คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 ม. 264

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 22 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2575/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแต่งตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยที่ไม่เป็นไปตามระเบียบ และประเด็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญในการคุ้มครองสิทธิพนักงาน
คำร้องของโจทก์ที่อ้างว่า โจทก์มีสิทธิได้รับการสอบสวนความผิดทางวินัยจากกรรมการสอบสวนซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานในองค์กรของจำเลยตามที่กำหนดไว้ในระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสอบสวนทางวินัยของจำเลย การที่จำเลยไม่ปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าวเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนั้น กรณีตามคำร้องของโจทก์มิใช่เป็นการโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ จึงมิใช่กรณีที่ศาลจะต้องรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวและส่งความเห็นเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 26

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8023/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิค่าทดแทนผู้ถูกคุมขังอาญา: ต้องมีกฎหมายรองรับและไม่ใช่คดีแพ่ง
จำเลยได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในส่วนที่เกี่ยวกับการขอรับเงินค่าทดแทน เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องดังกล่าว จำเลยมิได้อุทธรณ์ คำสั่งศาลชั้นต้นถึงที่สุด จำเลยจึงยกขึ้นฎีกาไม่ได้ ทั้งไม่อาจถือว่า การยื่นฎีกาเป็นการยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลฎีกาเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในเรื่องดังกล่าว
การขอให้จ่ายค่าทดแทนการถูกคุมขังตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 246 บัญญัติให้สิทธิของบุคคลที่จะได้รับค่าทดแทนต้องเป็นไปตามเงื่อนไขและวิธีการที่กฎหมายบัญญัติเมื่อยังไม่มีการตรากฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ใช้บังคับ สิทธิดังกล่าวของจำเลยจะต้องด้วยเงื่อนไขของกฎหมายหรือไม่และจะมีวิธีการดำเนินการอย่างไร ย่อมไม่อาจมีผู้ใดกำหนดขึ้นได้จนกว่าจะมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายรองรับ ทั้งกรณีนี้ไม่ใช่คดีแพ่ง จะนำกฎหมายอื่นมาใช้ในลักษณะของกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งก็กระทำมิได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6931-6932/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลในการพิจารณาคำร้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ และหลักเกณฑ์การส่งเรื่องตามรัฐธรรมนูญ
โจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีการอการพิจารณาคดีไว้ชั่วคราวและส่งความเห็นของโจทก์ทั้งสองไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในขณะคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา การพิจารณาสั่งคำร้องดังกล่าวจึงเป็นอำนาจของศาลฎีกา การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำร้องว่าให้รวมสำนวนไว้ ย่อมมีผลเป็นการปฏิเสธที่จะส่งคำร้องของโจทก์ทั้งสองไปให้ศาลฎีกา จึงเป็นการไม่ชอบ
คำร้องของโจทก์ทั้งสองระบุเพียงแต่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่า ศาลฎีกามีอำนาจพิจารณาคดีปกครองหรือไม่ มิได้โต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญจึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกาไม่จำต้องส่งคำร้องของโจทก์ทั้งสองไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 753/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลและข้อจำกัดการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ: คำวินิจฉัยประธานศาลฎีกาเป็นที่สุด
ปัญหาว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องต่อศาลใด เมื่อมีคำวินิจฉัยของประธานศาลฎีกาแล้วว่า คดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยอยู่ในอำนาจศาลเยาวชน และครอบครัวกลาง คำวินิจฉัยของประธานศาลฎีกาดังกล่าวเป็นที่สุด ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 13 จำเลยจะฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลางอีกไม่ได้
กรณีที่ศาลจะส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามคำขอของคู่ความต้องเป็นกรณีที่คู่ความโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับแก่คดีนั้น ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ แต่คำร้องของจำเลยที่ขอให้ศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยกล่าวอ้างแต่เพียงว่าคำพิพากษาศาลฎีกาคดีนี้ไม่ชอบ จึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 264 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 623/2543 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีถึงที่สุดแล้ว ศาลไม่ต้องส่งความเห็นขัดรัฐธรรมนูญให้ศาลรัฐธรรมนูญ
การที่ศาลจะส่งความเห็นว่าบทบัญญัติของกฎหมายขัด หรือแย้ง กับรัฐธรรมนูญไปให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 264 วรรคหนึ่ง นั้น ต้องเป็นกรณีที่ คดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณาพิพากษาของศาล จึงให้รอการพิจารณา พิพากษาคดีไว้ชั่วคราวหาใช่กรณีถึงที่สุดแล้วแต่อย่างใดไม่ เพราะหากคดีถึงที่สุด แล้วย่อมไม่มีประโยชน์ที่จะส่งคำร้องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีกต่อไป เพราะแม้ส่งไปและศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ ก็ไม่อาจกระทบกระเทือนถึง คำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดแล้วตามมาตรา 264 วรรคท้าย
คดีนี้ถึงที่สุดแล้วตามพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2472 แม้จำเลยจะร้องขอและอุทธรณ์ต่อศาลให้รื้อฟื้นคดีของจำเลยขึ้นมาพิจารณาใหม่ตามมาตรา 247 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ เพื่อเป็นข้ออ้างว่าคดียังไม่ถึงที่สุดแต่แท้ที่จริงคดีของจำเลยถึงที่สุดแล้วเหลือเพียงการส่งจำเลยข้ามแดนเท่านั้น การยื่นคำร้องของจำเลยหามีผลให้คดีที่ถึงที่สุดแล้วกลับกลายเป็นคดีที่ยังไม่ถึงที่สุดอีกครั้งหนึ่งไม่ จึงมิใช่กรณีที่ศาลจะส่งความเห็นไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย
แม้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ มาตรา 264 วรรคสอง จะระบุให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้พิจารณาว่าคำโต้แย้งใดของคู่ความว่าบทบัญญัติของกฎหมายขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัย และศาลรัฐธรรมนูญจะไม่รับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาก็ได้ แต่การที่จะพิจารณาว่าเรื่องดังกล่าวเข้าเหตุตามมาตรา 264 วรรคหนึ่ง หรือไม่ ย่อมต้องเป็นหน้าที่ของศาลยุติธรรม ซึ่งมีอำนาจปรับและตีความบทกฎหมายอันเป็นการทั่วไปในเบื้องต้นที่ไม่เกี่ยวกับการวินิจฉัยว่ากฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ กับกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง ดังนั้น เมื่อคำร้องของจำเลยล่วงเลยเวลาที่จะดำเนินการได้ตามมาตรา 264 วรรคหนึ่ง ศาลล่างจึงมีอำนาจโดยชอบที่จะมีคำสั่งไม่รับคำร้องดังกล่าวเพื่อส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไปได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 270/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การออกหมายค้นและการไต่สวนคำร้องคัดค้าน: ศาลมีอำนาจงดไต่สวนหากไม่เกิดประโยชน์ และไม่จำเป็นต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญหากไม่มีปัญหากับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางออกหมายค้นบ้านของผู้คัดค้าน เนื่องจากพนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอให้ออก โดยอ้างว่าบ้านดังกล่าวมีเครื่องมือแพทย์ที่มีเครื่องหมายการค้าของบริษัท ด. ปลอม ซุกซ่อนอยู่โดยผิดกฎหมาย ซึ่งขั้นตอนการขอออกหมายค้นดังกล่าวเป็นการกระทำเพื่อให้การค้นเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 238 ซึ่งเป็นบทบัญญัติกำหนดมาตราการเพื่อป้องกันมิให้เจ้าพนักงานทำการค้นโดยปราศจากเหตุอันสมควรตามกฎหมาย อันจะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคล เมื่อศาลออกหมายค้นและเจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจค้นเสร็จสิ้นแล้ว แต่ไม่พบของผิดกฎหมาย กระบวนการในการขอออกหมายค้น การออกหมายค้นรวมทั้งอำนาจในการปฏิบัติตามหมายค้นได้เสร็จสิ้นยุติไปแล้ว การที่ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนเพื่อทราบสาเหตุและหลักฐานอันเป็นที่มาในการขอออกหมายค้น ซึ่งศาลได้นัดไต่สวนคำร้องไว้นั้น จึงไม่เกิดประโยชน์แก่การป้องกันการตรวจค้นโดยปราศจากเหตุสมควรตามกฎหมายเพราะการตรวจค้นได้ยุติไปแล้ว ถ้าผู้คัดค้านติดใจสงสัยว่าเจ้าพนักงานตำรวจขอตรวจค้นโดยไม่มีหลักฐานและเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้คัดค้านตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ผู้คัดค้านสามารถเรียกร้องความยุติธรรมจากศาลได้โดยการฟ้องร้องว่ากล่าวเป็นอีกคดีหนึ่ง ซึ่งเป็นการดำเนินการเพื่อเยียวยาความเสียหายได้ ดังนั้น ศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ ย่อมมีอำนาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขคำสั่งเดิมเป็นให้งดไต่สวนได้ไม่ถือว่าเป็นการปฏิเสธความยุติธรรม
คำร้องของผู้คัดค้านที่ขอให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น ผู้คัดค้านโต้แย้งว่าศาลจะนำเอามาตรา 69 และมาตรา 94 ถึง 105 แห่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาใช้บังคับในการออกหมายค้นไม่ได้ เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 238 ทั้งที่รูปคดียังไม่มีปัญหาที่ศาลจะใช้บทบัญญัติมาตรา 69 และมาตรา 94 ถึง 105แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาบังคับแก่คดีแต่ประการใดจึงมิใช่กรณีที่ศาลจะต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 264

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9500/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลยุติธรรมวินิจฉัยคำโต้แย้งสิทธิเสรีภาพก่อนส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ - มาตรา 264 รธน.
คำโต้แย้งของโจทก์ที่กล่าวอ้างว่า คำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา นั้น เป็นคำสั่งที่ล่วงละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพในการดำเนินคดีของโจทก์ เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 26,27,28,233 และ 249 นั้น มิใช่เป็นคำโต้แย้งว่า ตัวบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดที่ศาลยุติธรรมจะใช้บังคับแก่คดีขัดต่อรัฐธรรมนูญตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ มาตรา 6 บัญญัติไว้คำร้องของโจทก์จึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯมาตรา 264 วรรคหนึ่ง แม้อำนาจในการสั่งรับหรือไม่รับคำโต้แย้งของคู่ความตามมาตรา 264 วรรคหนึ่ง ไว้พิจารณา จะเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 264 วรรคสอง แต่อำนาจในการวินิจฉัยว่า คำโต้แย้งของคู่ความเข้าหลักเกณฑ์ที่จะต้องส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยหรือไม่นั้นเป็นอำนาจของศาลยุติธรรมที่จะพิจารณาวินิจฉัยตามมาตรา 264 วรรคหนึ่ง มิใช่ว่าโจทก์มีคำโต้แย้งอย่างไรแล้ว ศาลยุติธรรมจะต้องส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยเสมอไป
of 3