คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.อ. ม. 267

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 167 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1572/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลงลายมือชื่อแทนกันโดยไม่ชอบ และความเสียหายจากการปลอมเอกสาร
การที่จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อ ล. ไม่มีกฎหมายให้อำนาจลงลายมือชื่อแทนกันได้ แม้ ล.จะอนุญาตหรือให้ความยินยอม และเจ้าหน้าที่ผู้จัดทำบันทึกแนะนำให้จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อ ล. ก็ลงลายมือชื่อแทนกันไม่ได้ การที่จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อ ล. ในเอกสารหมาย จ. 2 ถึง จ. 4 จึงเป็นการลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร แต่ในความผิดฐานแจ้งความเท็จและความผิดฐานปลอมเอกสารนี้จะต้องได้ความด้วยว่าอยู่ในลักษณะที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนหรือไม่ เมื่อได้ความจากโจทก์ร่วมว่าโจทก์ร่วมลงลายมือชื่อโอนลอยในคำร้องโอนสิทธิการเช่าสัญญาเช่าอาคารดังกล่าวโดยไม่ได้สนใจว่าใครจะนำเอกสารดังกล่าวไปกรอกข้อความอย่างไร แสดงให้เห็นว่า โจทก์ร่วมพอใจในราคาค่าตอบแทนการโอนสิทธิการเช่าเสียมากกว่า หาใช่มีข้อตกลงโอนสิทธิการเช่าอาคารพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 โดยเจาะจงแต่อย่างใดไม่ สอดคล้องกับที่ ส. เจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลสตึก พยานโจทก์และโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้จัดทำเอกสารเกี่ยวกับคำร้องโอนสิทธิการเช่าเบิกความว่า โจทก์ร่วมประสงค์จะโอนสิทธิการเช่าอาคารพิพาทให้แก่ ล. ทั้งใบเสร็จรับเงินค่าคำร้องโอนสิทธิการเช่าอาคารตามเอกสารหมาย จ. 5 ก็ระบุว่าได้รับเงินจาก ล. จากพฤติการณ์ดังกล่าวโจทก์ร่วมและเทศบาลตำบลสตึกไม่อยู่ในฐานะที่จะอ้างว่าได้รับความเสียหาย จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานแจ้งความเท็จและฐานปลอมเอกสารตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7223/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้อง, ความผิดฐานแจ้งความเท็จ, ยักยอกทรัพย์, ทำให้เสียทรัพย์, และการพิพากษาลงโทษกรรมเดียว
การที่จำเลยที่ 1 แจ้งความแก่เจ้าพนักงานตำรวจว่า โฉนดที่ดินที่ตนเองมีกรรมสิทธิ์ร่วมกับโจทก์ได้สูญหายไป แล้วนำสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการขอออกใบแทนโฉนดที่ดิน ทำให้เจ้าพนักงานที่ดินหลงเชื่อออกใบแทนโฉนดที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 นั้น แม้ข้อความที่จำเลยที่ 1 แจ้งจะเป็นความเท็จ เพราะความจริงโฉนดที่ดินอยู่ที่โจทก์ ก็เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 กระทำต่อเจ้าพนักงาน มิได้กล่าวพาดพิงไปถึงโจทก์ อันจะถือว่าโจทก์ได้รับความเสียหายโดยตรง สิทธิของโจทก์หากจะพึงมีพึงเป็นอย่างไรในที่ดินแปลงนั้นในฐานะหุ้นส่วนกับจำเลยที่ 1 ก็คงมีอยู่ตามเดิมมิได้ถูกกระทบกระเทือนเนื่องจากการกระทำของจำเลยที่ 1 เพราะโจทก์ยังคงมีสิทธิเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินในฐานะหุ้นส่วนและมีสิทธิว่ากล่าวแก่จำเลยที่ 1 ในฐานะหุ้นส่วนได้เช่นเดิม โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานแจ้งความเท็จและแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ
จำเลยที่ 1 ฎีกาโดยยกคำฟ้องของโจทก์ขึ้นกล่าวเพียงว่า โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นหุ้นส่วนกับจำเลยที่ 1 ร่วมกันซื้อที่ดินพิพาท หลังจากนั้นก็กล่าวอ้างถึง ป.พ.พ. มาตรา 1012 และ มาตรา 1363 และทางนำสืบของโจทก์เท่านั้น โดยมิได้ฎีกาคัดค้านว่า ฟ้องโจทก์ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 อย่างไรฎีกาของจำเลยที่ 1 จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 216 วรรคหนึ่ง
ฟ้องโจทก์บรรยายการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์และฐานร่วมกันยักยอกรวมกันมาในข้อเดียวกันคือ ข้อ ค. โดยมิได้บรรยายฟ้องแยกแยะการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ให้ปรากฏชัดแจ้งพอที่จะเห็นได้ว่าโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตามฟ้องข้อ ค. ในแต่ละข้อหาเป็นแต่ละกรรมแยกต่างหากจากกัน ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์และฐานยักยอกเป็นสองกรรมเกินจากที่กล่าวในฟ้องหาได้ไม่ ขัดต่อ ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ที่ศาลล่างพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 เป็นสองกรรมจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22039/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแจ้งย้ายชื่อบุคคลเข้าทะเบียนบ้านหลายกรรมต่างกัน แม้ลักษณะเดียวกัน แต่เข้าบ้านต่างฉบับ ถือเป็นกรรมต่างกัน
แม้จำเลยจะกระทำความผิดในลักษณะเดียวกันโดยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จย้ายชื่อบุคคลทั้งแปดเข้าไปมีชื่อในทะเบียนบ้านของผู้อื่น และแจ้งย้ายชื่อ พ. และ น. วันเดียวกัน แจ้งย้ายชื่อ ก. ต. ย. และ ม. กับ ส. วันเดียวกัน กับแจ้งย้ายชื่อ ธ. อีกวันก็ตาม แต่จำเลยก็แจ้งย้ายชื่อบุคคลต่างรายกันและเข้าไปในทะเบียนบ้านคนละฉบับกัน จำเลยจึงมีเจตนากระทำความผิดแยกต่างหากจากกันตามจำนวนครั้งที่จำเลยแจ้งย้ายบุคคลเข้าไปมีชื่อในทะเบียนบ้านของผู้อื่นแต่ละฉบับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12019/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ แจ้งความเท็จเกี่ยวกับสมุดคู่มือรถยนต์เพื่อขายรถ ศาลลงโทษเฉพาะผู้แจ้งเท็จ
การกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 267 ผู้กระทำต้องแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐาน ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันทุจริตแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อพนักงานสอบสวนว่า สมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์พิพาทซึ่งอยู่กับโจทก์ได้สูญหายไป ทำให้พนักงานสอบสวนรับแจ้งความและออกหลักฐานการแจ้งความให้แก่จำเลยทั้งสอง แล้วจำเลยทั้งสองนำไปแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงานขนส่งเพื่อให้ออกสมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์พิพาทเล่มใหม่ให้แก่จำเลยทั้งสองนั้น เห็นได้ว่าโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสองแจ้งให้เจ้าพนักงานของสำนักงานขนส่งจดข้อความอันเป็นเท็จใดลงในเอกสารราชการใดซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐานอย่างไร ข้อเท็จจริงที่โจทก์บรรยายฟ้องคงมีเพียงว่าจำเลยทั้งสองนำหลักฐานการแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่าสมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์พิพาทหายไป เอามาแสดงเพื่อขอให้เจ้าพนักงานของสำนักงานขนส่งออกสมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์เล่มใหม่ให้แทนเล่มที่หายไป เช่นนี้ สมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์เล่มใหม่ที่นายทะเบียนออกให้นั้น ก็ย่อมต้องมีข้อความตามความเป็นจริงเหมือนกับเล่มเดิมที่มีการอ้างว่าหาย ไม่มีข้อความเท็จใด ๆ อยู่ในสมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์เล่มใหม่เลย การกระทำของจำเลยทั้งสองตามที่โจทก์บรรยายฟ้องมาจึงไม่อาจเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 267 และมาตรา 268 แต่เนื้อหาของข้อเท็จจริงที่โจทก์บรรยายฟ้องพอที่จะรับฟังได้ว่าโจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองแจ้งข้อความเท็จต่อพนักงานสอบสวนตาม ป.อ. มาตรา 137 ซึ่งหากข้อเท็จจริงปรากฏตามที่โจทก์บรรยายฟ้องต่อไปว่า เมื่อแจ้งความเท็จต่อพนักงานสอบสวนแล้ว จำเลยทั้งสองนำหลักฐานการแจ้งความไปขอออกสมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์เล่มใหม่ แล้วจำเลยที่ 1 ใช้สมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการโอนขายรถยนต์พิพาทให้แก่บุคคลภายนอก เช่นนี้ โจทก์ย่อมเป็นผู้เสียหายเป็นพิเศษในการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 137 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 2/2555)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11765/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานแจ้งความเท็จและใช้เอกสารเท็จเพื่อขอใบแทนโฉนด ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าเป็นกรรมเดียว
จำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรธัญบุรีว่า ได้ทำโฉนดที่ดินเลขที่ 14120 เล่มที่ 142 หน้า 20 ตำบลคำใหญ่ อำเภอห้วยเม็ก จังหวัดกาฬสินธุ์ ของจำเลยสูญหายไป และแจ้งให้พนักงานสอบสวนจดข้อความอันเป็นเท็จลงในบันทึกรายงานประจำวันรับแจ้งเอกสารหายนั้น เพียงเพื่อนำบันทึกรายงานประจำวันรับแจ้งเอกสารหายดังกล่าวไปใช้และอ้างแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดกาฬสินธุ์ สาขาหนองกุงศรี ในการขอรับใบแทนโฉนดที่ดินเท่านั้น การกระทำของจำเลยแม้จะเป็นการกระทำคนละวันและต่อเจ้าพนักงานคนละหน่วยงานกันแต่ก็เป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียวกันคือ เพื่อขอรับใบแทนโฉนดที่ดิน การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นฎีกา แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8815/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้เอกสารอันเกิดจากการแจ้งความเท็จ และการลงโทษซ้ำซ้อนในความผิดอาญา
เอกสารอันเกิดจากการแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จ คือ รายงานประจำวันรับแจ้งเอกสารหาย มิใช่หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ซึ่งเป็นเอกสารที่เป็นผลมาจากการแจ้งดังกล่าว ดังนั้น การที่จำเลยใช้หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) แสดงต่อธนาคาร พ. สาขาบ้านไร่ จึงไม่ใช่การใช้เอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดตามมาตรา 267

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2602/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดหลายกรรมต่างกันจากการลงลายมือชื่อรับรองคนต่างด้าว และการปรับบทมาตรา 86
การที่จำเลยลงลายมือชื่อรับรองคนต่างด้าว 7 คน แม้จะเป็นการรับรองในวันเดียวกัน พร้อมๆ กัน และมีเจตนาที่จะให้ทางราชการออกบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่คนต่างด้าว 7 คน ในเวลาเดียวกัน แต่จำเลยได้กระทำให้แก่คนต่างด้าวแต่ละคน ย่อมเป็นความผิดสำเร็จในตัวของแต่ละคนและอาศัยเจตนาแตกต่างแยกจากกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ตาม ป.อ. มาตรา 91
ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นได้มี พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2542 มาตรา 8 ยกเลิกความในมาตรา 13 และมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน แต่กฎหมายเดิมเป็นคุณมากกว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่ จึงต้องใช้กฎหมายขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย นอกจากนี้โจทก์ยังฟ้องว่า จำเลยสนับสนุนในการที่คนต่างด้าวกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 ซึ่งเป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 86 ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (1) และไม่ปรับบทตาม ป.อ. มาตรา 86 มาด้วย จึงไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 137, 264, 267, 268, 83 โดยมิได้ระบุวรรคมาด้วยก็ไม่ถูกต้องศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13725/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเข้าร่วมเป็นโจทก์ของผู้เสียหาย และการพิจารณาคดีอาญาที่ศาลชั้นต้นงดสืบพยานโดยไม่ชอบ
โจทก์ฟ้องบรรยายโดยสรุปได้ความว่า จำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่พนักงานสอบสวนว่า จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและสัญญาว่าจ้างก่อสร้างอาคารกับบริษัทผู้เสียหาย การก่อสร้างอาคารยังไม่แล้วเสร็จและอาคารดังกล่าวมีชื่อจำเลยเป็นเจ้าของบ้านจึงแจ้งความร้องทุกข์ไว้เป็นหลักฐาน ซึ่งข้อความดังกล่าวเป็นความเท็จ ความจริงแล้วบริษัทผู้เสียหายก่อสร้างอาคารเสร็จแล้วแต่จำเลยกลับไม่ยอมชำระราคากับรับมอบที่ดินและอาคารจากบริษัทผู้เสียหาย เป็นเหตุให้พนักงานสอบสวนหลงเชื่อจดข้อความอันเป็นเท็จตามที่จำเลยแจ้งลงในบันทึกรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติอันเป็นเอกสารราชการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐานโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย และต่อมาจำเลยใช้อ้างเอกสารราชการดังกล่าวต่อประธานศาลปกครองสูงสุดโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย คำบรรยายฟ้องดังกล่าวนั้นได้อ้างถึงข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยที่อ้างว่าเป็นความผิด ทั้งบุคคลและเอกสารที่เกี่ยวข้องแล้วด้วย อันครบถ้วนตามองค์ประกอบของความผิดตาม ป.อ. มาตรา 137, 267 และ 268 โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้บรรยายโดยแจ้งชัดว่าการกระทำผิดของจำเลยเป็นการกระทำที่พาดพิงและเจาะจงว่ากล่าวถึงผู้เสียหายอันเป็นเหตุให้สิทธิของผู้เสียหายถูกกระทบกระเทือน ผู้เสียหายจึงได้รับความเสียหายโดยตรง ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 498/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมเดียวผิดหลายบท: แจ้งความเท็จ-ใช้เอกสารเท็จ-ทำบัตรประชาชนปลอม
จำเลยกับพวกร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อ พ. ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานว่า อ. ซึ่งเป็นคนเชื้อชาติลาว สัญชาติลาว คือ ศ ซึ่งเป็นภริยาของจำเลย หลังจากนั้นในวันเดียวกันจำเลยกับพวกร่วมกันแสดงตนต่อ พ. ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองมีหน้าที่ในการออกบัตรประจำตัวประชาชนว่า อ. คือ ศ และบัตรประจำตัวประชาชนสูญหาย ทำให้ พ. สั่งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาจดข้อความลงในบันทึกการรับแจ้งเอกสารเกี่ยวกับบัตรประจำตัวประชาชนสูญหายหรือถูกทำลายอันเป็นเอกสารราชการซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐานแสดงสถานะของบุคคลหรือถิ่นที่อยู่ของบุคคลประกอบการพิจารณาอนุญาตทำบัตรประจำตัวประชาชนของพวกของจำเลย แล้วร่วมกันนำบันทึกดังกล่าวเสนอต่อ พ. เพื่อขอมีบัตรประจำตัวประชาชนฉบับใหม่ การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการกระทำต่อเนื่องกัน โดยมีเจตนาเดียวกันที่จะให้ทางราชการออกบัตรประจำตัวประชาชนให้พวกของจำเลยเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตาม พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (1) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5348/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแยกการกระทำความผิดเป็นกรรมต่างกัน และการปรับบทลงโทษที่ถูกต้องตามกฎหมาย
โจทก์บรรยายฟ้องแยกการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสี่ออกเป็นสองกรรมต่างกัน และมีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตาม ป.อ. มาตรา 91 โดยการกระทำของจำเลยทั้งสี่ในกรรมแรกตามฟ้องเป็นเรื่องจำเลยทั้งสี่ร่วมกันกับ อ. ขอให้หรือรับว่าจะให้เงินแก่เจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้กระทำการหรือไม่กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ในการนำคนต่างด้าวไปทำบัตรประจำตัวประชาชน อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 144 ซึ่งจำเลยทั้งสี่ร่วมกันกระทำความผิดระหว่างวันที่ 25 มิถุนายน 2547 ถึงวันที่ 28 กรกฎาคม 2547 ส่วนการกระทำของจำเลยทั้งสี่ในกรรมที่สองเป็นเรื่องจำเลยทั้งสี่ร่วมกับ ค. แจ้งข้อความและแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน และแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จในเอกสารราชการในการที่ อ. ขอมีบัตรประจำตัวประชาชนและมีชื่อและรายการในทะเบียนบ้าน อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชนฯ มาตรา 14 (1) พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎรฯ มาตรา 50 วรรคหนึ่ง และ ป.อ. มาตรา 267 ซึ่งจำเลยทั้งสี่ร่วมกันกระทำความผิดเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2547 แม้ความผิดดังกล่าวจะกระทำต่อเนื่องกับความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน และจุดประสงค์ในการกระทำความผิดเป็นอย่างเดียวกันคือ เพื่อให้เจ้าพนักงานออกบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่ อ. แต่ความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานตาม ป.อ. มาตรา 144 มีลักษณะสภาพความผิดและอาศัยเจตนาในการกระทำความผิดแยกต่างหากจากการกระทำความผิดอื่น ๆ โดยเมื่อจำเลยทั้งสี่ร่วมกันขอให้หรือรับว่าจะให้เงินแก่เจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้กระทำการหรือไม่กระทำการโดยมิชอบด้วยหน้าที่ก็เป็นความผิดสำเร็จในตัวกรรมหนึ่งแล้ว และต่อมาจำเลยทั้งสี่ได้ร่วมกันกระทำความผิดฐานอื่นขึ้นอีกจึงเป็นความผิดคนละกรรมต่างกัน เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องแยกการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสี่ดังกล่าวเป็นสองกรรมต่างกันโดยชัดแจ้ง และจำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพ จึงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสี่กระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน
พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชนฯ มาตรา 14 วรรคท้าย บัญญัติความว่า ถ้าผู้กระทำความผิดตาม (1) หรือ (2) หรือ (3) เป็นผู้ไม่มีสัญชาติไทย ต้องระวางโทษหนักขึ้น เมื่อจำเลยทั้งสี่เป็นผู้มีสัญชาติไทยทุกคน กรณีจึงไม่เข้าองค์ประกอบตามบทบัญญัติดังกล่าว จำเลยทั้งสี่จึงมีความผิดตามมาตรา 14 (1) แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าวเท่านั้น ที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษจำเลยทั้งสี่ตาม พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชนฯ มาตรา 14 วรรคท้าย มาด้วยนั้น เป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขปรับบทกฎหมายให้ถูกต้อง รวมทั้งกำหนดโทษเสียใหม่ให้เหมาะสมสอดคล้องกับบทกฎหมายดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
of 17