คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ม. 18 (5)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6572/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในการได้รับค่าทดแทนการเวนคืน: เจ้าของที่ดิน vs ผู้เช่า/ผู้ครอบครอง - การถมดินและค่าขาดประโยชน์
โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืนซึ่งได้ให้ ค. เช่าที่ดินดังกล่าวใช้เป็นสถานที่แสดง ผลิต จำหน่าย ซ่อมบำรุง และตบแต่งรถยนต์ โดยจดทะเบียนการเช่ากันก่อนวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ 1 เดือนเศษ อายุการเช่ามีกำหนด 10 ปี เริ่มตั้งแต่หลังวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ ประมาณ 2 เดือน โดยข้อ 8 ของสัญญาเช่าที่ดินดังกล่าวระบุว่า "บรรดาสิ่งปลูกสร้างหรือทรัพย์สินใด ๆ ที่ผู้เช่าสร้างลงไปในที่ดินตามสัญญานี้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้เช่า แต่เมื่อสิ้นสุดสัญญาเช่าผู้เช่าจะต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่เช่าออกไปทั้งหมดหรือบางส่วนตามความประสงค์ของผู้ให้เช่าและปรับระดับของพื้นดินให้เรียบร้อยภายในกำหนดเวลา 1 เดือน นับแต่วันสิ้นสุดสัญญานี้เว้นแต่ผู้ให้เช่ามีความประสงค์จะให้ผู้เช่าที่ดินต่อไปหรือผู้ให้เช่ามีความประสงค์ให้สิ่งปลูกสร้างนั้นมีสภาพตามที่เป็นอยู่ก่อนสิ้นสุดสัญญา?" ค. ผู้เช่าเป็นผู้ถมดินในที่ดินดังกล่าวและเป็นผู้ออกเงินค่าใช้จ่ายในการถมดิน ดังนั้นก่อนสัญญาเช่าที่ดินจะสิ้นสุดลง ดินที่ถมดังกล่าวยังเป็นกรรมสิทธิ์ของ ค. อยู่ตามข้อ 8 ของสัญญาเช่าที่ดินและฝ่ายจำเลยกำหนดเงินค่าทดแทนค่าถมดินนี้ โดยถือว่าเป็นเงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างที่รื้อถอนได้ซึ่งมีอยู่ในที่ดินที่ต้องเวนคืนในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 18 (5) ค. ได้รับมอบสิทธิครอบครองที่ดินดังกล่าวจากโจทก์ในวันที่ทำสัญญาเช่าที่ดินซึ่งเป็นวันก่อนวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ และหลังจากวันใช้บังคับ พระราชกฤษฎีกาฯ ก็ยังคงเป็นเจ้าของที่ดินที่ถมนั้นอยู่ และมีสิทธิที่จะได้ใช้ประโยชน์จากการถมดินนั้น ย่อมเป็นผู้ได้รับผลกระทบและต้องเสียหายในส่วนนี้โดยตรงอันเนื่องจากการดำเนินการเวนคืนของฝ่ายจำเลย จึงเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนส่วนนี้ตามมาตรา 18 (5) โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายในส่วนนี้โดยตรงจึงไม่มีสิทธิที่จะได้รับเงิน ค่าทดแทนค่าถมดินในที่ดินของโจทก์
พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 วรรคท้าย มุ่งหมายให้จ่ายเงินค่าทดแทน ความเสียหายให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายที่อยู่อาศัยหรือประกอบการค้าขาย หรือประกอบการงานอันชอบด้วยกฎหมายอยู่ในอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืนเท่านั้น มิได้ประสงค์จะให้จ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่ เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่มิได้อยู่อาศัยหรือประกอบการค้าขายในอสังหาริมทรัพย์นั้นด้วย เมื่อโจทก์มิได้อยู่อาศัยและไม่ได้ประกอบการค้าขายในที่ดินที่ต้องเวนคืนเนื่องจากให้ ค. เช่าไปประกอบธุรกิจการค้าเป็นสถานที่แสดงรถยนต์ โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนค่าขาดประโยชน์ที่ได้จากการให้เช่าที่ดินที่ถูกเวนคืน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1055/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์: กำหนดเวลาอุทธรณ์ค่าทดแทนและการมีอำนาจฟ้องเรียกร้องค่าทดแทนการขนย้าย
ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์มีหนังสือถึงโจทก์เรื่องขอเชิญไปติดต่อขอรับเงินค่าทดแทนโดยการทำสัญญา แต่ส่งให้แก่โจทก์ไม่ได้ จำเลยจึงออกประกาศ เพื่อแจ้งความเรื่องขอเชิญไปติดต่อขอรับเงินค่าทดแทนโดยการทำสัญญา โดยวิธีปิดประกาศแจ้งความไว้ ณ ที่ซึ่งอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ที่ถูกเวนคืนตั้งอยู่ให้โจทก์ทราบ ตามมาตรา 13 วรรคสี่ และวรรคห้า แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ประกาศดังกล่าวจึงไม่ใช่หนังสือแจ้งจากเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ให้มารับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง แต่เป็นประกาศแจ้งความเกี่ยวกับหนังสือเรื่องขอเชิญไปติดต่อขอรับเงินค่าทดแทนอันเป็นหนังสือที่ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์แจ้งให้โจทก์มาทำสัญญาซื้อขายกันตามมาตรา 10 ส่วนกรณีของโจทก์คดีนี้ หนังสือที่ถือได้ว่าเป็นหนังสือจากเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่แจ้งให้โจทก์มารับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง คือ หนังสือแจ้งการวางเงินค่าทดแทนที่ฝ่ายจำเลยได้ปิดประกาศหนังสือแจ้งการวางเงินค่าทดแทน ณ ที่ซึ่งอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ที่ถูกเวนคืนตั้งอยู่ให้โจทก์ทราบเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2536 เมื่อโจทก์ยื่นอุทธรณ์เงินค่าทดแทนดังกล่าวต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยฉบับแรกวันที่ 15 พฤศจิกายน 2536 และฉบับที่สองวันที่ 6 ธันวาคม 2536 จึงเป็นการอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีฯ ภายในกำหนดเวลาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 25 วรรคหนึ่งแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้
แม้ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 18 (5) โจทก์มีสิทธิจะได้รับเงินค่าทดแทนการขนย้ายออกจากอสังหาริมทรัพย์ด้วยก็ตาม แต่โจทก์จะมีอำนาจฟ้องเรียกร้องเงินค่าทดแทนส่วนนี้ได้ โจทก์จะต้องดำเนินการอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่ตามหนังสืออุทธรณ์ของโจทก์ที่อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเพื่อขอเงินค่าทดแทนเกี่ยวกับการเวนคืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ในคดีนั้น ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้อุทธรณ์ขอเงินค่าทดแทนการขนย้ายทรัพย์สินออกจากอสังหาริมทรัพย์ เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์ขอเงินส่วนนี้ต่อรัฐมนตรีฯ ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 25 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกร้องเงินค่าทดแทนส่วนนี้