คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 ม. 24

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7481/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ องค์คณะผู้พิพากษาสมทบในคดีเยาวชน: การไม่ครบองค์คณะส่งผลให้คำพิพากษาไม่ชอบ หากไม่คัดค้านเสียก่อนฎีกาไม่ได้
คดีที่ผู้เยาว์มีผลประโยชน์หรือส่วนได้ส่วนเสียศาลจะต้องกำหนดให้มีผู้พิพากษาสมทบสองคนซึ่งอย่างน้อยคนหนึ่งต้องเป็นสตรีเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีด้วย ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 24 ประกอบมาตรา 109 วรรคสอง ปรากฏตามสำนวนคดีนี้ได้ความว่าการพิจารณาคดีในแต่ละนัดบางครั้งก็มีลายมือชื่อผู้พิพากษาสมทบ 2 คนบ้าง หรือคนเดียวบ้างเป็นองค์คณะ และบางครั้งก็ไม่มีลายมือชื่อผู้พิพากษาสมทบเป็นองค์คณะเลย ซึ่งจำเลยทั้งสามได้ทราบเรื่องการพิจารณาที่ผิดระเบียบของศาลเยาวชนและครอบครัวกลางซึ่งเป็นศาลชั้นต้นนั้นมาโดยตลอด หากจำเลยทั้งสามเห็นว่าศาลชั้นต้นดังกล่าวมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องในการพิจารณาคดีอันเป็นการพิจารณาคดีที่ผิดระเบียบ จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นคู่ความฝ่ายที่เสียหายจะต้องยื่นคำคัดค้านก่อนมีคำพิพากษาแต่ต้องไม่ช้ากว่า 8 วัน นับแต่วันที่จำเลยทั้งสามได้ทราบการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 6 เมื่อจำเลยทั้งสามมิได้คัดค้านจนกระทั่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว จำเลยทั้งสามจะมาฎีกาโต้แย้งในภายหลังหาชอบไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1103/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ องค์คณะผู้พิพากษาสมทบในคดีครอบครัว: ไม่จำต้องมีหากบุตรบรรลุนิติภาวะแล้ว
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 24 วรรคท้ายและมาตรา 109 มุ่งประสงค์ที่จะให้การพิจารณาคดีครอบครัวที่ต้องมีผู้พิพากษาสมทบเป็นองค์คณะด้วย ก็แต่เฉพาะคดีครอบครัวที่มีผู้เยาว์เข้ามาเกี่ยวข้องในคดีเท่านั้น เมื่อขณะฟ้องบุตรทุกคนบรรลุนิติภาวะแล้วจึงเป็นคดีครอบครัวที่ไม่มีเป็นผู้เยาว์เข้ามาเกี่ยวข้อง จึงไม่จำต้องมีผู้พิพากษาสมทบเป็นองค์คณะ การที่ศาลชั้นต้นไม่ได้สอบถามคู่ความก่อนการพิจารณาคดีว่าประสงค์จะให้มีผู้พิพากษาสมทบเป็นองค์คณะด้วยหรือไม่จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7430/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาคดีเยาวชน การลดโทษ และการปรับบทลงโทษที่ถูกต้องตามกฎหมาย
ในชั้นพิจารณา ผู้เสียหายเบิกความบ่ายเบี่ยงเป็นทำนองช่วยเหลือจำเลย ย่อมไม่มีน้ำหนักให้รับฟังเท่าคำให้การในชั้นสอบสวนของผู้เสียหาย ซึ่งให้การในระยะกระชั้นชิดกับเวลาเกิดเหตุ เพราะผู้เสียหายยังไม่มีโอกาสไตร่ตรองบิดเบือนข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นแม้เป็นพยานบอกเล่าแต่มีเหตุผลให้น่าเชื่อถือ
คำให้การของพยานโจทก์ที่ว่าได้ร่วมกระทำผิดด้วยกันกับจำเลยมิได้เป็นการซัดทอดเพื่อให้ตนเองพ้นผิดหรือได้รับประโยชน์จากการซัดทอดนั้น ทั้งยังมีเหตุผลและสอดคล้องกับคำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหาย จึงมีน้ำหนักรับฟังได้
ฎีกาจำเลยที่ว่า พนักงานสอบสวนไม่ได้ดำเนินการตามวิธีพิจารณาคดีสำหรับเยาวชน ไม่สั่งสอบความประพฤติตามขั้นตอนของสถานพินิจ การสอบสวน จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายแม้จำเลยมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงรับวินิจฉัยให้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225
โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลจังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นการกระทำความผิดขณะจำเลยอายุ 17 ปีเศษ ซึ่งเป็นเยาวชน เมื่อมีพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเปิดดำเนินการแผนกคดีเด็กและเยาวชนในศาลจังหวัดนนทบุรีและศาลจังหวัดสมุทรปราการ พ.ศ. 2532มาตรา 3 ให้เปิดดำเนินการแผนกคดีเด็กและเยาวชนขึ้นในศาลจังหวัดนนทบุรี ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2532 เป็นต้นไปจึงได้มีการโอนคดีที่ศาลจังหวัดนนทบุรีมาพิจารณาพิพากษาที่ศาลจังหวัดนนทบุรีแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวแล้วตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 15 บัญญัติว่าในกรณีที่ปรากฏในภายหลังว่า ข้อเท็จจริงในเรื่องอายุ หรือการบรรลุนิติภาวะด้วยการสมรสของบุคคลที่เกี่ยวข้อง หรือศาลอื่นใดได้รับพิจารณาพิพากษาคดีโดยไม่ต้องด้วยมาตรา 13ซึ่งถ้าปรากฏเสียแต่ต้นจะเป็นเหตุให้ศาลนั้น ๆ ไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาก็ตาม ข้อบกพร่องดังกล่าวไม่ทำให้การพิจารณาพิพากษาของศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีธรรมดาและศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวเสียไป
เมื่อคดีนี้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอบางกรวยจังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ซึ่งความผิดอาญาได้เกิดขึ้นในเขตอำนาจ ดำเนินการสอบสวนมาแล้วโดยชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 18 แม้ภายหลังจะมีการโอนคดีมาพิจารณาพิพากษายังศาลจังหวัดนนทบุรีแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวก็ตาม ก็ไม่ทำให้การสอบสวนที่กระทำโดยชอบด้วยกฎหมายมาแต่ต้นกลับเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไปได้
การสั่งสอบความประพฤติตามขั้นตอนของสถานพินิจไม่ใช่การดำเนินการชั้นสอบสวนของพนักงานสอบสวน
ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 104เป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจศาลที่พิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวมีอำนาจใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแทนการลงโทษอาญาหรือวิธีการเพื่อความปลอดภัยได้ ศาลล่างทั้งสองพิจารณาและพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย โดยไม่ใช้ดุลพินิจให้นำวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนมาใช้แทนการลงโทษทางอาญานั้น จึงเป็นอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 104วรรคท้าย จะนำมาใช้ในกรณีศาลพิจารณาความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นว่าควรจะกักตัวหรือควบคุมตัวเด็กหรือเยาวชนตาม (1) หรือ (2) ต่อไป หลังจากที่เด็กหรือเยาวชนมีอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์แล้วให้ศาลระบุในคำพิพากษาให้ส่งตัวไปจำคุกไว้ในเรือนจำตามเวลาที่ศาลกำหนด การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยมีอายุ 28 ปี จำคุก 7 ปี 6 เดือนการส่งตัวจำเลยไปฝึกและอบรมในสถานพินิจนั้นเป็นวิธีการที่ไม่เหมาะสม จึงให้ส่งตัวจำเลยไปเรือนจำจึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเป็นไม่ปรับบทตามมาตรา 104 วรรคท้าย