คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ประทีป ดุลพินิจธรรมา

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 238 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 608/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ตัวการร่วมกันฆ่า: เจตนาประสงค์ต่อความตาย, การชักนำ, และความรับผิดชอบต่อการกระทำของผู้อื่น
แม้จำเลยจะมิใช่ผู้ลงมือยิงผู้ตายและผู้ตายถึงแก่ความตายแล้วก่อนที่จำเลยจะลงมือใช้ดาบฟัน แต่ตามพฤติการณ์บ่งชี้เจตนาว่า จำเลยก็มีความประสงค์ต่อความตายของผู้ตายเช่นกัน จำเลยเองก็อยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุขณะ ว. ใช้ปืนยิง ซึ่งจำเลยสามารถช่วยเหลือได้ทันที เมื่อจำเลยมีบทบาทสำคัญเป็นผู้ชักนำในการก่อเหตุ จึงเข้าลักษณะเป็นตัวการด้วยกันกับ ว. จำเลยจึงต้องรับเอาผลที่ ว. ยิงผู้ตายเสมือนหนึ่งเป็นการกระทำของจำเลยด้วย จำเลยจึงมีความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น
จำเลยแก้ฎีกาว่า จำเลยมีเจตนาเพียงทำร้ายผู้เสียหายให้ได้รับบาดเจ็บไม่มีเจตนาฆ่า เมื่อศาลชั้นต้นตัดสินว่า จำเลยฟันผู้เสียหายโดยเจตนาฆ่า จำเลยไม่อุทธรณ์ ข้อเท็จจริงในความผิดฐานนี้จึงเป็นอันยุติแล้ว จำเลยไม่มีสิทธิฎีกาในความผิดฐานนี้ ทั้งคำแก้ฎีกาดังกล่าวมีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ต้องทำเป็นคำฟ้องฎีกา จะขอมาในรูปคำแก้ฎีกาไม่ได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19759/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขายฝากที่ดินมรดกโดยผู้จัดการมรดก: สิทธิผู้รับซื้อฝากดีกว่า แม้ทายาทอื่นไม่ยินยอม
ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่มีหลักฐานแห่งสิทธิเป็นโฉนดที่ดิน นิติกรรมขายฝากระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 ทำการจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ข้อเท็จจริงได้ว่า ก่อนจดทะเบียนนิติกรรมจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 พาไปดูที่ดินพิพาทพบว่าเป็นที่นา จำเลยที่ 2 ไปดูที่ดินพิพาทอีกหลายครั้งและสอบถามชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียงที่ดินพิพาทได้รับการยืนยันว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 ในวันจดทะเบียนจำเลยที่ 2 สอบถามเจ้าพนักงานที่ดินแล้ว เจ้าพนักงานที่ดินบอกว่าจำเลยที่ 1 สามารถทำนิติกรรมขายฝากที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ได้ เมื่อจดทะเบียนขายฝากเสร็จจำเลยที่ 1 เดินทางไปที่บ้านพักจำเลยที่ 2 และรับเงินจากจำเลยที่ 2 เรียบร้อย จึงต้องถือว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้จดทะเบียนรับซื้อฝากที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริต กรณีย่อมต้องด้วยข้อยกเว้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 สิทธิของจำเลยที่ 2 ผู้รับโอนดีกว่าจำเลยที่ 1 ผู้โอน จึงไม่อาจเพิกถอนนิติกรรมขายฝากระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 ได้
จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของ ส. ผู้ตาย ตามคำสั่งศาล จึงมีฐานะเป็นผู้แทนตามกฎหมายการที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนโอนทรัพย์มรดกของผู้ตายให้แก่ตนเองเป็นการส่วนตัวในฐานะที่ตนเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกด้วย เป็นการกระทำไปตามอำนาจหน้าที่โดยทั่วไปของผู้จัดการมรดก ไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากทายาทและการกระทำเช่นนี้ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกตาม ป.พ.พ. 1719 และมาตรา 1722 จำเลยที่ 1 จึงมีอำนาจที่จะกระทำได้ แม้การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ไม่จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่ทายาทอื่นของผู้ตาย ซึ่งมีโจทก์ทั้งสามและโจทก์ร่วมทั้งสองรวมอยู่ด้วย จะทำให้โจทก์ทั้งสามและโจทก์ร่วมทั้งสองได้รับความเสียหาย ก็เป็นเรื่องระหว่างจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายกับโจทก์ทั้งสามและโจทก์ร่วมทั้งสองที่จะว่ากล่าวกันต่างหาก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18235/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าเสียหายเบื้องต้น พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ เป็นส่วนหนึ่งของค่าสินไหมทดแทนตาม ป.พ.พ. จึงต้องหักออกจากค่าเสียหายที่จำเลยต้องรับผิด
แม้สิทธิในการได้รับค่าเสียหายเบื้องต้นตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 20 เป็นสิทธิทางแพ่งที่ผู้ประสบภัยหรือทายาทโดยธรรมของผู้ประสบภัยจะได้รับเพื่อเยียวยาบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้นดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยมาแล้วก็ตาม แต่มาตรา 25 วรรคสอง บัญญัติไว้ชัดแจ้งว่า ให้ถือว่าค่าเสียหายเบื้องต้นเป็นส่วนหนึ่งของเงินค่าสินไหมทดแทนตาม ป.พ.พ. และมาตรา 4 บัญญัติว่า ค่าเสียหายเบื้องต้น หมายความว่า ค่ารักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ค่าปลงศพ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดการศพ รวมทั้งค่าเสียหายและค่าใช้จ่ายที่จำเป็นอย่างอื่นเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยในเบื้องต้น... เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเฉพาะค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการจัดการศพ ช. กับค่าเสียหายของรถจักรยานสองล้อเท่านั้น โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์เรียกร้องค่าเสียหายอย่างอื่นหรือต้องนำค่าเสียหายเบื้องต้นไปชดใช้ค่าเสียหายอย่างอื่นอันเกิดขึ้นจากการที่จำเลยกระทำละเมิดจนเป็นเหตุให้นายชิ้นถึงแก่ความตาย จึงต้องนำเงินค่าเสียหายเบื้องต้น 200,000 บาท ที่โจทก์ได้รับไปแล้วและถือว่าเป็นค่าเสียหายส่วนหนึ่งตาม ป.พ.พ. ไปหักออกจ่าค่าเสียหายดังกล่าวด้วย และเมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ว่า เงินค่าเสียหายเบื้องต้นที่โจทก์ได้รับไปแล้วมีจำนวนเท่ากับค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการจัดการศพที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการจัดการศพแก่โจทก์อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18011/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีและการรับฟังพยานหลักฐานสัญญาเช่าซื้อ: การมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์และการโต้แย้งสัญญา
ตามหนังสือรับรองโจทก์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุว่า พ. เป็นกรรมการคนที่ 5 มีอำนาจลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญบริษัทผูกพันโจทก์ เมื่อพิจารณาประกอบหนังสือมอบอำนาจซึ่งระบุให้ ท. และ อ. ฟ้องคดีและมีอำนาจมอบอำนาจช่วง และมีผลบังคับใช้นับแต่วันที่ 5 มกราคม 2547 จนกว่าจะได้แก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ซึ่งจำเลยทั้งสองไม่นำสืบให้ได้ความว่าหนังสือมอบอำนาจได้ถูกยกเลิกหรือแก้ไขเป็นอย่างอื่น เช่นนี้ย่อมฟังได้ว่า พ. เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์และทำหนังสือมอบอำนาจให้ ท. และ อ. ฟ้องคดีต่อมา ท. และ อ. ทำหนังสือมอบอำนาจช่วงให้ อ1. หรือ ศ. เป็นผู้ดำเนินคดีแทนโจทก์ โดยไม่จำต้องนำสืบหนังสือรับรองโจทก์ที่นายทะเบียนออกให้ ณ วันฟ้องว่า พ. ยังคงเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์อีก โจทก์มีอำนาจฟ้อง
จำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การปฏิเสธว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ทำสัญญาเช่าซื้อ และจำเลยที่ 2 ไม่ได้ทำสัญญาค้ำประกันกับโจทก์ คงให้การต่อสู้ในเรื่องอำนาจฟ้องและค่าเสียหายที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเท่านั้น ทั้งจำเลยที่ 1 เบิกความยอมรับว่าทำสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์ จึงต้องฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติตามที่ไม่มีการโต้แย้งว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อและจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันกับโจทก์ โดยไม่จำต้องอาศัยสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันดังกล่าวเป็นพยานหลักฐาน ที่จำเลยทั้งสองเพิ่งมายกขึ้นอ้างในฎีกาว่าโจทก์มิได้ส่งสำเนาแบบคำขอเสียอากรแสตมป์เป็นตัวเงินของสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันให้ก่อนสืบพยานและเอกสารดังกล่าวมิใช่ต้นฉบับจึงต้องห้ามมิให้ศาลรับฟังนั้น เป็นฎีกาที่ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติดังกล่าวแล้ว จึงไม่เป็นสาระแก่คดี ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17838/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประนีประนอมยอมความผิดนัด สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจำกัดเฉพาะผู้ผิดสัญญา
เดิมโจทก์ซึ่งเป็นข้าราชการครูฟ้องร้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นข้าราชการครูและผู้ใต้บังคับบัญชาโจทก์ ในความผิดทางอาญาฐานเบิกความเท็จ นำสืบแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ และความผิดทางแพ่งในมูลละเมิดเรียกค่าเสียหาย ในคดีแพ่งคู่ความสามารถตกลงกันได้โดยจะไปดำเนินการถอนเรื่องที่ยื่นฟ้องกันไว้ที่ศาลปกครองทั้งหมด รวมถึงคดีแพ่งและคดีอาญาที่ศาลชั้นต้นนี้ โดยจะไม่นำมาฟ้องร้องอีกเว้นแต่จะเกิดการกระทำขึ้นใหม่ ต่อมาโจทก์และจำเลยที่ 1 ถอนฟ้องและถอนอุทธรณ์ในคดีอาญา แต่จำเลยทั้งสองไม่ถอนฟ้องคดีที่ฟ้องโจทก์ต่อศาลปกครองขอนแก่น เนื่องจากโจทก์มิได้เพิกถอนคำสั่งลงโทษตัดเงินเดือนจำเลยทั้งสองและคำสั่งลงโทษภาคทัณฑ์ การที่ศาลชั้นต้นจดรายงานกระบวนพิจารณาในส่วนของข้อตกลงที่ให้ไปถอนเรื่องที่อยู่ในระหว่างดำเนินการทั้งหมดรวมทั้งเรื่องที่ยื่นฟ้องคดีที่ศาลปกครองขอนแก่น ระบุเพียงว่า โจทก์จำเลย (หมายถึงจำเลยที่ 1 ในคดีนี้) เท่านั้น โดยมิได้ระบุให้จำเลยที่ 2 ในคดีนี้ (ซึ่งอยู่ในห้องพิจารณาด้วย) ไปยื่นคำร้องขอถอนเรื่องด้วย ข้อตกลงตามรายงานดังกล่าวจึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 2 และย่อมไม่ถือว่าจำเลยที่ 2 ผิดสัญญาต่อโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 2 แต่สำหรับจำเลยที่ 1 เมื่อไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงย่อมตกเป็นฝ่ายผิดสัญญาต่อโจทก์
ส่วนความรับผิดในค่าเสียหาย เมื่อจำเลยที่ 1 ถอนอุทธรณ์คดีที่ฟ้องโจทก์แล้วย่อมไม่ทำให้โจทก์เสียหายมากนัก เห็นควรไม่กำหนดค่าเสียหายในกรณีที่โจทก์ได้ถอนฟ้องคดีแพ่งและคดีอาญาแล้ว ส่วนค่าเสียหายที่โจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีที่ศาลปกครองนั้น เมื่อจำเลยที่ 2 ยังมีสิทธิฟ้องโจทก์ต่อศาลปกครองขอนแก่น โจทก์จึงยังต้องเสียค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีที่ศาลดังกล่าวเช่นเดิม การที่โจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีต่อไปฟังไม่ได้ว่าเป็นความเสียหายอันเกิดจากการผิดสัญญาของจำเลยที่ 1 ส่วนค่าเสียหายเกี่ยวกับชื่อเสียงเกียรติยศของโจทก์ โจทก์มิได้บรรยายฟ้องโดยชัดแจ้งว่าประสงค์จะเรียกค่าเสียหายส่วนนี้จึงไม่อาจกำหนดได้ เพราะจะเป็นการพิพากษาให้สิ่งใด ๆ เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16490/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องยักยอกทรัพย์ต้องระบุทรัพย์สินที่ถูกยักยอกอย่างชัดเจน หากนำสืบข้อเท็จจริงต่างจากที่ฟ้อง ศาลไม่อาจลงโทษได้
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองครอบครองทรัพย์ของโจทก์ร่วม เช่น อาหาร เครื่องดื่ม สิ่งของที่ใช้ประกอบอาหาร สุรา บุหรี่ และของใช้ทั่วไป แล้วร่วมกันเอาทรัพย์ของโจทก์ร่วมไปขาย และเบียดบังยักยอกเงินค่าขายทรัพย์ดังกล่าวไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวของจำเลยทั้งสอง แต่กลับนำสืบว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันนำทรัพย์ของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหารไปใช้ที่ร้านอาหารของจำเลยที่ 1 อันเป็นการยักยอกทรัพย์ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหาร ไม่ใช่ยักยอกเงินค่าขายทรัพย์ตามที่โจทก์ฟ้อง ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาจึงแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง ในสาระสำคัญ ศาลไม่อาจลงโทษจำเลยทั้งสองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16379/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างทำของและตัวแทน: ความรับผิดของตัวการในผลละเมิดของตัวแทน
สัญญาจ้างรักษาความปลอดภัยเป็นสัญญาจ้างทำของ แต่จำเลยร่วมยังมีภาระหน้าที่จะต้องดูแลรักษาทรัพย์สินของตนเองและบุคคลอื่นด้วย เพียงแต่ผู้ว่าจ้างมอบหมายให้ผู้รับจ้างเป็นผู้ทำหน้าที่ดังกล่าวแทนตน ตามข้อความในสัญญาจ้างรักษาความปลอดภัยเป็นกรณีที่นอกจากจำเลยร่วมมอบหมายให้จำเลยที่ 1 ทำหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยแทนแล้ว การปฏิบัติหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 นั้นก็ยังอยู่ในอำนาจสั่งการหรือควบคุมดูแลของจำเลยร่วม โดยจำเลยที่ 1 ต้องรายงานผลการปฏิบัติหน้าที่ให้จำเลยร่วมทราบและต้องปฏิบัติหน้าที่ภายใต้ขอบอำนาจของจำเลยร่วมที่มอบหมายให้ทำการแทน หากจำเลยร่วมทักท้วงการปฏิบัติหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัย จำเลยที่ 1 ต้องดำเนินการแก้ไขโดยทันที สัญญารักษาความปลอดภัยดังกล่าวจึงไม่ใช่เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 รับเอาการงานของจำเลยร่วมไปทำโดยเด็ดขาดและอิสระ ดังนั้น ในส่วนที่จำเลยที่ 1 ทำแทนนั้นย่อมถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยร่วม เข้าลักษณะเป็นสัญญาตัวแทนด้วย สัญญารักษาความปลอดภัยดังกล่าวจึงมีทั้งสัญญาจ้างทำของและสัญญาตัวแทนรวมอยู่ในสัญญาเดียวกัน การที่จำเลยร่วมจะต้องรับผิดตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเรื่องใด เป็นอำนาจหน้าที่ของศาลที่จะต้องปรับข้อเท็จจริงที่ได้ความจากการนำสืบของคู่ความเข้ากับบทกฎหมายที่ถูกต้องเพื่อวินิจฉัยชี้ขาดคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16378/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของบริษัทขนถ่ายสินค้าต่อความเสียหายจากการขนส่งสินค้าที่มีน้ำหนักไม่สมดุล
จำเลยที่ 1 ไม่ได้ให้การปฏิเสธว่า ความเสียหายเกิดจากลักษณะและน้ำหนักของสินค้า ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ความเสียหายเกิดจากสินค้ามีน้ำหนักไม่สมดุลและเหวี่ยงตัวเองในขณะแขวนอยู่ในลวดสลิง จึงเป็นเรื่องนอกคำให้การ แม้ในชั้นอุทธรณ์จำเลยที่ 1 ยกขึ้นอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยให้ ก็ไม่ถือว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ เป็นฎีกาต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
จำเลยที่ 4 มีวิชาชีพเฉพาะในการขนถ่ายสินค้าเพื่อขนส่ง หากพนักงานของจำเลยที่ 4 เห็นว่ารถบรรทุกของจำเลยที่ 2 ไม่เหมาะที่จะใช้บรรทุกสินค้าแล้วต้องปฏิเสธไม่ให้ใช้รถดังกล่าว จะอ้างว่าพนักงานของจำเลยที่ 1 ยินยอมให้ขนถ่ายสินค้ามิได้เพราะพนักงานของจำเลยที่ 1 มิได้มีความชำนาญการในการขนถ่ายสินค้าเช่นพนักงานของจำเลยที่ 4 เมื่อพนักงานของจำเลยที่ 4 ทราบอยู่แล้วว่าการขนถ่ายสินค้าไม่น่าจะดำเนินการได้โดยปลอดภัย แต่ก็ยินยอมขนถ่ายสินค้าให้จนเกิดความเสียหาย กรณีถือได้ว่าจำเลยที่ 4 กระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15977/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคดีประกันภัย: นับแต่วันที่ผู้เอาประกันภัยรู้ตัวผู้ละเมิด ไม่ใช่วันที่ผู้รับประกันภัยรู้
สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์ที่เสียหาย ที่ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับประโยชน์และอยู่ในฐานะผู้เข้ารับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยที่มีอยู่ในมูลหนี้ต่อบุคคลภายนอก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 ประกอบ 226 วรรคหนึ่งนั้น ในการนับอายุความของโจทก์ดังกล่าว ต้องนับตามสิทธิของผู้เอาประกันภัย คดีนี้เมื่อสิทธิของผู้เอาประกันภัยที่จะฟ้องมีอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยที่เข้ารับช่วงสิทธิ ก็ย่อมมีสิทธิเช่นเดียวกับผู้เอาประกันภัย คือ ต้องฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ผู้เอาประกันภัยหรือตัวแทนของผู้เอาประกันได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ที่จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวเช่นกัน หาใช่นับอายุความ ตั้งแต่วันที่โจทก์รู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่ เมื่อได้ความว่า ผู้ขับรถคันที่โจทก์รับประกัน ซึ่งถือเป็นตัวแทนของผู้เอาประกันภัยได้รู้ตัวผู้ขับรถยนต์อีกฝ่ายว่าเป็นผู้ใดในวันที่ 3 เมษายน 2546 ซึ่งเป็นวันที่พนักงานสอบสวนนัดผู้ขับรถของผู้เอาประกันมาตกลงกับจำเลยที่ 1 และเป็นวันที่ผู้ขับรถของผู้เอาประกันภัยพบกับพนักงานตรวจสอบอุบัติเหตุของโจทก์เป็นครั้งแรก ฉะนั้น เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 8 ธันวาคม 2548 จึงเกินกว่า 1 ปี เมื่อนับแต่วันที่ 3 เมษายน 2546 ดังกล่าว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15952/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหักกลบลบหนี้ระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ตามคำพิพากษาและการรับฝากเงิน จำเลยมีสิทธิหักกลบลบได้
ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์กับมารดาโจทก์เปิดบัญชีร่วมกันประเภทบัญชีเงินฝากประจำและฝากเงินไว้ต่อธนาคารจำเลยสาขาฝาง ว. ทำสัญญากู้และรับเงินกู้ไปจากจำเลย โดยจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกัน และ ส. กับโจทก์ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดร่วมกับ ว. อย่างลูกหนี้ร่วม ว. ผิดนัดผิดสัญญา จำเลยฟ้อง ว. ส. และโจทก์ให้รับผิดชำระหนี้ตามสัญญากู้และสัญญาค้ำประกันดังกล่าวศาลชั้นต้นพิพากษาให้ ว. ส. และโจทก์ร่วมกันชำระหนี้ หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้บังคับคดีเอาจากทรัพย์จำนอง หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของบุคคลทั้งสามออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่จำเลยจนครบ จำเลยนำหนี้ที่เป็นเจ้าหนี้อยู่นั้นฟ้องบุคคลทั้งสามเป็นคดีล้มละลาย ต่อมาจำเลยพบว่าโจทก์กับมารดาโจทก์มีบัญชีเงินฝากดังกล่าวอยู่ที่จำเลยสาขาฝาง จำเลยจึงดำเนินการหักเงินจากบัญชีดังกล่าวมาชำระหนี้จำเลย ต่อมาจำเลยถอนฟ้องคดีล้มละลาย
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยมีสิทธินำเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่ฝากไว้ต่อจำเลยมาหักกับหนี้ตามคำพิพากษาที่โจทก์เป็นหนี้จำเลยอยู่หรือไม่ เห็นว่า ตามฟ้องและคำให้การคดีนี้เป็นเรื่องจำเลยหักกลบลบหนี้กับโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 341 และ 342 ซึ่งโจทก์และจำเลยมีความผูกพันซึ่งกันและกันโดยมูลหนี้ที่จะต้องชำระเงินแก่กันอันเป็นมูลหนี้ที่มีวัตถุเป็นอย่างเดียวกัน กล่าวคือโจทก์เป็นหนี้จำเลยที่จะต้องชำระเงินแก่จำเลยตามคำพิพากษา ส่วนจำเลยก็เป็นหนี้โจทก์ที่จะต้องชำระเงินที่โจทก์ฝากไว้แก่โจทก์ จำเลยย่อมหักกลบลบหนี้ได้ และตามข้อเท็จจริงที่รับฟังมาดังกล่าวเห็นได้ว่าจำเลยแสดงเจตนาต่อโจทก์ขอหักกลบลบหนี้และได้ดำเนินการหักกลบลบหนี้แล้ว การหักกลบลบหนี้ย่อมมีผลสมบูรณ์ตามบทกฎหมายมาตราดังกล่าว ซึ่งไม่ได้กำหนดเป็นเงื่อนไขไว้แต่ประการใดว่า การหักกลบลบหนี้ระหว่างกันนั้นจะต้องตกลงกันหรือได้รับอนุญาตหรือได้รับความยินยอมของอีกฝ่ายหนึ่งหรือต้องแจ้งเจ้าพนักงานบังคับคดีก่อน เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าทั้งสองฝ่ายได้แสดงเจตนาไม่ให้นำหนี้ที่มีอยู่แก่กันนั้นมาหักกลบลบกัน จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะนำหนี้ดังกล่าวมาหักกลบลบหนี้กันได้ แม้โจทก์ไม่เคยตกลงและไม่อนุญาตให้จำเลยหักเงิน จำเลยหักเงินของโจทก์ไปเองโดยไม่แจ้งเจ้าพนักงานบังคับคดีตามที่โจทก์ฟ้องและนำสืบก็หาเป็นการละเมิดหรือผิดสัญญารับฝากเงินตามที่โจทก์ฟ้องไม่
of 24