คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ประทีป ดุลพินิจธรรมา

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 238 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4022/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การถอนฟ้องคดีฉ้อโกงประชาชนหลังมีคำพิพากษา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีสิทธิถอนฟ้อง
ความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 343 มิใช่ความผิดต่อส่วนตัว โจทก์จึงไม่อาจถอนฟ้องหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 35 วรรคแรก สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงไม่ระงับไปตาม ป.วิ.อ มาตรา 39 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3905/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ พยานบอกเล่าประกอบกับหลักฐานอื่นพิสูจน์ความจริงได้ การสนับสนุนการกระทำผิดฐานฆ่าโดยเจตนา
แม้บันทึกคำให้การของ ม. ในชั้นสอบสวนจะเป็นพยานบอกเล่าและมีลักษณะเป็นคำให้การซัดทอดของผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันกับจำเลยก็ตาม แต่คำให้การดังกล่าวก็มีลักษณะของการเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้น ทั้งผู้ให้ถ้อยคำก็มิได้ให้ถ้อยคำในลักษณะของการปัดความรับผิดไปให้จำเลยแต่เพียงฝ่ายเดียว หากแต่ยอมรับว่าตนเป็นผู้กระทำความผิดด้วย อีกทั้งเมื่อพิจารณาคำให้การของ ม. ประกอบกันกับคำเบิกความของ ช. เจ้าพนักงานตำรวจซึ่งเป็นผู้สืบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดที่ว่าได้ติดต่อขอบันทึกข้อมูลการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของ ม. จากบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ก็ปรากฏว่าในช่วงก่อนวันเกิดเหตุและในวันเกิดเหตุมีการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของ ม. ติดต่อกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยบ่อยครั้ง ซึ่งจำเลยก็เบิกความตอบโจทก์ถามค้านรับว่าหมายเลขโทรศัพท์ดังกล่าวเป็นของจำเลยจริง ประกอบกับ ม. ได้ให้ถ้อยคำตามบันทึกคำให้การ ต่อพนักงานสอบสวนโดยมี พ. ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านและเป็นบุคคลที่ ม. ให้ถ้อยคำในชั้นสอบสวนด้วยว่าเป็นบุคคลที่ ม. ไว้วางใจให้ร่วมฟังการสอบสวนด้วย ดังนั้นแม้บันทึกคำให้การดังกล่าวจะเป็นพยานบอกเล่าหรือเป็นพยานชั้นสองไม่ใช่พยานชั้นหนึ่ง แต่เมื่อพิเคราะห์ถึงลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงแวดล้อมของบันทึกคำให้การดังกล่าว ซึ่ง ม. ได้ให้การไว้ต่อพนักงานสอบสวนโดยสมัครใจและเป็นการให้ถ้อยคำทันทีหลังจากถูกจับกุม รวมทั้งข้อเท็จจริงที่ปรากฏก็สอดคล้องต้องกันสมเหตุสมผลในอันที่จะเป็นเหตุให้มีการกระทำและสอดคล้องกันกับพยานหลักฐานอื่นที่ปรากฏ น่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้จึงเป็นพยานหลักฐานที่รับฟังได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/3 วรรคสอง (1)
ม. พยานโจทก์และจำเลยต่างก็เบิกความเจือสมกันว่าจำเลยกับ ม. หลังจากพบกันที่ร้านซ่อมรถยนต์แล้วจำเลยกับ ม. ก็พูดคุยกันในเชิงชู้สาวมาตลอด มีการลักลอบนัดพบกันที่รีสอร์ตและมีความสัมพันธ์กันในทางชู้สาวแสดงให้เห็นได้ว่าบุคคลทั้งสองมีความสนิทสนมชอบพอกัน ทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดว่าก่อนและหลังเกิดเหตุบุคคลทั้งสองมีสาเหตุโกรธเคืองกัน จึงไม่มีเหตุผลใดที่ ม. จะเบิกความปรักปรำให้เป็นผลร้ายแก่จำเลยว่าจำเลยเป็นผู้ที่ช่วยเหลือติดต่อหาคนมาฆ่าผู้ตาย รวมทั้งระบุว่าจำเลยเป็นผู้ที่พาคนร้ายมาพบที่รีสอร์ต ดังนั้นการที่ ม. เบิกความในทำนองว่าเคยพูดกับหลายๆ คนว่าหากใครช่วยจัดการฆ่าผู้ตายได้จะให้เงินนั้น ก็น่าจะเป็นคำเบิกความที่ต้องการเบี่ยงเบนให้ปรากฏข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่เพื่อให้เห็นว่าบุคคลที่ติดต่อผู้ที่มาฆ่าผู้ตายอาจไม่ใช่จำเลยก็ได้ หรือบุคคลที่มาฆ่าผู้ตายอาจไม่ใช่บุคคลที่จำเลยติดต่อมาซึ่งไม่ตรงกันกับที่ ม. เบิกความตอบโจทก์หรือที่เคยให้การในชั้นสอบสวน คำเบิกความของ ม. ดังกล่าวก็เป็นเพียงเพื่อช่วยจำเลยให้พ้นผิด ถ้อยคำที่ ม. เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านดังกล่าวจึงไม่มีน้ำหนักในการรับฟัง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3857/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์คำพิพากษาอนุญาโตตุลาการต้องยื่นต่อศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ยกคำอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมาย
พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 45 วรรคสอง บัญญัติว่า การอุทธรณ์คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลตามพระราชบัญญัตินี้ ให้อุทธรณ์ต่อศาลฎีกาหรือศาลปกครองสูงสุดแล้วแต่กรณี จึงเป็นกรณีที่กฎหมายวางหลักเกณฑ์ในเรื่องของการอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นไว้โดยเฉพาะว่าให้อุทธรณ์ไปยังศาลฎีกาหรือศาลปกครองสูงสุด การที่ผู้คัดค้านยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลอุทธรณ์ภาค 8 และศาลอุทธรณ์ภาค 8 ยกอุทธรณ์ของผู้คัดค้านนั้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว ไม่มีกรณีที่ศาลฎีกาจะมีคำสั่งให้รับคำอุทธรณ์ของผู้คัดค้านไว้หรือให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านทำอุทธรณ์ขึ้นมาใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2666/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกบริษัทจำกัดเนื่องจากหยุดทำการเกินหนึ่งปี และความขัดแย้งระหว่างผู้ถือหุ้น
นอกจากบริษัทจำกัดย่อมเลิกกันได้เพราะมีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1236 แล้ว ศาลอาจสั่งให้เลิกบริษัทจำกัดเมื่อปรากฏเหตุใดเหตุหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1237 (1) ถึง (4) ซึ่งตาม (2) บัญญัติว่า ถ้าบริษัทไม่เริ่มทำการภายในปีหนึ่งนับแต่วันจดทะเบียนหรือหยุดทำการถึงปีหนึ่งเต็ม แม้การสั่งให้เลิกบริษัทจำกัดกรณีนี้จะเป็นดุลพินิจของศาล แต่ศาลก็ย่อมมีอำนาจพิจารณาถึงสาเหตุที่แท้จริงในการหยุดทำการและพฤติการณ์อื่น ๆ ในการดำเนินกิจการค้าขายของบริษัทที่พิจารณาได้ความมาประกอบ การพิจารณาได้ ด้วยเหตุนี้ เมื่อได้ความว่าหลังจากปี 2543 จำเลยที่ 1 ไม่เคยมีการจัดทำงบดุลและไม่เคยจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายอีกเลย รวมทั้งได้หยุดดำเนินกิจการมาแล้วเกินกว่าหนึ่งปี เนื่องจากมีข้อขัดแย้งในระหว่างกรรมการและผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 โดยต่างฝ่ายต่างกล่าวหากันว่าทำการโดยไม่สุจริตในการร่วมลงทุนซื้อขายที่ดินอันเป็นวัตถุประสงค์หลักในการประกอบธุรกิจของจำเลยที่ 1 ถึงขั้นมีการแจ้งความดำเนินคดีอาญาลักษณะทำนองเป็นปฏิปักษ์ต่อกันระหว่างผู้ถือหุ้นอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้น กรณีจึงมีเหตุอันสมควรที่ศาลจะใช้ดุลพินิจสั่งให้บริษัทจำเลยที่ 1 เลิกกันได้เพราะบริษัทหยุดทำการถึงปีหนึ่งเต็มตามมาตรา 1237 (2) ดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาให้เลิกบริษัทจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 1237 (2) และให้ตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้ชำระบัญชีเพราะเห็นว่าโจทก์ทั้งสามกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นกรรมการของบริษัทมีเรื่องขัดแย้งกันจนไม่อาจเข้าเป็นผู้ชำระบัญชีร่วมกันได้นั้นชอบด้วยเหตุผลแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2460/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าเสียหายรถยนต์จากอุบัติเหตุ: การประเมินความเสียหายสิ้นเชิง และสิทธิเรียกร้องของผู้รับประกันภัย
ค่าประเมินความเสียหายของรถเป็นค่าใช้จ่ายในการตีราคาวินาศภัยซึ่งโจทก์ผู้รับประกันภัยต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย โจทก์ในฐานะผู้รับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยจึงไม่อาจเรียกร้องเงินดังกล่าวได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 878

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2403/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลในการวินิจฉัยคำร้องเพิกถอนการยึดทรัพย์โดยไม่ต้องไต่สวน หากพิจารณาจากเอกสารแล้วเพียงพอ
ศาลชั้นต้นตรวจคำร้องของจำเลยทั้งสองประกอบเอกสารท้ายคำร้องแล้ว เห็นว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งศาลที่หมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีโดยชอบแล้ว จึงไม่มีเหตุเพิกถอนการยึดทรัพย์ เป็นการใช้ดุลพินิจวินิจฉัยตามที่เห็นสมควรว่าจากคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องเพียงพอที่จะวินิจฉัยได้ โดยไม่จำต้องไต่สวนก็ชอบที่จะกระทำได้ ในกรณีเช่นนี้ศาลชอบที่จะมีคำสั่งตามคำร้องไปได้เลยโดยไม่ต้องให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งคัดค้านก่อน การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอให้เพิกถอนการยึดทรัพย์โดยไม่ทำการไต่สวนจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2215/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดต่อเนื่อง, อายุความ, อำนาจฟ้อง, ความรับผิดร่วม, ค่าเสียหายจากอาคารและสินค้า
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยยังคงทำละเมิดอย่างต่อเนื่องและโจทก์ได้รับความเสียหายอย่างต่อเนื่องตลอดมาจนถึงวันฟ้องคดีนี้ ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง
โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้รับผิดต่อโจทก์ฐานละเมิด ทำให้อาคารตึกแถวที่โจทก์ครอบครองและสินค้าของโจทก์ที่วางขายที่อาคารตึกแถวได้รับความเสียหาย ขอให้ใช้ค่าเสียหาย โดยโจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นทั้งทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกและเป็นผู้จัดการมรดก บ. บ. เป็นเจ้าของที่ดินซึ่งปลูกสร้างอาคารตึกแถวดังกล่าวตั้งแต่ขณะ บ. ยังมีชีวิตอยู่ และปรากฏว่าศาลตั้งโจทก์กับ ก. เป็นผู้จัดการมรดกของ บ. ร่วมกัน พอถือได้ว่าโจทก์ฟ้องให้รับผิดในส่วนที่เกี่ยวกับอาคารตึกแถวได้รับความเสียหายในฐานะที่โจทก์เป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของ บ. ด้วย ซึ่งหากโจทก์ได้รับค่าเสียหายเกี่ยวกับอาคารตึกแถวมาก็เพื่อเป็นประโยชน์ต่อทายาททุกคนของ บ. มิใช่เพื่อโจทก์เพียงผู้เดียว โจทก์ผู้เดียวย่อมมีอำนาจฟ้อง ส่วนที่เกี่ยวกับค่าเสียหายอื่นที่ไม่เกี่ยวกับอาคารตึกแถว เช่น ค่าสินค้าของโจทก์ที่เสียหาย และค่าขาดประโยชน์ เป็นต้น เป็นการฟ้องเพื่อประโยชน์ของโจทก์ผู้เดียว โจทก์ผู้เดียวมีอำนาจฟ้องอยู่แล้ว ดังนั้น โจทก์ผู้เดียวย่อมมีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1622/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานอั้งยี่และการก่อการร้ายเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระ
ความผิดฐานเป็นอั้งยี่ จำเลยกระทำความผิดโดยเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการ และมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ส่วนความผิดฐานก่อการร้ายนั้น จำเลยร่วมกระทำความผิดด้วยการสะสมกำลังพลและอาวุธ จัดหาหรือรวบรวมทรัพย์สิน ให้หรือรับการฝึกการก่อการร้าย ตระเตรียมการอื่นใดหรือสมคบกันเพื่อก่อการร้าย การกระทำความผิดทั้งสองฐานดังกล่าว แม้จำเลยจะได้กระทำในช่วงเวลาเดียวกัน แต่การกระทำความผิดนั้นเป็นการกระทำคนละอย่างแตกต่างกันและต่างกรรมต่างวาระกัน ทั้งเจตนาและความมุ่งหมายในการเป็นอั้งยี่และการก่อการร้ายก็เป็นคนละอย่างต่างกัน การกระทำความผิดของจำเลยในความผิดฐานเป็นอั้งยี่และก่อการร้ายจึงเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระกัน มิใช่เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1268/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง: คำสั่งประทับฟ้องมีผลเด็ดขาดห้ามทบทวน
ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องนั้น ป.วิ.อ. มาตรา 167 บัญญัติว่า "ถ้าปรากฏว่าคดีมีมูล ให้ศาลประทับฟ้องไว้พิจารณาต่อไปเฉพาะกระทงที่มีมูล ถ้าคดีไม่มีมูล ให้พิพากษายกฟ้อง" และมาตรา 170 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "คำสั่งของศาลที่ให้คดีมีมูลย่อมเด็ดขาด แต่คำสั่งที่ว่าคดีไม่มีมูลนั้น โจทก์มีอำนาจอุทธรณ์ฎีกาได้ตามบทบัญญัติว่าด้วยลักษณะอุทธรณ์ฎีกา" ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าคดีโจทก์มีมูลและให้ประทับฟ้องสำหรับข้อหาดังกล่าวแล้ว ศาลชั้นต้นจะต้องดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปตามขั้นตอนในชั้นพิจารณา ศาลอุทธรณ์ภาค 4 จึงไม่มีอำนาจหยิบยกข้อเท็จจริงในข้อหาที่ศาลชั้นต้นสั่งว่ามีมูลแล้วขึ้นมาทบทวนและวินิจฉัยยกฟ้องข้อหาดังกล่าวในชั้นไต่สวนมูลฟ้องได้อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 636/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา, การละเมิด, อายุความ และการยกข้อต่อสู้ที่ไม่ชัดเจน
ศาลชั้นต้นในคดีก่อนพิพากษายกฟ้องในชั้นตรวจคำฟ้อง เพราะโจทก์บรรยายฟ้องขาดองค์ประกอบความผิด ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) เท่ากับว่าศาลยังมิได้วินิจฉัยประเด็นว่าจำเลยทั้งสามกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมหรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นโดยตรงในคดีนี้ จึงไม่อาจนำข้อเท็จจริงและผลคดีอาญาดังกล่าวมาผูกพันข้อเท็จจริงในคดีนี้ได้ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 หยิบยกข้อเท็จจริงที่ว่าโจทก์มิได้เป็นเจ้าของรถพ่วงคันเกิดเหตุ และวินิจฉัยว่าการที่โจทก์ต้องถูกฟ้องให้ร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย เป็นผลโดยตรงมาจากการกระทำของจำเลยทั้งสามซึ่งทำให้ปรากฏว่ารถพ่วงคันเกิดเหตุเป็นของโจทก์ พฤติการณ์เช่นนี้เป็นการจงใจก่อให้เกิดความเสียหายต่อโจทก์อันเป็นการทำละเมิด จำเลยทั้งสามไม่อาจปฏิเสธความรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ได้ โจทก์มีอำนาจฟ้องให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ จึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 และมิใช่เป็นการฟังข้อเท็จจริงฝ่าฝืนต่อ ป.วิ.อ. มาตรา 46 แต่อย่างใด
จำเลยทั้งสามมิได้ให้การต่อสู้ว่า โจทก์รู้ถึงเหตุละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนอย่างช้าในวันที่ 26 ตุลาคม 2544 จึงไม่มีประเด็นต้องวินิจฉัยให้ ถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามก็มีความหมายชัดแจ้งว่า โจทก์จะต้องรู้ถึง เหตุละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนก่อนวันที่ 27 พฤษภาคม 2547 ซึ่งขัดแย้งกับที่จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์รู้ถึงเหตุละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2547 กรณีไม่อาจนำข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวันที่จำเลยทั้งสามอ้างในอุทธรณ์มารับฟัง โดยถือว่าเป็นกรณีที่จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ว่าโจทก์รู้ถึงเหตุละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2547 ตามที่จำเลยทั้งสามให้การต่อสู้ได้
of 24