คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 172 วรรคสอง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 735 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1290/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การวินิจฉัยเหตุหย่าตามฟ้อง แม้ศาลจะปรับบทกฎหมายที่ใช้บังคับแตกต่างไป ก็ไม่ถือว่าเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้อง
การบรรยายฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง จะต้องให้แจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหานั้น หมายความว่า เป็นการบรรยายข้อเท็จจริงที่โจทก์ประสงค์จะใช้เป็นข้ออ้างในการฟ้องให้แจ้งชัด โจทก์บรรยายข้อเท็จจริงมาในฟ้องถึงสาเหตุที่โจทก์ต้องฟ้องหย่าว่า เป็นเพราะจำเลยที่ 1 มีพฤติการณ์อุปการะเลี้ยงดู ยกย่องจำเลยที่ 2 ฉันภริยา กล่าวคือ จำเลยทั้งสองเดินทางไปท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่นด้วยกัน พักร่วมอยู่ในบ้านเดียวกัน ติดต่อพูดคุยทางโทรศัพท์กันเสมอเป็นเวลานาน ข้อเท็จจริงที่ศาลล่างทั้งสองรับฟังเป็นยุติจากการวินิจฉัยพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่ายว่าเป็นไปตามฟ้อง แม้จะมีรายละเอียดเพิ่มเติมว่า จำเลยที่ 1 ขับรถให้ คือขอให้พาจำเลยที่ 2 ไปร้านตัดเสื้อ ร้านแว่นตา ร้านทำผม เขียนบทกลอนส่งหากัน แต่ก็เป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวพันกับข้อเท็จจริงที่โจทก์บรรยายมาในฟ้องแล้วทั้งสิ้น ไม่มีข้อเท็จจริงใดเป็นข้อเท็จจริงที่อยู่นอกคำฟ้อง ส่วนศาลล่างทั้งสองจะเห็นว่า ข้อเท็จจริงที่รับฟังเป็นยุตินั้นเป็นเหตุหย่าหรือไม่ และเป็นเหตุหย่าที่ปรับได้กับบทบัญญัติกฎหมายมาตราใด กฎหมายมาด้วย แต่ก็ไม่ผูกพันว่าศาลจะต้องวงเล็บใดก็เป็นอำนาจหน้าที่และเป็นความเห็นของแต่ละศาล ไม่ใช่หน้าที่ของโจทก์ แม้โจทก์จะอ้างบทปรับบทตามฟ้องของโจทก์ ดังนั้น การที่ศาลปรับบทกฎหมายแตกต่างจากฟ้อง ไม่ถือเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องหรือเป็นการวินิจฉัยในประเด็นอื่นที่มิได้กล่าวมาในฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18316/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาททางจำเป็นและทางภาระจำยอม: การฟ้องละเมิดที่ไม่ตรงกับข้อตกลง
โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า จำเลยทั้งสองปิดกั้นทางสาธารณะ แต่ไม่มีคำขอให้บังคับจำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ในส่วนนี้ ฎีกาของโจทก์ทั้งสองในข้อนี้ซึ่งถือเป็นคำฟ้อง จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ประกอบมาตรา 246, 247 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คำฟ้องของโจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างว่า จำเลยทั้งสองขุดทำลายทางจำเป็นและปลูกต้นไม้ล้ำเข้ามาในทางจำเป็นโดยจงใจทำให้โจทก์ทั้งสองกับผู้ใช้ทางอื่นไม่ได้รับความสะดวก อันเป็นละเมิด ซึ่งขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่ได้ความตามทางพิจารณาว่า จำเลยทั้งสองเข้าปรับปรุงทางพิพาทเนื่องจากมีข้อตกลงในการสร้างทางภาระจำยอมเพื่อใช้แทนทางจำเป็น หากการก่อสร้างทางดังกล่าวไม่เป็นไปตามข้อตกลง ก็ชอบที่โจทก์ทั้งสองจะฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสองแก้ไขให้ถูกต้องได้ การกระทำของจำเลยทั้งสองตามที่โจทก์กล่าวอ้างมาจึงไม่เป็นละเมิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17023/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทแรงงาน: การจ่ายค่าจ้างค้างจ่าย ดอกเบี้ยผิดนัด และการแก้ไขคำฟ้อง
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยค้างจ่ายค่าจ้างตั้งแต่เดือนเมษายน 2553 ถึงวันที่การเลิกจ้างมีผลในวันที่ 8 ธันวาคม 2553 พร้อมระบุจำนวนเงินค่าจ้างค้างจ่ายทั้งหมด จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างย่อมตรวจสอบได้ว่าช่วงเวลาดังกล่าวโจทก์ทำงานให้แก่จำเลยหรือไม่ จำเลยจ่ายค่าจ้างโจทก์แล้วหรือยังและค้างจ่ายค่าจ้างตามฟ้องหรือไม่ เพียงใด การที่จำเลยให้การต่อสู้คดีว่าไม่ได้ค้างจ่ายค่าจ้างก็ย่อมเป็นผลจากการตรวจสอบรายละเอียดการทำงานและการจ่ายค่าจ้างแล้ว ทั้งรายละเอียดค่าจ้างค้างจ่ายแต่ละเดือนนั้น โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ถือว่าคำฟ้องได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น ทำให้จำเลยเข้าใจและต่อสู้คดีได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุม
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในกรณีที่นายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างภายในเวลาที่กำหนดตามมาตรา 70 หรือค่าชดเชยตามมาตรา 118 ให้นายจ้างเสียดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้างในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละ 15 ต่อปี" ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดให้นายจ้างเสียดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดในหนี้ค่าจ้างและค่าชดเชยไว้โดยเฉพาะแล้ว จึงมิอาจนำอัตราดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไปมาใช้บังคับได้ เมื่อจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างผิดนัดไม่จ่ายค่าจ้างและค่าชดเชยแก่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้าง จำเลยจึงต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละ 15 ต่อปี ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง
การที่ศาลแรงงานกลางสั่งอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้อง คำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 (2) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 จะต้องโต้แย้งคำสั่งไว้ก่อนจึงจะมีสิทธิอุทธรณ์ได้ ที่จำเลยแถลงคัดค้านคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องของโจทก์เป็นเพียงการคัดค้านก่อนที่ศาลแรงงานกลางจะมีคำสั่ง แต่ภายหลังจากที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องแล้ว จำเลยมิได้โต้แย้งคำสั่งดังกล่าวของศาลแรงงานกลาง ถือว่าจำเลยไม่ได้โต้แย้งคำสั่งของศาลแรงงานกลางไว้ อุทธรณ์ของจำเลยจึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 (2) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11692/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายน้ำมันล่วงหน้า: การกำหนดค่าปรับที่เหมาะสมและความเสียหายที่แท้จริง
หนังสือรับรองข้อความที่นายทะเบียนเก็บรักษาไว้ตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ออกโดยนายทะเบียนการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้น ถือเป็นเอกสารมหาชน ดังนั้น สำเนาหนังสือรับรองดังกล่าวที่ทนายโจทก์รับรองความถูกต้อง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้และถูกต้อง เมื่อจำเลยทั้งสองมิได้นำพยานหลักฐานมาสืบให้เห็นว่าหนังสือรับรองข้อความมีข้อความไม่ถูกต้องอย่างไร ย่อมต้องฟังว่าเป็นหนังสือรับรองที่แท้จริงและถูกต้อง ข้อความในหนังสือที่รับรองว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลจดทะเบียน ณ สหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือย่อมรับฟังได้
โจทก์อ้างสำเนาหนังสือมอบอำนาจช่วงเป็นพยานเอกสารโดยจำเลยทั้งสองมิได้คัดค้านการนำเอกสารมาสืบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 125 ศาลย่อมรับฟังสำเนาเอกสารเป็นพยานหลักฐานโดยไม่ต้องปิดอากรแสตมป์ เมื่อศาลมิได้รับฟังต้นฉบับหนังสือมอบอำนาจช่วงเป็นพยานหลักฐาน ต้นฉบับหนังสือมอบอำนาจช่วงจะปิดอากรแสตมป์หรือไม่ ปิดอากรแสตมป์แล้วไม่ได้ขีดฆ่าหรือไม่ ย่อมไม่มีผลให้การรับฟังสำเนาหนังสือมอบอำนาจช่วงเป็นพยานเปลี่ยนแปลงไป
แม้เอกสารท้ายฟ้องถือเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง แต่เอกสารท้ายฟ้องส่วนที่เป็นภาษาอังกฤษเป็นการรับรองการมอบอำนาจของโจทก์ที่ทำในต่างประเทศโดยโนตารีปับลิกแห่งกรุงลอนดอน ซึ่งคำฟ้องโจทก์บรรยายเป็นภาษาไทยไว้ชัดเจนว่า โจทก์ได้แต่งตั้งและมอบอำนาจให้ ว. กระทำการแทนโจทก์รวมทั้งมีอำนาจมอบอำนาจช่วงได้ ซึ่งจำเลยทั้งสองก็ได้ให้การต่อสู้คดีไว้แล้วว่าการมอบอำนาจไม่ว่าการมอบอำนาจภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร มิได้กระทำโดยผู้มีอำนาจ ลายมือชื่อผู้มอบอำนาจปลอมและตราประทับไม่ใช่ตราประทับที่แท้จริง การที่ไม่มีคำแปลหนังสือมอบอำนาจท้ายฟ้องเป็นภาษาไทย ก็ไม่มีผลทำให้ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม
โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงทำสัญญากันว่าในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งในอนาคต จำเลยที่ 1 ตกลงสั่งซื้อน้ำมันจากโจทก์ตามราคาที่กำหนดไว้ในสัญญา และโจทก์ก็ตกลงจะขายให้จำเลยที่ 1 ในราคาดังกล่าว เมื่อถึงช่วงเวลาตามสัญญาคู่สัญญาก็ต้องปฏิบัติตามข้อตกลงต่อกัน ฝ่ายใดไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญาถือว่าเป็นฝ่ายผิดสัญญา สัญญาดังกล่าวไม่มีลักษณะเป็นการพนันขันต่อ จึงใช้บังคับได้ ไม่เป็นโมฆะ
ค่าปรับคือ ค่าเสียหายที่คู่สัญญาตกลงกันไว้ล่วงหน้า กำหนดให้ฝ่ายที่ปฏิบัติผิดสัญญาต้องชดใช้ค่าปรับที่กำหนดไว้ให้แก่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งการที่ศาลจะกำหนดให้ฝ่ายที่ผิดสัญญารับผิดชำระค่าปรับเพียงใด ศาลจะต้องคำนึงถึงความเสียหายที่แท้จริงที่เกิดขึ้นแก่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง ไม่เฉพาะแต่ความเสียหายในเชิงทรัพย์สิน
โจทก์เป็นผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ของประเทศ มีการสั่งซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงจากต่างประเทศหรือในประเทศมาจำหน่ายให้แก่ลูกค้ารายย่อยในประเทศไทยจำนวนมากเป็นธรรมดาที่โจทก์ต้องมีการเจรจาตกลงสั่งซื้อน้ำมันล่วงหน้าจากผู้ผลิตน้ำมันจากต่างประเทศ ซึ่งโจทก์ต้องยอมรับความเสี่ยงเรื่องการขึ้นลงของน้ำมันในตลาดโลกและอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศซึ่งเคลื่อนไหวตลอดเวลา การแนะนำลูกค้าให้ทำสัญญาซื้อขายน้ำมันล่วงหน้าจากโจทก์ ถือเป็นการแบ่งเบาภาระและความเสี่ยงอันเกิดจากราคาน้ำมันของโจทก์ไปให้แก่ลูกค้าของโจทก์นั่นเอง สัญญาซื้อขายดังกล่าวไม่เข้าลักษณะของสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 จึงไม่อาจนำบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9532/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบรรยายฟ้องคดีประกันภัยค้ำจุนต้องระบุความสัมพันธ์ระหว่างผู้ขับขี่ ผู้เอาประกันภัย และความรับผิดตามกฎหมาย
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายพร้อมกับยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา แม้ศาลชั้นต้นจะมิได้สั่งอนุญาต แต่การที่จำเลยที่ 2 ได้รับสำเนาคำร้องแล้วไม่คัดค้าน และศาลชั้นต้นสั่งให้ส่งสำนวนไปยังศาลฎีกา ถือได้ว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ แล้ว
ประกันภัยค้ำจุนคือ สัญญาประกันภัยซึ่งผู้รับประกันภัยตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัย เพื่อความวินาศภัยอันเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่ง และซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบตาม ป.พ.พ. มาตรา 887 วรรคหนึ่ง ดังนั้น ข้อเท็จจริงที่ว่า ผู้ใดเป็นผู้เอาประกันภัยและผู้ทำละเมิดเกี่ยวข้องกับผู้เอาประกันภัยอย่างไร อันจะเป็นเหตุให้ผู้รับประกันภัยค้ำจุนจะต้องร่วมรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทน จึงเป็นหลักเกณฑ์สำคัญในการบรรยายฟ้องเพื่อให้เห็นถึงสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา
โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุน จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ก็ต่อเมื่อผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดต่อโจทก์เท่านั้น โจทก์จึงต้องบรรยายฟ้องให้ได้ความว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ขับรถยนต์ที่จำเลยที่ 2 รับประกันภัยไว้ไปทำละเมิดต่อโจทก์ มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องอย่างไรกับผู้เอาประกันภัยอันเป็นเหตุให้ผู้เอาประกันภัยต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดนั้น และการบรรยายฟ้องถึงข้ออ้างอันอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหานี้ถือเป็นหลักเกณฑ์สำคัญ หาใช่เป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์จะสามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ เมื่อโจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 มีความสัมพันธ์กับผู้เอาประกันภัยอย่างไร คำฟ้องโจทก์จึงมิได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 ชอบแล้ว แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นคดีใหม่ ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความ
การระบุชื่อผู้ขับขี่ในกรมธรรม์ประกันภัยหรือไม่ เป็นรูปแบบของกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งแต่ละแบบจะมีผลแตกต่างกันในเรื่องความเสี่ยงภัยของผู้รับประกันภัยและการได้รับความคุ้มครองในความเสียหายส่วนแรก อันเป็นผลถึงจำนวนเบี้ยประกันภัย ซึ่งเป็นทางเลือกของผู้เอาประกันภัยด้วย และแม้ว่ากรมธรรม์ประกันภัยจะเป็นชนิดไม่ระบุชื่อผู้ขับขี่ ผู้รับประกันภัยก็จะต้องร่วมรับผิดเฉพาะกรณีผู้ขับขี่นั้นมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องหรือได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยในทางใดทางหนึ่งเท่านั้น มิใช่ผู้ใดเป็นผู้ขับขี่ ผู้รับประกันภัยก็ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บุคคลภายนอกที่ได้รับความเสียหายทุกกรณีดังที่โจทก์อ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9530/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกานี้ชี้ขาดเรื่องการรับผิดในคดีรถชน, การขยายเวลาฟ้อง, และการเคลือบคลุมของฟ้อง
จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ฉบับลงวันที่ 18 ธันวาคม 2549 ก่อนสิ้นระยะเวลาอุทธรณ์ แต่เอกสารดังกล่าวสูญหายไปจากสำนวนความ เป็นเหตุที่ทำให้ศาลชั้นต้นไม่สามารถมีคำสั่งให้ขยายระยะเวลาก่อนสิ้นระยะเวลาอุทธรณ์ เมื่อจำเลยทั้งสองขอตรวจสำนวนไม่พบคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ฉบับลงวันที่ 18 ธันวาคม 2549 อยู่ในสำนวนความ จึงขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ตามคำร้องฉบับลงวันที่ 12 มกราคม 2550 ศาลชั้นต้นได้ทำการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่แล้ว ปรากฏว่าในวันดังกล่าวจำเลยทั้งสองยังไม่ได้รับเอกสารที่ขอคัดถ่ายไว้ จึงมีเหตุที่จะขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้ตามคำร้องฉบับลงวันที่ 12 มกราคม 2550 ที่เสนอเมื่อพ้นกำหนดเวลาได้ การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ตามคำร้องของจำเลยทั้งสองจึงชอบแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองด้วยเหตุว่า การไม่ได้รับสำเนาคำพิพากษาที่ขอคัดถ่ายไม่ใช่เหตุสุดวิสัยเป็นเพียงพฤติการณ์พิเศษ ต้องยื่นคำร้องก่อนสิ้นระยะเวลาอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
ฟ้องโจทก์ทั้งสองมิได้กล่าวอ้างหรือแสดงว่าจำเลยที่ 2 รับประกันภัยค้ำจุนไว้จากผู้ใด และผู้เอาประกันภัยมีนิติสัมพันธ์กับจำเลยที่ 1 อย่างไร อันจะทำให้ผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดชอบในผลแห่งละเมิดของจำเลยที่ 1 ด้วย ฟ้องโจทก์ทั้งสองจึงขาดสาระสำคัญอันเป็นมูลที่จะให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิด เท่ากับคำฟ้องโจทก์ทั้งสองมิได้บรรยายข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาที่จะให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยต้องรับผิด เป็นคำฟ้องที่ไม่ชัดแจ้งไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ฟ้องโจทก์ทั้งสองสำหรับจำเลยที่ 2 เป็นฟ้องเคลือบคลุม
ผู้ตายมีหน้าที่จะต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูโจทก์ที่ 1 ตามกฎหมาย โจทก์ที่ 1 จึงมีสิทธิได้รับค่าขาดไร้อุปการะตาม ป.พ.พ. มาตรา 443 วรรคสาม โดยไม่ต้องพิจารณาว่า ในขณะนั้นผู้ตายได้อุปการะเลี้ยงดูโจทก์ที่ 1 เป็นเงินเดือนละเท่าใด แม้โจทก์ที่ 1 ไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับแหล่งที่มาของเงินได้ของผู้ตาย ศาลก็มีอำนาจกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 1 ตามสมควรได้ เมื่อพิจารณาถึงอายุของโจทก์ที่ 1 ซึ่งขณะเกิดเหตุมีอายุ 53 ปี ส่วนผู้ตายมีอายุ 57 ปี ย่อมเห็นได้ว่า โจทก์ที่ 1 มีโอกาสได้รับอุปการะตามกฎหมายได้ไม่น้อยกว่า 10 ปี ที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าขาดไร้อุปการะให้แก่โจทก์ที่ 1 เดือนละ 6,000 บาท เป็นเวลา 10 ปี ถือว่าเหมาะสมแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7106/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำ-อายุความ-ความรับผิดทางละเมิด: ศาลแก้ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายจากอุบัติเหตุทางรถยนต์
แม้โจทก์จะมิได้บรรยายฟ้องให้ปรากฏว่า ผู้ใดเป็นผู้เอาประกันภัย และจำเลยที่ 1 มีความสัมพันธ์กับผู้เอาประกันภัยอย่างไร อันจะเป็นเหตุให้ผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดในการกระทำของจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่โจทก์ก็บรรยายฟ้องให้เห็นแล้วว่า จำเลยที่ 2 ได้รับประกันภัยรถบรรทุกหมายเลขทะเบียน 93 - 3064 กรุงเทพมหานคร ซึ่งเฉี่ยวชนรถยนต์ของโจทก์ หลังเกิดเหตุตัวแทนของจำเลยที่ 2 มาที่เกิดเหตุและตกลงชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์โดยออกหลักฐาน (ใบเคลม) โดยตัวแทนของจำเลยที่ 2 ระบุเลขกรมธรรม์ 1 - 45 - 2164 ให้แก่โจทก์ในวันเกิดเหตุตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4 อันเป็นการฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 2 รับผิดตามหลักฐานเอกสารใบตรวจสอบรายการความเสียหายที่จำเลยที่ 2 ออกให้อันเกิดจากการกระทำละเมิดของผู้ขับรถที่จำเลยที่ 2 รับประกันภัย ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็ไม่ได้ให้การโต้แย้งฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้ กรณีจึงเป็นที่เห็นได้ว่า จำเลยที่ 2 ทราบดีถึงเหตุที่เกิดตลอดจนนิติสัมพันธ์ที่จำเลยที่ 2 มีต่อรถบรรทุกคันเกิดเหตุจึงได้ส่งตัวแทนของจำเลยที่ 2 ไปตกลงชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ คำฟ้องโจทก์จึงแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา คำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม
ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคสอง บัญญัติว่า ในกรณีที่คดีนั้นศาลไม่รับหรือคืนหรือให้ยกคำฟ้องเพราะเหตุคดีไม่อยู่ในอำนาจศาล หรือศาลให้ยกคำฟ้องโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องใหม่ และปรากฏว่าอายุความครบกำหนดไปแล้วในระหว่างการพิจารณาหรือจะครบกำหนดภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นถึงที่สุด ให้เจ้าหนี้มีสิทธิฟ้องคดีเพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องหรือเพื่อให้ชำระหนี้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นถึงที่สุด เหตุเกิดวันที่ 21 เมษายน 2545 เดิมโจทก์ยื่นฟ้องคดีต่อศาลแขวงพระนครเหนือวันที่ 13 กันยายน 2545 ภายในกำหนดอายุความ ศาลแขวงพระนครเหนือมีคำสั่งรับฟ้องและส่งหมายเรียกสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยทั้งสองแล้ว ต่อมาวันที่ 11 มิถุนายน 2546 จึงมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งรับฟ้องเนื่องจากไม่มีอำนาจพิจารณา เป็นกรณีที่ศาลแขวงพระนครเหนือมีคำสั่งไม่รับหรือคืนคำฟ้องเพราะเหตุคดีไม่อยู่ในอำนาจศาลภายหลังจากที่คดีขาดอายุความแล้ว เช่นนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องคดีใหม่ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำสั่งนั้นถึงที่สุด โดยศาลแขวงพระนครเหนือไม่จำต้องมีคำสั่งว่าไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องใหม่ ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องคดีนี้ภายในหกสิบวันนับแต่คำสั่งศาลแขวงพระนครเหนือถึงที่สุดชอบแล้ว
ศาลแขวงพระนครเหนือมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งรับฟ้องเนื่องจากไม่มีอำนาจพิจารณา จึงเป็นกรณีที่ศาลแขวงพระนครเหนือยังไม่ได้มีคำวินิจฉัยพิพากษาในเนื้อหาแห่งคดีแต่อย่างใด ที่โจทก์มาฟ้องเป็นคดีนี้ใหม่ต่อศาลชั้นต้นจึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ
โจทก์นำรถเข้าซ่อมที่ศูนย์บริการของรถที่โจทก์ใช้อยู่ ย่อมเป็นสิทธิของโจทก์ผู้ได้รับความเสียหายที่จะกระทำได้ จำเลยที่ 2 จะบังคับให้โจทก์ไปซ่อมรถที่อู่ทั่วไปตามความประสงค์ของจำเลยที่ 2 หาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5046/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ: การลงข้อความเท็จในบัญชีและการปลอมแปลงเอกสารเพื่อหลอกลวงนักลงทุน
ตามฟ้องข้อ (ข) เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยลงข้อความเท็จในบัญชีและทำบัญชีไม่ถูกต้องกรณีบริษัท ส. ซื้อที่ดินจาก ป. ในราคา 580,500,000 บาท จำเลยได้สั่งจ่ายเช็คถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของบริษัท ส. จำนวน127,500,000 บาท โดยจำเลยบันทึกในบัญชีของบริษัทว่าได้ชำระเป็นค่าซื้อที่ดินให้แก่ ป. แล้ว อันเป็นความเท็จ ความจริงไม่มีการนำเงินจำนวนดังกล่าวไปชำระค่าซื้อที่ดินโดยโจทก์บรรยายฟ้องให้รายละเอียดชัดแจ้งถึงเส้นทางของเงินจำนวนดังกล่าวว่าได้โอนไปเข้าบัญชีของผู้ใด จำนวนกี่บัญชี บัญชีละเท่าใด และมีการโอนเงินจำนวนดังกล่าวออกจากบัญชีที่รับไว้ไปชำระหนี้ให้แก่ผู้ใดหรือนำเข้าบัญชีของใคร จำนวนเท่าใด และเมื่อไร จึงเป็นการบรรยายฟ้องถึงการกระทำทั้งหลายของจำเลยที่อ้างว่าได้กระทำความผิดให้เข้าใจได้ว่าจำเลยลงข้อความเท็จหรือทำบัญชีไม่ถูกต้องอย่างไร ส่วนการบันทึกบัญชีอันเป็นเท็จจะหมายถึงบัญชีใด อยู่ในเอกสารใด รายละเอียดของข้อความที่ลงไว้อย่างไร แม้ไม่ได้บรรยายไว้ก็ไม่ทำให้ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะเป็นรายละเอียดที่โจทก์นำสืบได้ในชั้นพิจารณา คำฟ้องโจทก์ในข้อ (ข) จึงไม่เคลือบคลุม ส่วนคำฟ้องข้อ (ค) และ (ง) เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยลงข้อความเท็จในบัญชีและทำบัญชีไม่ถูกต้องกรณีบริษัท ป. และบริษัท ฟ. ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดในโครงการจัดสรรของบริษัท ส. โดยโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทำปลอมสัญญาจะซื้อจะขายว่าทั้งสองบริษัทดังกล่าวเป็นคู่สัญญาผู้จะซื้อกับบริษัท ส. ผู้จะขาย และตกแต่งลงข้อความเท็จในบัญชีว่าผู้จะซื้อดังกล่าวได้ผ่อนชำระค่างวดในโครงการดังกล่าวและยังค้างชำระค่างวดแก่บริษัท ส. ซึ่งความจริงบริษัท ป. ไม่เคยเป็นหนี้สินและไม่เคยทำสัญญาจะซื้อห้องชุดในโครงการดังกล่าวกับบริษัท ส. ส่วนบริษัท ฟ. ไม่มีเจตนาแท้จริงจะซื้อห้องชุดกับบริษัท ส. เพราะบริษัทดังกล่าวไม่ได้ประกอบธุรกิจและไม่มีรายได้ที่จะชำระค่างวด ทั้งนี้เพื่อลวงนักลงทุนและผู้ถือหุ้น ประชาชนและคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ให้เข้าใจว่า บริษัท ส. ประสบความสำเร็จในโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ จึงเป็นการบรรยายฟ้องที่ชัดแจ้งแล้วว่า จำเลยลงข้อความเท็จในบัญชีอย่างไร ส่วนข้อความเท็จในบัญชีมีว่าอย่างไร อยู่ส่วนไหนของบัญชีเป็นรายละเอียดที่โจทก์นำสืบได้ในชั้นพิจารณา สำหรับคำฟ้องที่บรรยายว่าจำเลยปลอมสัญญาจะซื้อจะขายหรือปลอมบัญชีเอกสารก็เพียงมีความมุ่งหมายให้เข้าใจว่าเป็นส่วนหนึ่งของการลงข้อความเท็จในบัญชีอันเป็นองค์ประกอบความผิดเท่านั้น หาใช่เป็นคำฟ้องที่ขัดแย้งกันแต่อย่างใด ฟ้องโจทก์ข้อ (ค) (ง) จึงไม่เคลือบคลุม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10111/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางภาษีอากรจากการแสดงรายได้และรายจ่ายที่ไม่ถูกต้อง และการตัดสินใจไม่ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี
คำบรรยายฟ้องของโจทก์ได้แสดงถึงมูลหนี้จากสิทธิเรียกร้องตามข้อตกลงโอนหุ้น และข้อตกลงต่อท้ายสัญญาการโอนหุ้นประกอบกับรายละเอียดแห่งหนี้ค่าภาษีอากรค้างที่จำเลยทั้งยี่สิบหกต้องรับผิดตามสัญญาดังกล่าวแต่ไม่ชำระ อันเป็นการปฏิบัติผิดสัญญาต่อโจทก์เพียงพอที่ฝ่ายจำเลยจะให้การต่อสู้คดีได้แล้ว ส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุผลคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เป็นเพียงรายละเอียดที่อาจนำสืบกันต่อไปในชั้นพิจารณาได้ ถือได้ว่าคำฟ้องของโจทก์เช่นนี้ได้แสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหา ข้ออ้างซึ่งใช้เป็นหลักแห่งข้อหาตลอดจนคำขอบังคับโดยชัดเจนพอเข้าใจได้ ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง
คู่สัญญามีเจตนาให้ฝ่ายผู้โอนชำระแทนบริษัทโจทก์หรือชำระให้บริษัทโจทก์ เพื่อการชำระหนี้ของบริษัทโจทก์ที่มีนอกเหนือบัญชีท้ายนั่นเอง ดังนี้ แม้โจทก์ไม่ได้เป็นคู่สัญญา แต่โจทก์ก็เป็นผู้รับประโยชน์ ตามสัญญาดังกล่าว เมื่อโจทก์แสดงเจตนาแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ผู้เป็นลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานี้ก็มีสิทธิเรียกชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 โดยตรงได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 วรรคหนึ่งและวรรคสอง และการวินิจฉัยตามข้อสัญญาดังกล่าว ไม่ใช่นิติกรรมที่กฎหมายบังคับให้ทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือจึงไม่มีเหตุใด ๆ ให้ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติ มาตรา 94 แห่ง ป.วิ.พ.
การที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 3 ซึ่งมีการส่งหมายเรียกสำเนาคำฟ้องที่กล่าวอ้างถึงเหตุที่จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดและขอให้บังคับจำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยอื่นชำระหนี้แก่โจทก์นั้น ย่อมถือได้ว่าเป็นการทวงถามให้จำเลยที่ 3 ชำระหนี้อยู่ในตัวด้วย และเมื่อจำเลยที่ 3 ได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องโดยการปิดหมายเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2538 ซึ่งมีผลเป็นการส่งได้ในวันที่ 23 กรกฎาคม 2538 แล้วจำเลยที่ 3 ไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ย่อมถือได้ว่าเป็นการผิดนัดอันจะต้องเสียดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กับพวกรับผิดโดยอ้างสิทธิตามสัญญาเกี่ยวกับการโอนหุ้นและกิจการของบริษัทโจทก์ อันเป็นคดีที่มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยถึงความรับผิดตามสัญญาเป็นสำคัญ เพียงแต่ที่มาแห่งคดีหรือมูลคดีตามสัญญานี้มาจากหนี้ภาษีอากรเท่านั้น การที่มีประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวนี้ไม่ว่าจะมีผลให้คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลภาษีอากรดังที่จำเลยที่ 3 ฎีกาหรือไม่ก็ตาม แต่ปัญหานี้แม้หากจะถือว่าเป็นดังที่จำเลยที่ 3 ฎีกาก็เป็นเพียงปัญหาว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจของศาลภาษีอากรกลางหรือศาลแพ่งกรุงเทพใต้ซึ่งฝ่ายจำเลยชอบที่จะยื่นคำร้องให้ประธานศาลฎีกาเป็นผู้วินิจฉัยตามมาตรา 10 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528
การที่โจทก์ไม่ใช้สิทธิยื่นขอเสียภาษีตามมาตรา 30 แห่ง พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฏากร (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2529 แม้ถือได้ว่าเป็นการตัดสินใจผิดและทำให้ถูกประเมินเรียกเก็บภาษีเป็นจำนวนมากตามคำฟ้องก็ตาม แต่ก็จะถือว่าเป็นความผิดของโจทก์โดยสิ้นเชิงหาได้ไม่ เพราะต้นเหตุแห่งการที่เสียภาษีไว้ไม่ครบถ้วนจนถูกประเมินเรียกเก็บภาษีเพิ่มดังกล่าวนั้นล้วนเกิดจากการกระทำของกรรมการบริษัทชุดเดิม ทั้งยังไม่เปิดเผยความจริงเพื่อให้โจทก์ตัดสินใจใช้สิทธิประโยชน์ตามพระราชกำหนดดังกล่าวอันถือได้ว่าจำเลยที่ 1 กับที่ 2 และกรรมการบริษัทชุดเดิมมีส่วนผิดในการทำให้เกิดหนี้ภาษีอากรตามที่โจทก์ถูกประเมินเรียกเก็บตามฟ้องด้วย กรณีเช่นนี้ก็จะถือว่าเป็นความผิดของกรรมการบริษัทชุดเดิมเต็มที่ก็ไม่ได้เช่นกัน เนื่องจากโจทก์โดยกรรมการชุดใหม่ก็ตัดสินใจผิดพลาดในการไม่ใช้สิทธิยื่นขอเสียภาษีตามพระราชกำหนดดังกล่าว ซึ่งน่าจะทำให้ต้องเสียภาษีน้อยกว่าจำนวนที่ถูกประเมินเรียกเก็บตามฟ้อง ซึ่งควรเป็นเรื่องที่โจทก์โดยกรรมการชุดใหม่ต้องมีส่วนรับผิดชอบในการตัดสินใจด้วยเช่นกัน หนี้ค่าภาษีอากรตามจำนวนที่ถูกเจ้าพนักงานประเมินกรมสรรพากรประเมินเรียกเก็บทั้งหมดนี้เกิดจากความผิดของฝ่ายกรรมการบริษัทโจทก์ชุดเดิมเป็นต้นเหตุส่วนหนึ่งและกรรมการชุดใหม่ก็มีส่วนผิดพลาดในการตัดสินใจที่ต้องร่วมรับผิดชอบด้วยเช่นกัน โดยยังไม่แน่ชัดว่าฝ่ายใดมีส่วนผิดพลาดมากกว่ากัน จึงเห็นว่าต่างฝ่ายต่างมีส่วนผิดพลาดไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน เช่นนี้ย่อมฟังไม่ได้ว่าหนี้ค่าภาษีอากรตามฟ้องนั้นฝ่ายจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นผู้ก่อหนี้หรือเกิดจากความรับผิดของฝ่ายจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 อันจะต้องรับผิดชดใช้แทนโจทก์เต็มจำนวนทั้งหมด และคงฟังได้เพียงว่า ฝ่ายจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มีส่วนผิดพลาดอันมีผลให้เป็นหนี้จำนวนนี้เพียงกึ่งหนึ่งเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6535/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาความเคลือบคลุมของคำฟ้อง ต้องพิจารณาจากข้อความในคำฟ้องเท่านั้น ไม่ต้องพิจารณาพยานหลักฐานในชั้นพิจารณา
การพิจารณาว่าคำฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่นั้นจำต้องพิจารณาแต่เพียงเฉพาะข้อความที่ปรากฏตามที่โจทก์บรรยายมาในคำฟ้องเท่านั้น ไม่จำต้องพิจารณาถึงพยานหลักฐานที่นำสืบในชั้นพิจารณามาประกอบ
of 74