คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 39 วรรคหนึ่ง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 29 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8233-8236/2547 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การไม่มาศาลโจทก์ในวันนัดสืบพยานจำเลย ไม่ถือเป็นการสละสิทธิฟ้องคดี แรงงาน
ศาลแรงงานกลางสั่งรับคดีของโจทก์ทั้งสี่ไว้พิจารณาและได้กำหนดนัดพิจารณาและนัดสืบพยานโจทก์ในครั้งที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 แม้ศาลแรงงานกลางจะกำหนดให้นัดสืบพยานโจทก์รวมไปกับวันนัดพิจารณาดังกล่าวด้วย ก็เป็นเพียงวิธีการเร่งรัดการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีแรงงานให้รวดเร็วยิ่งขึ้น วันนัดพิจารณาคดีทั้งสามครั้งของศาลแรงงานกลางเป็นการกำหนดนัดพิจารณาตามที่ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 37 บัญญัติไว้ เพื่อให้โจทก์ทั้งสี่และจำเลยมาศาลพร้อมกันแล้วให้ศาลแรงงานกลางไกล่เกลี่ยให้คู่ความตกลงกัน หรือประนีประนอมยอมความกันโดยถือว่าคดีแรงงานมีลักษณะพิเศษอันควรระงับลงได้ด้วยความเข้าใจอันดีต่อกันเพื่อที่ทั้งสองฝ่ายจะได้มีความสัมพันธ์กันต่อไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 38 ในวันนัดพิจารณาตามที่บัญญัติในมาตรา 37 นี้ หากโจทก์ได้ทราบคำสั่งให้มาศาลโดยชอบแล้ว แต่โจทก์ไม่ไปศาลตามกำหนดโดยไม่แจ้งให้ศาลแรงงานทราบถึงเหตุที่ไม่ไปศาล ให้ถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีต่อไป ศาลแรงงานกลางต้องมีคำสั่งจำหน่ายคดีของโจทก์จากสารบบความตามมาตรา 40 วรรคหนึ่ง แต่ปรากฏว่าในวันนัดพิจารณาและนัดสืบพยานโจทก์ทั้งสามครั้งโจทก์ทั้งสี่ไปศาลตามกำหนดนัดทุกครั้งจึงไม่มีกรณีที่จะถือว่าโจทก์ทั้งสี่ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีต่อไป อันจะอ้างเป็นเหตุจำหน่ายคดีของโจทก์ตามมาตรา 40 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อโจทก์ทั้งสี่กับจำเลยไม่อาจตกลงกัน การที่ศาลแรงงานกลางได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทและวันนัดสืบพยานตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 39 วรรคหนึ่ง ก็เพื่อที่ศาลแรงงานกลางจะได้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปในอันที่จะให้ได้ความแจ้งชัดในข้อเท็จจริงแห่งคดีดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 45 ดังนั้น การที่โจทก์ทั้งสี่ไม่ไปศาลในวันนัดสืบพยานจำเลยนัดแรกเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2546 คงมีผลเพียงทำให้โจทก์ทั้งสี่เสียสิทธิที่จะขออนุญาตศาลแรงงานกลางถามพยานจำเลยเพื่อทำลายน้ำหนักพยานจำเลยเท่านั้น ไม่มีเหตุที่ศาลจะมีคำสั่งจำหน่ายคดีของโจทก์ตามมาตรา 40 วรรคหนึ่งได้ การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลแรงงานกลางจึงชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9347/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ศาลแรงงานกำหนดประเด็น-วันสืบพยานได้โดยไม่ต้องรอชี้ขาดคำคัดค้านก่อน และสัญญาค้ำประกันมีผลตลอดระยะทำงาน
พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 39 วรรคหนึ่ง มีเจตนาให้การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีในศาลแรงงานเป็นไปโดยประหยัด สะดวก รวดเร็ว และเที่ยงธรรม จึงให้ศาลแรงงานกำหนดประเด็นข้อพิพาทและกำหนดวันสืบพยานไปทันทีในวันใดก็ได้ หาจำต้องกำหนดไม่น้อยกว่าสิบวันนับแต่วันชี้สองสถานดังเช่นที่ ป.วิ.พ. กำหนดไว้ไม่ ทั้งการกำหนดประเด็นข้อพิพาทในคดีแรงงานก็เป็นอำนาจและดุลพินิจของศาลแรงงานโดยเฉพาะ และเมื่อกำหนดประเด็นข้อพิพาทไปแล้วก็ไม่มีบทบัญญัติใดกำหนดให้ศาลแรงงานต้องชี้ขาด คำคัดค้านการกำหนดประเด็นข้อพิพาทของคู่ความก่อนวันสืบพยาน เพราะการกำหนดให้ชี้ขาดก่อนเช่นนั้นทำให้กระบวนพิจารณาดำเนินไปโดยล่าช้า ทำให้คู่ความไม่ได้รับความเที่ยงธรรมได้ การที่ศาลแรงงานกลางใช้ดุลพินิจ สั่งให้รวมคำคัดค้านของจำเลยไว้ในสำนวนคดีความโดยไม่ชี้ขาดคำคัดค้านก่อนว่าควรเปลี่ยนแปลงการกำหนดประเด็นข้อพิพาทหรือไม่จึงหาเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบไม่
สัญญาจ้างระบุว่า อ. เป็นลูกจ้างของโจทก์ ทดลองงานเป็นระยะเวลาไม่เกิน 120 วัน และต้องทำงานให้โจทก์เป็นระยะเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 24 เดือน หมายความว่าระยะเวลา 120 วันแรกเป็นระยะทดลองงาน เมื่อพ้นระยะ ทดลองงานแล้ว อ. ต้องทำงานให้โจทก์ต่อไปอีก ซึ่งนับรวมกับระยะทดลองงานแล้วต้องไม่น้อยกว่า 24 เดือน โดยสัญญาไม่ได้กำหนดวันสิ้นสุดสัญญาจ้างไว้ จึงเป็นสัญญาจ้างที่ยังไม่มีกำหนดระยะเวลา ในสัญญาค้ำประกัน ก็กำหนดไว้ชัดแจ้งว่าสัญญาค้ำประกันมีผลบังคับตลอดระยะเวลาที่ อ. ทำงานกับโจทก์ไม่ว่าตำแหน่งหน้าที่ใด ๆ ที่โจทก์กำหนดและระยะเวลาทำงานนานเท่าใด โดยจำเลยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันจะไม่บอกเลิกสัญญาจนกว่าจะได้มีการหาบุคคลอื่นที่มีหลักฐานมั่นคงและโจทก์เห็นชอบให้เป็นผู้ค้ำประกันแทนได้เรียบร้อยแล้ว สัญญาค้ำประกันจึงหาได้ให้มีผลเพียงชั่วระยะเวลาทดลองงาน 120 วัน ไม่ ทั้งจำเลยก็มิได้หาบุคคลอื่นมาเป็นผู้ทำสัญญาค้ำประกันแทน โดยความเห็นชอบของโจทก์ จำเลยจึงต้องผูกพันรับผิดตามสัญญาค้ำประกันตลอดระยะเวลาที่ อ. ทำงานกับโจทก์จนถึง วันที่ อ. ลาออก และต้องรับผิดต่อความเสียหายที่ อ.ได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่โจทก์ตั้งแต่เริ่มทำงานจนถึงวันลาออกจากงาน
โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดชดใช้เงินที่ อ. ลูกจ้างของโจทก์ยักยอกไปหรือให้ชดใช้เงินที่ อ.ก่อให้เกิดความ
เสียหายต่อโจทก์เพราะการผิดสัญญาจ้างแรงงานเป็นการฟ้องเรียกเงินของโจทก์คืนจากผู้ยักยอกและจำเลยต้องรับผิดชดใช้คืนในฐานะผู้ค้ำประกัน จึงมีอายุความฟ้องเอาคืนได้ภายในกำหนด 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 นับแต่วัน ยักยอกถึงวันฟ้องยังไม่เกิน 10 ปี คดีไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9196-9215/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน: การนำสืบพยานและรับฟังหลักฐานที่ยืดหยุ่นกว่าคดีแพ่ง
ตามมาตรา 38 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 บัญญัติให้ถือว่าคดีแรงงานมีลักษณะพิเศษกว่าคดีแพ่งทั่วไป โดยประสงค์จะให้ข้อพิพาทระงับไปด้วยความเข้าใจอันดีต่อกันระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง และมาตรา 39 วรรคหนึ่ง บัญญัติเกี่ยวกับหน้าที่นำสืบไว้ โดยศาลแรงงานจะระบุให้โจทก์หรือจำเลยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนำพยานมาสืบก่อนหรือหลังก็ได้โดยไม่คำนึงว่าฝ่ายนั้น ๆ จะมีภาระการพิสูจน์อย่างเช่นคดีแพ่งทั่วไป ดังนั้น การที่ศาลแรงงานกลางกำหนดให้จำเลยเป็นฝ่ายนำพยานเข้าสืบก่อน และให้โจทก์นำพยานเข้าสืบในภายหลัง จึงชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวแล้ว
ศาลแรงงานมีอำนาจเรียกพยานหลักฐานมาสืบได้เองตามที่เห็นสมควร และให้ถือว่าเป็นพยานของศาลทั้งศาลแรงงานมีอำนาจซักถามพยานไม่ว่าพยานที่ศาลแรงงานเรียกมาเองหรือที่คู่ความอ้างก็ตาม และในการบันทึกคำเบิกความของพยาน ศาลแรงงานอาจจะบันทึกข้อความแต่โดยย่อก็ได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 45 ประกอบ มาตรา 46 ซึ่งแตกต่างจากคดีแพ่งโดยทั่วไป การที่ศาลแรงงานกลางจดบันทึกในรายงานกระบวนพิจารณาตามที่โจทก์แถลงพร้อมทั้งแนบเอกสารเช่นใบเสร็จรับเงินเดือนและอื่น ๆ โดยทนายจำเลยตรวจดูแล้วไม่โต้แย้งคัดค้าน โจทก์ไม่สืบพยานและขอให้ศาลแรงงานกลางตัดสินคดีตามคำฟ้อง คำให้การและบันทึกรายการกับเอกสารที่โจทก์เสนอต่อศาล จึงเป็นกรณีที่ศาลแรงงานกลางรับบันทึกรายการต่าง ๆ ของโจทก์ที่ยื่นเสนอต่อศาลไว้เป็นพยานหลักฐานของศาลตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 45 วรรคหนึ่งแล้ว แม้ศาลแรงงานกลางจะบันทึกรายงานกระบวนพิจารณาโดยให้ถือว่าบันทึกรายการดังกล่าวเป็นคำเบิกความของโจทก์ซึ่งเป็นการเกินเลยไปและไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ตาม กรณีไม่อาจถือว่าการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางเป็นการขัดต่อกฎหมายว่าด้วยการรับฟังพยานหลักฐาน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6373/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงสภาพการจ้างสิ้นสุดเมื่อมีข้อตกลงใหม่ หรือยกเลิกข้อตกลงเดิม การจ่ายโบนัสตามข้อตกลงเดิม
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 39 วรรคหนึ่ง หมายความว่า ในกรณีที่ศาลแรงงานเห็นว่าคดีไม่อาจเจรจาตกลงประนีประนอมยอมความกันได้และจำเป็นต้องสืบพยานของคู่ความ ศาลแรงงานจึงจะดำเนินกระบวนพิจารณาโดยกำหนดประเด็นข้อพิพาทและกำหนดให้คู่ความฝ่ายใดเป็นผู้นำพยานเข้าสืบก่อนหรือหลัง แต่หากศาลแรงงานเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้โดยไม่จำต้องสืบพยานของคู่ความแล้ว ศาลแรงงานก็ไม่จำต้องดำเนินกระบวนพิจารณาตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น
ศาลแรงงานไกล่เกลี่ยโจทก์จำเลยแล้ว แต่คู่ความตกลงกันไม่ได้และเมื่อฟังคำแถลงของคู่ความประกอบกับเอกสารที่คู่ความเสนอมาแล้วเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยและพิพากษาคดีไป กระบวนพิจารณาของศาลแรงงานชอบแล้ว
พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 10 วรรคหนึ่ง และมาตรา 12 วรรคสอง หมายความว่า เมื่อสถานประกอบกิจการใดจัดให้มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างขึ้นแล้ว หากระยะเวลาการบังคับใช้ที่กำหนดไว้ในข้อตกลงดังกล่าวสิ้นสุดลงโดยมิได้มีการเจรจาตกลงกันใหม่ ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างนั้นจะมีผลใช้บังคับต่อ ๆ ไป อีกคราวละหนึ่งปี ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างนี้จะสิ้นผลใช้บังคับต่อเมื่อนายจ้างและลูกจ้างทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างขึ้นใหม่เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 272-274/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เหตุเลิกจ้างต้องพิจารณาจากเหตุที่นายจ้างอ้างในขณะเลิกจ้างเท่านั้น แม้มีเหตุอื่นก็ใช้ไม่ได้
การพิจารณาว่าโจทก์ทั้งสามออกจากงานโดยมีความผิดหรือไม่ ต้องพิจารณาจากเหตุที่จำเลยที่ 1 นำมาอ้างในขณะที่ให้โจทก์ทั้งสามออกจากงานว่าโจทก์ทั้งสามได้กระทำผิดตามเหตุที่อ้างนั้นหรือไม่ เหตุอื่นนอกเหนือจากที่อ้างต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ไม่ประสงค์จะใช้เป็นเหตุให้ออกจากงาน จึงไม่ต้องนำมาพิจารณา ฉะนั้น เหตุที่ว่าโจทก์ทั้งสามปฏิบัติงานโดยฝ่าฝืนข้อบังคับว่าด้วยระเบียบพนักงานของจำเลยที่ 1 ทำให้จำเลยที่ 1 เสียหาย อันเป็นเหตุที่จำเลยที่ 1 มิได้อ้างไว้ขณะให้โจทก์ทั้งสามออกจากงานจึงนำมาพิจารณาประกอบการจ่ายเงินบำเหน็จโดยถือว่าเป็นเหตุสืบเนื่องกัน เพื่อให้มีผลว่าโจทก์ทั้งสามออกจากงานโดยมีความผิด และไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จจากจำเลยที่ 1 ย่อมมิได้ เพราะถือว่า เหตุดังกล่าวนี้จำเลยที่ 1 ไม่ประสงค์จะยกมาเป็นเหตุในการให้โจทก์ทั้งสามออกจากงานเสียแต่ต้นแล้วจึงไม่อาจนำมาพิจารณาเป็นเหตุเลิกจ้างได้อีก
of 3