คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2477 ม. 6

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 478/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเวนคืนที่ดิน: กรรมสิทธิ์ตกเป็นของจำเลยเมื่อวางเงินค่าทดแทน แม้มีการปรับเปลี่ยนแนวเขตภายหลังก็ไม่คืนกรรมสิทธิ์ให้เจ้าของเดิม
ที่ดินโจทก์ทั้งสี่อยู่ในบริเวณที่ที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนฯ พ.ศ. 2534 มีผลใช้บังคับในวันที่ 1 มกราคม 2535 เพื่อสร้างทางพิเศษ คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นได้กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินและนำไปวางโดยฝากธนาคารออมสินให้แก่โจทก์ทั้งสี่แล้ว ถือว่าได้มีการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินนับแต่วันที่วางเงิน แม้ภายหลังต่อมาจะมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนฯ พ.ศ. 2538 ออกใช้บังคับ และคณะรัฐมนตรีมีมติปรับเปลี่ยนแนวเขตทางพิเศษใหม่ อันเป็นเหตุให้เนื้อที่ดินที่ถูกเวนคืนลดน้อยลงก็ไม่เป็นเหตุให้ที่ดินที่ไม่อยู่ในแนวเขตทางพิเศษใหม่ดังกล่าวซึ่งตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยสมบูรณ์แล้วกลับคืนมาเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสี่เจ้าของที่ดินเดิมอีก และไม่มีกฎหมายใดให้สิทธิหรืออำนาจจำเลยคืนที่ดินที่เวนคืนไปแล้วไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของการเวนคืนแก่โจทก์ทั้งสี่ และเรียกเงินค่าทดแทนที่ดินที่จ่ายไปคืนจากโจทก์ทั้งสี่หรือขอหักลบกันกับเงินค่าทดแทนที่ดินที่ศาลพิพากษาให้จำเลยชำระเพิ่มขึ้นแก่โจทก์ทั้งสี่ กรณีจึงไม่มีเหตุที่จำเลยจะขอให้งดการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 293 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7539/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจเวนคืนที่ชอบด้วยกฎหมายและการไม่มีละเมิดจากการสำรวจเพื่อเวนคืน
โจทก์ไม่ได้ปฏิเสธว่าที่ดินโจทก์ไม่ได้อยู่ในบริเวณที่ดินที่จะเวนคืนและยอมรับในหนังสือร้องเรียนว่าจำเลยที่ 4 กำหนดตำแหน่งที่ดินเวนคืนในที่ดินของโจทก์อย่างไม่เป็นธรรม ดังนี้ เมื่อพิจารณาเอกสารประกอบกันแล้วข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินของโจทก์เป็นที่ดินที่อยู่ในบริเวณที่ที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนฯเมื่อพยานหลักฐานในสำนวนเพียงพอที่จะวินิจฉัยคดีได้โดยไม่จำต้องสืบพยานอีกต่อไป ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลยได้
การออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืนแม้จะมีผลทำให้ที่ดินของโจทก์บางส่วนถูกเวนคืน แต่ก็เป็นการกระทำที่มีกฎหมายให้อำนาจกระทำได้ตามความในมาตรา 175 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราชฯ ซึ่งใช้บังคับขณะตราพระราชกฤษฎีกาฯและมาตรา 5 วรรคสาม และมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ การตราพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้จึงเป็นไปโดยอำนาจแห่งกฎหมายไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแต่อย่างใดและยังเป็นพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามขั้นตอนของกฎหมายโดยชอบแล้วจำเลยที่ 4 ในฐานะเจ้าหน้าที่เวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนฯ และจำเลยที่ 1ถึงที่ 3 ที่ 5 และที่ 7 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ที่ได้รับอำนาจให้กระทำหรือควบคุมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ จึงมีสิทธิเข้าไปในที่ดินโจทก์เพื่อทำการสำรวจและทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่ดินที่ต้องถูกเวนคืนที่แน่นอน การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะเรียกค่าเสียหาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง