คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 172 วรรคสอง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 735 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2383/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้รับประกันภัยต่อความเสียหายจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ และขอบเขตความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย
แม้ตามคำฟ้องจะเป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 3 รับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนตาม ป.พ.พ. มาตรา 887 ซึ่งข้อเท็จจริงที่ว่าผู้ใดเป็นผู้เอาประกันภัย และผู้ทำละเมิดเกี่ยวข้องกับผู้เอาประกันภัยอย่างไร อันจะทำให้ผู้รับประกันภัยค้ำจุนต้องร่วมรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนถือเป็นสาระสำคัญในเรื่องการบรรยายฟ้องก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่าในชั้นยื่นคำให้การ จำเลยที่ 3 ให้การรับว่าได้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน 8 ว-3766 กรุงเทพมหานคร ไว้จริง เพียงแต่ปฏิเสธว่าความเสียหายไม่ได้เกิดจากรถยนต์คันที่จำเลยที่ 3 รับประกันภัยไว้รวมถึงการอ้างเหตุสุดวิสัย ตามคำให้การของจำเลยที่ 3 ดังกล่าวยังระบุด้วยว่าจำเลยที่ 3 จะเสนอกรมธรรม์ประกันภัยในชั้นพิจารณา แสดงว่าจำเลยที่ 3 ครอบครองกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน 8 ว-3766 กรุงเทพมหานคร ไว้ เมื่อจำเลยที่ 3 ได้รับสำเนาคำฟ้องจากโจทก์ จำเลยที่ 3 จึงสามารถนำกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวมาตรวจสอบ และสามารถทราบได้ทันทีว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 3 รับผิดในความเสียหายที่นาย ก. ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าวก่อขึ้น กรณีจึงหาทำให้จำเลยที่ 3 หลงข้อต่อสู้ไม่ ฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 จึงไม่เคลือบคลุม
ข้อที่ว่านาย ก. ขับรถยนต์ในขณะอยู่ภายใต้ฤทธิ์สุรายาเมาถึงขนาดไม่สามารถควบคุมรถยนต์ได้หรือไม่ จำเลยที่ 3 มีภาระการพิสูจน์ ทางนำสืบของจำเลยที่ 3 มีเพียงผลการตรวจเลือดนาย ก. ว่า ตรวจพบแอลกอฮอล์ในเลือด 0.183 กรัมเปอร์เซ็นต์ และมีนาย อ. ผู้จัดการศูนย์ปฏิบัติการสินไหมทดแทนของจำเลยที่ 3 เบิกความสนับสนุนว่า ตามเงื่อนไขกรมธรรม์ใหม่ กรมการประกันภัยกำหนดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดที่จะไม่ต้องรับผิดไว้จำนวน 0.150 กรัมเปอร์เซ็นต์ ซึ่งตามข้อเท็จจริงดังกล่าวยังไม่เพียงพอที่จะให้รับฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุนาย ก. อยู่ภายใต้ฤทธิ์สุรายาเมาถึงขนาดไม่สามารถควบคุมรถยนต์คันที่จำเลยที่ 3 รับประกันภัย จำเลยที่ 3 จึงหาอาจยกข้อดังกล่าวขึ้นปฏิเสธความรับผิดต่อโจทก์ได้ไม่
เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า ภายหลังเกิดเหตุบริษัท ก. ซึ่งรับประกันภัยความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทางด่วนขั้นที่ 2 ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์จำนวน 464,893 บาท และต่อมาบริษัทดังกล่าวได้ใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาจากจำเลยที่ 3 โดยมีการตั้งอนุญาโตตุลาการและร้องขอต่อศาลให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการซึ่งจำเลยที่ 3 ได้ชำระให้แก่บริษัทดังกล่าวไปตามคำพิพากษาในคดีอนุญาโตตุลาการแล้วจำนวน 691,190 บาท โดยเป็นต้นเงินจำนวน 499,958 บาท จำเลยที่ 3 ซึ่งรับประกันภัยในความเสียหายต่อทรัพย์สินต่อหนึ่งครั้งเป็นเงินไม่เกิน 1,000,000 บาท จึงยังคงต้องรับผิดต่อโจทก์ในต้นเงินเพียง 500,042 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดเท่านั้น ปัญหาข้อนี้จำเลยที่ 3 ย่อมไม่อาจให้การต่อสู้ในคำให้การได้เนื่องจากศาลชั้นต้นในคดีที่ขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการมีคำพิพากษาในคดีดังกล่าวก่อนที่จะอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีนี้ แต่ปัญหาเรื่องที่คำพิพากษาสองสำนวนในเหตุละเมิดครั้งเดียวกันจะบังคับให้จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดเกินกว่าความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยที่ 3 มีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5435/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางละเมิด: การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากเหตุทำร้ายร่างกาย, การประเมินค่าเสียหาย, ค่าทนายความ และค่าฤชาธรรมเนียม
โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นผู้เยาว์และเป็นผู้เสียหาย โดยมีโจทก์ที่ 2 เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายในฐานะส่วนตัวและในฐานะเป็นผู้แทนโดยชอบธรรม การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำโดยจงใจ เป็นการละเมิดทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย และบรรยายฟ้องถึงค่าเสียหาย 3 ประการ คือ ประการที่ 1 ค่ารักษาพยาบาลตัวโจทก์ที่ 1 ที่โรงพยาบาล บ. เป็นเงิน 3,120 บาท ประการที่ 2 ค่ารถยนต์แท็กซี่ในการเดินทางของโจทก์ที่ 1 จากบ้านไปโรงเรียนหรือโรงพยาบาลเป็นเงิน 6,300 บาท และประการที่ 3 ค่าเสียหายของโจทก์ที่ 1 ที่ไม่สามารถใช้มือซ้ายยกเครื่องมือในการปฏิบัติงานได้เหมือนคนปกติตลอดชีวิตเป็นเงิน 300,000 บาท รวมเป็นเงิน 309,420 บาท ซึ่งการที่โจทก์ที่ 1 เป็นบุตรของโจทก์ที่ 2 ถูกจำเลยที่ 1 บุตรของจำเลยที่ 2 ใช้มีดฟันที่ข้อมือซ้ายได้รับบาดเจ็บสาหัส โจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นบิดาและเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมย่อมมีหน้าที่ดูแลจ่ายค่ารักษาพยาบาลและค่าเดินทางต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกัน เมื่อต้องเสียค่าใช้จ่ายดังกล่าวไปแล้ว โจทก์ที่ 2 ย่อมมีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายที่จ่ายไปจากผู้ที่ทำละเมิดคือจำเลยที่ 1 ซึ่งอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 2 ได้ เพราะเป็นค่าเสียหายส่วนตัวโดยตรง แม้ในคำฟ้องระบุว่าโจทก์ได้รับความเสียหายโดยมิได้ระบุว่าโจทก์ทั้งสอง แต่คำว่าโจทก์ย่อมหมายถึงโจทก์ทั้งสอง ซึ่งรวมถึงโจทก์ที่ 2 ด้วย โจทก์ที่ 2 ในฐานะส่วนตัวจึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายประการที่ 1 และประการที่ 2 จากจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นค่าเสียหายส่วนตัวโดยตรง ส่วนค่าเสียหายประการที่ 3 โจทก์ที่ 1 เป็นผู้เสียหายโดยตรง โดยโจทก์ที่ 2 ไม่ได้รับความเสียหายในส่วนนี้ โจทก์ที่ 2 จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายเฉพาะประการที่ 3 จากจำเลยทั้งสองเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5417/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำเลยมีสิทธิปรับค่าเช่ารายวันได้ โจทก์ไม่รื้อถอนโครงสร้างตามสัญญา จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินประกันคืน
โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 ผู้ให้เช่าคืนเงินประกันค่าเสียหายจากการใช้สถานที่เช่าเนื่องจากภายหลังครบกำหนดเวลาสัญญาเช่า โจทก์ผู้เช่าได้รื้อถอนแผ่นป้ายโฆษณาและโครงเหล็กสำหรับติดตั้งป้ายโฆษณาออกจากที่เช่าเรียบร้อยแล้ว จำเลยที่ 1 ให้การว่าเมื่อครบกำหนดสัญญาเช่าโจทก์มิได้รื้อถอนแผ่นป้ายโฆษณาและโครงเหล็กออกจากที่เช่า แต่กลับขอต่อสัญญาเช่าออกไปอีก 3 เดือน โดยให้จำเลยที่ 1 หักเงินประกันดังกล่าวเป็นค่าเช่า ซึ่งเป็นคำให้การที่ปฏิเสธข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามคำฟ้องโจทก์โดยชัดแจ้งว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าไม่รื้อถอนแผ่นป้ายโฆษณาและโครงเหล็ก คดีจึงมีประเด็นพิพาทที่ต้องวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าไม่รื้อถอนแผ่นป้ายโฆษณาและโครงสร้างเหล็กหรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่มีผลทำให้เกิดข้อแพ้ชนะในคดี และจะต้องวินิจฉัยก่อนประเด็นข้ออื่น ส่วนคำให้การที่ว่าโจทก์ขอต่อสัญญาเช่าออกไปอีก 3 เดือน เป็นข้อต่อสู้ที่จำเลยที่ 1 ยกขึ้นอ้างนอกเหนือไปจากข้ออ้าง ที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในคำฟ้องของโจทก์ เพราะหากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ผิดสัญญาเช่าแล้ว คดีก็ไม่จำต้องวินิจฉัยข้ออ้างดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ต่อไป เนื่องจากเป็นข้ออ้างที่เกินเลยไปจากข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาของโจทก์ การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ในประเด็นว่าโจทก์ได้ต่อระยะเวลาการเช่าออกไปอีก 3 เดือน โดยไม่ได้วินิจฉัยประเด็นที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าหรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงย่อมไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณาเมื่อจำเลยที่ 1 ยกขึ้นฎีกาต่อมา ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวไปโดยไม่ย้อนสำนวน ส่วนที่จำเลยที่ 1 ให้การว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิหักเงินประกันเป็นค่าปรับรายวันนั้น จำเลยที่ 1 ได้แสดงมาโดยชัดแจ้งในคำให้การเป็นประเด็นที่ต้องวินิจฉัย หากข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำให้การของจำเลยที่ 1 ว่าโจทก์ผิดสัญญาไม่รื้อถอนแผ่นป้ายโฆษณาและโครงเหล็กแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5206/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องละเมิดต้องชัดเจนฐานความรับผิด การพิพากษานอกฟ้องนอกประเด็นเป็นเหตุให้ต้องยกฟ้อง
ตามคำฟ้องโจทก์เป็นการบรรยายให้จำเลยรับผิดอันเนื่องมาจากการกระทำละเมิดของลูกจ้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 425 เท่านั้น มิใช่ให้รับผิดจากการกระทำละเมิดของจำเลยเองตาม ป.พ.พ. มาตรา ป.พ.พ. มาตรา 420 หากคำฟ้องโจทก์ต้องการให้จำเลยรับผิดจากการละเมิดของจำเลยเอง ก็ต้องแสดงให้แจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4005/2552 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับจำนำหุ้นที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่กระทบหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงิน แต่ยอดหนี้ที่คำนวณในฟ้องไม่ถูกต้อง
เมื่อการบังคับจำนำหุ้นของบริษัท ซ. โดยการขายทอดตลาดซึ่งไม่ได้เป็นไปโดยเปิดเผยแก่ประชาชนทั่วไปและไม่ได้ขายในราคาที่พอสมควร การขายทอดตลาดหุ้นดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ไม่มีผลถึงหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินอันเป็นหนี้ประธานที่จำเลยมีความรับผิดต่อโจทก์อยู่ตั้งแต่ก่อนจะมีการขายทอดตลาดแล้ว
แม้โจทก์จะมีสิทธิขอบังคับตามตั๋วสัญญาใช้เงินโดยไม่จำต้องบังคับจำนำเอากับหุ้นก่อนก็ตาม แต่โจทก์ตั้งรูปบรรยายฟ้องว่าโจทก์ได้ใช้สิทธิบังคับจำนำและคิดคำนวณยอดหนี้โดยหักเงินที่ได้จากการบังคับจำนำมาชำระหนี้ ศาลจึงต้องพิจารณาประเด็นเรื่องการบังคับจำนำ เมื่อวินิจฉัยว่าการบังคับจำนำไม่ชอบด้วยกฎหมายย่อมทำให้ยอดหนี้ที่โจทก์คิดคำนวณในฟ้องไม่ถูกต้อง จึงไม่อาจพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีตามฟ้องได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามตั๋วสัญญาใช้เงินและหนี้ยังไม่ระงับ จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยตามสัญญา แต่เมื่อยอดหนี้ที่ค้างชำระทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยยังไม่ถูกต้อง สมควรที่จะให้มีการคิดคิดคำนวณใหม่โดยพิพากษายกฟ้องและไม่ตัดสิทธิที่โจทก์จะนำคดีมาฟ้องใหม่
อุทธรณ์ในปัญหาเพียงว่าจะระบุในคำพิพากษาให้สิทธิโจทก์ที่จะฟ้องคดีใหม่หรือไม่ ไม่มีข้อพิพาทโต้เถียงเรื่องจำนวนเงินที่จำเลยต้องรับผิดโดยตรง ข้ออุทธรณ์ดังกล่าวจึงไม่ใช่คดีมีทุนทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3789/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดมีหน้าที่ส่งมอบเอกสารและเงินให้ผู้จัดการคนใหม่ หากไม่ส่งมอบถือเป็นความผิด
โจทก์ได้บรรยายฟ้องโดยแจ้งชัดแล้วว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้จัดการของโจทก์ มีหน้าที่นำเงินกองทุนนิติบุคคล เงินค่าใช้จ่ายส่วนกลางฝากธนาคาร จัดทำและเก็บรักษาสมุดรายงานการประชุม เอกสารทางบัญชี บัญชีรายรับรายจ่าย งบประมาณประจำปี งบดุล รายงานประจำปีที่ผ่านการตรวจสอบและรับรองจากผู้สอบบัญชีรับอนุญาตแล้ว ต่อมาเมื่อโจทก์แต่งตั้ง อ. เป็นผู้จัดการของโจทก์แล้ว อ. ให้จำเลยทั้งสามส่งมอบเงินกองทุนนิติบุคคล เงินค่าใช้จ่ายส่วนกลาง รวมทั้งเอกสารทั้งหมดแก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ขอให้จำเลยทั้งสามส่งมอบเงินที่เหลือพร้อมเอกสาร หากคืนเอกสารไม่ได้ให้ใช้ค่าเสียหาย ซึ่งเป็นการเพียงพอให้จำเลยที่ 3 เข้าใจและต่อสู้คดีได้แล้ว ส่วนจำเลยที่ 3 จะได้รับเงินจากเจ้าของร่วมแต่ละห้องเมื่อใดและกระทำผิดหน้าที่เมื่อใด โจทก์กำหนดค่าเสียหายอย่างไรนั้น เป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
จำเลยที่ 3 ฎีกาว่าการแต่งตั้ง อ. เป็นผู้จัดการของโจทก์ไม่ชอบ จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น จำเลยที่ 3 ให้การในข้อนี้เพียงว่าที่ประชุมเจ้าของร่วมอาคารชุดที่พิพาทไม่ได้มีมติแต่งตั้งให้ อ. เป็นผู้จัดการของโจทก์ อ. ขอเปลี่ยนแปลงรายการจดทะเบียนข้อบังคับต่อเจ้าพนักงานที่ดินโดยพลการและไม่มีสิทธิจึงไม่มีอำนาจฟ้องเช่นนี้ ประเด็นในเรื่องอำนาจฟ้องจึงมีว่า ที่ประชุมเจ้าของร่วมของโจทก์มีมติแต่งตั้ง อ. เป็นผู้จัดการของโจทก์หรือไม่เท่านั้น แต่ไม่มีข้อเท็จจริงโต้แย้งกันว่า การประชุมเจ้าของร่วมของโจทก์ในการลงมติแต่งตั้งผู้จัดการของโจทก์ดังกล่าวมีองค์ประชุมไม่ครบตามข้อบังคับของโจทก์ แม้ข้อเท็จจริงฟังว่ามีเจ้าของร่วมของโจทก์เข้าร่วมประชุมจำนวนไม่ถึงหนึ่งในสามของจำนวนห้องชุดทั้งหมด ทำให้มีองค์ประชุมไม่ครบตามข้อบังคับของโจทก์ ซึ่งจะมีผลให้การแต่งตั้ง อ. เป็นผู้จัดการของโจทก์ไม่ชอบตามที่จำเลยที่ 3 ฎีกา แต่ก็เป็นการยกข้อเท็จจริงนอกประเด็นแห่งคดีที่จำเลยที่ 3 ได้ให้การไว้ แม้เรื่องอำนาจฟ้องจะเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนซึ่งคู่ความอาจยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์และฎีกาได้ก็ตาม แต่ก็ต้องเป็นข้อกฎหมายที่เกิดจากข้อเท็จจริงในกระบวนพิจารณาโดยชอบด้วยกฎหมายด้วย จึงถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1902/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องคดีล่าช้าเกิน 43 ปี และการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ทำให้ไม่มีอำนาจฟ้อง
แม้คำฟ้องของโจทก์ที่บรรยายว่า ในการประกาศผลสอบไล่เนติบัณฑิตยสภาสมัยที่ 14 ประจำปี พ.ศ.2504 จำเลยซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาของชาติกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยกรรมการของจำเลยสมคบกันทุจริตในการให้คะแนนสอบปากเปล่าด้วยความลำเอียงไม่ให้คะแนนตามความรู้ ด้วยการให้คะแนนสอบปากเปล่าแก่ อ. ผู้ซึ่งสอบข้อเขียนได้เป็นอันดับ 3 สูงถึง 85 คะแนน แต่กลับให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้สอบข้อเขียนได้คะแนนสูงสุดและมีคะแนนข้อเขียนมากกว่า อ. ถึง 19 คะแนน ได้คะแนนสอบปากเปล่าเพียง 65 คะแนน ซึ่งเมื่อนำไปรวมกับคะแนนสอบข้อเขียนแล้ว ทำให้โจทก์ตกไปอยู่ในอันดับ 2 และส่งผลให้ อ. ได้คะแนนเป็นอันดับ 1 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายและอับอาย ไม่เป็นที่รู้จักและไม่ได้รับการยกย่องแพร่หลายในฐานะบุคคลที่เรียนดีที่สุดในยุคนั้น ขอให้บังคับจำเลยดำเนินการขอขมาโจทก์ และประกาศผลการสอบไล่ดังกล่าวเสียใหม่ว่าโจทก์เป็นผู้สอบไล่ได้เป็นอันดับ 1 มิใช่ อ. โดยให้จำเลยปิดประกาศแผ่นป้ายถาวรไว้ ณ ที่ทำการของจำเลย และแก้ไขรายการผลสอบดังกล่าวในเอกสารต่าง ๆ ด้วย หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้โจทก์ดำเนินการโดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเองนั้น จะเป็นคำฟ้องที่โจทก์ได้กล่าวแสดงซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ รวมทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง แล้วก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้องเพื่อสนับสนุนให้เห็นว่ากรรมการของจำเลยสมคบร่วมกันกระทำมิชอบต่อโจทก์นั้น หากมีมูลความจริง โจทก์ก็สมควรต้องรีบดำเนินการโต้แย้งหรือนำคดีมาฟ้องร้องต่อศาลภายในเวลาอันสมควร เพื่อให้จำเลยและบุคคลที่โจทก์กล่าวพาดพิงได้มีโอกาสชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา แต่โจทก์ก็หาได้กระทำไม่ กลับปล่อยเวลาให้ล่วงเลยเนิ่นนานจนถึงวันฟ้องเป็นเวลาประมาณ 43 ปี จนบุคคลที่เกี่ยวข้องต่างสูญหายตายจากไปหมดสิ้นแล้ว อีกทั้งข้อเท็จจริงที่โจทก์หยิบยกเอาความรู้ความสามารถ ความสำเร็จจากการสอบเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษา และจากหน้าที่ราชการที่โจทก์ปฏิบัติมาตลอดชีวิตราชการ รวมทั้งการเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่าง ๆ ภายหลังจากการสอบเป็นเนติบัณฑิต เพื่อสนับสนุนว่าโจทก์มีความรู้โดดเด่นไม่น่าจะได้คะแนนสอบปากเปล่าน้อยกว่า อ. ก็ล้วนเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นภายหลังการสอบปากเปล่าเป็นระยะเวลายาวนานเกือบตลอดชีวิตการทำงานของโจทก์ทั้งสิ้น หาใช่ข้อเท็จจริงที่มีอยู่แล้วหรือเกิดขึ้นภายในระยะเวลาใกล้เคียงวันเกิดเหตุอันจะเป็นเครื่องชี้หรือบ่งบอกถึงความรู้ความสามารถของโจทก์ในวันที่มีการสอบปากเปล่าไม่ การที่โจทก์ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยมานานถึง 43 ปี แล้วค่อยขุดคุ้ยเอาความสำเร็จจากหน้าที่ราชการที่ได้ปฏิบัติมาจนเกือบตลอดชีวิตขึ้นกล่าวอ้างเพื่อสนับสนุนคำฟ้องว่าจำเลยดำเนินการสอบปากเปล่าโดยมิชอบเช่นนี้ พฤติการณ์ส่อให้เห็นว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย
ปัญหาเรื่องการใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริต เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 53/2552 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างทำของ, การยึดหน่วง/หักกลบลบหนี้, การเรียกร้องค่าจ้างล่วงเวลา, และการรับฟังพยานเพิ่มเติม
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยว่าจ้างโจทก์ให้จัดหาพนักงานรักษาความปลอดภัยบริเวณสถานที่ทำการของจำเลยคิดเป็นค่าจ้างเดือนละ 82,000 บาท จำเลยให้การยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์ 1 เดือน กับ 15 วัน คิดเป็นเงิน 150,333.25 บาท มิได้สูงมากดังที่โจทก์ฟ้อง โจทก์เรียกร้องมากกว่าความเป็นจริง ทำให้จำเลยไม่เข้าใจฟ้อง เห็นว่า คำฟ้องดังกล่าวข้างต้นเป็นคำฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพของข้อหาของโจทก์ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้ว นอกจากนี้โจทก์ยังส่งสำเนาใบทำงาน/ใบแจ้งหนี้ซึ่งคำนวณถึงรายละเอียดเกี่ยวกับค่าจ้างแนบท้ายมาด้วย คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ส่วนจำเลยค้างชำระค่าจ้างโจทก์ตามฟ้อง หรือไม่ เป็นเรื่องคู่ความจะต้องนำพยานเข้าสืบพิสูจน์ในชั้นพิจารณา
โจทก์ยื่นคำฟ้องพร้อมแนบสำเนาสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยมาด้วยจำเลยได้รับสำเนาสัญญาดังกล่าวแล้วมิได้ให้การโต้แย้งว่าไม่ถูกต้อง จึงต้องรับฟังว่าสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยดังกล่าวเป็นสัญญาที่ถูกต้อง จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยอีกว่าต้นฉบับสัญญาดังกล่าวได้มีการติดอากรแสตมป์หรือไม่ ส่วนจำนวนเงินที่โจทก์ฟ้องเกินกว่าจำนวนเงินในสัญญาจ้างทำของหรือไม่ก็สามารถพิจารณาได้จากสัญญาดังกล่าว
โจทก์ยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมลงวันที่ 26 มิถุนายน 2546 โดยอ้างว่าฝ่ายบัญชีของโจทก์เพิ่งค้นพบเอกสารที่ยื่นเป็นพยานต่อศาลและเป็นเอกสารสำคัญที่เกี่ยวข้องในคดี คำร้องดังกล่าวจึงต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 88 วรรคสาม และเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารเกี่ยวกับประเด็นของคดีซึ่งทำให้การวินิจฉัยชี้ขาดข้อสำคัญเป็นไปโดยเที่ยงธรรม ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานเอกสารดังกล่าวได้จึงชอบแล้ว ส่วนที่จำเลยเห็นว่าเอกสารดังกล่าวไม่ถูกต้องก็สามารถนำสืบหักล้างเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ ทั้งจำเลยเองก็ยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมหลังจากที่โจทก์ยื่นคำร้องดังกล่าวแล้ว กล่าวคือจำเลยยื่นคำร้องวันที่ 28 กรกฎาคม 2546 ขอระบุผู้จัดการจำเลยเป็นพยานซึ่งศาลชั้นต้นก็อนุญาต แสดงให้เห็นว่าศาลชั้นต้นเปิดโอกาสให้คู่ความต่อสู้กันอย่างเต็มที่แล้ว
ตามสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยกำหนดให้โจทก์นำพนักงานรักษาความปลอดภัยดูแลความปลอดภัยในช่วงเวลาตามที่ตกลงไว้ในสัญญา หากนอกเหนือจากสัญญาจำเลยก็มีหน้าที่ต้องชำระค่าจ้างเพิ่มให้แก่โจทก์ ซึ่งโจทก์และจำเลยปฏิบัติต่อกันตลอดมาดังปรากฏตามเอกสารสำเนาใบแจ้งหนี้ที่จำเลยเคยชำระค่าจ้างล่วงเวลาให้แก่โจทก์ ซึ่งการทำงานล่วงเวลาที่ตกลงกันไว้ตามสัญญาถือเป็นสัญญาจ้างทำของเช่นเดียวกัน
ตามสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยระบุว่า ผู้ว่าจ้าง (จำเลย) รับเงินค่าว่าจ้างตามข้อ 2 ผู้ว่าจ้างจะใช้สิทธิยึดหน่วงหรือถ่วงเวลาไว้เกินกำหนดหรือจะนำไปหักกลบลบหนี้อย่างอื่นไม่ได้เว้นแต่จะได้รับความยินยอมจากผู้รับจ้าง (โจทก์) เป็นลายลักษณ์อักษร จากข้อสัญญาดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงเจตนาของโจทก์จำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญาว่าจำเลยจะไม่ยึดหน่วงค่าจ้างและนำค่าจ้างไปหักกลบลบหนี้ มีข้อยกเว้นอยู่กรณีเดียวคือได้รับความยินยอมจากโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรเมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์อนุญาตให้จำเลยหักกลบลบหนี้เป็นลายลักษณ์อักษร จำเลยจึงไม่มีสิทธิยึดหน่วงหรือหักกลบลบหนี้แต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15017/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องของคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน, ฟ้องไม่เคลือบคลุม, และข้อจำกัดการฎีกาในประเด็นข้อเท็จจริงที่ไม่เคยกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์
คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านพรุกำหวานเป็นคณะบุคคลที่มีอำนาจในการบริหารจัดการกองทุนหมู่บ้านพรุกำหวานตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พ.ศ.2544 เมื่อมีการโต้แย้งสิทธิและทำให้กองทุนหมู่บ้านพรุกำหวานได้รับความเสียหาย คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านพรุกำหวานย่อมมีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยได้กู้เงินและทำสัญญากู้เงินไว้ให้กองทุนหมู่บ้านพรุกำหวาน โดยจำเลยได้กู้เงินโจทก์ไป 20,000 บาท ตกลงให้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ซึ่งตามระเบียบกองทุนผู้กู้จะต้องชำระคืนภายใน 1 ปี พร้อมดอกเบี้ยและได้ทำหลักฐานสัญญากู้เงินไว้ หลังจากกู้เงินจำเลยชำระดอกเบี้ยครั้งเดียว 200 บาท หลังจากนั้นไม่เคยชำระเงิน จำเลยต้องชำระเงินต้น 20,000 บาท ดอกเบี้ย 1,825 บาท และค่าปรับ 550 บาท เป็นคำบรรยายฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้ว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
การที่จำเลยฎีกาในทำนองว่า การกู้เงินยังไม่เกิดขึ้นจะนำมาฟ้องร้องไม่ได้ เป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่จำเลยมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นอุทธรณ์ เพราะในชั้นอุทธรณ์จำเลยอุทธรณ์แต่เฉพาะข้อกฎหมาย จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10442/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องหนี้ตามสัญญาเดินสะพัดและบัตรเครดิต โจทก์ต้องแสดงรายละเอียดหนี้บัตรเครดิตในคำฟ้อง
โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องมาด้วยว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามสัญญาการใช้บัตรเครดิตที่จำเลยได้สมัครเป็นสมาชิกขอใช้บัตรเครดิตและได้รับอนุญาตให้ใช้บัตรเครดิตจากโจทก์แล้วและระหว่างโจทก์จำเลยมีข้อตกลงเกี่ยวกับการใช้บัตรเครดิต การชำระหนี้ระยะเวลาชำระหนี้ ตลอดจนการคำนวณหนี้และดอกเบี้ยกันอย่างไร จำเลยเป็นหนี้ตามสัญญาการใช้บัตรเครดิตกับโจทก์ด้วยวิธีการใดและเป็นหนี้จำนวนเท่าใด ซึ่งเห็นได้ชัดว่าหนี้ตามสัญญาการใช้บัตรเครดิตย่อมต้องมีข้อตกลงต่างหากจากสัญญาบัญชีเดินสะพัดที่โจทก์ฟ้อง ดังนี้ เท่ากับโจทก์ไม่ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาว่าจำเลยเป็นหนี้ตามสัญญาการใช้บัตรเครดิตต่อโจทก์และคำขอบังคับมาในคำฟ้อง จึงต้องพิพากษายกฟ้อง แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ฟ้องใหม่ภายในอายุความ
of 74