คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.อ. ม. 365

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 300 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3515/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การส่งคำร้องเพิ่มเติมหลังศาลอุทธรณ์พิพากษา และประเด็นความผิดฐานบุกรุกโดยใช้กำลัง
ตราบใดที่ศาลชั้นต้นยังไม่ได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ให้คู่ความฟัง ก็ต้องถือว่าคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 9 ศาลชั้นต้นจะต้องส่งคำร้องของจำเลยที่ขอแถลงข้อเท็จจริงเพิ่มเติมไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิจารณา การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่ส่งคำร้องดังกล่าวไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 9 เป็นการไม่ชอบ
คำร้องของจำเลยเป็นการร้องขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิจารณาพิพากษาแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ เพื่อเป็นเหตุเพิ่มเติมในการขอให้รอการลงโทษแก่จำเลย อันเป็นการเพิ่มเติมจากที่อุทธรณ์ไว้ มีลักษณะเป็นการขอแก้ไขเพิ่มเติมอุทธรณ์ซึ่งพ้นกำหนดระยะเวลาตามกฎหมายแล้ว จึงไม่อาจอนุญาตตามคำร้องขอได้ แต่ควรให้รับไว้เป็นคำแถลงการณ์ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 205
จำเลยบุกรุกเข้าไปในเคหสถานที่อยู่อาศัยของโจทก์ร่วม แล้วจึงใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายโจทก์ร่วม เป็นการบุกรุกโดยมีมูลเหตุชักจูงใจเพื่อจะเข้าไปใช้กำลังประทุษร้ายโจทก์ร่วมเท่านั้น เมื่อจำเลยไม่ได้ใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายโดยมีมูลเหตุชักจูงใจเพื่อที่จะบุกรุกเข้าไปในเคหสถานของโจทก์ร่วม การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกโดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ตาม ป.อ. มาตรา 365 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6006/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาระจำยอม-การบุกรุก: เจ้าของที่ดินมีสิทธิใช้ที่ดินตนเอง แม้กระทบประโยชน์ภาระจำยอม แต่ไม่ใช่การบุกรุก
ที่ดินอันตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์นั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 เพียงแต่ทางภาระจำยอมนี้ทำให้จำเลยที่ 1 ต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตนหรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์นั้นเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1387 โดยจำเลยที่ 1 ยังมีสิทธิในทางภาระจำยอมอันเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 เช่นเดิม เพียงแต่มาตรา 1390 ห้ามเจ้าของภารยทรัพย์ประกอบกรรมใด ๆ อันจะเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกเท่านั้น การใช้สิทธิเหนือที่ดินส่วนที่เป็นทางภาระจำยอมในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์จึงยังคงเป็นของจำเลยที่ 1 ต่อไป แม้หากจำเลยทั้งสองก่อสร้างกำแพงคอนกรีต โครงเหล็กเป็นโรงจอดรถยนต์และบันไดคอนกรีตอันจะเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวก ก็เป็นการกระทำลงบนที่ดินของจำเลยที่ 1 เอง หาใช่เป็นการเข้าไปกระทำในที่ดินของโจทก์ไม่ หากโจทก์ได้รับความเสียหายอย่างไรชอบที่จะไปว่ากล่าวกันในทางแพ่ง การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่มีมูลในความผิดฐานบุกรุก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2691-2692/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาจำกัดสิทธิการฎีกาในคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215, 309 เมื่อศาลอุทธรณ์แก้ไขบทความผิดแต่ลงโทษเท่าเดิม
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งแปดสิบห้าฐานร่วมกันทำให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ฐานร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นและฐานร่วมกันบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา 215, 309, 364 และ 365 และขอให้เรียงกระทงลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 91 ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษเฉพาะความผิดฐานร่วมกันบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา 365 (1) (2) (3) ประกอบมาตรา 364 และ 83 ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 29 ที่ 31 ถึงที่ 41 ที่ 43 ถึงที่ 46 ที่ 48 ถึงที่ 80 และที่ 82 คนละ 6 เดือน ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานร่วมกันทำให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง และฐานร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่น ตาม ป.อ. มาตรา 215 และ 309 แม้ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยดังกล่าวมีความผิดฐานร่วมกันทำให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง และฐานร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นอันเป็นการแก้ไขมากก็ตาม แต่ศาลอุทธรณ์ยังคงลงโทษจำคุกเพียง 6 เดือน ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น กรณีมิใช่เป็นการเพิ่มเติมโทษ จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8832/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบุกรุกเคหสถานเพื่อดูหมิ่น: ศาลลงโทษตาม ม.364 แม้ไม่ได้อ้างในฟ้อง หากบรรยายฟ้องชัดเจน
การที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 เข้าไปด่าโจทก์ในบริเวณบ้านของโจทก์ ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน หรือเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์โดยปกติสุข จึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 362 แต่การที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 เข้าไปในบริเวณบ้านอันเป็นเคหสถานของโจทก์เพื่อด่าโจทก์ด้วยถ้อยคำหยาบคาย เป็นการเข้าไปในเคหสถานของโจทก์โดยไม่มีเหตุอันสมควร จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 364 แม้โจทก์ไม่ได้อ้างมาตรา 364 แต่ได้บรรยายฟ้องเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3 มีข้อความอันเป็นความผิดตามมาตรา 364 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้เช่นนี้ศาลจึงมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 3 ตามมาตรา 364 และบทฉกรรจ์ ตามมาตรา 365 (2) ได้ ทั้งไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสี่ และมิใช่เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14822/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบุกรุกและการลักทรัพย์: สิทธิครอบครองที่ดินของบุคคลภายนอกผู้สุจริตที่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของรวม
ความผิดฐานร่วมกันบุกรุกนั้น แม้จะฟังได้ว่าจำเลยเป็นบุตรของ ญ. ผู้ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาท แต่โจทก์เป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตและได้รับความยินยอมจาก พ. ซึ่งเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทอีกคนหนึ่ง และเป็นหนึ่งในคณะบุคคลผู้ให้เช่าที่อนุญาตให้โจทก์เข้าใช้สอยทำประโยชน์จากที่ดินพิพาทได้ ย่อมถือว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทและมีอำนาจที่จะป้องกันหรือขัดขวางผู้เข้ารบกวนการครอบครองของโจทก์ได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยทราบว่าโจทก์เข้าใช้สอยที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2553 แต่จำเลยไม่ดำเนินการทางกฎหมายแก่โจทก์ในประการใด ต่อมาปี 2555 จำเลยนำเสาเหล็กไปปิดกั้นที่ดินพิพาทและเอาโซ่เหล็กไปคล้องเพื่อปิดกั้นทางเข้าออก จึงเป็นพฤติการณ์ที่บ่งชี้ว่า จำเลยมีเจตนาที่จะรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์โดยปกติสุข อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย การที่จำเลยกับพวกร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา 365 (2) ประกอบมาตรา 362, 83
สำหรับความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์นั้น แม้ขณะเกิดเหตุจะฟังได้ว่า พวกของจำเลยเป็นผู้ยกเอาเก้าอี้ของโจทก์ไปโดยความรู้เห็นของจำเลยก็ตาม แต่พวกของจำเลยนำเก้าอี้ไปตั้งวางไว้ที่บริเวณหลังร้านของโจทก์ในระยะห่างจากจุดเดิมเพียงไม่กี่เมตร โดยจำเลยต่อสู้ว่านำเก้าอี้ไปใช้นั่งพูดคุยกันซึ่งก็มีเหตุผลควรแก่การรับฟัง เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยสั่งการให้ขนเคลื่อนย้ายเก้าอี้ไปไว้ในบ้านจำเลยหรือนำเก้าอี้ไปทำประโยชน์อื่นใด ดังนั้นการที่จำเลยไม่ยอมคืนเก้าอี้ให้แก่โจทก์ในตอนแรกจึงเป็นเพียงพฤติการณ์ที่เกะกะระรานสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่โจทก์มากกว่าจะเป็นการเอาเก้าอี้ไปเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับจำเลยหรือพวกของจำเลย คดียังมีเหตุอันควรสงสัยรับฟังไม่ได้แน่ชัดว่า จำเลยกับพวกเอาเก้าอี้ของโจทก์ไปโดยทุจริตหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง จึงไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12091/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจับกุม ลักทรัพย์ และการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจ: การยกฟ้องคดีอาญา
ก่อนจับกุมโจทก์ทั้งสองได้มีการจับกุม ช. กับพวกในข้อหาลักทรัพย์ในเวลากลางคืน ช. ให้การว่าโจทก์ทั้งสองเป็นผู้ใช้จ้างวาน จึงมีการสอบสวน ขยายผลและจับกุมโจทก์ทั้งสองมาลงบันทึกประจำวันไว้ และตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีระบุว่า พันตำรวจเอก ส. ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลพระโขนง สั่งให้จำเลยทั้งสิบสามซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนปราบปรามนำตัว ช. ไปสอบสวนขยายผล โดยนัดโจทก์ที่ 2 มารับรถยนต์ที่หน้าห้างสรรพสินค้า ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนหากต้องไปขอหมายจับจากศาลชั้นต้นแล้วผู้ร่วมกระทำความผิดอาจหลบหนีไปได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 78 (3) ทั้งรถที่ถูกลักอยู่ที่บ้านของโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 2 เป็นผู้พาเจ้าพนักงานตำรวจไปทำการตรวจค้นเอง จึงไม่จำต้องขอหมายค้นจากศาลตาม ป.วิ.อ. มาตรา 92 (4) และมาตรา 94 การกระทำของจำเลยทั้งสิบสามเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจสั่งการโดยชอบ จึงไม่มีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตาม ป.อ. มาตรา 157
ฟ้องของโจทก์ทั้งสองมิได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องที่จำเลยทั้งสิบสามร่วมกันทำร้ายร่างกายโจทก์ทั้งสองขณะโจทก์ทั้งสองถูกควบคุมตัว ฟ้องของโจทก์ทั้งสองจึงมิได้บรรยายถึงการกระทำที่อ้างว่าจำเลยทั้งสิบสามกระทำความผิด เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
การที่จำเลยทั้งสิบสามจับกุมโจทก์ทั้งสองสืบเนื่องจากคำซัดทอดของ ช. กับพวก ต่อมามีการแจ้งข้อหาและทำหลักฐานการจับกุม การระบุวันที่จับกุมและบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนคลาดเคลื่อนไปบ้างเป็นเพียงรายละเอียด แต่สาระสำคัญมีความถูกต้องตามพฤติการณ์และข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และมีการนำสืบพยานหลักฐานในชั้นพิจารณาไปตามข้อเท็จจริงดังกล่าว ซึ่งจำเลยทั้งสิบสามอาจเชื่อว่าโจทก์ทั้งสองมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ จึงมิใช่เป็นพยานหลักฐานเท็จ การกระทำของจำเลยทั้งสิบสามจึงไม่มีมูลความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ทำพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ หรือนำสืบพยานหลักฐานอันเป็นเท็จตาม ป.อ. มาตรา 162, 172, 173, 174, 179 และ 180
โจทก์ที่ 2 พาเจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจค้นที่บ้านของโจทก์ที่ 2 โดยความยินยอมของโจทก์ที่ 2 เอง การกระทำของจำเลยทั้งสิบสามจึงไม่มีมูลเป็นความผิดฐานบุกรุกเคหสถานในเวลากลางคืนตาม ป.อ. มาตรา 365 (3) ประกอบมาตรา 362
ของกลางทั้งหมดเจ้าพนักงานตำรวจนำไปเป็นของกลางคดีอาญา ทั้งโจทก์ทั้งสองได้อ่านข้อความในบันทึกการจับกุมที่ระบุว่ามีการยึดเงินสด ธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท 20 ฉบับ รวมเป็นเงิน 20,000 บาท แล้วมิได้โต้แย้งว่าจำนวนเงินดังกล่าวไม่ถูกต้องตรงกับความเป็นจริงแต่อย่างใด เชื่อว่าเจ้าพนักงานตำรวจบันทึกข้อความในบันทึกการจับกุมโดยถูกต้องแล้ว การกระทำของจำเลยทั้งสิบสามจึงไม่มีมูลเป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 340

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10492/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับฟังพยานหลักฐานข้ามฟากระหว่างคดีแพ่งและอาญา ศาลอาญาต้องพิจารณาพยานหลักฐานด้วยตนเอง
ในคดีอาญาไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายให้ศาลที่พิจารณาคดีอาญาจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนแพ่ง เพราะในคดีแพ่งศาลจะชั่งน้ำหนักคำพยานว่าฝ่ายใดมีน้ำหนักน่าเชื่อถือยิ่งกว่ากัน แต่ในคดีอาญาศาลจะต้องใช้ดุลพินิจชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวงจนแน่ใจว่าพยานหลักฐานของโจทก์พอรับลงโทษจำเลยได้หรือไม่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 ดังนั้น คำพิพากษาในคดีของศาลแพ่งซึ่งโจทก์และจำเลยทั้งสองในคดีนี้เป็นคู่ความในคดีแพ่งดังกล่าว จึงเป็นเพียงพยานหลักฐานที่ศาลจะนำมาชั่งน้ำหนักประกอบกับพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ในคดีนี้ว่า จำเลยทั้งสองได้กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่เท่านั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 จะรับฟังข้อเท็จจริงในคดีแพ่งเพียงอย่างเดียวมาวินิจฉัยชี้ขาดว่า จำเลยทั้งสองปักเสาปูนและล้อมรั้วลวดหนามในที่ดินโจทก์ โดยมิได้วินิจฉัยพยานหลักฐานอื่นของโจทก์และจำเลยทั้งสองในคดีนี้หาได้ไม่ การรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 8 ในข้อเท็จจริงดังกล่าว จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย และถือเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 2 ที่ไม่ได้ฎีกาด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225 ให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4758/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานบุกรุก: การบุกรุกสำเร็จแล้วตั้งแต่แรก การต่อเติมไม่ใช่ความผิดต่อเนื่อง
ความผิดฐานบุกรุกสำเร็จแล้วตั้งแต่จำเลยทั้งสองเข้าไปปลูกเพิงขายอาหารชั่วคราวในที่ดินโจทก์ร่วมเมื่อปี 2547 การที่จำเลยทั้งสองครอบครองที่ดินโจทก์ร่วมต่อมาหลังจากนั้นด้วยการก่อสร้างต่อเติมอาคารคอนกรีตชั้นเดียวจนถึงช่วงเกิดเหตุตามฟ้องคือ ระหว่างเดือนสิงหาคม 2550 ถึงวันที่ 17 มิถุนายน 2554 เป็นเพียงผลของการบุกรุกเท่านั้น ไม่ใช่เป็นความผิดต่อเนื่องในอันที่จำเลยทั้งสองจะมีความผิดฐานบุกรุกขึ้นมาอีก การกระทำของจำเลยทั้งสองในช่วงเกิดเหตุตามฟ้องจึงไม่มีความผิดฐานบุกรุก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18803/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบุกรุกที่ดินหลังมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าที่ดินเป็นของโจทก์ จำเลยทราบดีว่าที่ดินเป็นของโจทก์จึงมีเจตนาบุกรุก
ศาลฎีกามีคำพิพากษาเมื่อปี 2547 โดยวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ย่อมมีผลผูกพันคู่ความรวมทั้งโจทก์ด้วย และเมื่อเป็นคำพิพากษาที่วินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทว่าเป็นของโจทก์ อันเป็นคุณแก่โจทก์จึงอาจใช้ยันจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นบุคคลภายนอกคดีดังกล่าวได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกนั้นจะพิสูจน์ได้ว่าตนมีสิทธิดีกว่าตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคสอง (2) ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 กับ จ. เป็นจำเลยต่อศาลแขวงอุบลราชธานี จึงมิใช่กรณียังไม่เป็นที่ยุติว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือไม่ ต่อมาเมื่อปี 2551 จำเลยที่ 1 กับ จ. ได้บุกรุกเข้าไปในที่ดินพิพาทของโจทก์จนศาลพิพากษาลงโทษและให้ออกไปจากที่ดินพิพาท จากนั้นปี 2552 จำเลยทั้งสองยังเข้าไปในที่ดินพิพาทอีกจนถูกโจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้ ถือว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนากระทำความผิดฐานบุกรุกที่ดินพิพาทแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16789/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบุกรุกเคหสถาน ทำร้ายร่างกาย และทำให้เสียทรัพย์ ศาลอุทธรณ์แก้ไขโทษจำคุกและยืนตามคำพิพากษาเดิมบางส่วน
จำเลยทั้งสี่นำสืบว่า จำเลยที่ 1 เรียกให้ผู้เสียหายกับพวกออกมาที่หน้าบ้านเกิดเหตุ และจำเลยที่ 1 ชกต่อยกับผู้เสียหายกับพวกที่บริเวณหน้าบ้าน จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เข้าห้ามปรามโดยจำเลยทั้งสี่ไม่ได้เข้าไปในบ้านเกิดเหตุ ฎีกาของจำเลยทั้งสี่ที่ว่า จำเลยที่ 1 เข้าไปในบ้านเกิดเหตุโดยขาดเจตนาในการกระทำความผิด จึงไม่มีความผิดฐานบุกรุก จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ก็ไม่มีความผิดฐานบุกรุกด้วยเพราะเป็นเหตุในลักษณะคดี จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ตามพฤติการณ์เชื่อว่าผู้เสียหายกับพวกครอบครองบ้านเกิดเหตุอยู่โดยอาศัยสิทธิของ จ. และขณะเกิดเหตุบ้านเกิดเหตุยังอยู่ในความครอบครองของผู้เสียหายกับพวก แม้จะรับฟังได้ตามที่จำเลยทั้งสี่นำสืบและฎีกาว่า จ. เคยฟ้องมารดาของจำเลยทั้งสามกับพวกเกี่ยวกับที่ดินที่ปลูกสร้างบ้านที่เกิดเหตุ และศาลมีคำพิพากษาว่าที่ดินดังกล่าวไม่ใช่ของ จ. ก็ตาม แต่ตามสำเนาคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 9 ปรากฏว่า จ. ซึ่งถูกมารดาของจำเลยทั้งสามฟ้องขับไล่ยังคงโต้แย้งสิทธิในที่ดินที่บ้านเกิดเหตุตั้งอยู่ และศาลอุทธรณ์ภาค 9 เพิ่งมีคำพิพากษาภายหลังเกิดเหตุคดีนี้ให้ยกอุทธรณ์ของ จ. ดังนี้ ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายกับพวกจึงยังมีสิทธิอยู่ในบ้านเกิดเหตุ และเมื่อฟังว่าผู้เสียหายเป็นเจ้าของทรัพย์ที่ถูกจำเลยทั้งสี่ร่วมกันทำให้เสียหาย ผู้เสียหายจึงเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานร่วมกันบุกรุกและฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ ย่อมมีสิทธิร้องทุกข์ในความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวได้
ฟ้องโจทก์บรรยายการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสี่กับพวกในข้อหาร่วมกันบุกรุกและข้อหาร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนมาในข้อเดียวกันคือ ข้อ ค. โดยโจทก์มิได้บรรยายฟ้องแยกแยะการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสี่กับพวกให้ปรากฏชัดแจ้งพอที่จะเห็นได้ว่าโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามฟ้องข้อ ค. ในแต่ละข้อหาเป็นแต่ละกรรมแยกต่างหากจากกัน เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยทั้งสี่ร่วมกันบุกรุกและร่วมกันทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสี่ในความผิดฐานร่วมกันบุกรุกและความผิดฐานร่วมกันทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายเป็นสองกรรมเกินจากที่ได้กล่าวในฟ้องหาได้ไม่ เพราะเป็นการขัดต่อ ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง
จำเลยทั้งสี่มีเจตนาร่วมกันบุกรุกเข้าไปในบ้านเกิดเหตุเพื่อถามหาน้องชายของผู้เสียหาย แต่เมื่อไม่พบจึงได้ร่วมกันทำลายทรัพย์ของผู้เสียหาย ซึ่งเป็นเจตนาแยกต่างหากจากเจตนาแรกที่บุกรุกเข้าไปถามหาน้องชายของผู้เสียหาย ความผิดฐานร่วมกันบุกรุกจึงเป็นความผิดต่างกรรมกับความผิดฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์
of 30