คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ทวี ประจวบลาภ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 111 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3883-3884/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คุ้มครองชั่วคราวคดีอนุญาโตตุลาการ: สิทธิครอบครองที่ดิน/บ้านพิพาทก่อนมีคำชี้ขาด
ผู้ร้องทั้งหกได้เสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักระงับข้อพิพาท สำนักงานศาลยุติธรรม โดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า ผู้ร้องทั้งหกเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินและบ้านพิพาทที่ได้ร่วมกันเช่าจากผู้คัดค้านที่ 2 ต่อมาผู้คัดค้านทั้งสองกับพวกได้ร่วมกันเข้าไปในที่ดินและบ้านพิพาทที่อยู่ในความครอบครองของผู้ร้องทั้งหก เพื่อถือการครอบครองทั้งหมดหรือแต่บางส่วนอันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้ร้องทั้งหกโดยปกติสุข และได้เปลี่ยนกุญแจบ้าน ประตูห้องนอน ประตูรั้วบ้าน ตัดน้ำ ตัดไฟ ขับไล่บริวารของผู้ร้องทั้งหกออกจากบ้าน ซึ่งไม่มีสิทธิกระทำได้โดยขอให้อนุญาโตตุลาการมีคำสั่งขับไล่ผู้คัดค้านทั้งสองและบริวารออกไปจากที่ดินและบ้านพิพาท ให้ส่งมอบที่ดินและบ้านในสภาพคงเดิมและให้ผู้คัดค้านทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายและผู้ร้องทั้งหกได้ยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวต่อศาลก่อนที่อนุญาโตตุลาการจะมีคำวินิจฉัยชี้ขาด โดยขอให้มีคำสั่งห้ามผู้คัดค้านทั้งสองเข้าไปในที่ดินและบ้านพิพาทอันเป็นการรบกวนการครอบครองโดยปกติสุขของผู้ร้องทั้งหก ให้ดำเนินการแก้ไข เพื่อให้ผู้ร้องทั้งหกสามารถเข้าอยู่อาศัยในที่ดินและบ้านพิพาทได้เป็นการชั่วคราวก่อนที่อนุญาโตตุลาการจะมีคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาด ซึ่งเป็นการขอให้ศาลมีคำสั่งในอันที่จะบรรเทาความเดือดร้อนเสียหายที่ผู้ร้องทั้งหกอาจได้รับต่อไป เนื่องจากการกระทำของผู้คัดค้านทั้งสองจนกว่าคดีจะถึงที่สุดหรือศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 254 (2) เมื่อข้อเรียกร้องของผู้ร้องทั้งหกมีมูลและมีเหตุผลเพียงพอ ผู้ร้องทั้งหกจึงร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการได้
ปัญหาว่าการจดทะเบียนการเช่าที่ดินพิพาทชอบหรือไม่ เป็นกรณีมีข้อพิพาทหรือข้อขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างผู้คัดค้านทั้งสองกับผู้ร้องทั้งหก ซึ่งเป็นคู่สัญญาตามสัญญาเช่าที่ดิน ข้อ 15.5 ระบุว่าในกรณีมีข้อพิพาทหรือข้อโต้แย้งใด ๆ เกิดขึ้นระหว่างคู่สัญญาหรือเกิดขึ้นจากสัญญานี้ ไม่สามารถตกลงกันได้โดยคู่สัญญาด้วยกัน คู่สัญญาตกลงเสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักระงับข้อพิพาท สำนักงานศาลยุติธรรม ผู้คัดค้านทั้งสองชอบที่จะเสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการสำนักระงับข้อพิพาท สำนักงานศาลยุติธรรมตามข้อสัญญา ปัญหาดังกล่าวไม่ใช่ประเด็นที่ศาลจะต้องวินิจฉัยชี้ขาดในชั้นขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาแต่อย่างใด
ปัญหาว่ามีเหตุสมควรให้เพิกถอนการจดทะเบียนการเช่าที่ดินพิพาทไว้ชั่วคราวก่อน มีคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ตามคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวของผู้คัดค้านที่ 2 หรือไม่ คำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวของผู้คัดค้านที่ 2 เป็นการขอตาม ป.วิ.พ. มาตรา 254 (3) ในการพิจารณาตามคำร้องขอต้องเป็นที่พอใจของศาลว่า ผู้ร้องทั้งหกจะดำเนินการให้มีการจดทะเบียนแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือเพิกถอนการจดทะเบียน ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้คัดค้านที่ 2 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 254 (3) (ก) แต่ตามคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวของผู้คัดค้านที่ 2 อ้างเหตุในคำร้องขอแต่เพียงว่า การจดทะเบียนการเช่าที่ดินพิพาทไม่ชอบ โดยไม่ปรากฏเหตุว่าผู้ร้องทั้งหกจะไปดำเนินการจดทะเบียนแก้ไขเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนหรือเพิกถอนการจดทะเบียนในที่ดินพิพาทแต่อย่างใด ไม่มีเหตุสมควรที่จะใช้วิธีคุ้มครองชั่วคราวตามคำร้องขอของผู้คัดค้านที่ 2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3246-3250/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปกปิดข้อความจริงในการทำสัญญาประกันภัย ทำให้สัญญาสัญญาประกันภัยเป็นโมฆียะ ผู้รับประกันภัยบอกล้างสัญญาได้
สัญญาประกันภัยเป็นสัญญาที่ต้องการความสุจริตหรือความไว้วางใจระหว่างคู่สัญญาเป็นสำคัญ ฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่ของผู้เอาประกันภัยที่จะต้องเปิดเผยข้อความจริงให้ผู้รับประกันภัยรับรู้ ขณะที่ ส. ขอทำสัญญาประกันภัยกับจำเลยทั้งห้า ส. ได้เอาประกันภัยกับผู้รับประกันภัยรายอื่นอีกนับสิบรายเป็นจำนวนหลายสิบกรมธรรม์ รวมเป็นจำนวนเงินเอาประกันภัยกว่า 47 ล้านบาท ย่อมถือได้ว่า ส. เป็นบุคคลที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากการขอเอาประกันภัยไว้เป็นจำนวนเงินที่สูง โดยไม่ปรากฏหลักฐานว่าเหมาะสมกับฐานะหรืออาชีพของ ส. หรือไม่อย่างไร และอาจมีมูลเหตุไปในทางไม่สุจริต การเอาประกันภัยกับผู้รับประกันภัยรายอื่นจึงถือเป็นสาระสำคัญที่ ส. ต้องเปิดเผยข้อความจริงดังกล่าวให้จำเลยทั้งห้าทราบ เพราะอาจจูงใจให้จำเลยทั้งห้าเรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นหรือบอกปัดไม่รับประกันภัยอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้การที่จำเลยทั้งห้ายอมตกลงเข้าทำประกันภัยตามฟ้องกับ ส. จึงเกิดจากความไม่สุจริตของ ส. ที่ไม่เปิดเผยข้อความจริงอันเป็นสาระสำคัญ สัญญาประกันภัยตามฟ้องย่อมตกเป็นโมฆียะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 865 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยทั้งห้าบอกล้างโดยชอบแล้ว สัญญาประกันภัยจึงตกเป็นโมฆะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2142/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางละเมิดจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ การพิจารณาข้อเท็จจริงจากคดีอาญาที่ถึงที่สุดแล้ว
ในคดีอาญาที่ ว. ผู้เอาประกันภัยรถยนต์จากโจทก์ถูกฟ้อง ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้องโจทก์ โดยฟังว่าการที่รถของ ว. ชนกับรถของ ศ. มิใช่เป็นเพราะความประมาทของ ว. และคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว ถือได้ว่าพนักงานอัยการได้ดำเนินคดีอาญาแทนจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นบิดามารดาของ ศ. คดีในส่วนความประมาทของ ว. ถือเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาดังกล่าวและถึงที่สุดแล้ว จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 การที่ศาลล่างทั้งสองพิจารณาพยานหลักฐานและรับฟังข้อเท็จจริงในคดีส่วนแพ่งไปอีกทางหนึ่งอันรับฟังไปคนละทางกับข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญาย่อมไม่สามารถจะกระทำได้อันเป็นการไม่ชอบ เมื่อจำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมไม่ได้ฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนความประมาทของ ศ. จึงต้องรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า ศ. เป็นผู้ประมาทโดยขับรถยนต์เฉี่ยวชนรถยนต์คันที่ ว. ขับ อันเป็นการละเมิดต่อ ว. โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยชำระค่าเสียหายให้แก่ ว. จึงเข้ารับช่วงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองในฐานะทายาทโดยธรรมของ ศ. แต่ไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1601 และจากจำเลยร่วมในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์ของ ศ. ได้
ส่วนประเด็นเรื่องการกำหนดค่าเสียหาย แม้ศาลล่างทั้งสองไม่ได้วินิจฉัยปัญหานี้ไว้ แต่เมื่อโจทก์ยื่นอุทธรณ์และฎีกา ได้เสียค่าขึ้นศาลมาอย่างคดีมีทุนทรัพย์ และคู่ความสืบพยานข้อเท็จจริงเพียงพอแก่การวินิจฉัยได้ เพื่อมิให้คดีล่าช้า ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1724/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาคุณสมบัติข้าราชการ: โจทก์ไม่ได้แจ้งประวัติอาญาที่มีการล้างมลทิน ทำให้คณะกรรมการฯ ไม่นำกฎหมายมาพิจารณา
โจทก์พยายามปฏิเสธว่าโจทก์ไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน โดยไม่มีการหยิบยกข้อเท็จจริงที่แสดงว่าโจทก์เคยต้องโทษจำคุกมาก่อนและได้พ้นโทษแล้ว เข้าเงื่อนไขหรือองค์ประกอบตาม พ.ร.บ.ล้างมลทินฯ ขึ้นอ้างเป็นประโยชน์แก่ตนต่อคณะกรรมการฯ ผู้แทนจำเลยที่ 1 ในระหว่างสอบสวนคุณสมบัติของโจทก์ เมื่อโจทก์ไม่เคยอ้างข้อเท็จจริงดังกล่าวต่อคณะกรรมการฯ ผู้แทนจำเลยที่ 1 คณะกรรมการฯ ผู้แทนจำเลยที่ 1 จึงไม่ทราบและไม่ได้นำ พ.ร.บ.ล้างมลทินฯ ดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาให้ กรณีจึงหาเป็นความผิดของคณะกรรมการฯ ผู้แทนจำเลยที่ 1 ไม่ มติของคณะกรรมการฯ ผู้แทนจำเลยที่ 1 จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1480/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ พินัยกรรมห้ามโอนทรัพย์สินแต่ไม่กำหนดผู้รับผลประโยชน์แทน ข้อห้ามโอนเป็นอันใช้ไม่ได้ ผู้รับพินัยกรรมมีสิทธิขายได้
จำเลยที่ 2 เป็นบุตร ส. เจ้ามรดก กับ ย. ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดกซึ่งถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว ต่อมาเจ้ามรดกอยู่กินฉันสามีภริยากับโจทก์มีบุตรด้วยกันอีก 3 คน เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 468 ตำบลสะเตง อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา เป็นของเจ้ามรดกส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 7890 ซึ่งอยู่ติดต่อกันเป็นของ น. ต่อมาวันที่ 13 สิงหาคม 2524 น. จดทะเบียนยกที่ดินดังกล่าวให้แก่ ย. ภายหลังจาก ย. ถึงแก่ความตาย เจ้ามรดกจดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินดังกล่าว สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 468 และบ้านเลขที่ 113 ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินดังกล่าว เจ้ามรดกจดทะเบียนยกให้จำเลยที่ 2 ต่อมาวันที่ 20 กันยายน 2545 เจ้ามรดกทำพินัยกรรมโดยมีเจตนาระบุเกี่ยวกับทรัพย์สินไว้ในพินัยกรรมว่า ที่ดินและบ้านเลขที่ 113 มอบให้จำเลยที่ 2 ครอบครองเป็นมรดกตกทอดถึงลูกหลาน เหลน น้อง ๆ มีสิทธิมาพักเสมือนมีพ่ออยู่ (ห้ามขายมรดกชิ้นนี้) ส่วนทรัพย์อื่น ๆ ยกให้โจทก์ จำเลยที่ 2 และบุตรของเจ้ามรดกซึ่งเกิดกับโจทก์อีก 3 คน และให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นน้องชายเป็นผู้จัดการมรดกเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2545 เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดก เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2546 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 7890 ให้จำเลยที่ 2 ตามข้อกำหนดในพินัยกรรม เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2555 จำเลยที่ 2 จดทะเบียนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 468 พร้อมบ้านเลขที่ 113 และที่ดินโฉนดเลขที่ 7890 ให้แก่จำเลยที่ 3 การที่เจ้ามรดกทำหนังสือสัญญาให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 468 และสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 113 แก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2529 ก่อนที่เจ้ามรดกจะถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 468 พร้อมบ้านเลขที่ 113 นับแต่ได้รับการยกให้ เจ้ามรดกจึงไม่ได้เป็นเจ้าของทรัพย์ดังกล่าวนับแต่ยกให้จำเลยที่ 2 เจ้ามรดกจึงไม่มีสิทธินำที่ดินโฉนดเลขที่ 468 พร้อมบ้านเลขที่ 113 ซึ่งเป็นของผู้อื่นไปทำพินัยกรรมยกให้แก่ผู้ใดได้อีก ข้อกำหนดในพินัยกรรมที่ระบุว่า ยกบ้านเลขที่ 113 ให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อยู่แล้วจึงไม่อาจบังคับได้ ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 7890 แม้ตามพินัยกรรมจะมีข้อกำหนดห้ามจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ตามพินัยกรรมโอนทรัพย์สินนั้น แต่ก็ไม่ได้กำหนดให้มีบุคคลหนึ่งบุคคลใดนอกจากผู้รับประโยชน์ตามพินัยกรรมที่จะให้เป็นผู้รับทรัพย์สินนั้นต่อไปอย่างเด็ดขาด กรณีจึงต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1700 วรรคสาม ที่ให้ถือว่าข้อกำหนดห้ามโอนนั้นเป็นอันไม่มีเลย ดังนั้น เมื่อเจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกที่ดินโฉนดเลขที่ 7890 ให้แก่จำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 2 จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวมีสิทธิจำหน่ายจ่ายโอนหรือกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินนั้นได้ จำเลยที่ 2 จึงมีสิทธิโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 3 โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 7890 และบ้านเลขที่ 113 ตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 274/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฉ้อโกงโดยอาศัยภาวะจิตของผู้เสียหาย ศาลฎีกาแก้ไขโทษฐานความผิดตามมาตรา 342(2) แทนมาตรา 341
การที่จำเลยที่ 1 หลอกลวงเอาทรัพย์ไปจากผู้เสียหายที่ 1 ในขณะที่ผู้เสียหายที่ 1 มีอาการป่วยทางจิต ซึ่งเป็นบุคคลที่มีภาวะแห่งจิตต่ำกว่าปกติ และย่อมถูกหลอกลวงได้โดยง่ายกว่าคนปกติทั่วไปนั้น ถือเป็นการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงโดยอาศัยความอ่อนแอแห่งจิตของผู้เสียหายที่ 1 ผู้ถูกหลอกลวง จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 342 (2) หาใช่เป็นเพียงความผิดตาม ป.อ. มาตรา 341 ดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยไม่ แต่เมื่อโจทก์และโจทก์ร่วมมิได้ฎีกา ศาลฎีกาจึงเพียงแก้ไขปรับบทลงโทษจำเลยทั้งสี่เสียใหม่ให้ถูกต้อง แต่ก็ไม่อาจเพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งสี่ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15315/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องขับไล่โดยผู้ซื้อที่รับโอนทรัพย์สินโดยไม่สุจริต คำพิพากษาศาลฎีกาผูกพัน ห้ามใช้สิทธิไม่สุจริต
แม้ตามคำคัดค้านและฟ้องแย้งของผู้คัดค้านจะอ้างว่า การครอบครองที่ดินพิพาทของผู้ร้องเป็นละเมิดต่อผู้คัดค้านเพราะผู้คัดค้านมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินพิพาทและผู้คัดค้านไม่ยินยอมให้ผู้ร้องเข้าครอบครองที่ดินพิพาท ขอให้ศาลพิพากษาขับไล่ผู้ร้องและบริวารออกจากที่ดินพิพาทและเรียกค่าเสียหาย แต่เมื่อได้ความว่า ผู้คัดค้านเคยฟ้องขับไล่สามีของผู้ร้องในที่ดินพิพาทแปลงเดียวกันจนศาลฎีกามีคำวินิจฉัยพิพากษายกฟ้อง โดยยกเหตุผลเรื่องการรับโอนในที่ดินพิพาทมิได้เป็นไปโดยสุจริตตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2808-2809/2539 คำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวจึงต้องผูกพันผู้คัดค้าน ฟังได้ว่าการฟ้องขับไล่สามีของผู้ร้องเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตแม้ผู้คัดค้านจะอ้างสิทธิในฐานะเจ้าของที่ดินซึ่งผู้คัดค้านมีสิทธิฟ้องขับไล่ผู้ร้องได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ก็ตาม แต่ผลแห่งคำพิพากษาศาลฎีกาย่อมผูกมัดผู้คัดค้านว่า ผู้คัดค้านใช้สิทธิฟ้องขับไล่สามีของผู้ร้องโดยไม่สุจริต ที่ผู้คัดค้านฟ้องแย้งขับไล่ผู้ร้องและบริวารออกจากที่ดินพิพาทและเรียกค่าเสียหายในคดีนี้โดยอ้างการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเช่นคดีเดิมที่เคยฟ้องขับไล่สามีผู้ร้องมาก่อนจึงเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตเช่นกัน ผู้คัดค้านไม่มีสิทธิฟ้องแย้งขับไล่ผู้ร้องและเรียกค่าเสียหาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15105/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเป็นหุ้นส่วนในกิจการครอบครัว ต้องมีเจตนาตกลงร่วมค้าและแบ่งปันผลกำไร การช่วยเหลือครอบครัวไม่ถือเป็นการเป็นหุ้นส่วน
การเป็นหุ้นส่วนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1012 คือสัญญาซึ่งบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกันด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้น สัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจึงเป็นการตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกันด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้นโดยชัดแจ้ง
โจทก์ทั้งสามและจำเลยเป็นบุตรของ ก. และ ช. บุคคลทั้งสองประกอบอาชีพค้าขายดำเนินกิจการร้านกุหลาบขาวตั้งแต่ปี 2475 และดำเนินกิจการร้านกุหลาบแดงซึ่งเดิมชื่อร้านกุ่ยเชียง มีที่ตั้งร้านอยู่บ้าน เลขที่ 2 - 4 อำเภอสัมพันธวงศ์ จังหวัดพระนคร โดยเริ่มประกอบกิจการตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2494 ก่อนจะแจ้งย้ายสถานที่ประกอบกิจการมาตั้งอยู่อาคารพาณิชย์เลขที่ 95/86 เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร และเปลี่ยนชื่อร้านเป็นร้านกุหลาบแดง ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2508 โดย ก. เป็นผู้ดูแลกิจการร้านค้าทั้งสองและเมื่อ ก. เสียชีวิต ช. เป็นผู้ดูแลแทนจนกระทั่งเจ็บป่วยจึงให้จำเลยเป็นผู้ดูแล โดย ก. และ ช. ให้การอุปการะเลี้ยงดูบุตรทุกคนในฐานะบิดามารดากระทำต่อบุตร โดยโจทก์ทั้งสามและบุตรคนอื่น ๆ รวมทั้งจำเลยหากมีเวลาว่างจะมาช่วยงาน ก. และ ช. ที่ร้านค้าทั้งสอง และเมื่อบุตรแต่ละคนมีรายได้จากอาชีพการงานอื่นจะส่งเงินมาช่วยจุนเจือบิดามารดาอันเป็นการปฏิบัติตนในฐานะบุตรที่มีความกตัญญูรู้คุณต่อบุพการี ไม่ปรากฏโดยชัดแจ้งว่า ก. และ ช. ตกลงร่วมค้าขายกับโจทก์ทั้งสามและบุตรคนอื่น ๆ โดยให้โจทก์ทั้งสามลงแรงเป็นหุ้น และประสงค์จะแบ่งเงินกำไรกันหรือหากขาดทุน โจทก์ทั้งสามและบุตรคนอื่น ๆ ต้องรับผิดชอบอย่างไร ก. และ ช. ไม่เคยแบ่งปันผลกำไรที่ได้จากการดำเนินกิจการร้านค้าทั้งสองให้แก่บุตรคนใดคนหนึ่ง แต่หากบุตรคนใดมีความเดือดร้อนต้องการใช้เงินจึงจะไปขอเบิกจาก ก. และ ช. การที่โจทก์ทั้งสามอ้างว่ามีการช่วยงานที่ร้านค้าทั้งสองหรือแม้แต่แบ่งเงินรายได้บางส่วนให้แก่ ช. หลังจาก ก. เสียชีวิตแล้วจึงไม่เป็นการลงหุ้น คงเป็นความสัมพันธ์ในครอบครัวระหว่างบิดามารดากับบุตร หาทำให้กิจการของบิดามารดาเป็นกิจการของครอบครัวอันจะถือว่าเป็นสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนระหว่างบุตรกับบิดามารดาโดยปริยายไม่ โจทก์ทั้งสามและจำเลยรวมทั้งบุตรคนอื่น ๆ จึงไม่เป็นหุ้นส่วนในร้านค้าทั้งสองกับ ก. และ ช. ตามบทกฎหมายดังกล่าวที่โจทก์ทั้งสามจะมาฟ้องขอเลิกห้างหุ้นส่วนร้านค้าทั้งสองและขอแบ่งส่วนผลกำไรจากการดำเนินกิจการร้านค้าทั้งสองตั้งแต่ครั้งที่ ก. ยังมีชีวิตอยู่ในฐานะเป็นหุ้นส่วนตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14524/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ: กำหนดเวลา 90 วัน และผลของการยื่นคำร้องล่าช้า
ตามคำร้องขอของผู้ร้องที่อ้างว่าคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการโดยผู้คัดค้าน ข้อ 7.1 ระบุว่า คำชี้ขาดวินิจฉัยข้อพิพาทไม่อยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการ หรือเกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ เป็นการร้องขอตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสาม (1) (ง) ข้อ 7.2 ระบุว่า องค์ประกอบของคณะอนุญาโตตุลาการไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 อันเป็นการร้องขอตามมาตรา 40 วรรคสาม (1) (จ) และในข้อ 7.3 ระบุว่า การยอมรับหรือบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน อันเป็นการร้องขอตามมาตรา 40 วรรคสาม (2) (ข) กรณีตามคำร้องของผู้ร้องดังกล่าว จึงเป็นการดำเนินการคัดค้านคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ โดยขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคหนึ่ง จึงต้องดำเนินการภายในกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันได้รับสำเนาคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการตามมาตรา 40 วรรคสอง ได้ความว่าเมื่ออนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดแล้วได้แจ้งคำสั่งให้ผู้ร้องทราบวันที่ 6 พฤษภาคม 2557 ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดดังกล่าวในวันที่ 6 สิงหาคม 2557 ซึ่งเกินกำหนดระยะเวลาเก้าสิบวันนับแต่วันที่ผู้ร้องได้รับสำเนาคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการแล้ว ผู้ร้องย่อมขาดสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสอง ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการได้
สำหรับข้อคัดค้านของผู้ร้องว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดการไต่สวนไม่ชอบนั้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการวินิจฉัยพยานหลักฐานซึ่งไม่ปรากฏว่ามีการวินิจฉัยผิดจากวิธีพิจารณาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อุทธรณ์ในส่วนนี้จึงต้องห้ามตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14524/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ: ต้องยื่นคำร้องภายใน 90 วันนับแต่วันได้รับแจ้งคำชี้ขาด
ตามคำร้องของผู้ร้อง ผู้ร้องมีคำขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ โดยผู้คัดค้าน ระบุว่า ผู้ร้องมีความประสงค์จะร้องขอต่อศาลเพื่อมีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ เนื่องจากคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการดังกล่าวไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมายที่ระบุอยู่ใน พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 กล่าวคือ ข้อ 7.1 ระบุว่า คำชี้ขาดวินิจฉัยข้อพิพาทไม่อยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการ หรือเกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการอันเป็นการร้องขอตามมาตรา 40 วรรคสาม (1) (ง) ข้อ 7.2 ระบุว่าองค์ประกอบของคณะอนุญาโตตุลาการไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 อันเป็นการร้องขอตามมาตรา 40 วรรคสาม (1) (จ) และในข้อ 7.3 ระบุว่าการยอมรับหรือบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน อันเป็นการร้องขอตามมาตรา 40 วรรคสาม (2) (ข) กรณีตามคำร้องของผู้ร้องดังกล่าว จึงเป็นการดำเนินการคัดค้านคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ โดยขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคหนึ่ง ทั้งนี้จะต้องดำเนินการภายในกำหนดระยะเวลาตามมาตรา 40 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า "คู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดได้ โดยยื่นคำร้องต่อศาลที่มีอำนาจภายในเก้าสิบวันนับแต่วันได้รับสำเนาคำชี้ขาด" ดังนั้น เมื่ออนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2557 ให้เพิกถอนบรรดาข้อเรียกร้องทั้งหมดของผู้ร้อง โดยแจ้งคำสั่งให้ผู้ร้องทราบเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2557 ต่อมาผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดดังกล่าวในวันที่ 6 สิงหาคม 2557 ซึ่งเกินกำหนดระยะเวลาเก้าสิบวัน นับแต่วันที่ผู้ร้องได้รับสำเนาคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการแล้ว แม้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งรับคำร้อง และมีคำสั่งไม่รับคำร้องเพราะคดีไม่ได้อยู่ในอำนาจ ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่อศาลชั้นต้นในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2557 ก็ตาม กรณีดังกล่าวจึงเป็นการยื่นคำร้องเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาเก้าสิบวัน นับแต่วันที่ผู้ร้องได้รับสำเนาคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ผู้ร้องย่อมขาดสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสอง
ข้อคัดค้านของผู้ร้องว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดการไต่สวนโดยไม่ชอบนั้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการวินิจฉัยพยานหลักฐานซึ่งไม่ปรากฏว่ามีการวินิจฉัยผิดจากวิธีพิจารณาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อุทธรณ์ในส่วนนี้จึงต้องห้ามตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45
of 12