พบผลลัพธ์ทั้งหมด 238 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8793/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิการเรียกร้องค่าเสียหายของผู้ตายที่มีส่วนประมาท: สิทธิของทายาทในการเป็นโจทก์ร่วมและคำขอชดใช้ค่าเสียหาย
เมื่อข้อเท็จจริงว่าผู้ตายมีส่วนประมาทยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ผู้ตายจึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย โจทก์ร่วมซึ่งเป็นบุตรของผู้ตายไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ รวมทั้งมีผลให้คำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ตกไปด้วย ที่ศาลชั้นต้นมิได้ยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ของโจทก์ร่วม กับให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วม จึงไม่ชอบ และที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยโดยฟังว่า จำเลยมีส่วนประมาทไม่ยิ่งหย่อนกว่าผู้ตาย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วม อันเป็นการวินิจฉัยคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนของโจทก์ร่วม ก็เป็นการไม่ชอบเช่นกัน และไม่ก่อให้เกิดสิทธิฎีกาแก่โจทก์ร่วม ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8488/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจฟ้องของกรรมการที่ไม่ผ่านมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น: ปัญหาความสงบเรียบร้อยที่ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัย
ในการจดทะเบียนเพิ่มโจทก์เป็นกรรมการคนใหม่ของบริษัทตามคำขอจดทะเบียนบริษัทจำกัด มิได้มีการจัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อลงมติตามข้อบังคับของบริษัทแต่อย่างใด ดังนี้ การเป็นกรรมการของโจทก์จึงไม่ถูกต้องตามกฎหมายและเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับของบริษัท โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย ย่อมไม่มีอำนาจฟ้อง เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6416/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเปลี่ยนแปลงกฎหมายบัตรประชาชนกระทบต่อองค์ประกอบความผิดฐานสนับสนุนการกระทำผิด และการปรับบทลงโทษตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่
ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มี พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2554 มาตรา 11 ให้ยกเลิกความในมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 ซึ่งแก้ไขโดย พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2542 และให้ใช้ความใหม่แทน ตามมาตรา 14 วรรคสาม (ที่แก้ไขใหม่) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดคดีนี้ได้จำกัดองค์ประกอบความผิดจากเดิมที่กำหนดให้ผู้สนับสนุนการกระทำความผิดเป็นเจ้าพนักงานไม่ว่าจะมีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้หรือไม่ก็ตาม เป็นว่าผู้สนับสนุนการกระทำความผิดต้องเป็นเจ้าพนักงานออกบัตร เจ้าพนักงานตรวจบัตร หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวหมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้เท่านั้น ดังนั้น เมื่อโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องและนำสืบว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงานออกบัตร เจ้าพนักงานตรวจบัตร หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน กรณีไม่อาจลงโทษจำเลยตามมาตรา 14 วรรคสาม ตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ได้
องค์ประกอบความผิดในฐานผู้สนับสนุนตามมาตรา 14 วรรคสาม ตามกฎหมายเดิมยังบัญญัติให้การกระทำของจำเลยคงเป็นความผิดอยู่ตามมาตรา 14 (2) วรรคหนึ่ง ตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ ประกอบ ป.อ. มาตรา 86 และเมื่อโทษตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่เป็นคุณมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยไม่ว่าในทางใดตาม ป.อ. มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
องค์ประกอบความผิดในฐานผู้สนับสนุนตามมาตรา 14 วรรคสาม ตามกฎหมายเดิมยังบัญญัติให้การกระทำของจำเลยคงเป็นความผิดอยู่ตามมาตรา 14 (2) วรรคหนึ่ง ตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ ประกอบ ป.อ. มาตรา 86 และเมื่อโทษตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่เป็นคุณมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยไม่ว่าในทางใดตาม ป.อ. มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5388/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
เจตนาทุจริตออกเช็ค – ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน – ความผิดตาม พ.ร.บ.เช็ค
จำเลยจงใจเขียนเช็คทั้งสองฉบับด้วยการลงลายมือชื่อในเช็คไม่เหมือนตัวอย่างที่ให้ไว้แก่ธนาคารและจงใจเขียนตัวเลขอารบิกให้แตกต่างกันอีก พฤติการณ์ดังกล่าวส่อแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตเพื่อให้ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน เนื่องจากจำเลยรู้อยู่แล้วว่าไม่มีเงินในบัญชีของธนาคารดังกล่าวการกระทำของจำเลยเป็นการออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 (1)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3628/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การกระทำเพื่อให้เสียหายซึ่งทรัพย์ที่อาจถูกยึดเพื่อหลีกเลี่ยงการบังคับคดีตามคำพิพากษา
เมื่อจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลพิพากษาตามยอมแล้ว จำเลยก็ต้องปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอม จะอ้างเหตุดังที่จำเลยนำสืบมาบ่ายเบี่ยงหรือหน่วงเหนี่ยวมิให้เป็นไปตามคำพิพากษาตามยอมโดยที่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งที่ทำยอมมิได้ตกลงด้วยหาได้ไม่ การที่จำเลยกระทำการเกี่ยวกับทรัพย์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ทำให้ยุ่งยากแก่การบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาตามยอม จึงเป็นการเพื่อจะมิให้การเป็นไปตามคำพิพากษาตามยอมของศาลทำให้เสียหายซึ่งทรัพย์ที่จำเลยรู้ว่าน่าจะถูกยึดหรืออายัด อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 187
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3254/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ประกันภัยรถยนต์: ผู้รับประกันภัยต้องรับผิดชอบค่าสินไหมทดแทนแม้ผู้ขับขี่เมาสุรา ผู้เอาประกันภัยต้องชดใช้คืน
โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุน โจทก์ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกซึ่งผู้เอาประกันจะต้องรับผิดชอบ บุคคลภายนอกมีสิทธิเรียกร้องจากผู้รับประกันภัยได้โดยตรงตาม ป.พ.พ. มาตรา 887 เมื่อจำเลยผู้เอาประกันภัยทำละเมิดและต้องรับผิดชอบต่อ ว. ท. และ จ. บุคคลภายนอก โจทก์ย่อมมีหน้าที่ที่จะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ ว. ท. และ จ. ตามบทบัญญัติในมาตราดังกล่าว โจทก์ไม่อาจนำข้อยกเว้นความรับผิด เนื่องจากขณะขับขี่จำเลยมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดไม่น้อยกว่า 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 ข้อ 7.6 ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ใช้บังคับระหว่างโจทก์ผู้รับประกันภัยกับจำเลยผู้เอาประกันภัยไปใช้เป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกตามบทบัญญัติในมาตราดังกล่าวได้ โจทก์ยังต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอก เพียงแต่เมื่อโจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บุคคลภายนอกไปแล้ว จำเลยต้องใช้เงินที่โจทก์ใช้ไปนั้นคืนโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3134/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การปรับบทลงโทษฐานลักทรัพย์ที่ผิดประเภท ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ แม้ไม่มีการฎีกา
สายโทรศัพท์ที่จำเลยทั้งสองร่วมกันลักเป็นทรัพย์ของโจทก์ร่วมที่มีไว้ใช้ให้บริการแก่ลูกค้า ไม่ใช่ทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ตาม ป.อ. มาตรา 335 (10) ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ปรับบทลงโทษตามมาตรา 335 (10) จึงไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2967/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การแบ่งบรรจุยาเสพติดเพื่อจำหน่ายเข้าข่ายความผิดฐาน 'ผลิต' ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติด
ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4 บัญญัติว่า "ผลิต" หมายความว่า เพาะ ปลูก ทำ ผสม ปรุง แปรสภาพ เปลี่ยนรูป สังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์และให้หมายความรวมถึง การแบ่งบรรจุ หรือรวมบรรจุด้วย ดังนั้น การที่จำเลยแบ่งบรรจุเมทแอมเฟตามีนใส่หลอดกาแฟ 6 หลอด หลอดละ 10 เม็ด และยังเตรียมบรรจุอีก 2,600 เม็ด ซึ่งเป็นการกระทำเพื่อความสะดวกแก่การจำหน่าย ทำให้ยาเสพติดให้โทษแพร่ระบาดได้ง่ายขึ้น อันเป็นอันตรายแก่สังคมอย่างร้ายแรง จึงเป็นความผิดฐานผลิตเมทแอมเฟตามีนตามบทกฎหมายดังกล่าวแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2754/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การกำหนดโทษใหม่ตามกฎหมายยาเสพติดที่แก้ไข กรณีโทษเดิมหนักกว่าโทษใหม่
ความผิดฐานผลิตเฮโรอีนเพื่อจำหน่ายตาม พ.รบ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 65 วรรคสอง (เดิม) ต้องระวางโทษประหารชีวิตสถานเดียว ศาลอุทธรณ์ภาค 9 จึงพิพากษาให้ประหารชีวิต แต่เมื่อลดโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (2) คงจำคุก 25 ปี เช่นนี้ต้องถือว่าโทษที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 กำหนดตามคำพิพากษาคือโทษประหารชีวิต มิใช่โทษจำคุก 25 ปี ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้ว เมื่อปรากฏว่าระหว่างที่จำเลยกำลังรับโทษตามคำพิพากษาซึ่งคดีถึงที่สุดแล้วนั้น ได้มี พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 มาตรา 8 และมาตรา 9 ยกเลิกความในมาตรา 15 และมาตรา 65 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน ซึ่งเฮโรอีนที่จำเลยผลิตโดยการแบ่งบรรจุมีน้ำหนัก 0.30 กรัม เป็นที่เข้าใจว่าหากคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์คงไม่ถึง 3 กรัม เมื่อจำเลยผลิตเฮโรอีนของกลางโดยการแบ่งบรรจุเพื่อจำหน่าย การกระทำของจำเลยจึงต้องด้วยมาตรา 65 วรรคสี่ ที่แก้ไขใหม่ ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่สี่แสนบาทถึงห้าล้านบาท อันเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่ากฎหมายเดิม เมื่อโทษที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 กำหนดคือโทษประหารชีวิต หนักกว่าโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่สี่แสนบาทถึงห้าล้านบาทตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง ศาลต้องกำหนดโทษให้จำเลยใหม่ตามโทษที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังตาม ป.อ. มาตรา 3 (1) มิใช่ถือเอาโทษจำคุก 25 ปี ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ลดโทษให้แล้วมาเป็นหลักในการเปรียบเทียบกับโทษที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22779/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การบังคับคดีและการโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินหลังศาลพิพากษา บสท. ต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด
บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยหรือ บสท. ประสงค์จะบังคับจำนองทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน สำหรับทรัพย์สินด้อยคุณภาพในฐานะที่เป็นเจ้าหนี้จำนองตามมาตรา 74 เมื่อผู้จำนองไม่ชำระหนี้ภายในกำหนดเวลา บสท. มีอำนาจดำเนินการจำหน่ายทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันนั้นได้ โดยวิธีการขายทอดตลาด เว้นแต่ บสท. เห็นว่า การจำหน่ายโดยวิธีอื่นจะเป็นประโยชน์กับ บสท. และลูกหนี้มากกว่า ก็ให้จำหน่ายโดยวิธีอื่นได้ หรือจะรับโอนทรัพย์สินนั้นไว้ในราคาไม่น้อยกว่าราคาที่จะพึงได้รับจากการขายทอดตลาดแทนการจำหน่ายก็ได้ แต่สำหรับกรณีที่ บสท. ดำเนินการยื่นคำร้องขอสวมสิทธิเข้าเป็นโจทก์แทนเจ้าหนี้เป็นการดำเนินการตาม พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 30 วรรคหก ซึ่งมาตรา 41 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ได้กำหนดว่า ภายใต้บังคับมาตรา 30 ในคดีที่สถาบันการเงินหรือบริษัทบริหารสินทรัพย์ฟ้องเป็นคดีต่อศาลเกี่ยวกับสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่ บสท. รับโอนมาตามพระราชกำหนดนี้ให้ บสท. เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทน ในกรณีที่ศาลได้มีคำพิพากษาบังคับคดีตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ บสท. เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษานั้น ดังนั้นเมื่อ บสท. เลือกที่จะเข้าสวมสิทธิเป็นโจทก์แทนเจ้าหนี้ แทนที่จะยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความจนกระทั่งศาลมีคำพิพากษาแล้ว บสท. จึงต้องดำเนินกระบวนพิจารณาคดีต่อไปตามมาตรา 41 เมื่อในคดีเดิมศาลชั้นต้นพิพากษาให้ บสท. เป็นฝ่ายชนะคดี บสท. ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษายื่นคำขอต่อศาลให้ออกหมายบังคับคดีแล้วจึงต้องดำเนินการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่พิพากษาว่า หากลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ชำระหนี้หรือชำระไม่ครบให้ยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้จนครบ การที่ บสท. ไปขอรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ทั้งสามต่อเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางกอกน้อย จึงเป็นการดำเนินการที่ขัดต่อ พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 41