คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ทวี ประจวบลาภ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 111 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8714/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การก่อสร้างอาคารผิดกฎหมายเฉพาะ แม้มีข้อยกเว้นทั่วไป ศาลยืนตามคำพิพากษาเดิม
ผู้ร้องอุทธรณ์ว่า ผู้ร้องก่อสร้างทางขึ้นที่จอดรถอาคารพิพาทมีความสูง 2.03 เมตร แม้จะไม่ได้ระยะความสูงตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง อาคารจอดรถยนต์ พ.ศ.2521 ที่กำหนดให้ระยะดิ่งระหว่างพื้นดินถึงส่วนต่ำสุดของคานหรือเพดานหรือสิ่งอื่นที่ติดกับคานหรือเพดานต้องไม่น้อยกว่า 2.10 เมตร แต่ได้รับยกเว้นตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2528) ออกตามความใน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ทางขึ้นที่จอดรถที่ผู้ร้องก่อสร้างจึงถูกต้องตามกฎหมาย การที่อนุญาโตตุลาการชี้ขาดข้อพิพาทโดยไม่หยิบยกกฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2528) ดังกล่าวขึ้นมาวินิจฉัย แล้วชี้ขาดให้ผู้ร้องชำระค่าเสียหายแก่ผู้คัดค้าน ย่อมเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะหากอนุญาโตตุลาการนำข้อกฎหมายมาประกอบการวินิจฉัยด้วย ก็จะปรากฏให้เห็นได้ว่าการก่อสร้างของผู้ร้องมิได้เป็นความผิดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ซึ่งผู้ร้องไม่จำต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้คัดค้าน คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นกรณีที่ผู้ร้องอุทธรณ์ในทำนองว่า การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 (1) ปัญหานี้แม้ผู้ร้องไม่ได้ยกขึ้นกล่าวอ้างเป็นประเด็นพิพาทในชั้นการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ ผู้ร้องก็สามารถยกขึ้นอ้างเป็นประเด็นพิพาทในชั้นศาลได้ ผู้ร้องจึงไม่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6636/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อยกเว้นความผิดพ.ร.บ.อาวุธปืนฯ สำหรับเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบ
เมื่อความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7 และมาตรา 8 ทวิ ต่างเป็นความผิดสำเร็จได้ในตัวเองแยกจากกันได้ การพิจารณาว่าจำเลยจะกระทำความผิดตามมาตรา 8 ทวิ หรือไม่ จึงไม่จำต้องพิจารณาว่าจำเลยกระทำความผิดตามมาตรา 7 มาก่อน และมาตรา 8 ทวิ ก็ไม่ได้บัญญัติไว้ว่าใช้บังคับใช้กับอาวุธปืนที่มีหรือไม่มีเครื่องหมายทะเบียนของนายทะเบียนประทับ ดังนั้น ต้องถือว่าใช้บังคับกับอาวุธปืนทั้งที่มีและไม่มีเครื่องหมายประจำอาวุธปืนของนายทะเบียนประทับ ซึ่งกรณีปกติย่อมเป็นความผิดตามบทบัญญัติ มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง แต่เมื่อมาตรา 8 ทวิ วรรคสาม บัญญัติว่า ความในมาตรานี้มิให้บังคับแก่ (1) เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน ทหาร และตำรวจ ซึ่งอยู่ในระหว่างปฎิบัติหน้าที่ เมื่อจำเลยเป็นผู้ใหญ่บ้านถือเป็นพนักงานส่วนท้องถิ่นพาอาวุธปืนของกลางติดตัวออกไประงับเหตุทะเลาะวิวาทอันเป็นการปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย แม้อาวุธปืนของกลางจะไม่มีเครื่องหมายทะเบียนประจำอาวุธปืนและจำเลยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนของกลางก็ตาม ย่อมไม่ใช้บังคับแก่จำเลยในกรณีนี้ด้วย ดังนั้น การกระทำของจำเลยส่วนนี้จึงไม่เป็นความผิดฐานพาอาวุธปืน โดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4410/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้ามในปัญหาข้อเท็จจริง และการบังคับตามคำพิพากษาคดีอาญาในคดีแพ่ง
คดีนี้ในส่วนอาญา ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะกำหนดโทษและเพียงแต่ปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ถูกต้องโดยระบุวรรคของ มาตรา 290 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และบทบัญญัติที่อ้างอิงประกอบภายในวงเล็บ ถือเป็นการแก้ไขเล็กน้อย และยังคงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ไม่เกินห้าปี จึงห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง
เมื่อคดีส่วนอาญาต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญาจึงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกับพวกใช้ไม้ ขวดสุรา และก้อนอิฐเป็นอาวุธทุบตีและร่วมกันชกต่อยทำร้ายผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนจนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายตามฟ้อง ตามป.วิ.อ. มาตรา 46 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้กระทำละเมิดจึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ร้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3259/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทหนี้สินจากสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและกู้ยืม การรับผิดของผู้ค้ำประกันและจำนอง
แม้ตามสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 5 ทำไว้เมื่อปี 2536 และปี 2538 ระบุให้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่จะมีต่อไปในภายหน้าด้วย โดยสัญญาค้ำประกันที่ทำเมื่อปี 2536 มีจำเลยที่ 2 และที่ 9 เป็นผู้ร่วมค้ำประกันในฉบับเดียวกัน ส่วนสัญญาค้ำประกันที่ทำเมื่อปี 2538 มีจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 6 เป็นผู้ร่วมค้ำประกัน ในฉบับเดียวกัน แต่ปรากฏว่าภายหลังจากจำเลยที่ 5 ทำนิติกรรมกับโจทก์ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2539 โดยทำบันทึกขึ้นเงินจำนองที่ดินรวม 4 แปลง แล้ว จำเลยที่ 5 ก็ไม่ได้ทำนิติกรรมใดๆ กับโจทก์อีก และเมื่อจำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินกับโจทก์ 2 ฉบับ เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2542 ในวันเดียวกันนั้น จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 6 ถึงที่ 10 ได้ทำสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 7 และที่ 8 ทำสัญญาจำนอง นอกจากนี้จำเลยที่ 3 และที่ 6 ยังได้ทำหนังสือแสดงเจตนาให้การจำนองที่ทำไว้ตั้งแต่ปี 2535 และปี 2536 เป็นการจำนองเป็นประกันหนี้ตามสัญญาเงินกู้ 2 ฉบับนี้ด้วย ส่วนจำเลยที่ 5 มิได้ทำสัญญาค้ำประกันหรือสัญญาจำนองขึ้นใหม่ ทั้งไม่ได้ทำหนังสือแสดงเจตนาให้การจำนองที่จำเลยที่ 5 ทำไว้ตั้งแต่ปี 2536 เป็นการจำนองเป็นประกันหนี้ตามสัญญาเงินกู้ 2 ฉบับนี้ด้วยแต่อย่างใด พฤติการณ์เช่นนี้เล็งเห็นเจตนาของโจทก์และจำเลยที่ 5 ได้ว่า สัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 5 ทำไว้ในปี 2536 และปี 2538 รวมทั้งสัญญาจำนองที่ดินที่ได้ทำไว้ก่อนไม่เป็นการค้ำประกันและจำนองเป็นประกันหนี้สำหรับสัญญาเงินกู้จำนวน 2 ฉบับ ที่จำเลยที่ 1 ทำกับโจทก์ในภายหลังดังกล่าวโดยการกู้เงินตามสัญญาเงินกู้นี้จำเลยที่ 5 มิได้เกี่ยวข้องด้วยแต่อย่างใด จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2472/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีมโนสาเร่: ศาลมีอำนาจสั่งแก้ไขคำฟ้องได้หากไม่ชัดเจน แม้ไม่จำเป็นแต่ไม่ทำให้เสียหายต่อสิทธิ
คดีที่มีคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ไม่เกิน 300,000 บาท เป็นคดีมโนสาเร่ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 189 (1) ซึ่งกรณีโจทก์ยื่นคำฟ้องเป็นหนังสือ หากศาลเห็นว่าคำฟ้องดังกล่าวไม่ถูกต้องหรือขาดสาระสำคัญบางเรื่อง ศาลอาจมีคำสั่งให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องในส่วนนั้นให้ชัดเจนขึ้นก็ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 191 วรรคสอง ซึ่งเป็นวิธีพิจารณาความที่กำหนดไว้สำหรับการพิจารณาคดีมโนสาเร่ บทบัญญัติดังกล่าวเป็นการให้ดุลพินิจศาลที่จะสั่งหรือไม่สั่งให้โจทก์แก้ไขคำฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1721/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบรรยายฟ้องความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารราชการ ศาลพิจารณาจากข้อหาที่โจทก์ฟ้องแต่ละกระทง
โจทก์บรรยายฟ้องในข้อ 1 ก. และ 1 ข. ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันปลอมหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ และใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชปลอม ส่วนฟ้องในข้อ 1 ค. โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอมฉบับเดิมเท่านั้น มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันทำปลอมเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการขึ้นใหม่ การกระทำของจำเลยทั้งสองตามฟ้องข้อ 1 ค. จึงมีความผิดฐานร่วมกันใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอมฐานเดียวตามมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 266 (1) เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1542/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้ามเนื่องจากเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานในข้อเท็จจริง
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานขับรถโดยประมาท จำคุก 4 ปี ฐานหลบหนีและไม่แจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จำคุก 2 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 4 ปี 2 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ลดโทษให้จำเลยที่ 1 หนึ่งในสี่ตาม ป.อ. มาตรา 78 คงลงโทษฐานขับรถโดยประมาทจำคุก 3 ปี ฐานหลบหนีและไม่แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จำคุก 45 วัน รวมจำคุก 3 ปี 45 วัน จึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้ไขเล็กน้อยและลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 แต่ละกระทงไม่เกินห้าปี จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าพยานหลักฐานโจทก์รับฟังได้ว่าเหตุตามฟ้องไม่ได้เกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 3 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1384/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาล: รวมคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการเป็นคดีเดียวได้ หากมูลหนี้เกี่ยวข้องกันและเกิน 300,000 บาท
ผู้ร้องและผู้คัดค้านในคดีนี้เป็นคู่ความรายเดียวกัน และมูลคดีล้วนเนื่องมาจากการขอให้ผู้คัดค้านปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ และผู้คัดค้านโต้แย้งว่าผู้คัดค้านถอนตัวจากความผูกพันตามสัญญาระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการสมาคมประกันวินาศภัยแล้ว อนุญาโตตุลาการจึงไม่มีอำนาจรับเรื่องไว้พิจารณาและชี้ขาด ดังนั้น ประเด็นสำคัญแห่งคดีตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการสมาคมประกันวินาศภัยทั้ง 23 คำชี้ขาด จึงเป็นเรื่องเดียวกัน มูลหนี้ที่ผู้ร้องนำมาร้องขอบังคับในคดีนี้จึงเกี่ยวข้องกันพอที่จะรวมพิจารณาเข้าด้วยกันได้ เมื่อมูลหนี้ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการสมาคมประกันวินาศภัยทั้ง 23 คำชี้ขาด รวมกันเป็นเงินเกินกว่า 300,000 บาท คดีจึงอยู่ในอำนาจศาลแพ่งกรุงเทพใต้ที่จะพิจารณาพิพากษา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1129/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เหตุห้างหุ้นส่วนเหลือวิสัยที่จะดำรงอยู่ต่อไปได้ โจทก์มีอำนาจฟ้องได้โดยไม่ต้องบอกเลิกก่อน
การที่โจทก์ทั้งสามฟ้องคดีอ้างว่า มีเหตุอื่นใดๆ ทำให้ห้างหุ้นส่วนเหลือวิสัยที่จะดำรงคงอยู่ต่อไปได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1057 (3) อันก่อสิทธิฟ้องคดีได้โดยสมบูรณ์หาใช่กรณีที่ผู้เป็นหุ้นส่วนของห้างหุ้นส่วนที่ตั้งขึ้นโดยไม่มีกำหนดการอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นยุติประสงค์จะเลิกห้างหุ้นส่วนสามัญโดยไม่มีเหตุอันจะต้องดำเนินการตามมาตรา 1056 ประกอบมาตรา 1055 (4) ไม่ โจทก์ทั้งสามจึงมีอำนาจฟ้องโดยหาต้องดำเนินการตามมาตรา 1056 ก่อน
การที่จำเลยและโจทก์ที่ 3 หย่าขาดกันตามคำพิพากษาตามยอมนั้น หาอาจหมายความว่า โจทก์ทั้งสามและจำเลยตกลงกันให้จัดการทรัพย์สินโดยวิธีอื่นในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกัน อันเป็นข้อยกเว้นไม่ต้องชำระบัญชีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1061 ได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1046/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลในการวางเงินค่าฤชาธรรมเนียมและชำระหนี้ตามคำพิพากษา ส่งผลให้ศาลไม่รับอุทธรณ์
เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2548 จำเลยยื่นอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ เนื่องจากยื่นเกินกำหนดที่ศาลอนุญาต คือวันที่ 19 ธันวาคม 2548 จำเลยอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นสั่งให้จำเลยนำเงินค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงมาวางศาลและนำเงินมาชำระตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 234 ภายใน 15 วันนับแต่วันที่มีคำสั่ง วันที่ 23 ธันวาคม 2548 จำเลยอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวและให้รับอุทธรณ์คำสั่งของจำเลย โดยไม่ต้องนำเงินค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงมาวางศาลและไม่ต้องนำเงินมาชำระตามคำพิพากษา ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่าจำเลยมิได้นำเงินมาชำระตามตามคำพิพากษาหรือหาประกันให้ไว้ต่อศาลชั้นต้นภายในเวลาที่กำหนด อันเป็นการไม่ปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 234 คำร้องอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมายให้ยกคำร้อง และเมื่อศาลยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยแล้ว กรณีจึงไม่ต้องสั่งอุทธรณ์คำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยฉบับลงวันที่ 23 ธันวาคม 2548 อีก ดังนี้จึงมีผลเป็นการที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยยืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้น คำสั่งของศาลอุทธรณ์ย่อมเป็นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 236 วรรคหนึ่ง
of 12