทก์ทั้งยี่สิบเอ็ด จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามต่อศาลยุติธรรมและ โจทก์ร่วมทั้งเจ็ดชอบที่จะร้องสอดขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(2) และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ มาตรา 271 พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540มาตรา 80 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจยุบสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดใหม่นั้น ไม่ได้บัญญัติไว้ชัดแจ้งว่าเป็นอำนาจโดยเฉพาะของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและมิได้กำหนดห้ามมิให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมอบอำนาจให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยกระทำการแทนแต่อย่างใด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 20 และ 38 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ย่อมมีอำนาจออกคำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ 610/2540 มอบหมายอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 ให้จำเลยที่ 2 ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง มหาดไทยปฏิบัติราชการแทนได้ เมื่อคำสั่งดังกล่าวรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงมหาดไทยมอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 มีอำนาจในการสั่ง การอนุญาต การอนุมัติ การปฏิบัติราชการ หรือ การดำเนินการอื่นเกี่ยวกับงานของกรมการปกครองในส่วนที่เกี่ยวกับ การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น เช่นนี้ จำเลยที่ 2 จึงมีอำนาจ ใช้ดุลพินิจปฏิบัติราชการภายในขอบเขตอำนาจหน้าที่ที่ได้รับ มอบหมายแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยโดยออกคำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ 147/2541 ยุบสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดบุรีรัมย์ได้