คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 ม. 5

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 274/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีสรรพสามิตแบตเตอรี่: การผลิตประกอบสำเร็จถือเป็น 'ผลิต' ตามกฎหมาย และสิทธิลดหย่อนภาษี
โจทก์นำเข้าแบตเตอรี่ลักษณะเป็นก้อน เรียกกันทั่วไปว่าถ่านไฟฉายหรือแบตเตอรี่ชนิดเซลล์ก้อน สามารถนำไปใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดต่าง ๆ ได้ทั่วไป โจทก์ได้นำแบตเตอรี่ดังกล่าวมาจัดเรียงต่อแบบอนุกรม และเชื่อมขั้วแบตเตอรี่แต่ละอันให้ครบวงจรแล้วประกอบเข้ากับกล่องพลาสติก และต่อสายไฟแบตเตอรี่เข้ากับขั้วไฟฟ้าภายในกล่อง การกระทำดังกล่าวเป็นการทำการอย่างใดอย่างหนึ่งให้มีขึ้นซึ่งสินค้า ต้องตามคำนิยาม "ผลิต" ตาม พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 มาตรา 4
โจทก์เสียภาษีสรรพสามิตจากแบตเตอรี่ในฐานะผู้นำเข้า ต่อมานำแบตเตอรี่ดังกล่าวมาผลิตเป็นแบตเตอรี่สำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่ ต้องเสียภาษีสรรพสามิตในฐานะผู้ประกอบอุตสาหกรรมผลิตอีกครั้งหนึ่ง ไม่ใช่เป็นการจัดเก็บภาษีซ้ำซ้อน
การออกกฎกระทรวงว่าด้วยสินค้าที่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมจะขอลดหย่อนภาษีเพื่อกำหนดให้สินค้าประเภทใดเป็นสินค้าที่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมจะขอลดหย่อนภาษีได้ เป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตาม พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 มาตรา 5 และมาตรา 101 วรรคหนึ่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจึงมีอำนาจกำหนดวันใช้บังคับกฎหมายได้ว่าจะให้มีผลย้อนหลังหรือไม่ย้อนหลังก็ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1170/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจำหน่ายชิ้นส่วนเครื่องปรับอากาศเข้าข่ายเป็น 'การผลิต' และต้องเสียภาษีสรรพสามิต
การจะวินิจฉัยถึงความหมายของเครื่องปรับอากาศนั้น ต้องวินิจฉัยตามคำนิยามในกฎหมาย เมื่อไม่มีบัญญัติในกฎหมายจึงจะถือเอาความหมายตามพจนานุกรม
พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตท้าย พ.ร.บ. พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 ได้กำหนดสินค้าเครื่องปรับอากาศไว้ในตอนที่ 3 เครื่องไฟฟ้า ประเภทที่ 03.01 ว่า เครื่องปรับอากาศที่ประกอบด้วยพัดลมซึ่งขับด้วยมอเตอร์และมีส่วนที่ใช้สำหรับเปลี่ยนอุณหภูมิ ไม่ว่าจะมีส่วนที่ใช้ควบคุมความชื้นด้วยหรือไม่ก็ตาม และมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 กำหนดให้อธิบดีกรมสรรพสามิตมีอำนาจตีความในพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตตามหลักเกณฑ์ในประกาศกระทรวงการคลัง ซึ่งอธิบดีกรมสรรพสามิตได้ตีความในพิกัดอัตราภาษีสรรพาสามิตเกี่ยวกับเครื่องปรับอากาศไว้ โดยกำหนดให้แผนคอยล์ยูนิต (ส่วนที่อยู่ในอาคาร) ซึ่งประกอบด้วยแผงส่งลมเย็นและพัดลมซึ่งขับด้วยมอเตอร์ และคอนเดนซิ่งยูนิต (ส่วนที่อยู่นอกอาคาร) ซึ่งประกอบด้วยแผงระบายความร้อน พัดลมซึ่งขับด้วยมอเตอร์ และคอมเพรสเซอร์ เป็นเครื่องปรับอากาศตามพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ประเภท 03.01 แฟนคอยล์ยูนิตและคอนเดนซิ่งยูนิตแต่ละส่วนจึงเป็นเครื่องปรับอากาศโดยมิต้องประกอบเข้าด้วยกัน เมื่อโจทก์จำหน่ายชิ้นส่วนและอุปกรณ์เครื่องปรับอากาศซึ่งประกอบด้วยโครงแฟนคอยล์ มอเตอร์โบลว์ โครงคอนเดนซิ่ง และคอมเพรสเซอร์จึงเป็นการจำหน่ายเครื่องปรับอากาศ
โจทก์มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการรับจ้างติดตั้ง และรับประกอบเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นทุกชนิด การที่โจทก์แยกขายชิ้นส่วนและอุปกรณ์เครื่องปรับอากาศครบชุดซึ่งสามารถประกอบเป็นเครื่องปรับอากาศที่ครบชุดบริบูรณ์ได้ให้แก่ลูกค้ารายเดียวกันภายในเดือนเดียวกัน แสดงถึงความมุ่งหมายของโจทก์ที่จะขายเครื่องปรับอากาศครบชุดบริบูรณ์ ทั้งโจทก์ก็มีเครื่องปรับอากาศที่ประกอบครบชุดบริบูรณ์แล้วอยู่ในสถานประกอบการของโจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้ทำการอย่างใดอย่างหนึ่งให้มีขึ้นซึ่งสินค้าเครื่องปรับอากาศ อันเป็นการผลิตสินค้าและสถานประกอบการของโจทก์ก็เป็นสถานที่ผลิตสินค้า ถือเป็นโรงอุตสาหกรรม โจทก์จึงเป็นผู้ประกอบอุตสาหกรรม เมื่อโจทก์จำหน่ายเครื่องปรับอากาศหรือนำสินค้าเครื่องปรับอากาศออกจากโรงอุตสาหกรรม ย่อมมีความรับผิดต้องเสียภาษีสรรพสามิตตาม พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 มาตรา 4 , 7 , 10 (1) (ก) และ 10 (1) วรรคสอง ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2534 มาตรา 3 , 4 และ 5 ตามลำดับ อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น
โจทก์ขายสินค้าเครื่องปรับอากาศไปโดยเสียภาษีสรรพสามิตยังไม่ครบถ้วน จำเลยที่ 1 ซึ่งมีอำนาจหน้าที่จัดเก็บภาษีสรรพสามิตมีอำนาจประเมินให้โจทก์เสียภาษีสรรพสามิตให้ถูกต้องได้ การประเมินของจำเลยที่ 1 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงเป็นการถูกต้องชอบด้วยกฎหมาย
โจทก์ได้คัดค้านการประเมินของจำเลยที่ 1 โดยไม่ได้ขอทุเลาการชำระภาษี การคัดค้านและการอุทธรณ์ไม่เป็นการทุเลาการชำระภาษีสรรพสามิตตาม พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 มาตรา 97 จำเลยที่ 1 จึงมีอำนาจอายัดทรัพย์สินของโจทก์เพื่อชำระภาษีสรรพสามิตที่ค้างชำระแก่จำเลยที่ 1 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4040/2543 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีสรรพสามิต: การตีความคำสั่งกรมสรรพสามิตเกี่ยวกับเครื่องปรับอากาศ และความผิดฐานไม่ยื่นแบบภาษี
พ.ร.บ. พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2534 ตอนที่ 3 ประเภทที่ 03.01 กำหนดให้เครื่องปรับอากาศที่ประกอบด้วยพัดลมซึ่งขับด้วยมอเตอร์ และมีส่วนที่ใช้สำหรับเปลี่ยนอุณหภูมิ ไม่ว่าจะมีส่วนที่ใช้ควบคุมความชื้นด้วยหรือไม่ก็ตาม ที่มีขนาดทำความเย็นไม่เกิน 72,000 บีทียูต่อชั่วโมง เป็นสินค้าที่ต้องเสียภาษีสรรพสามิต และอธิบดีกรมสรรพสามิตได้วินิจฉัยให้สิ่งต่อไปนี้เป็นเครื่องปรับอากาศตามพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ประเภทที่ 03.01 คือ (1) COOLING UNIT หรือ FAN COIL UNIT หรือ INDOOR UNIT ซึ่งประกอบด้วยแผงส่งลมเย็น (EVAPORATOR) และพัดลมซึ่งขับด้วยมอเตอร์ (2) CONDENSING UNIT ซึ่งประกอบด้วยแผงระบายความร้อน (CONDENSER) พัดลมซึ่งขับด้วยมอเตอร์และคอมเพรสเซอร์ (COMPRESSOR) ตามคำสั่งกรมสรรพสามิตที่ 41/2535 เครื่องปรับอากาศที่ยึดได้จากจำเลยที่ 1 ยี่ห้อยูเนี่ยนแอร์ ชนิดแฟนคอยล์ ยูนิท ซึ่งประกอบด้วยแผงส่งลมเย็นและพัดลมซึ่งขับด้วยมอเตอร์ และชนิดคอนเดนซิ่ง ยูนิท ซึ่งประกอบด้วยแผงระบายความร้อน พัดลมขับด้วยมอเตอร์และคอมเพรสเซอร์ จึงเป็นเครื่องปรับอากาศตามคำสั่งกรมสรรพสามิตดังกล่าว
ตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 อธิบดีกรมสรรพสามิตมีอำนาจตีความในพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตแนบท้ายพระราชบัญญัติดังกล่าวโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่ออธิบดีกรมสรรพสามิตเห็นว่ากรณีมีปัญหาเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสำหรับเครื่องปรับอากาศและมีคำวินิจฉัยโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 ดังกล่าว และ (3) แห่งประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์การตีความในพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ลงวันที่ 22 เมษายน 2528 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์การตีความในพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2534 ดังนั้น คำสั่งกรมสรรพสามิตที่ 41/2535 จึงเป็นคำสั่งที่ออกโดยชอบด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายแล้ว
เครื่องปรับอากาศที่ยึดจากสำนักงานใหญ่ของจำเลยที่ 1 เป็นสินค้าในการกระทำความผิดฐานนำสินค้าที่ยังมิได้เสียภาษีโดยถูกต้องและครบถ้วนออกไปจากโรงอุตสาหกรรมตามมาตรา 147 จึงต้องริบเครื่องปรับอากาศดังกล่าวเป็นของกรมสรรพสามิต ตาม พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 มาตรา 168 วรรคสอง
การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันนำสินค้าของกลางที่ยังมิได้เสียภาษีโดยถูกต้องและครบถ้วนออกไปจากโรงอุตสาหกรรมนั้น เป็นความผิดสำเร็จตั้งแต่ตอนนำสินค้าออกจากโรงอุตสาหกรรม ตาม พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 มาตรา 19, 147 (1) แล้วกรรมหนึ่ง เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 นำสินค้านั้นไปเก็บไว้ที่สำนักงานใหญ่และสาขาเป็นความผิดฐานร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งสินค้าโดยรู้ว่าเป็นสินค้าที่มิได้เสียภาษีหรือเสียภาษีไม่ครบถ้วนตามมาตรา 161 (1) และมีไว้เพื่อขายซึ่งสินค้าโดยรู้อยู่ว่าเป็นสินค้าที่มิได้เสียภาษีหรือเสียภาษีไม่ครบถ้วนนั้นเป็นความผิดตามมาตรา 162 (1) ถือว่าเป็นการกระทำกรรมเดียว แต่เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตามมาตรา 162 (1) ซึ่งเป็นบทหนักตาม ป.อ. มาตรา 90 เป็นอีกกรรมหนึ่ง