คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ประทีป ดุลพินิจธรรมา

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 238 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10267/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายในคดีละเมิด: เจ้าของรถ vs. ผู้ขับขี่และผู้จ่ายค่าพาหนะ
แม้โจทก์จะเป็นบิดา ณ. เจ้าของรถจักรยานยนต์ซึ่งเป็นผู้เยาว์ และเป็นผู้ครอบครองรถจักรยานยนต์คันเกิดเหตุในขณะเกิดเหตุ แต่เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าของผู้มีกรรมสิทธิ์ในรถจักรยานยนต์คันเกิดเหตุ และไม่มีกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ครอบครองรถจักรยานยนต์คันเกิดเหตุในขณะเกิดเหตุจะต้องรับผิดต่อ ณ. ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในเหตุละเมิดดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าซ่อมรถจักรยานยนต์ซึ่งเป็นค่าเสียหายที่เกี่ยวกับตัวรถโดยตรงจากจำเลย นอกจากนี้ ณ. เป็นผู้ใช้รถจักรยานยนต์คันเกิดเหตุขับไปเรียนหนังสือ จึงเป็นสิทธิของ ณ. ที่จะฟ้องเรียกค่าพาหนะดังกล่าวมิใช่โจทก์ แม้โจทก์จะเป็นผู้จ่ายค่าพาหนะให้แก่ ณ. ก็ตามโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายดังกล่าวจากจำเลยเช่นเดียวกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9141/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยึดหน่วงโฉนดที่ดินเพื่อชำระหนี้ค่าใช้จ่ายออกโฉนด จำเลยขาดเจตนาในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 188
ผู้เสียหายมอบอำนาจให้ ป. ไปดำเนินการออกโฉนดที่ดินแทนผู้เสียหายการที่จำเลยยึดหน่วงโฉนดที่ดินของผู้เสียหายไว้ สืบเนื่องมาจาก ป. กู้ยืมเงินจากจำเลยเพื่อนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการออกโฉนดให้แก่ผู้เสียหาย โดย ป. จะได้รับค่าจ้างเป็นการตอบแทนหลังจากได้รับโฉนดที่ดินแล้ว และ ป. นำโฉนดที่ดินให้จำเลยยึดถือไว้เป็นประกัน อีกทั้ง ป. มิได้เป็นญาติหรือมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องอันใดกับผู้เสียหายในการที่จะดำเนินการรังวัดออกโฉนดให้ผู้เสียหายโดยไม่คิดค่าตอบแทน และผู้เสียหายก็ยอมรับว่า ป. แจ้งว่านำโฉนดที่ดินไปให้ไว้กับจำเลย หากผู้เสียหายชำระเงินจำนวน 700,000 บาท จะนำโฉนดที่ดินมาคืนให้ และจำเลยยังได้โทรศัพท์มาหาผู้เสียหายให้ผู้เสียหายชำระเงินคืนให้ พฤติการณ์มีเหตุอันสมควรทำให้จำเลยเข้าใจว่า ป. มีสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายจากผู้เสียหาย เมื่อ ป. ตกลงให้จำเลยรับเงินจากผู้เสียหายแทนโดยมอบโฉนดที่ดินแก่ผู้เสียหายจนกว่าผู้เสียหายจะชำระค่าใช้จ่ายในการออกโฉนดที่ดินให้ก่อนนั้น จำเลยจึงขาดเจตนากระทำความผิด ตาม ป.อ. มาตรา 188

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8870/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน: การกระทำหลายกรรมต่างกัน
พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ผู้ใดโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชน หรือกระทำด้วยประการใด ๆ ให้ปรากฏแก่บุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปว่าในการกู้ยืมเงิน ตนหรือบุคคลใดจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้ตามพฤติการณ์แห่งการกู้ยืมเงิน ในอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้โดยที่ตนรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าตนหรือบุคคลนั้นจะนำเงินจากผู้ให้กู้ยืมเงินรายนั้นหรือรายอื่นมาจ่ายหมุนเวียนให้แก่ผู้ให้กู้ยืมเงิน หรือโดยที่ตนรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าตนหรือบุคคลนั้นไม่สามารถประกอบกิจการใด ๆ โดยชอบด้วยกฎหมายที่จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนพอเพียงที่จะนำมาจ่ายในอัตรานั้นได้ และในการนั้นเป็นเหตุให้ตนหรือบุคคลใดได้กู้ยืมเงินไป ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน" การโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชนหรือการกระทำด้วยประการใด ๆ ให้ปรากฏแก่บุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไป อันจะทำให้เป็นความผิดสำเร็จฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ไม่จำเป็นที่จำเลยทั้งสองจะต้องกระทำการดังกล่าวต่อผู้เสียหายแต่ละคนด้วยตนเองทุกครั้งเป็นคราว ๆ ไป เพียงแต่จำเลยทั้งสองแสดงข้อความดังกล่าวให้ปรากฏแก่ผู้เสียหายแม้เพียงบางคน แล้วเป็นผลให้ประชาชนหลงเชื่อนำเงินมาให้จำเลยทั้งสองกู้ยืม ก็ถือว่าเป็นการกระทำความผิดแล้ว ข้อสำคัญที่ทำให้ความผิดสำเร็จอยู่ที่ในการนั้นเป็นเหตุให้ตนหรือบุคคลใดได้เงินกู้ยืมไปจากผู้ถูกหลอกลวง ทั้งการกระทำดังกล่าวโดยสภาพเป็นการกระทำต่อบุคคลหลายคนจึงอาจกระทำต่อบุคคลเหล่านั้นต่างวาระกันได้ การกระทำที่จะเป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรมย่อมขึ้นอยู่กับลักษณะของการกระทำที่มีเจตนามุ่งกระทำเพื่อให้เกิดผลต่อบุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปหรือประชาชนเพียงครั้งเดียวหรือหลายครั้ง มิได้พิจารณาจากองค์ประกอบความผิดที่ต้องกระทำต่อบุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปเพียงอย่างเดียวเป็นเครื่องชี้เจตนาของผู้กระทำเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยทั้งสองกู้ยืมเงินจากโจทก์ร่วมทั้งสิบเจ็ด ผู้เสียหายที่ 11 และที่ 14 คนละวันเวลาและในสถานที่แตกต่างกัน โดยเจตนาให้เกิดผลต่อโจทก์ร่วมและผู้เสียหายแยกต่างหากจากกัน ดังนั้น การกระทำของจำเลยทั้งสองแต่ละครั้งถือว่าเป็นความผิดสำเร็จสำหรับโจทก์ร่วมและผู้เสียหายแต่ละคนแล้ว จึงเป็นความผิดหลายกรรมตามจำนวนโจทก์ร่วมและผู้เสียหายที่จำเลยทั้งสองร่วมกันหลอกลวง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8377/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อุทธรณ์คำสั่งที่ไม่ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญ ต้องวางเงินค่าธรรมเนียมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 หากมีผลกระทบต่อคำพิพากษา
คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่ส่งคำร้องของจำเลยที่ 2 ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย เป็นคำสั่งก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาชี้ขาดตัดสินคดี แม้เป็นคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องขอตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 264 ก็เป็นคำสั่งในขั้นตอนการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลยุติธรรมเป็นคำสั่งในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 มิใช่คำสั่งไม่รับหรือคืนคำคู่ความตามมาตรา 18, 227, 228 ดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกาอย่างไรก็ตาม การอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นเพียงประการเดียวหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วโดยมิได้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นการอุทธรณ์คำสั่งในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นหรือไม่ก็ตาม นอกจากผู้อุทธรณ์จะต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์แล้ว หากอุทธรณ์คำสั่งนั้นมีผลกระทบต่อคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ผู้อุทธรณ์ก็อยู่ในบังคับที่จะต้องนำเงินค่าธรรมเนียมมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์ตามมาตรา 229 คดีนี้แม้จำเลยที่ 2 อุทธรณ์เฉพาะคำสั่งในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นดังกล่าวเพียงประการเดียวโดยมิได้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นด้วย แต่อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 เช่นนี้เป็นอุทธรณ์ที่มีผลกระทบต่อคำพิพากษาของศาลชั้นต้นโดยตรง เพราะหากอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้นศาลอุทธรณ์ภาค 1 ก็จะอนุญาตให้ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ย่อมทำให้ศาลชั้นต้นต้องดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ โดยศาลชั้นต้นต้องรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 264 วรรคหนึ่ง ซึ่งมีผลทำให้คำพิพากษาของศาลชั้นต้นถูกเพิกถอนไปด้วย เท่ากับเป็นการอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นอยู่ในตัว จำเลยที่ 2 จึงต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์ตามมาตรา 229 การที่จำเลยที่ 2 ยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวโดยมิได้นำเงินค่าธรรมเนียมมาวางศาลเช่นนี้ จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติมาตรา 229 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ทั้งสองฉบับจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8377/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับฟ้อง – ผลกระทบต่อคำพิพากษา – การนำเงินค่าธรรมเนียมมาวางศาลพร้อมอุทธรณ์ตามมาตรา 229
คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่ส่งคำร้องของจำเลยที่ 2 ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย เป็นคำสั่งก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาชี้ขาดตัดสินคดี แม้เป็นคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องขอตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 264 ก็เป็นคำสั่งในขั้นตอนการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลยุติธรรมเป็นคำสั่งในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 มิใช่คำสั่งไม่รับหรือคืนคำคู่ความตามมาตรา 18, 227, 228
การอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นเพียงประการเดียวหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วโดยมิได้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นการอุทธรณ์คำสั่งในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นหรือไม่ก็ตาม นอกจากผู้อุทธรณ์จะต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์แล้ว หากอุทธรณ์คำสั่งนั้นมีผลกระทบต่อคำพิพากษาของศาลชั้นต้นผู้อุทธรณ์ก็ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์เฉพาะคำสั่งในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นเพียงประการเดียวโดยมิได้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นด้วย แต่อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 มีผลกระทบต่อคำพิพากษาของศาลชั้นต้นโดยตรง เพราะหากอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ก็จะอนุญาตให้ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ย่อมทำให้ศาลชั้นต้นต้องดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ โดยต้องรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 264 วรรคหนึ่ง ซึ่งมีผลทำให้คำพิพากษาของศาลชั้นต้นถูกเพิกถอนไปด้วย เท่ากับเป็นการอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นอยู่ในตัว จำเลยที่ 2 จึงต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229
ฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ว่า บทบัญญัติ ป.วิ.พ. มาตรา 229 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ใช้บังคับคดีนี้เป็นบทบัญญัติที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540 มาตรา 2, 30, 272 ขอให้ศาลฎีการอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว และส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อน มีลักษณะเลื่อนลอยไม่ชัดแจ้งว่าบทบัญญัติ ป.วิ.พ. มาตรา 229 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 2, 30, 272 อย่างไรหรือเป็นเพราะเหตุใด เป็นฎีกาที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 6 ประกอบมาตรา 264 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาจึงไม่จำต้องรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวและส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7884/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ทำลายทรัพย์สินสาธารณประโยชน์จากความขัดแย้งผลประโยชน์: จำเลยมีความผิดตาม ป.อ.มาตรา 360
โรงงานที่เสียหายเป็นของผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นหน่วยงานของทางราชการที่ไม่ได้แสวงหากำไร เพียงแต่อนุญาตให้สหกรณ์ซึ่งมีผู้เสียหายที่ 2 เป็นประธานเป็นผู้ดูแลเท่านั้น ประชาชนมีสิทธิเป็นสมาชิกและเข้าใช้ประโยชน์ได้ จึงเป็นทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ จึงฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตาม ป.อ.มาตรา 360
ความเสียหายที่จำเลยก่อกับทรัพย์ไม่ถึงกับทำให้ทรัพย์ใช้งานไม่ได้อีกต่อไป ทั้งจำเลยกระทำระหว่างสมาชิกหยุดใช้งานโรงรมยางพาราเพราะอยู่ในช่วงยางพาราผลัดใบ ประกอบกับจำเลยกระทำเพราะเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมที่ไม่ได้ผลประโยชน์ตอบแทนจากที่ยินยอมให้สร้างโรงรมยางพาราในที่ดินของจำเลย จึงเห็นสมควรลงโทษจำเลยสถานเบาและรอการลงโทษให้ ตาม ป.อ. มาตรา 29, 30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7878/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีทับซ้อนเอกสารสิทธิ: เพิกถอนขายทอดตลาดเมื่อส่งมอบทรัพย์ไม่ได้
คำร้องของผู้ซื้อทรัพย์อ้างว่า โจทก์ไม่สามารถส่งมอบที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ที่ขายทอดตลาดให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ได้ เนื่องจากที่ดินดังกล่าวได้ออกทับโฉนดที่ดินแปลงอื่นโดยไม่มีเนื้อที่เหลืออยู่เลย เท่ากับอ้างว่าโจทก์หรือเจ้าพนักงานบังคับคดีนำทรัพย์สินออกขายทอดตลาดแต่ไม่สามารถส่งมอบทรัพย์ให้แก่ผู้ซื้อ ถือได้แล้วว่าเป็นการอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ภาค 4 ลักษณะ 2 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสองแล้ว เมื่อได้ความว่า มีการออกเอกสารสิทธิในที่ดินทับซ้อนกันและยังมิได้มีการเพิกถอนเอกสารสิทธิในที่ดินฉบับใดฉบับหนึ่ง ย่อมมีเหตุขัดข้องในการบังคับคดีให้ลุล่วงไป กรณีมีเหตุสมควรให้เพิกถอนการขายทอดตลาดรายนี้ได้ ส่วนเรื่องเพิกถอนเอกสารสิทธิในที่ดินฉบับใดฉบับหนึ่งหรือไม่อย่างไรเป็นเรื่องที่ผู้เกี่ยวข้องจะต้องไปว่ากล่าวกันต่างหากหลังจากเพิกถอนการขายทอดตลาดแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7461/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลำกระโดงที่ใช้ประโยชน์ร่วมกันเป็นสาธารณสมบัติ แม้ที่ดินโฉนดจะครอบคลุม ก็มิอาจหวงห้ามได้
สำเนาโฉนดที่ดินเลขที่ 120 และ 121 เป็นโฉนดที่ดินที่ออกให้ตั้งแต่รัชสมัยของรัชกาลที่ 5 เมื่อปี ร.ศ.125 โดยระบุอาณาเขตของที่ดินทั้งสองแปลงว่าด้านทิศใต้จดลำกระโดงและตามรูปแผนที่ในโฉนดที่ดินก็ปรากฏว่าด้านทิศใต้ของที่ดินเป็นลำกระโดง แสดงให้เห็นว่าลำกระโดงมีมาไม่น้อยกว่า 100 ปีแล้ว โดยไม่ปรากฏหลักฐานว่าเป็นลำกระโดงที่มีอยู่ตามธรรมชาติหรือมีผู้ใดขุดให้เป็นลำกระโดงและขุดตั้งแต่เมื่อใด ซึ่งโจทก์ที่ 1 เบิกความยอมรับว่าในสมัยก่อนเจ้าของที่ดินที่ลำกระโดงผ่านจะใช้ลำกระโดงเป็นทางออกเพื่อขนผลิตผลทางการเกษตรออกไปสู่คลองชักพระและได้ความจาก ฉ. พยานโจทก์อีกปากหนึ่งว่า ลำกระโดงมีระยะทางเริ่มต้นจากคลองชักพระไปจนถึงสวนของพยานซึ่งเป็นระยะทางประมาณ 1,000 เมตร ผู้อยู่อาศัยทั้งสองฝั่งของลำกระโดงจะแบ่งกันใช้น้ำและใช้ประโยชน์ในลำกระโดงร่วมกันจึงสอดคล้องกับคำเบิกความของ ว. และ บ. พยานจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งขณะเบิกความต่างมีอายุ 69 ปี และตั้งบ้านเรือนอยู่ริมลำกระโดงที่พิพาทมาเป็นเวลานาน โดยพยานทั้งสองเบิกความยืนยันว่า ตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายายเป็นต้นมาชาวบ้านบริเวณดังกล่าวใช้ลำกระโดงพิพาทเป็นทางสัญจรและใช้ขนผลิตผลทางการเกษตรโดยทางเรือออกสู่ภายนอก พยานเห็นว่าลำกระโดงพิพาทมีมาตั้งแต่เกิดและได้ใช้ลำกระโดงดังกล่าวเป็นทางสัญจรเช่นเดียวกับชาวบ้านในละแวกนั้นโดยไม่เคยมีบุคคลใดหวงห้าม เมื่อพิจารณาจากภาพถ่ายแล้วเห็นได้ว่าลำกระโดงสายนี้ยังมีสภาพที่ประชาชนสามารถใช้เรือสัญจรไปมาออกสู่คลอกชักพระได้โดยสะดวก จากพยานหลักฐานดังกล่าวฟังได้ว่าประชาชนในละแวกนั้นได้ใช้ลำกระโดงสายนี้เป็นเส้นทางสัญจรไปมาเป็นเวลานานหลายสิบปีแล้ว หากจะฟังว่าลำกระโดงสายนี้เกิดจากการขุดสร้างขึ้นเองของชาวบ้านทั้งสองฝั่งในที่ดินของตนเพื่อประโยชน์ในการใช้น้ำและการสัญจรไปมาก็ถือได้ว่าเจ้าของที่ดินแต่เดิมได้ยกที่ดินส่วนที่เป็นลำกระโดงพิพาทให้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตาม ป.พ.พ.มาตรา 1304 แล้วโดยปริยาย หากจำต้องการแสดงเจตนาอุทิศให้หรือจดทะเบียนยกให้เป็นทางสาธารณะต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แต่อย่างใดไม่ เมื่อฟังว่าลำกระโดงพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันมาเป็นเวลาเนิ่นนานก่อนที่โจทก์ทั้งสองจะรับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 120 และ 121 จากเจ้าของเดิม แม้ลำกระโดงพิพาทจะอยู่ในเขตโฉนดที่ดินของโจทก์ทั้งสอง และโจทก์ทั้งสองได้กลับเข้าหวงกันหรือประชาชนใช้ประโยชน์จากลำกระโดงพิพาทน้อยลงจากเดิม ก็ไม่ทำให้ลำกระโดงพิพาทหมดสภาพจากการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินกลับไปเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของที่ดินที่ได้กรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินดังกล่าวอีก โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิที่จะยึดถือเอาลำกระโดงพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6831/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการบังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ: การส่งสำเนาคำชี้ขาดเป็นเงื่อนไขสำคัญ
พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะพิพาท มาตรา 21 วรรคสี่ บัญญัติว่า เมื่อทำคำชี้ขาดแล้วอนุญาโตตุลาการหรือผู้ชี้ขาดจะต้องจัดส่งสำเนาคำชี้ขาดถึงคู่กรณีที่เกี่ยวข้องทุกคน และมาตรา 23 บัญญัติให้คู่กรณีฝ่ายที่ประสงค์จะให้มีการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจภายในกำหนดเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ได้ส่งสำเนาคำชี้ขาดถึงคู่กรณีตามมาตรา 21 วรรคสี่แล้ว แสดงว่าผู้ร้องจะเกิดสิทธิหรืออำนาจที่จะยื่นคำร้องขอให้มีการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการได้ก็ต่อเมื่อมีการจัดส่งสำเนาคำชี้ขาดให้แก่ผู้คัดค้านแล้ว แม้อนุญาโตตุลาการจะมีหน้าที่จัดส่งสำเนาคำชี้ขาดให้แก่ผู้คัดค้านดังที่ผู้ร้องอุทธรณ์ แต่ผู้ร้องก็ยังมีหน้าที่นำสืบถึงข้อเท็จจริงข้อนี้ เมื่อพยานหลักฐานของผู้ร้องที่นำสืบมายังไม่เพียงพอที่จะรับฟังได้ว่ามีการส่งสำเนาคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการถึงผู้คัดค้านซึ่งจะต้องถูกบังคับตามคำชี้ขาดแล้ว ผู้ร้องจึงยังไม่มีอำนาจที่จะร้องขอให้ศาลชั้นต้นบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการได้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการฯ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6582/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การไม่ยื่นอุทธรณ์ตามกำหนดเวลา ทำให้ศาลไม่รับอุทธรณ์ และไม่มีสิทธิฎีกา
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ 2 ที่ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ จำเลยที่ 2 จะต้องยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งดังกล่าวภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันทราบคำสั่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 แต่จำเลยที่ 2 ยื่นอุทธรณ์คำสั่งเมื่อพ้นกำหนด 1 เดือนไปแล้ว ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 2 ต่อมาจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่าจำเลยที่ 2 ยื่นอุทธรณ์คำสั่วงไม่รับอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยเกิน 1 เดือน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 ให้ยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 2 ย่อมมีผลเท่ากับไม่รับอุทธรณ์คำสั่งของจำเลย ยืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้น คำสั่งศาลอุทธรณ์นี้เป็นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 236 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิฎีกา
of 24