คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ประทีป ดุลพินิจธรรมา

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 238 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7904/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลในคดีกล่าวหานายกรัฐมนตรีทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่: ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ มีอำนาจพิจารณาแต่เพียงผู้เดียว
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ที่ใช้บังคับขณะโจทก์ฟ้องคดีนี้ มาตรา 275 กำหนดให้คดีที่กล่าวหานายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และข้าราชการการเมืองอื่น ร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตาม ป.อ. หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาและพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยกำหนดหลักการสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีต่อผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไว้ว่า ผู้เสียหายจากการกระทำความผิดของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอาจยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้ไต่สวนข้อเท็จจริงและสรุปสำนวนพร้อมทำความเห็นส่งไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อดำเนินการต่อไป ทั้ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 4 บัญญัติว่า "นับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ห้ามมิให้ศาลอื่นรับคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไว้พิจารณาพิพากษา" และมาตรา 9 บัญญัติว่า "ศาลมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ดังต่อไปนี้ (1) คดีที่มีมูลแห่งคดีเป็นการกล่าวหาว่านายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี...กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น" เมื่อคดีนี้มีมูลแห่งคดีเป็นการกล่าวหาว่าจำเลยในฐานะนายกรัฐมนตรีกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเท่านั้น หาอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7031/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขายฝากสินสมรสโดยไม่ได้รับความยินยอมจากคู่สมรส และสิทธิของบุคคลภายนอก
ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์ที่ ว. ได้มาขณะที่ ว. มีโจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นสินสมรสที่สามีภริยาต้องจัดการร่วมกันหรือจัดการโดยได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง เมื่อมีการขายฝากที่ดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1476 (1) แต่ปรากฏว่ามีการปลอมลายมือชื่อโจทก์ในฐานะผู้ให้ความยินยอมไปทำนิติกรรมขายฝาก จึงเป็นการทำนิติกรรมที่ ว. ทำไปลำพังฝ่ายเดียว เป็นนิติกรรมไม่สมบูรณ์ ซึ่งมีผลให้คู่สมรสที่ไม่ให้ความยินยอมอาจขอให้ศาลเพิกถอนได้ เว้นแต่นิติกรรมนั้นบุคคลภายนอกได้กระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480 วรรคหนึ่ง แต่กฎหมายมิได้บัญญัติว่านิติกรรมนั้นเป็นโมฆะหรือโมฆียะ ดังนั้นตราบใดที่สัญญาขายฝากที่ดินยังไม่ถูกศาลเพิกถอน บุคคลภายนอกที่เป็นคู่สัญญาย่อมมีสิทธิสมบูรณ์ในที่ดิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5371/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความประมาทเลินเล่อเป็นเหตุละเมิด: การพิสูจน์ความรับผิดและการรับช่วงสิทธิในคดีประกันภัยรถยนต์
บทบัญญัติตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 78 วรรคสอง เป็นข้อสันนิษฐานในคดีอาญาเพื่อให้ผู้ขับรถเข้าแสดงตนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือแสดงความบริสุทธิ์ จึงไม่ใช่ข้อสันนิษฐานเด็ดขาด คู่ความมีสิทธินำพยานหลักฐานเข้าสืบเพื่อหักล้างได้ คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า ล. ลูกจ้างของจำเลยขับรถโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังชนรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยได้รับความเสียหาย จำเลยให้การปฏิเสธว่า เหตุคดีนี้เกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของ ช. ผู้ขับรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัย เป็นกรณีที่โจทก์อ้างว่า ล. ทำละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 และจำเลยให้การปฏิเสธว่า ล. ไม่ได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อ โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบว่า ล. เป็นฝ่ายประมาทเลินเล่อเพราะโจทก์เป็นผู้กล่าวอ้างข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84 (ซึ่งใช้บังคับในขณะนั้น) โจทก์จึงไม่ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตามมาตรา 84 (2) ทั้งโจทก์บรรยายฟ้องขอให้จำเลยรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 กรณีจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติ มาตรา 437

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5046/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ: การลงข้อความเท็จในบัญชีและการปลอมแปลงเอกสารเพื่อหลอกลวงนักลงทุน
ตามฟ้องข้อ (ข) เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยลงข้อความเท็จในบัญชีและทำบัญชีไม่ถูกต้องกรณีบริษัท ส. ซื้อที่ดินจาก ป. ในราคา 580,500,000 บาท จำเลยได้สั่งจ่ายเช็คถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของบริษัท ส. จำนวน127,500,000 บาท โดยจำเลยบันทึกในบัญชีของบริษัทว่าได้ชำระเป็นค่าซื้อที่ดินให้แก่ ป. แล้ว อันเป็นความเท็จ ความจริงไม่มีการนำเงินจำนวนดังกล่าวไปชำระค่าซื้อที่ดินโดยโจทก์บรรยายฟ้องให้รายละเอียดชัดแจ้งถึงเส้นทางของเงินจำนวนดังกล่าวว่าได้โอนไปเข้าบัญชีของผู้ใด จำนวนกี่บัญชี บัญชีละเท่าใด และมีการโอนเงินจำนวนดังกล่าวออกจากบัญชีที่รับไว้ไปชำระหนี้ให้แก่ผู้ใดหรือนำเข้าบัญชีของใคร จำนวนเท่าใด และเมื่อไร จึงเป็นการบรรยายฟ้องถึงการกระทำทั้งหลายของจำเลยที่อ้างว่าได้กระทำความผิดให้เข้าใจได้ว่าจำเลยลงข้อความเท็จหรือทำบัญชีไม่ถูกต้องอย่างไร ส่วนการบันทึกบัญชีอันเป็นเท็จจะหมายถึงบัญชีใด อยู่ในเอกสารใด รายละเอียดของข้อความที่ลงไว้อย่างไร แม้ไม่ได้บรรยายไว้ก็ไม่ทำให้ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะเป็นรายละเอียดที่โจทก์นำสืบได้ในชั้นพิจารณา คำฟ้องโจทก์ในข้อ (ข) จึงไม่เคลือบคลุม ส่วนคำฟ้องข้อ (ค) และ (ง) เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยลงข้อความเท็จในบัญชีและทำบัญชีไม่ถูกต้องกรณีบริษัท ป. และบริษัท ฟ. ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดในโครงการจัดสรรของบริษัท ส. โดยโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทำปลอมสัญญาจะซื้อจะขายว่าทั้งสองบริษัทดังกล่าวเป็นคู่สัญญาผู้จะซื้อกับบริษัท ส. ผู้จะขาย และตกแต่งลงข้อความเท็จในบัญชีว่าผู้จะซื้อดังกล่าวได้ผ่อนชำระค่างวดในโครงการดังกล่าวและยังค้างชำระค่างวดแก่บริษัท ส. ซึ่งความจริงบริษัท ป. ไม่เคยเป็นหนี้สินและไม่เคยทำสัญญาจะซื้อห้องชุดในโครงการดังกล่าวกับบริษัท ส. ส่วนบริษัท ฟ. ไม่มีเจตนาแท้จริงจะซื้อห้องชุดกับบริษัท ส. เพราะบริษัทดังกล่าวไม่ได้ประกอบธุรกิจและไม่มีรายได้ที่จะชำระค่างวด ทั้งนี้เพื่อลวงนักลงทุนและผู้ถือหุ้น ประชาชนและคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ให้เข้าใจว่า บริษัท ส. ประสบความสำเร็จในโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ จึงเป็นการบรรยายฟ้องที่ชัดแจ้งแล้วว่า จำเลยลงข้อความเท็จในบัญชีอย่างไร ส่วนข้อความเท็จในบัญชีมีว่าอย่างไร อยู่ส่วนไหนของบัญชีเป็นรายละเอียดที่โจทก์นำสืบได้ในชั้นพิจารณา สำหรับคำฟ้องที่บรรยายว่าจำเลยปลอมสัญญาจะซื้อจะขายหรือปลอมบัญชีเอกสารก็เพียงมีความมุ่งหมายให้เข้าใจว่าเป็นส่วนหนึ่งของการลงข้อความเท็จในบัญชีอันเป็นองค์ประกอบความผิดเท่านั้น หาใช่เป็นคำฟ้องที่ขัดแย้งกันแต่อย่างใด ฟ้องโจทก์ข้อ (ค) (ง) จึงไม่เคลือบคลุม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5019/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยอมความต้องมีเจตนาเพื่อระงับข้อพิพาทโดยสมบูรณ์ ไม่ใช่แค่ข้อตกลงนำไปสู่การระงับข้อพิพาท
การยอมความจะต้องประสงค์จะระงับข้อพิพาท มิใช่เพียงเป็นข้อตกลงโดยมีเงื่อนไขเพื่อนำไปสู่การระงับข้อพิพาท คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง คดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์ โจทก์ร่วมและจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยตกลงกันว่า สัญญาประนีประนอมยอมความทำขึ้นเพื่อเป็นการระงับข้อพิพาทที่มีอยู่แล้วเวลานี้ทั้งในทางแพ่งและทางอาญา และที่จะมีขึ้นต่อไปในอนาคตของบุคคลผู้ที่เป็นคู่สัญญาซึ่งได้ลงนามไว้ท้ายสัญญานี้ และให้ถือเอาข้อความตามสัญญานี้มีผลเป็นการตกลงและยอมรับกันของคู่สัญญาทุกฝ่ายเกี่ยวกับคดีและได้รับส่วนแบ่งทรัพย์มรดกซึ่งได้กล่าวถึงคดีนี้ด้วย ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นการยอมความระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยและทายาทอื่นเพื่อระงับข้อพิพาท สิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์และโจทก์ร่วมย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5010/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าซื้อ และการใช้สิทธิซื้อรถยนต์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย
การลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ โจทก์อาจลงลายมือชื่อโดยกรรมการของโจทก์ตามที่ได้กำหนดในหนังสือรับรองของโจทก์หรือโจทก์อาจมอบอำนาจให้บุคคลอื่นลงลายมือชื่อทำสัญญาแทนได้ โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถกับโจทก์แล้วผิดสัญญา โจทก์สามารถนำสืบได้ว่าโจทก์มอบอำนาจให้ผู้ที่ลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าซื้อนั้นทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์แทนโจทก์ ไม่เป็นการนำสืบนอกฟ้อง
แม้เนื้อหาของหนังสือแจ้งให้สิทธิซื้อรถยนต์ไม่มีข้อความว่าเพื่อให้ผู้เช่าซื้อใช้สิทธิซื้อได้ตามมูลหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ แต่ก็ไม่พอที่จะถือว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4563/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี การคิดดอกเบี้ยผิดนัด และการหักชำระหนี้
จำเลยทั้งสองไม่ได้ยกอายุความเรื่องดอกเบี้ยค้างชำระเกินห้าปีขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ จึงไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (1) หรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกปัญหาอายุความขึ้นแล้ววินิจฉัยให้จำเลยทั้งสองรับผิดชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ก่อนฟ้องไม่เกินห้าปีจึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 183 ถือไม่ได้ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ แม้ปัญหานี้โจทก์มิได้ยกขึ้นโต้แย้งในฎีกาโดยตรง แต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้
แม้สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุดจนกว่าจะมีการบอกเลิกสัญญาหรือมีการหักทอนบัญชีและเรียกให้ชำระหนี้คงเหลือก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 เบิกถอนเงินครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2536 จากนั้นไม่ปรากฏรายการเดินสะพัดในบัญชีอันจะเป็นหลักฐานแสดงว่าธนาคารยอมให้จำเลยที่ 1 เบิกเงินเกินบัญชีอีก คงมีแต่ในวันที่ 31 ธันวาคม 2540 ธนาคารได้นำเงินฝากประจำของจำเลยที่ 1 มาหักชำระหนี้เท่านั้น โดยมีการหักทอนบัญชีกันตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2536 แสดงให้เห็นเจตนาของธนาคารและจำเลยที่ 1 ว่าไม่ประสงค์จะให้มีการเดินสะพัดทางบัญชีระหว่างกันอีกต่อไป สัญญาจึงเลิกกันโดยปริยายเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2536
สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีมิได้ระบุข้อตกลงไว้ชัดแจ้งว่าหากจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้หรือผิดเงื่อนไขตามสัญญายอมเสียดอกเบี้ยอัตราผิดนัด แม้สัญญาจะระบุให้ธนาคารเพิ่มอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ในสัญญาได้ไม่เกินอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยก็หมายความถึงอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ผู้ให้กู้มีสิทธิเรียกได้จากลูกค้าที่มิได้ปฏิบัติผิดเงื่อนไขหรือผิดสัญญา แม้ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยจะระบุให้คิดอัตราดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อผิดนัดชำระหนี้หรือผิดสัญญาก็เป็นการให้สิทธิแก่ธนาคารพาณิชย์ที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นกว่าที่คิดตามปกติเท่านั้น ส่วนจะปรับได้หรือไม่ ต้องพิจารณาจากสัญญานั้นว่ามีข้อตกลงดังกล่าวหรือไม่ ทั้งการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยในกรณีดังกล่าวเป็นการให้สิทธิพิเศษแก่เจ้าหนี้จึงต้องตีความข้อตกลงในสัญญาอย่างเคร่งครัด เมื่อสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีไม่ได้ระบุข้อตกลงไว้ชัดแจ้งว่าหากจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้หรือผิดเงื่อนไขตามสัญญายอมเสียดอกเบี้ยอัตราผิดนัด โจทก์ไม่อาจคิดดอกเบี้ยผิดนัดได้ คงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดได้สูงสุดในอัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำสำหรับลูกค้าประเภทกู้เบิกเงินเกินบัญชีที่ไม่ผิดนัดเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4192/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพาผู้อื่นไปเพื่ออนาจารด้วยกำลังประทุษร้าย และความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา องค์ประกอบความผิดและขอบเขตการลงโทษ
ความผิดฐานพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจารนั้น โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยใช้อาวุธปืนจี้บังคับให้ผู้เสียหายขึ้นนั่งรถยนต์แล้วให้ผู้เสียหายขับไป อันเป็นการพาผู้เสียหายไปเพื่อการอนาจารโดยการขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้าย และใช้อำนาจผิดคลองธรรม โดยโจทก์มิได้กล่าวในฟ้องว่าจำเลยใช้อุบายหลอกลวงผู้เสียหายไปเพื่อการอนาจาร ถึงแม้ว่าความผิดฐานใช้อุบายหลอกลวงไปเพื่อการอนาจารกับความผิดฐานขู่เข็ญและใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อการอนาจารจะเป็นความผิดในมาตราเดียวกัน แต่ลักษณะของการกระทำต่างกัน องค์ประกอบในการกระทำความผิดจึงต่างกัน แม้ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยพาผู้เสียหายไปเพื่อการอนาจารโดยใช้อุบายหลอกลวง ก็ไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ได้ เพราะต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคแรก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2832/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองที่ดินสาธารณประโยชน์โดยไม่ชอบ แม้จะเชื่อโดยสุจริตในตอนแรก แต่เมื่อทราบคำพิพากษาแล้วยังคงครอบครองถือเป็นความผิด
แม้จำเลยทั้งสองเข้าไปไถดินทำนาในทางสาธารณประโยชน์ในตอนแรกด้วยเชื่อโดยสุจริตว่ามีสิทธิที่จะเข้าไปทำได้ก็ตาม แต่เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งให้จำเลยทั้งสองทราบแล้วว่า ศาลปกครองนครราชสีมาได้มีคำพิพากษาว่าที่ดินพิพาทดังกล่าวเป็นทางสาธารณประโยชน์และให้ออกจากที่ดินพิพาทดังกล่าว จำเลยทั้งสองก็ไม่ได้โต้แย้ง กลับเข้าไปครอบครองและไถดินทำนาบนที่ดินพิพาทสาธารณประโยชน์ภายหลังอีก จึงเป็นความผิดฐานเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน โดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2417/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อขายสิทธิเรียกร้องในคดีล้มละลาย การโอนสิทธิและอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากสัญญาเช่าซื้อ
ตามสัญญาซื้อขายสิทธิเรียกร้อง ข้อ 1 ระบุว่า โจทก์ได้ซื้อสิทธิเรียกร้องของผู้ล้มละลายทั้งกลุ่มประเภทหนี้ตามมูลหนี้สัญญาเช่าซื้อจำนวนลูกหนี้แห่งสิทธิเรียกร้อง 942 ราย (กลุ่ม จ) ตามประกาศของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และข้อ 5 ระบุว่า เมื่อได้ชำระราคาครบถ้วนแล้วจึงจะถือว่าสัญญาฉบับนี้เป็นหลักฐานการโอนสิทธิเรียกร้องและถือว่าการโอนสิทธิเรียกร้องบริบูรณ์ โจทก์จะได้รับโอนสิทธิเรียกร้องเท่ากับสิทธิเรียกร้องที่ผู้ล้มละลายมีอยู่ในขณะที่การโอนสิทธิเรียกร้องบริบูรณ์โดยไม่มีเงื่อนไขหรือข้อจำกัดเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องตามมูลหนี้ที่ซื้อขาย ย่อมแสดงว่าการซื้อขายสิทธิเรียกร้องรายนี้ คู่สัญญาประสงค์ที่จะซื้อขายสิทธิเรียกร้องที่ผู้ล้มละลายมีต่อลูกหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันทั้งสัญญา หากสิทธิเรียกร้องของผู้ล้มละลายต่อจำเลยที่ 1 และ ห. ผู้ค้ำประกัน ตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันมีอยู่เพียงใด โจทก์ซึ่งซื้อสิทธิเรียกร้องดังกล่าวมาก็ย่อมรับโอนมาทั้งสิทธิและหน้าที่เท่าที่สิทธิและหน้าที่ของผู้ล้มละลายมีอยู่เพียงนั้น
สัญญาเช่าซื้อข้อ 6 กำหนดว่า เมื่อผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อสองงวดติด ๆ กัน เมื่อปรากฏหลักฐานเป็นหนังสือบอกกล่าวของเจ้าของแล้ว แต่ผู้เช่าซื้อละเลยหรือเพิกเฉยเสีย และไม่ปฏิบัติตามภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือนั้น เจ้าของมีสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะบอกเลิกการเช่าซื้อ แสดงว่าเมื่อผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อสองงวดติด ๆ กัน ต้องปรากฏหลักฐานเป็นหนังสือบอกกล่าวของผู้ให้เช่าซื้อให้ชำระค่าเช่าซื้อเสียก่อนถ้าไม่ชำระภายใน 30 วัน ผู้ให้เช่าซื้อจึงจะมีสิทธิบอกเลิกการเช่าซื้อ และเมื่อผู้ให้เช่าซื้อบอกเลิกการเช่าซื้อแล้ว สัญญาเช่าซื้อจึงจะสิ้นสุดลง มิใช่ว่าเมื่อผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อสองงวดติด ๆ กันแล้ว สัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลงโดยไม่ต้องปรากฏหลักฐานการบอกกล่าวเป็นหนังสือและการบอกเลิกสัญญาดังกล่าวก่อน การที่ผู้ให้เช่าซื้อไม่ดำเนินการตามขั้นตอนการบอกกล่าวทวงถามและการบอกเลิกสัญญา แต่ได้ไปยึดรถยนต์ที่ให้เช่าซื้อคืนโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้โต้แย้งคัดค้าน ถือว่าคู่สัญญาสมัครใจเลิกสัญญากันโดยปริยาย และการที่จำเลยที่ 1 ได้ใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อก่อนเลิกสัญญาโดยไม่ได้ชำระค่าเช่าซื้อนั้น จำเลยที่ 1 จำต้องใช้เงินเป็นค่าใช้ทรัพย์ให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคท้าย พร้อมดอกเบี้ย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดใช้ค่าขาดราคานั้นไม่ถูกต้อง จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดใช้ค่าขาดราคาซึ่งเป็นค่าเสียหายที่โจทก์อาจเรียกร้องได้ในกรณีที่มีการผิดสัญญาและบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยชอบ ปัญหาว่าโจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายเรื่องใดได้หรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
of 24