คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.อ. ม. 365

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 300 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 489/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองพื้นที่เช่าเพื่อประกอบการในสถานศึกษา ไม่ถือเป็นการรบกวนการครอบครองตามกฎหมายอาญา
โรงอาหารที่เกิดเหตุเป็นส่วนหนึ่งของอาคารสถาบันราชภัฎ น. โดยมีการปรับปรุงพื้นที่ชั้นล่างของอาคารเป็นห้องติดเครื่องปรับอากาศใช้เป็นสถานที่จำหน่ายอาหารให้แก่นักศึกษา อาจารย์และเจ้าหน้าที่ของสถาบัน ตามสัญญาเช่าสถานที่จำหน่ายอาหารที่โจทก์ทำกับสถาบันคงมีเพียงข้อสัญญาว่าสถาบันตกลงให้โจทก์เช่าโรงอาหารมีระยะเวลาที่กำหนด และกำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ที่โจทก์ต้องปฏิบัติในการเข้าประกอบการไว้ ส่วนลักษณะสภาพการใช้โรงอาหารในการจำหน่ายอาหารของโจทก์นั้นไม่ปรากฏจากข้อสัญญาชัดแจ้งว่ามีการส่งมอบโรงอาหารที่เช่าให้โจทก์ครอบครองอย่างเป็นสิทธิครอบครองของโจทก์ทีเดียว หรือเป็นแต่เพียงให้โจทก์มีสิทธิเข้าใช้ประโยชน์โรงอาหารเพื่อจำหน่ายอาหารเท่านั้น จากประกาศสถาบันราชภัฎ น. ซึ่งเป็นที่มาของการเข้าทำสัญญาเช่าของโจทก์ ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ออกประกาศให้ผู้สนใจเข้าประกอบการจำหน่ายอาหารภายในโรงอาหารของสถาบันยื่นแบบแจ้งความประสงค์ต่อสถาบัน โดยมีการกำหนดเงื่อนไขการประกอบการไว้ในประกาศข้อ 4 และ 5 ว่า การเข้าประกอบการจำหน่ายอาหารภายในโรงอาหารของสถาบันอยู่ในความควบคุมของงานกิจการนักศึกษา โดยเป็นไปเพื่อสวัสดิการนักศึกษา และผู้เข้าประกอบการต้องยินดีปฏิบัติตามเงื่อนไขของคณะกรรมการที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลกิจการโรงอาหารของสถาบัน โจทก์ได้ยื่นแบบแสดงความประสงค์เข้าประกอบการจำหน่ายอาหารต่อสถาบันตามประกาศดังกล่าว ย่อมถือได้ว่าโจทก์ได้รับทราบข้อความและยินยอมตกลงตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในประกาศนั้นด้วย การใช้โรงอาหารเป็นสถานที่จำหน่ายอาหารของโจทก์ตามสัญญาเช่าจึงตกอยู่ในความควบคุมดูแลของคณะกรรมการและเจ้าหน้าที่ของสถาบัน โรงอาหารที่โจทก์เช่าใช้พื้นที่ห้องชั้นล่างของอาคารในบริเวณสถาบันเป็นที่จำหน่ายอาหารจึงมีสภาพเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันอันเป็นสถานศึกษาของทางราชการที่เจ้าหน้าที่ของสถาบันอาจต้องเข้าไปตรวจตราในบางโอกาสเพื่อดูแลเกี่ยวกับความปลอดภัยและรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อย และหลังจากทำสัญญาเจ้าหน้าที่มอบลูกกุญแจโรงอาหารให้โจทก์ 1 ชุด และทางสถาบันเก็บไว้ 1 ชุด แสดงว่าโจทก์ทราบและยอมรับในการที่ทางสถาบันยังรักษาสิทธิที่จะให้เจ้าหน้าที่เข้าไปในโรงอาหารในเวลาหนึ่งเวลาใดได้อยู่เสมอ เห็นได้ว่าโจทก์และสถาบันมีเจตนาทำสัญญาเช่าโดยมีวัตถุประสงค์เพียงแต่ให้โจทก์ได้เข้าใช้ประโยชน์โรงอาหารของสถาบันในการจำหน่ายอาหารในพื้นที่ที่จัดไว้ในเวลาเปิดบริการตามระเบียบของสถาบันเท่านั้น หาได้มอบการครอบครองโรงอาหารให้เป็นสิทธิขาดแก่โจทก์ดังเช่นการเช่าอสังหาริมทรัพย์ตามธรรมดาไม่ การมอบลูกกุญแจโรงอาหารให้โจทก์ก็เพื่อให้ความสะดวกในการเข้าไปใช้พื้นที่โรงอาหารในการประกอบการของโจทก์เท่านั้น โดยสถาบันอนุญาตโจทก์รวมทั้งผู้เช่าช่วงพื้นที่จำหน่ายอาหารจากโจทก์สามารถเข้าไปใช้โรงอาหารที่เช่าเพื่อประกอบการจำหน่ายอาหารโดยใช้ลูกกุญแจที่มอบให้ไว้แก่โจทก์ เมื่อโรงอาหารที่เกิดเหตุยังอยู่ในความครอบครองของสถาบันราชภัฎ น. การสั่งการของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในการให้เข้าไปขนย้ายทรัพย์สินของโจทก์ในโรงอาหารที่เกิดเหตุ จึงไม่เป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์โดยปกติสุข อันจะเป็นความผิดฐานบุกรุก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 489/2551 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเช่าโรงอาหารสถาบันราชภัฏ การครอบครองทรัพย์สิน และความผิดฐานบุกรุก
โจทก์เป็นผู้เช่าโรงอาหารที่เกิดเหตุประกอบการจำหน่ายอาหารภายในสถาบันราชภัฎ น. ระหว่างที่อยู่ในเวลาเช่าดังกล่าว จำเลยที่ 1 ในฐานะอธิการบดีสถาบันราชภัฎ น. ได้บอกเลิกสัญญาเช่าต่อโจทก์เนื่องจากโจทก์ผิดนัดชำระค่าเช่า แต่โจทก์ไม่ยอมขนย้ายทรัพย์สินออกจากโรงอาหารโดยอ้างว่าไม่ได้ผิดสัญญา และต่อมาจำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้อำนวยการสำนักงานอธิการบดีขนย้ายทรัพย์สินของโจทก์ออกจากโรงอาหาร จำเลยที่ 2 สั่งการต่อให้จำเลยที่ 3 ดำเนินการตามคำสั่งดังกล่าว จำเลยที่ 3 จึงมีคำสั่งให้จำเลยที่ 4 ถึงที่ 7 กับพวกไปขนย้ายทรัพย์สินของโจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 4 ถึงที่ 7 กับพวกได้ร่วมกันเข้าไปในโรงอาหารที่เกิดเหตุและขนย้ายทรัพย์สินของโจทก์ออกจากโรงอาหารไปเก็บไว้ตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 โรงอาหารที่เกิดเหตุเป็นส่วนหนึ่งของอาคารสถาบันราชภัฏ น. ไม่ปรากฏจากข้อสัญญาชัดแจ้งว่ามีการส่งมอบโรงอาหารที่เช่าให้โจทก์ครอบครองอย่างเป็นสิทธิครอบครองของโจทก์ทีเดียว เมื่อพิจารณาจากพฤติการณ์เห็นได้ว่าโจทก์และสถาบันมีเจตนาทำสัญญาเช่าโดยมีวัตถุประสงค์เพียงแต่ให้โจทก์ได้เข้าใช้ประโยชน์โรงอาหารของสถาบันในการจำหน่ายอาหารในพื้นที่ที่ได้จัดไว้ในเวลาเปิดบริการตามระเบียบของสถาบันเท่านั้น หาได้มอบการครอบครองโรงอาหารให้เป็นสิทธิขาดแก่โจทก์ดังเช่นการเช่าอสังหาริมทรัพย์ตามธรรมดาไม่ การมอบลูกกุญแจโรงอาหารให้โจทก์ก็เพื่อให้ความสะดวกในการเข้าไปใช้พื้นที่โรงอาหารในการประกอบการของโจทก์เท่านั้น โดยสถาบันอนุญาตโจทก์รวมทั้งผู้เช่าช่วงพื้นที่จำหน่ายอาหารจากโจทก์สามารถเข้าไปใช้โรงอาหารที่เช่าเพื่อประกอบการจำหน่ายอาหารโดยใช้ลูกกุญแจที่มอบไว้แก่โจทก์ เมื่อโรงอาหารที่เกิดเหตุยังในความครอบครองของสถาบันราชภัฎ น. การสั่งการของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในการให้เข้าไปขนย้ายทรัพย์สินของโจทก์ในโรงอาหารที่เกิดเหตุ จึงไม่เป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์โดยปกติสุขอันจะเป็นความผิดฐานบุกรุก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 681/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลสั่งรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินราชพัสดุ แม้ลงโทษอาญาแล้ว
การกระทำของจำเลยนอกจากจะเป็นความผิดฐานร่วมกันบุกรุกที่ดินราชพัสดุตาม ป.อ. มาตรา 365 (2) แล้ว ยังเป็นความผิดฐานเข้าไปยึดถือ ครอบครอง ก่นสร้างและทำด้วยประการใดให้เป็นการทำลายหรือทำให้เสื่อมสภาพที่ดินของรัฐ อันเป็นความผิดตาม ป.ที่ดิน มาตรา 9 (1) (2), 108 ทวิ วรรคหนึ่ง ด้วย ซึ่งตาม ป.ที่ดิน มาตรา 108 ทวิ วรรคสี่ บัญญัติให้ศาลมีอำนาจสั่งในคำพิพากษาให้ผู้กระทำความผิด คนงาน ผู้รับจ้างและบริวารของผู้กระทำความผิดออกจากที่ดินนั้นได้ อันมิใช่โทษตาม ป.อ. มาตรา 18 แต่เป็นมาตรการที่มุ่งประสงค์ให้รัฐสามารถเข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินได้โดยไม่จำต้องฟ้องขับไล่จำเลยเป็นคดีแพ่งอีกต่างหาก ดังนั้น แม้ศาลจะลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 365 (2) ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดเพียงบทเดียวตาม ป.อ. มาตรา 90 แต่เมื่อเป็นความผิดตาม ป.ที่ดิน มาตรา 108 ทวิ วรรคหนึ่ง ด้วย ศาลก็มีอำนาจสั่งให้จำเลยและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและออกไปจากที่ดินของรัฐได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6550/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ แม้ผู้เสียหายถอนฟ้องความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ แต่ความผิดฐานบุกรุกยังคงมีผลบังคับใช้
แม้ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์จะเป็นความผิดต่อส่วนตัว เมื่อผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) แต่การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 365 (1) (2) (3) ประกอบมาตรา 364 ด้วย อันเป็นการกระทำผิดกรรมเดียวแต่ผิดต่อกฎหมายหลายบท ศาลล่างลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดและความผิดฐานดังกล่าวไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัว แม้ผู้เสียหายจะถอนคำร้องทุกข์ก็ไม่ทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 365 (1) (2) (3) ประกอบมาตรา 364 ระงับไป คงระงับไปเฉพาะความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามมาตรา 358 เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1989/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การระงับคดีอาญาจากคำร้องถอนฟ้อง และการกำหนดโทษความผิดกรรมเดียวที่ยังเหลืออยู่
ในระหว่างฎีกา ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์ในความผิดข้อหากระทำชำเราตาม ป.อ. มาตรา 276 วรรคแรก อันเป็นความผิดอันยอมความกันได้ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจึงระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) ส่วนข้อหาบุกรุกตามมาตรา 365 (1) (2) (3) ประกอบมาตรา 364 ซึ่งมิใช่ความผิดอันยอมความกันได้นั้น ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยังมิได้กำหนดโทษแก่จำเลย เนื่องจากเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทกับข้อหาข่มขืนกระทำชำเรา จึงกำหนดโทษเฉพาะข้อหากระทำชำเราซึ่งเป็นบทกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดเท่านั้น และอัตราโทษตามมาตรา 365 นั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนในส่วนการกระทำความผิดตามศาลชั้นต้น แม้จะยังไม่ได้กำหนดโทษแก่จำเลย แต่ก็เห็นได้ชัดว่า ไม่อาจกำหนดโทษเกินกว่าอัตราโทษตามมาตรา 365 ได้ ซึ่งคดีอาจจะต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคแรก จึงต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นกำหนดโทษในข้อหาบุกรุกแก่จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1750/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบรรยายฟ้องอ้างบทมาตราผิด ศาลฎีกามีอำนาจปรับบทลงโทษตามมาตราที่ถูกต้องได้
โจทก์บรรยายฟ้องว่า วันเกิดเหตุเวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยบุกรุกเข้าไปในบ้านที่อยู่อาศัยอันเป็นเคหสถานของผู้เสียหายอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 365 (3) แต่ในคำขอท้ายฟ้องกลับของให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 365 (1) อันเป็นบทลงโทษผู้กระทำความผิดฐานบุกรุกโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ปรับบทลงโทษจำเลยตามบทบัญญัติที่โจทก์ขอ จึงไม่ถูกต้อง และกรณีเป็นเรื่องโจทก์อ้างบทมาตราผิด ศาลฎีกามีอำนาจลงโทษจำเลยตามบทบัญญัติมาตราที่ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคห้า ประกอบมาตรา 215 และ 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6383/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเข้าไปในโรงแรมเพื่อติดต่อธุระกับสามีโดยมีเหตุอันสมควร ไม่ถือเป็นการบุกรุก
จำเลยเข้าไปตามสามีในโรงแรมของโจทก์ร่วมตามที่สามีนัดแนะไว้เพื่อบอกถึงธุระเกี่ยวกับที่ดินที่จะต้องไปดำเนินการในวันรุ่งขึ้น นับว่าเป็นการเข้าไปโดยมีเหตุอันสมควร แม้จำเลยจะมีมีดติดตัวไปด้วยก็ไม่ทำให้การเข้าไปนั้นกลับกลายเป็นว่าไม่มีเหตุอันสมควร ส่วนที่จำเลยยังไปเคาะประตูห้องพักภายหลังจากที่โจทก์ร่วมไม่ยอมมอบกุญแจห้องพักดังกล่าวให้จำเลย ก็อาจเป็นเพราะจำเลยไม่พอใจจากการที่มีเหตุโต้เถียงกับโจทก์ร่วมก่อนหน้านั้นก็เป็นได้ พฤติการณ์ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์โดยปกติสุขของโจทก์ร่วม จำเลยไม่มีความผิดฐานบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา 365 (2) (3) ประกอบมาตรา 362

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1904/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานบุกรุกเคหสถาน-กระทำอนาจาร: การกระทำต่อเนื่องเป็นกรรมเดียว
ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนผู้เสียหายไม่ได้กล่าวหาและเจ้าพนักงานตำรวจก็มิได้ตั้งข้อหาแก่จำเลยทั้งสองว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 มีและพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต โดยพนักงานสอบสวนเพิ่งมาแจ้งข้อหานี้หลังจากเกิดเหตุแล้วหลายเดือน แต่ไม่ได้สอบปากคำผู้เสียหายหรือตรวจยึดได้อาวุธปืนของกลางแต่อย่างใดคงมีเพียงกระสุนปืนที่ผู้เสียหายนำมามอบให้หลังเกิดเหตุแล้วหลายวัน ซึ่งตามบัญชีของกลางกลับระบุว่ากระสุนปืนดังกล่าวจำเลยที่ 2 นำมามอบให้ผู้เสียหายในวันเกิดเหตุอันแตกต่างจากที่ผู้เสียหายเบิกความไว้ ทำให้น่าสงสัยว่าจำเลยทั้งสองมีและพาอาวุธปืนมายังที่เกิดเหตุจริงหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยที่ 1 ที่ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง และเมื่อเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี แม้จำเลยที่ 2 มิได้ฎีกา ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 ที่มิได้ฎีกาด้วยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213ประกอบด้วยมาตรา 225
จำเลยที่ 1 นำบันไดเหล็กแบบพับขาไปกางตั้งวางริมหน้าต่างชั้นบนบ้านผู้เสียหายและปีนไปเรียกผู้เสียหาย เมื่อผู้เสียหายเปิดประตูออกมา จำเลยที่ 1 กอดอุ้มผู้เสียหายและกระทำอนาจารปลุกปล้ำผู้เสียหายที่บริเวณสนามหญ้าข้างหน้าบ้านพักผู้เสียหาย แม้สนามหญ้าดังกล่าวกับบ้านพักไม่มีรั้วล้อมรอบ และไม่มีเครื่องหมายแสดงให้ทราบว่าเป็นแนวเขตของบ้านพักก็ตาม แต่ก็เห็นได้ว่าบริเวณดังกล่าวอยู่ข้างหน้าบ้านพักซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของผู้เสียหาย ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เข้าไปในเคหสถานของผู้เสียหายในเวลากลางคืนอันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายโดยปกติสุข และกระทำอนาจารโดยใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายอันเป็นการกระทำต่อเนื่องไม่ขาดตอนกัน จึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานกระทำอนาจารโดยใช้กำลังประทุษร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 278 ซึ่งเป็นบทหนักที่สุด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 486/2546 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประกอบกิจการโรงงานต้องได้รับอนุญาตและแจ้งก่อนเริ่มดำเนินการ การรื้อถอนเพื่อระงับเหตุไม่ถือเป็นทำให้เสียทรัพย์
การตั้งโรงงานหรือประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 3 ผู้ประกอบกิจการโรงงานจะต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาตและต้องได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาตเสียก่อน เมื่อได้รับใบอนุญาตดังกล่าวแล้ว หากประสงค์จะเริ่มประกอบกิจการต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบอีกครั้งหนึ่งตาม พ.ร.บ. โรงงาน ฯ มาตรา 12 และ 13 ดังนั้น โจทก์ทั้งสองจะถือเอาวันที่หัวหน้าฝ่ายโรงงานสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานให้ เป็นวันเริ่มประกอบกิจการโรงงานโดยชอบด้วยกฎหมายหาได้ไม่
แม้จะมีคำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรมแต่งตั้งจำเลยที่ 1 ซึ่งดำรงตำแหน่งนายอำเภอให้มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติการตาม พ.ร.บ. โรงงาน ฯ แต่ก็เป็นอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบโรงงานหรือเครื่องจักรเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายเท่านั้น จำเลยที่ 1 ไม่มีหน้าที่ต้องสอบถามไปยังสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดว่าโรงงานของโจทก์ทั้งสองได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการโรงงานแล้วหรือไม่ แต่เป็นหน้าที่ของโจทก์ทั้งสองในฐานะผู้ประกอบกิจการโรงงานที่จะต้องแสดงหลักฐานต่อจำเลยที่ 1 ให้ปรากฏชัดว่าได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานแล้วตาม พ.ร.บ. โรงงาน ฯ มาตรา 23
เมื่อจำเลยที่ 1 ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ. โรงงาน ฯ และจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาจำเลยที่ 1 เข้าไปตรวจสภาพโรงงานและยึดเครื่องจักรอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการโรงงานโดยมีเจตนาเพียงระงับเหตุร้ายและความวุ่นวายของผู้ชุมนุมประท้วงมิให้ลุกลามไป แม้จำเลยทั้งสามจะได้สั่งให้รื้อถอนเครื่องจักรกับอุปกรณ์ในที่เกิดเหตุและทำให้อุปกรณ์เสียหาย ก็ด้วยประสงค์จะระงับการประกอบกิจการและยึดเครื่องจักรกับอุปกรณ์ซึ่งติดตั้งที่พื้นดินซึ่งต้องรื้อถอนไปตามอำนาจหน้าที่ การรื้อสิ่งของที่ติดอยู่กับพื้นดินย่อมทำให้เกิดความชำรุดเสียหายบ้าง ก็เป็นผลธรรมดาของการรื้อถอนที่ต้องเกิดขึ้น สภาพความชำรุดเสียหายมิใช่เกิดขึ้นเพราะกระทำโดยเจตนาให้เสียทรัพย์ การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงไม่เป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4066/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาชี้ผู้เสียหายให้การสอดคล้อง เชื่อได้จำเลยกระทำผิดฐานกระทำอนาจาร บุกรุกเคหสถาน และชิงทรัพย์
จำเลยเปลือยกายถือมีดเข้าไปหาผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งนอนอยู่บนเตียงในห้องนอนในเวลากลางคืน ผู้เสียหายที่ 1 รู้สึกตัวลืมตาขึ้นมาแล้วร้องสุดเสียงจำเลยจึงชกปากและเอามือซ้ายยัดเข้าไปในปากผู้เสียหายที่ 1 ระหว่างนั้นผู้เสียหายที่ 1 ถูกมีดของจำเลยบาดที่ข้อมือซ้าย ถือว่าจำเลยกระทำการอันไม่สมควรทางเพศแก่ผู้เสียหายที่ 1 โดยขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายและได้ใช้กำลังประทุษร้ายแล้ว จึงเป็นความผิดฐานกระทำอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 278 และเป็นการบุกรุกเข้าไปในเคหสถานของผู้อื่นโดยไม่มีเหตุอันควรในเวลากลางคืน โดยมีอาวุธและใช้กำลังประทุษร้ายอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365(1)(2) และ (3) ประกอบมาตรา 364 ซึ่งเป็นกรรมเดียวกัน หลังจากนั้นเมื่อผู้เสียหายที่ 3 ซึ่งเป็นมารดาผู้เสียหายที่ 1 เข้ามาที่ห้องนอนก็ถูกจำเลยทำร้าย และจำเลยหยิบเอากระเป๋าที่มีปืนของผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นบิดาของผู้เสียหายที่ 1 ที่ผู้เสียหายที่ 3 นำมาและตกอยู่ที่พื้นไปด้วย โดยก่อนที่จะหลบหนีจำเลยวิ่งชนผู้เสียหายที่ 3 แล้วใช้มีดฟันจนผู้เสียหายที่ 3 ได้รับบาดเจ็บ การกระทำของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นการลักอาวุธปืนของผู้เสียหายที่ 2 ไปโดยทุจริต โดยใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อสะดวกในการพาทรัพย์นั้นไปหรือเพื่อให้พ้นจากการจับกุม และเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กาย เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสาม อีกกรรมหนึ่ง
of 30