คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 2) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการนำ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7765/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม: การให้บริการอาหารแก่พนักงาน/ผู้บริหาร และการเลี้ยงรับรองบุคคลภายนอก มีหน้าที่เสียภาษีตามกฎหมาย
โจทก์อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ว่าค่าอาหารเลี้ยงรับรองบุคคลภายนอกโจทก์ยินดีที่จะเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มเติม แต่ขอให้พิจารณางดเบี้ยปรับและลดเงินเพิ่มให้แก่โจทก์ด้วย และในตอนท้ายก็มีคำขอให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชี้ขาดสำหรับค่ารับรองของบุคคลภายนอกโดยงดเบี้ยปรับและลดเงินเพิ่ม คำอุทธรณ์ของโจทก์ไม่มีข้อโต้แย้งคัดค้านการประเมินและไม่มีคำขอให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยยกเลิก การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับค่าอาหารเลี้ยงรับรองบุคคลภายนอก ถือว่าโจทก์มิได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ในปัญหาว่าค่าอาหารเลี้ยงรับรองบุคคลภายนอกของโจทก์อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจนำปัญหานี้มาฟ้องต่อศาล
การที่โจทก์ให้พนักงานและผู้บริหารโรงแรมและภัตตาคารของโจทก์รับประทานอาหารโดยไม่คิดมูลค่า เป็นการให้บริการตามความหมายในมาตรา 77/1 (10) แห่ง ป. รัษฎากร เพราะเป็นการกระทำอันอาจหาประโยชน์ อันมีมูลค่า ซึ่งมิใช่การขายสินค้าและถือเป็นการใช้บริการจากกิจการของตนเองโดยเฉพาะการให้พนักงานและ ผู้บริหารรับประทานอาหารไม่ใช่การนำบริการไปใช้ในการบริหารงานของกิจการโดยตรง จะถือเป็นการนำบริการไปใช้ในการบริหารงานของกิจการตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 2) ไม่ได้โจทก์ จึงเป็นผู้ประกอบการและได้ให้บริการอันอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจึงต้องนำราคาค่าอาหารดังกล่าวมาเป็น มูลค่าของการให้บริการของโจทก์
แม้การให้บริการของโจทก์จะเข้าเงื่อนไขที่จะไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 78) เรื่อง กำหนดลักษณะและเงื่อนไขค่าตอบแทนที่ไม่ต้องนำมารวมคำนวณมูลค่าของฐานภาษีตามมาตรา 79 (4) แห่ง ป. รัษฎากร แต่ประกาศดังกล่าวใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2541 ส่วนภาระภาษีของโจทก์ตามการประเมินในคดีนี้เป็นภาษีของเดือนสิงหาคม 2540 ถึงเดือนมีนาคม 2541 ประกาศดังกล่าวจึงไม่มีผลบังคับใช้กับคดีนี้ เพราะประมวลรัษฎากรเป็นกฎหมายที่กำหนดให้ใช้ในแต่ละปีภาษีหากมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายมาตราใดก็จะมีผลใช้บังคับนับแต่วันที่ระบุให้มีผลใช้เป็นต้นไป ไม่มีผลบังคับย้อนหลังไปในปีภาษี หรือเดือนภาษีที่ล่วงมาแล้ว ดังนั้นแม้โจทก์เพียงได้รับแจ้งการประเมินและยังไม่มีการชำระภาษีตามการประเมินโจทก์ก็ไม่ได้รับ ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม
ตามคำอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์ยอมรับที่จะเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับค่าอาหารเลี้ยงรับรองบุคคลภายนอก แต่ขอให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์งดเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับกรณีดังกล่าวนี้ ส่วนกรณีภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับค่าอาหารสวัสดิการพนักงานและผู้บริหารของโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ว่าการให้พนักงานของโจทก์รับประทานอาหารเป็นเรื่องสวัสดิการปกติของธุรกิจโรงแรมทุกแห่ง ไม่เข้าลักษณะคำนิยามคำว่า "ขาย" ตามประมวลรัษฎากร ขอให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชี้ขาดยกเลิกการประเมินการให้พนักงานของโจทก์รับประทานอาหารเป็น ยอดขายที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แม้ว่าตามคำอุทธรณ์ของโจทก์ไม่ปรากฏว่าโจทก์อุทธรณ์ขอให้งดหรือลดเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับค่าอาหารดังกล่าวก็ตาม แต่การที่โจทก์ขอให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ยกเลิกการประเมินที่ถือว่าการให้พนักงานของโจทก์รับประทานอาหารเป็นยอดขายที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น ถือได้ว่าเป็นการอุทธรณ์ว่าโจทก์ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากการที่โจทก์ให้พนักงานและผู้บริหารของโจทก์รับประทานอาหารรวมถึงเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามกฎหมายด้วย เมื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดยืนตามการประเมินของ เจ้าพนักงานประเมินและพิจารณาลดเบี้ยปรับลง โจทก์ไม่พอใจ จึงอุทธรณ์ต่อศาล ขอให้เพิกถอนการประเมินของ เจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ และขอให้ศาลพิจารณางดเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับค่าอาหารทุกกรณี ย่อมถือได้ว่าโจทก์ได้อุทธรณ์ในเรื่องเบี้ยปรับกรณีภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับค่าอาหารสวัสดิการพนักงานและผู้บริหารของโจทก์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ศาลย่อมมีอำนาจพิจารณางดเบี้ยปรับให้ แก่โจทก์ได้
โจทก์ลงบัญชีโดยเปิดเผย ไม่มีเจตนาหรือกระทำการใด ๆ อันเป็นการหลีกเลี่ยงภาษีอากร แต่เป็นปัญหา ข้อกฎหมายที่มีความเห็นไม่ตรงกันว่าโจทก์ควรต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับค่าอาหารสวัสดิการพนักงาน ผู้บริหารและค่าอาหารเลี้ยงรับรองบุคคลภายนอกของโจทก์หรือไม่เท่านั้น ทั้งโจทก์ให้ความร่วมมือต่อเจ้าพนักงานในการ ตรวจสอบภาษีเป็นอย่างดี ที่ศาลภาษีอากรกลางพิจารณางดเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับค่าอาหารทุกกรณีให้แก่โจทก์เป็นการเหมาะสมและชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6950/2543 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีมูลค่าเพิ่มกรณีอาหารพนักงาน: การให้บริการโดยใช้บริการของตนเองต้องนำมูลค่ามาคำนวณภาษี
การที่โจทก์จัดอาหารให้กับพนักงานของโจทก์ แยกต่างหากจากการที่ให้บริการลูกค้าของโรงแรม ก็เป็นการให้บริการแก่พนักงานโดยใช้บริการของตนเอง อันอยู่ในความหมายของคำว่า "บริการ" ตามมาตรา 77/1 (10) แห่ง ป.รัษฎากร ซึ่งโจทก์จะต้องนำมูลค่าของอาหารที่บริการแก่พนักงานมาคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม โจทก์จะอ้างว่าการให้พนักงานของโจทก์รับประทานอาหารเป็นประโยชน์ในการบริหารงานของกิจการอันเป็นการประกอบกิจการของโจทก์โดยตรงหาได้ไม่ แม้โจทก์จะได้รับประโยชน์จากการที่ให้พนักงานรับประทานอาหาร แต่การให้พนักงานรับประทานอาหารมิใช่การบริหารงานของกิจการโดยตรง จะถือเป็นการนำบริการไปใช้ในการบริหารงานของกิจการตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 2) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการนำสินค้าไปใช้เพื่อประกอบกิจการของตนเองโดยตรง ตามมาตรา 77/1 (10) (ก) แห่ง ป.รัษฎากรไม่ได้ ส่วนประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 78) เรื่อง กำหนดลักษณะและเงื่อนไขค่าตอบแทนที่ไม่ต้องนำมารวมคำนวณมูลค่าของฐานภาษีตามมาตรา 79 (4) แห่ง ป.รัษฎากร ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2541 แต่กรณีของโจทก์เกิดก่อนหน้าที่ประกาศดังกล่าวใช้บังคับ จึงไม่อาจนำประกาศดังกล่าวมาใช้บังคับได้
บทบัญญัติตาม ป.รัษฎากร มาตรา 30 (2) ให้โจทก์มีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลได้ ถ้าโจทก์ไม่พอใจคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าศาลมีอำนาจในการพิจารณาได้ว่า คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เหมาะสมและชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะหากแปลความว่าโจทก์มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ แต่ห้ามศาลใช้ดุลพินิจพิจารณาคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เกี่ยวกับการงดหรือลดเบี้ยปรับว่าเหมาะสมและชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยอ้างว่าเป็นอำนาจของฝ่ายบริหารแล้ว การฟ้องคดีของโจทก์ย่อมไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใด การที่ศาลภาษีอากรกลางมีคำวินิจฉัยให้งดเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 89 แห่ง ป.รัษฎากร ที่เรียกเก็บจากโจทก์ทั้งหมด เพราะเห็นว่าโจทก์ไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และโจทก์ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบด้วยดี จึงถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้ว