คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ประทีป ดุลพินิจธรรมา

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 238 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1572/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลงลายมือชื่อแทนกันโดยไม่ชอบ และความเสียหายจากการปลอมเอกสาร
การที่จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อ ล. ไม่มีกฎหมายให้อำนาจลงลายมือชื่อแทนกันได้ แม้ ล.จะอนุญาตหรือให้ความยินยอม และเจ้าหน้าที่ผู้จัดทำบันทึกแนะนำให้จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อ ล. ก็ลงลายมือชื่อแทนกันไม่ได้ การที่จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อ ล. ในเอกสารหมาย จ. 2 ถึง จ. 4 จึงเป็นการลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร แต่ในความผิดฐานแจ้งความเท็จและความผิดฐานปลอมเอกสารนี้จะต้องได้ความด้วยว่าอยู่ในลักษณะที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนหรือไม่ เมื่อได้ความจากโจทก์ร่วมว่าโจทก์ร่วมลงลายมือชื่อโอนลอยในคำร้องโอนสิทธิการเช่าสัญญาเช่าอาคารดังกล่าวโดยไม่ได้สนใจว่าใครจะนำเอกสารดังกล่าวไปกรอกข้อความอย่างไร แสดงให้เห็นว่า โจทก์ร่วมพอใจในราคาค่าตอบแทนการโอนสิทธิการเช่าเสียมากกว่า หาใช่มีข้อตกลงโอนสิทธิการเช่าอาคารพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 โดยเจาะจงแต่อย่างใดไม่ สอดคล้องกับที่ ส. เจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลสตึก พยานโจทก์และโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้จัดทำเอกสารเกี่ยวกับคำร้องโอนสิทธิการเช่าเบิกความว่า โจทก์ร่วมประสงค์จะโอนสิทธิการเช่าอาคารพิพาทให้แก่ ล. ทั้งใบเสร็จรับเงินค่าคำร้องโอนสิทธิการเช่าอาคารตามเอกสารหมาย จ. 5 ก็ระบุว่าได้รับเงินจาก ล. จากพฤติการณ์ดังกล่าวโจทก์ร่วมและเทศบาลตำบลสตึกไม่อยู่ในฐานะที่จะอ้างว่าได้รับความเสียหาย จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานแจ้งความเท็จและฐานปลอมเอกสารตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1532/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนัดประชุมกรรมการบริษัทเมื่อตำแหน่งประธานว่างลง และการใช้วิธีประกาศโฆษณาแทนการติดต่อโดยตรง
เมื่อตำแหน่งประธานกรรมการของจำเลยที่ 1 ว่างลง กรณีจึงไม่มีประธานกรรมการของจำเลยที่ 1 ที่จะทำหน้าที่นัดเรียกประชุมกรรมการ จึงมีเหตุขัดข้องที่ไม่อาจดำเนินการตามข้อบังคับที่ระบุว่าให้ประธานกรรมการเป็นผู้นัดเรียกประชุมกรรมการ เมื่อเกิดกรณีเช่นนี้ตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ข้อ 2 ระบุให้รับเอาบทบัญญัติใน ป.พ.พ. ว่าด้วยบริษัทจำกัดเป็นข้อบังคับของบริษัท ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 1162 บัญญัติว่า กรรมการคนหนึ่งคนใดจะนัดเรียกให้ประชุมกรรมการเมื่อใดก็ได้ การที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนจำเลยที่ 1 ได้นัดเรียกประชุมกรรมการจึงเป็นไปตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ข้อ 2 แล้ว ส่วนการที่มีการเรียกประชุมกรรมการโดยวิธีประกาศโฆษณาทางหนังสือพิมพ์นั้น ตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ไม่ได้กำหนดวิธีการนัดเรียกประชุมไว้ ส่วน ป.พ.พ. มาตรา 1144 ประกอบมาตรา 1158 ก็มิใช่บทบัญญัติที่เกี่ยวกับวิธีการนัดเรียกประชุมกรรมการ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่สามารถติดต่อโจทก์โดยวิธีอื่นใดได้ จึงต้องนัดเรียกประชุมกรรมการโดยวิธีประกาศโฆษณาทางหนังสือพิมพ์ การเรียกประชุมกรรมการโดยวิธีดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อข้อบังคับของจำเลยที่ 1 และไม่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 864/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปลอมเอกสารสิทธิ: จำเลยทั้งสองไม่ได้ร่วมกันปลอมแปลงเอกสารสัญญากู้ยืม แม้มีข้อความไม่สอดคล้องกันในการเบิกความ
โจทก์รู้อยู่แล้วในขณะกู้ยืมเงินหรืออย่างช้าในขณะที่จำเลยที่ 1 ทวงถามให้โจทก์ชำระเงินตามเช็คว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของเงินส่วนหนึ่งที่ร่วมกับจำเลยที่ 2 ให้โจทก์กู้ยืมไปตามหนังสือสัญญากู้ ทั้งในการฟ้องคดีจำเลยที่ 1 ก็ตรงไปตรงมาโดยฟ้องเอาผิดโจทก์เฉพาะเช็คตามจำนวนเงินที่โจทก์ยังค้างชำระหนี้เงินกู้อยู่เท่านั้น ซึ่งโจทก์ก็ยอมรับว่ายังไม่ได้ชำระเงินตามเช็ค การที่จำเลยที่ 1 กรอกข้อความว่าตนเองเป็นผู้ให้กู้ในหนังสือสัญญากู้จึงเป็นการกรอกข้อความไปตามความจริงและโดยสุจริตว่าตนเองมีสิทธิกรอกข้อความในฐานะเป็นผู้ออกเงินส่วนหนึ่งให้โจทก์กู้ด้วย และกระทำไปเพียงเพื่อใช้เป็นหลักฐานรองรับหนี้เงินตามเช็คให้เห็นว่าเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นการปลอมเอกสาร และเมื่อการกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิ จำเลยที่ 2 ก็ไม่อาจมีความผิดฐานร่วมกับจำเลยที่ 1 ปลอมเอกสารสิทธิ และการกระทำของจำเลยที่ 1 ก็ไม่เป็นความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 784/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อั้งยี่ ซ่องโจร เป็นความผิดหลายกรรม การลงโทษต้องแยกกระทง
ความผิดฐานเป็นอั้งยี่ตาม ป.อ. มาตรา 209 เป็นความผิดทันทีเมื่อผู้นั้นได้เข้าเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ความผิดฐานเป็นซ่องโจรตาม ป.อ. มาตรา 210 เป็นขั้นตอนการกระทำความผิดที่ยกระดับถึงขั้นคบคิดกันหรือตกลงกันหรือประชุมหารือกันเพื่อจะกระทำความผิด สภาพความผิดฐานเป็นอั้งยี่และฐานเป็นซ่องโจรจึงสามารถแยกการกระทำแต่ละความผิดได้ จึงเป็นความผิดหลายกรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21730/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ทนายความประมาทเลินเล่อฟ้องล้มละลายผิดคน ทำให้ผู้เสียหายได้รับความเสียหาย ต้องรับผิดทางละเมิด
จำเลยที่ 4 เป็นทนายความอันเป็นวิชาชีพด้านกฎหมาย จึงต้องมีความละเอียดรอบคอบและมีหน้าที่ต้องใช้ความระมัดระวังตามวิสัยและพฤติการณ์เป็นพิเศษ ทั้งการว่าความในศาลย่อมมีผลกระทบต่อคู่ความที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการฟ้องคดีล้มละลาย หากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด บุคคลผู้ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดย่อมถูกจำกัดสิทธิต่าง ๆ หลายประการตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 จำเลยที่ 4 จึงควรใส่ใจเป็นอย่างยิ่ง แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 4 เพียงตรวจสอบหมายเลขประจำตัวประชาชนของ พ. ลูกหนี้ในสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน ที่ให้ไว้ต่อธนาคาร ท. ขณะทำสัญญาค้ำประกัน แล้วนำหมายเลขประจำตัวประชาชนดังกล่าวไปขอคัดสำเนาทะเบียนราษฎร ปรากฏว่าบุคคลที่มีหมายเลขประจำตัวประชาชนดังกล่าวคือโจทก์ ตามแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎร จำเลยที่ 4 จึงฟ้องโจทก์เป็นคดีล้มละลาย ทั้ง ๆ ที่โจทก์มีชื่อแตกต่างจาก พ. และจำเลยที่ 4 ก็มีข้อมูลของ พ. ตามสำเนาทะเบียนบ้าน และยื่นสำเนาทะเบียนบ้านดังกล่าวประกอบคำฟ้องด้วย ดังนี้ หากจำเลยที่ 4 ตรวจสอบสำเนาทะเบียนบ้าน กับแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎร จำเลยที่ 4 ก็จะทราบได้โดยง่ายว่า ชื่อและนามสกุล วันเดือนปีเกิด รวมทั้งชื่อบิดามารดาโจทก์กับ พ. นั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง อันแสดงว่าโจทก์และ พ. เป็นคนละคนกัน แต่จำเลยที่ 4 หาได้กระทำไม่ ไม่สมกับเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญด้านกฎหมายในวิชาชีพทนายความ จึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อ เมื่อโจทก์ต้องถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด อันเป็นผลโดยตรงจากการกระทำโดยประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 4 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นการละเมิดต่อโจทก์
ส่วนที่โจทก์มีคำขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันประกาศในหนังสือพิมพ์รายวันว่าโจทก์ไม่ใช่บุคคลที่ถูกฟ้องในคดีหมายเลขแดงที่ 4040/2549 ของศาลล้มละลายกลางโดยให้จำเลยทั้งสี่ออกค่าใช้จ่ายนั้นวัตถุประสงค์ของโจทก์คือต้องการให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวันให้บุคคลทราบโดยทั่วไป การที่ศาลอุทธรณ์ระบุจำนวนฉบับและจำนวนวันก็เพื่อให้ชัดเจนและสะดวกแก่การที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 จะได้ปฏิบัติ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าวจึงไม่เกินคำขอ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21355/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าพนักงานเบียดบังทรัพย์: เลขานุการสภาตำบลเบิกจ่ายเงินค่าจ้างให้ผู้รับจ้างที่ยังทำงานไม่เสร็จ
จำเลยซึ่งเป็นเลขานุการตำบล ล. และเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการและรักษาเงินงบประมาณค่าจ้างของสภาตำบล ล. ได้เบิกเงินงบประมาณค่าจ้างของสภาตำบล แล้วจ่ายเป็นค่าจ้างให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ค. ในขณะที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ค. ยังทำงานขุดลอกคลองไม่แล้วเสร็จตามสัญญา ทั้งๆ ที่องค์การบริหารส่วนตำบล ล. ยังไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินค่าจ้างให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ค. การกระทำของจำเลยดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการที่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการและรักษาเงินงบประมาณค่าจ้างนั้น ได้เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือของผู้อื่นโดยทุจริตอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 147

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20896/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การระงับคดีอาญาหลังจำเลยเสียชีวิต และการอนุญาตให้ทายาทเข้าเป็นคู่ความแทนในคดีแพ่ง
เมื่อจำเลยถึงแก่ความตายสิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (1) สำหรับคดีส่วนแพ่งที่โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ป. เป็นทายาทโดยธรรมและเป็นผู้จัดการมรดกของจำเลยผู้ตาย จึงอนุญาตให้ ป. เข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยผู้มรณะตาม ป.วิ.พ. มาตรา 42

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20106/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแสดงความคิดเห็นโต้ตอบเพื่อปกป้องชื่อเสียงและส่วนได้เสียของตนเอง ไม่เข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นประมาท
จำเลยเคยดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัด โจทก์เคยเป็นประธานทอดกฐิน โจทก์ จำเลย บุคคลที่เกี่ยวข้องกับวัดและกรรมการของวัดขัดแย้งกันเกี่ยวกับเรื่องการเงินของวัดแยกออกเป็นหลายฝ่าย และกล่าวหาอีกฝ่ายยักยอกเงินของวัดจนมีการฟ้องคดีต่อศาล โจทก์เขียนข้อความกล่าวหาจำเลยว่าเคยบวชพระและมีประวัติเป็นอลัชชียักยอกเงินของวัด ไม่มีความละอายต่อบาป และเขียนป้ายประกาศติดไว้ที่หน้าวัดห้ามจำเลยเข้าบริเวณวัดและจำเลยยักยอกเงินของวัด ซึ่งเป็นการกล่าวหาว่าจำเลยเป็นคนโกง เป็นคนไม่ดี การที่จำเลยเขียนหนังสือ และแจกจ่ายหนังสือถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวัดเป็นทำนองตอบโต้โจทก์ เนื่องจากจำเลยเคยดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัด และได้รับผลกระทบทำให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง การแสดงข้อความของจำเลยเป็นการกระทำโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรมที่จะป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรมตาม ป.อ. มาตรา 329 (1) จำเลยไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19385/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าเสียหายจากความผิดสัญญาซื้อขายรถยนต์ และการคาดหมายความเสียหายจากการถูกปรับทางธุรกิจ
โจทก์ทำใบสั่งซื้อรถรวม 26 คัน จากจำเลยที่ 2 ต่อมาโจทก์ทำสัญญาซื้อขายรถ 26 คัน แก่สำนักงานศาลยุติธรรม กำหนดส่งมอบรถภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2549 จำเลยที่ 2 ส่งมอบรถให้โจทก์ 2 งวด งวดแรก 16 คัน งวดที่ 2 อีก 5 คัน และโจทก์ได้ส่งมอบให้แก่สำนักงานศาลยุติธรรมแล้ว จากนั้นจำเลยที่ 2 ผิดสัญญาไม่ส่งมอบรถอีก 5 คัน ให้แก่โจทก์อันเป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 ไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ โจทก์ชอบที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การไม่ชำระหนี้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 215 แต่การเรียกเอาค่าเสียหายนั้น ป.พ.พ. มาตรา 222 แบ่งความเสียหายออกเป็น 2 กรณี กรณีแรกตามวรรคหนึ่ง เป็นความเสียหายเช่นที่ปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้ กรณีที่สองตามวรรคสองเป็นความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ หากว่าคู่กรณีที่เกี่ยวข้องได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้นล่วงหน้าก่อนแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงจำเลยที่ 2 รู้อยู่แล้วว่าโจทก์ซื้อรถจากจำเลยที่ 2 เพื่อนำไปขายให้แก่สำนักงานศาลยุติธรรม และก่อนหน้านั้นจำเลยที่ 2 ได้ส่งมอบรถให้แก่โจทก์ไปแล้วจำนวน 16 คัน โดยตามข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 ไม่ปรากฏว่ามีการระบุวันเวลาส่งมอบรถที่แน่นอนวันใด คงปรากฏตามใบสั่งซื้อว่า "เครดิตการชำระเงิน 30 วัน นับแต่วันส่งมอบรถยนต์" จึงเป็นกรณีที่เวลาอันจะพึงส่งมอบรถไม่ได้กำหนดกันไว้ โจทก์ย่อมเรียกให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบรถที่เหลือได้โดยพลัน และจำเลยที่ 2 ก็ชอบที่จะส่งมอบรถที่เหลือได้โดยพลันเช่นกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 โจทก์มีหนังสือให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบรถที่ค้าง 10 คัน โดยมีใจความสำคัญว่า โจทก์ได้แจ้งด้วยวาจาผ่าน ม. ขอรับรถภายในวันที่ 20 พฤษภาคม 2549 แต่โจทก์ได้รับแจ้งกลับว่าจำเลยที่ 2 หารถส่งมอบให้ได้เพียง 5 คัน ที่เหลือต้องไปรับเดือนหน้าเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงหากไม่สามารถส่งมอบรถได้ทันเวลาภายในวันที่ 29 พฤษภาคม 2549 จึงขอให้ดำเนินการช่วยเหลือโจทก์โดยด่วน เท่ากับโจทก์กำหนดเวลาแน่นอนให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบรถให้แก่โจทก์ภายในวันที่ 29 พฤษภาคม 2549 ดังนี้ เมื่อจำเลยที่ 2 ทราบแล้วว่าโจทก์ซื้อรถจากจำเลยที่ 2 โดยโจทก์มีความผูกพันที่จะต้องส่งมอบรถให้แก่สำนักงานศาลยุติธรรม จำเลยที่ 2 ย่อมเข้าใจความหมายตามหนังสือฉบับดังกล่าวได้ว่า หากจำเลยที่ 2 ไม่ส่งมอบรถอีก 5 คัน ให้แก่โจทก์ภายในกำหนด โจทก์จะได้รับความเสียหายจากการที่โจทก์จะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่สำนักงานศาลยุติธรรมตามสัญญา แม้ต่อมาวันที่ 25 พฤษภาคม 2549 จำเลยที่ 2 จะมีหนังสือถึงโจทก์ว่าจำเลยที่ 2 ไม่สามารถส่งมอบรถอีก 5 คัน ให้โจทก์ได้เนื่องจากจำเลยที่ 2 ประมาณการสั่งซื้อผิดพลาด ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนในการส่งมอบรถให้โจทก์ได้ภายในวันที่ 29 พฤษภาคม 2549 และการที่โจทก์มีหนังสือฉบับลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2549 ถึงจำเลยที่ 2 อีกครั้งโดยสำทับว่าโจทก์จะได้รับความเสียหายจากค่าปรับของสำนักงานศาลยุติธรรม ขอให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบรถที่เหลืออีก 5 คัน แก่โจทก์ภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2549 และกำชับว่าให้จำเลยที่ 2 ดำเนินการส่งมอบรถโดยด่วนเพื่อมิให้เกิดความเสียหายตามมาภายหลังในความผิดพลาดของจำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 2 คงเพิกเฉย จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 2 ผิดสัญญาเมื่อโจทก์เรียกให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบรถครั้งสุดท้าย มิใช่ผิดสัญญาตั้งแต่ครั้งที่จำเลยที่ 2 แจ้งเหตุขัดข้องว่าไม่สามารถส่งมอบรถได้ ตามพฤติการณ์จึงเป็นการชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 2 รู้อยู่ว่าโจทก์มีหนี้ที่จะต้องชำระโดยส่งมอบรถให้แก่สำนักงานศาลยุติธรรม และหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ที่จำเลยที่ 2 ย่อมคาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นก่อนที่จำเลยที่ 2 ผิดสัญญาว่า โจทก์จะได้รับความเสียหายจากการถูกสำนักงานศาลยุติธรรมปรับตามสัญญาอันเนื่องจากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระหนี้ส่งมอบรถให้แก่โจทก์ภายในกำหนด จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในความเสียหายของโจทก์ที่ถูกสำนักงานศาลยุติธรรมปรับจำนวน 1,800,000 บาท เมื่อค่าปรับดังกล่าวเป็นหนี้เงิน โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 2 ในระหว่างผิดนัดได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19126/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่ชอบด้วยกฎหมาย: การฎีกาต้องคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยตรง มิใช่คัดลอกคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 216 วรรคหนึ่ง วางหลักสำคัญในการฎีกาว่า ฎีกาจะต้องคัดค้านคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลอุทธรณ์ คดีนี้ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมารับฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่าจำเลยที่ 1 กับพวกเป็นคนร้ายร่วมกันฆ่าผู้ตาย แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 เห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์ยังมีความสงสัยตามสมควรต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยที่ 1 และพิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง เท่ากับศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่เห็นด้วยกับการฟังข้อเท็จจริงและเหตุผลในการตัดสินของศาลชั้นต้น โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 7 โดยแสดงข้อคัดค้านด้วยการคัดลอกคำตัดสินของศาลชั้นต้นทั้งในส่วนข้อเท็จจริงและเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยชนิดคำต่อคำ เริ่มจากข้อความที่ศาลชั้นต้น เห็นว่า เป็นต้นมาจนจบคำวินิจฉัย มาหักล้างข้อวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ซึ่งข้อเท็จจริงและเหตุผลที่ศาลชั้นต้นยกขึ้นวินิจฉัยตามที่โจทก์ฎีกานั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้พิจารณาแล้วไม่เห็นพ้องด้วยโดยศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงและแสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยในแง่มุมต่าง ๆ ไว้หลายประการซึ่งต่างไปจากข้อเท็จจริงและเหตุผลที่ศาลชั้นต้นยกขึ้นวินิจฉัย อันเป็นการหักล้างการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น แม้ฎีกาโจทก์จะกล่าวเพิ่มเติมมาบ้าง 6 ถึง 7 บรรทัด ก็เป็นฎีกาลอย ๆ ที่กล่าวปิดท้ายก่อนที่จะสรุปทำนองเดียวกับศาลชั้นต้นว่า พยานหลักฐานโจทก์รับฟังได้มั่นคงและชัดเจนโดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนร้ายจริง เท่ากับโจทก์มิได้ฎีกาคัดค้านโดยตรงต่อคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ว่า คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ที่รับฟังข้อเท็จจริงและแสดงเหตุผลซึ่งผิดไปจากที่ศาลชั้นต้นยกขึ้นวินิจฉัยนั้น มีข้อเท็จจริงใดที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 รับฟังมาไม่ถูกต้องหรือเห็นว่าคลาดเคลื่อนไปจากพยานหลักฐานโจทก์ที่ควรรับฟังในข้อใด และมีข้อวินิจฉัยที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ให้เหตุผลไม่สมแก่ข้อเท็จจริงในเรื่องใดและเพราะเหตุใด หรือไม่ลงรอยแก่เหตุผลที่ควรจะเป็นไปในเหตุการณ์ใด ฎีกาของโจทก์จึงมีผลไม่ต่างไปจากการขอถือเอาคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเป็นข้อฎีกาของโจทก์ ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 เพื่อการวินิจฉัยของศาลฎีกาโดยตรง เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยข้อกฎหมาย
of 24