พบผลลัพธ์ทั้งหมด 8 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2010/2549
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
คุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส. - การเป็นสมาชิกพรรคการเมือง 90 วัน - หลักฐานการสมัคร
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 107 (4) ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคเดียวนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วัน คดีนี้ผู้ร้องอ้างว่า ผู้ร้องเป็นสมาชิกพรรค ป. วันที่ 8 มกราคม 2529 โดยมีหลักฐานสำคัญที่ผู้ร้องแสดงต่อศาลคือ สำเนาทะเบียนรายชื่อสมาชิกพรรค สำเนาบัตรประจำตัวสมาชิก และบันทึกผลการตรวจสอบทะเบียนสมาชิกพรรคการเมือง แต่ในสมุดทะเบียนสมาชิกพรรค ปรากฏว่าชื่อผู้ร้องมีรอยลบข้อความเดิม แล้วเขียนชื่อผู้ร้องขึ้นใหม่ โดยใช้หมึกที่แตกต่างจากชื่ออื่น และลายมือเขียนก็เป็นของคนละคนกัน ซึ่งไม่ปรากฏว่าเหตุใดจึงมีการแก้ไขชื่อผู้ร้องเช่นนั้น และมีการแก้ไขชื่อผู้ร้องดังกล่าวตั้งแต่เมื่อใด นับเป็นข้อพิรุธเกี่ยวกับข้อเท็จจริงการเป็นสมาชิกพรรค ป. ของผู้ร้อง แม้ผลการตรวจสอบสมาชิกพรรคแบบแบ่งเขตเลือกตั้งปรากฏว่ามีเพียง 5 ราย ซึ่งไม่ใช่ผู้ร้องที่ไม่มีเอกสารใบสมัครสมาชิก ทะเบียนสมาชิก หรือบัตรสมาชิกพรรคก็ตาม แต่เอกสารดังกล่าวเป็นการตรวจสอบเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2549 อันเป็นเวลาภายหลังจากที่มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ไม่อาจรับฟังได้ว่า พรรค ป. ได้รับผู้ร้องเป็นสมาชิกวันที่ 8 มกราคม 2529 จริงตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง สำหรับบัตรประจำตัวสมาชิกซึ่งผู้ร้องอ้างว่าบัตรเดิมสูญหาย จึงมีการจัดทำบัตรขึ้นใหม่ภายหลังจากที่มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรแล้ว โดยวันที่ออกบัตร คือ วันที่ 8 มกราคม 2529 นั้น เป็นไปตามทางปฏิบัติของพรรค ป. จึงไม่อาจใช้เป็นหลักฐานแสดงว่า ผู้ร้องเป็นสมาชิกพรรค ป. วันที่ 8 มกราคม 2549 ตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง เมื่อข้อเท็จจริงไม่อาจรับฟังว่า ผู้ร้องเป็นสมาชิกพรรค ป. ผู้ร้องจึงไม่มีคุณสมบัติเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 107 (4)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1883/2549
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
คุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส. การเป็นสมาชิกพรรคการเมือง และความน่าเชื่อถือของฐานข้อมูล กกต.
ระบบฐานข้อมูลสมาชิกพรรคการเมืองและทะเบียนสมาชิกพรรคการเมืองของคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดทำขึ้นเป็นข้อมูลของทางราชการเพื่อให้พรรคการเมือง สมาชิกพรรคการเมืองและประชาชนทั่วไปสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ ข้อมูลในระบบฐานข้อมูลของคณะกรรมการการเลือกตั้งจึงเป็นข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือ การที่ไม่ปรากฏชื่อของผู้ร้องซึ่งอ้างว่าเป็นสมาชิกพรรค ป. มาตั้งแต่ปี 2535 ในระบบฐานข้อมูลของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ทั้ง ๆ ที่พรรค ป. ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการในทางการเมือง รวมทั้งส่งสมาชิกพรรคสมัครเข้ารับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และผู้ร้องซึ่งประสงค์จะใช้ความเป็นสมาชิกภาพของพรรคสมัครรับเลือกตั้งย่อมรู้อยู่แล้วว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งต้องใช้ข้อมูลของคณะกรรมการการเลือกตั้งในการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครต่างสามารถตรวจสอบข้อมูลในระบบฐานข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งนับแต่มีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งหลังใช้บังคับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2541 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลาหลายปีแต่ก็ยังไม่ปรากฏชื่อผู้ร้องอยู่ในระบบฐานข้อมูลดังกล่าว แสดงว่าพรรค ป. และผู้ร้อง ไม่เคยตรวจสอบและโต้แย้งเลย กรณีจึงมีข้อน่าเคลือบแคลงสงสัยและมีพิรุธ ไม่อาจเชื่อได้ว่าผู้ร้องเป็นสมาชิกพรรค ป. อยู่ในขณะสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ผู้ร้องจึงไม่มีคุณสมบัติเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 107 (4) แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ และมาตรา 29 แห่ง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาฯ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 893/2548
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจศาลฎีกาในกรณีเพิกถอนคุณสมบัติผู้สมัครหลังเลือกตั้ง: ศาลไม่มีอำนาจวินิจฉัยคำวินิจฉัยของ กกต. หลังวันเลือกตั้ง
พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาฯ มาตรา 34 วรรคหนึ่ง ให้อำนาจศาลฎีการับวินิจฉัยคำร้องของผู้สมัครในกรณีที่ผู้สมัครไม่มีชื่อเป็นผู้สมัครในประกาศของผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง กับมาตรา 34/1 วรรคหนึ่ง ให้อำนาจศาลฎีการับวินิจฉัยคำร้องของผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งในกรณีที่ขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยให้เพิกถอนการสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัคร ซึ่งทั้งสองกรณีผู้ร้องจะต้องยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาก่อนวันเลือกตั้งเท่านั้น กรณีตามคำร้องของผู้ร้อง ปรากฏว่าผู้ร้องเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งในวันเลือกตั้งอยู่ก่อนแล้ว และผู้ร้องได้รับการเลือกตั้งด้วยคะแนนสูงสุดในเขตเลือกตั้งที่ 3 จังหวัดกาญจนบุรี แต่เพิ่งมาถูกคณะกรรมการการเลือกตั้งวินิจฉัยว่าผู้ร้องขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 107 (4) และมีคำสั่งให้งดการประกาศผลการเลือกตั้งกับให้มีการเลือกตั้งใหม่ภายหลังจากวันเลือกตั้ง ในกรณีนี้ไม่มีบทกฎหมายใดให้อำนาจศาลฎีกาที่จะสั่งเพิกถอนคำวินิจฉัยและคำสั่งของคณะกรรมการการเลือกตั้งดังกล่าวได้ จึงไม่มีประโยชน์ที่ศาลฎีกาจะให้รับคำร้องของผู้ร้องไว้พิจารณาต่อไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 535/2548
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
คุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส. - การเป็นสมาชิกพรรคการเมืองต่อเนื่อง 90 วัน
เดิมผู้คัดค้านเป็นสมาชิกพรรค ช. เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2547 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรค ช. เนื่องจากพรรค ช. รวมเข้ากับพรรค ท. ดังนั้น ความเป็นสมาชิกพรรค ช. ของผู้คัดค้านจึงสิ้นสุดลงตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 มาตรา 22 (5) และผู้คัดค้านเป็นสมาชิกพรรค ท. ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่เป็นหลักตั้งแต่วันดังกล่าวตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 มาตรา 73 วรรคสอง ประกอบมาตรา 72 วรรคหนึ่ง
การที่ผู้คัดค้านส่งหนังสือลาออกไปยังที่ทำการของพรรค ช. ในวันที่ 30 กันยายน 2547 ไม่ได้ส่งไปยังที่ทำการของพรรค ท. จะถือว่าหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค ท. ของผู้คัดค้านถึงที่ทำการของพรรค ท. แล้วไม่ได้ จึงไม่มีผลทำให้การเป็นสมาชิกพรรค ท. ของผู้คัดค้านสิ้นสุดลง ซึ่งพรรค ท. ได้รับหนังสือลาออกของผู้คัดค้านในวันที่ 21 มกราคม 2548 ดังนั้น ผู้คัดค้านจึงพ้นจากการเป็นสมาชิกพรรค ท. ในวันดังกล่าว ผู้คัดค้านสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ 4 จังหวัดอุดรธานี สังกัดพรรค ป. เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2548 ผู้คัดค้านจึงเป็นสมาชิกพรรค ป. เพียงพรรคเดียวเป็นเวลาติดต่อกันถึงวันสมัครรับเลือกตั้งไม่ถึง 90 วัน ผู้คัดค้านเป็นผู้ขาดคุณสมบัติมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 107 (4)
การที่ผู้คัดค้านส่งหนังสือลาออกไปยังที่ทำการของพรรค ช. ในวันที่ 30 กันยายน 2547 ไม่ได้ส่งไปยังที่ทำการของพรรค ท. จะถือว่าหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค ท. ของผู้คัดค้านถึงที่ทำการของพรรค ท. แล้วไม่ได้ จึงไม่มีผลทำให้การเป็นสมาชิกพรรค ท. ของผู้คัดค้านสิ้นสุดลง ซึ่งพรรค ท. ได้รับหนังสือลาออกของผู้คัดค้านในวันที่ 21 มกราคม 2548 ดังนั้น ผู้คัดค้านจึงพ้นจากการเป็นสมาชิกพรรค ท. ในวันดังกล่าว ผู้คัดค้านสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ 4 จังหวัดอุดรธานี สังกัดพรรค ป. เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2548 ผู้คัดค้านจึงเป็นสมาชิกพรรค ป. เพียงพรรคเดียวเป็นเวลาติดต่อกันถึงวันสมัครรับเลือกตั้งไม่ถึง 90 วัน ผู้คัดค้านเป็นผู้ขาดคุณสมบัติมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 107 (4)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 237/2548
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
คุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส. ต้องสังกัดพรรคการเมืองเดียวต่อเนื่อง 90 วัน
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 107 (4) ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคเดียว นับถึงวันสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วัน ผู้ร้องสมัครเป็นสมาชิกพรรคชาติไทยเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2547 และพ้นจากสมาชิกภาพเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2547 ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ผู้ร้องยังได้สมัครเป็นสมาชิกพรรคความหวังใหม่เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2547 ก่อนวันที่ผู้ร้องจะไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคชาติไทย สมาชิกภาพของผู้ร้องจึงหาได้สิ้นสุดลงตามข้อบังคับของพรรคชาติไทย ข้อ 14 (5) ที่กำหนดว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสิ้นสุดลง เมื่อสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองอื่น ดังที่ผู้ร้องอ้างแต่อย่างใดไม่ ดังนั้น ในวันที่ผู้ร้องพ้นจากสมาชิกภาพของพรรคชาติไทย เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2547 ถึงวันที่ผู้ร้องสมัครรับเลือกตั้งในวันที่ 11 มกราคม 2548 ผู้ร้องจึงมิได้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคเดียว นับถึงวันสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วัน ผู้ร้องเป็นผู้ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 107 (4) ที่ผู้คัดค้านไม่รับสมัครและไม่ประกาศชื่อผู้ร้องเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 235/2548
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
คุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส. กรณีสมาชิกภาพพรรคการเมืองและการลาออกที่ไม่ครบ 90 วัน
เดิมผู้ร้องเป็นสมาชิกพรรคความหวังใหม่ เมื่อพรรคความหวังใหม่ไปรวมเข้าเป็นพรรคเดียวกับพรรคไทยรักไทย ผู้ร้องจึงเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทยซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่เป็นหลักตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 มาตรา 73 วรรคสอง ประกอบมาตรา 72 วรรคหนึ่ง แต่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้ร้องเพิ่งยื่นหนังสือขอลาออกจากพรรคไทยรักไทยในวันที่ 14 มกราคม 2548 นับแต่วันที่ผู้ร้องลาออกจากพรรคไทยรักไทยถึงวันที่ผู้ร้องสมัครรับเลือกตั้งเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2548 ผู้ร้องจึงเป็นสมาชิกพรรคความหวังใหม่เพียงพรรคเดียวเป็นเวลาติดต่อกันถึงวันสมัครรับเลือกตั้งไม่ถึง 90 วัน ผู้ร้องจึงเป็นผู้ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 107 (4)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 71/2548
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
คุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส. การเป็นสมาชิกพรรคการเมือง และระยะเวลาการเป็นสมาชิก
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 107 (4) ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งเพียงพรรคเดียวนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วัน ผู้ร้องยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค ป. และพรรค ป. ได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2545 ดังนั้น เมื่อ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 มาตรา 22 บัญญัติว่า "สมาชิกภาพของสมาชิกสิ้นสุดลง เมื่อ? (2) ลาออก" จึงต้องถือว่าการลาออกจากการเป็นสมาชิกของผู้ร้องมีผลเมื่อหนังสือลาออกของผู้ร้องไปถึงพรรค ป. ความเป็นสมาชิกพรรค ป. ของผู้ร้องจึงสิ้นสุดลงในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2545 ผู้ร้องเป็นสมาชิกพรรค ค. เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2547 ผู้ร้องสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2548 ผู้ร้องจึงเป็นเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคเดียวนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วัน ผู้ร้องจึงมีคุณสมบัติเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 107 (4)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8210/2543
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การสมัครรับเลือกตั้งต้องมีหนังสือรับรองจากพรรคการเมืองตลอดระยะเวลาการตรวจสอบคุณสมบัติ
ผู้ที่จะสมัครรับเลือกตั้งต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 107 (4) และการสมัครต้องสมัครในนามของพรรคการเมือง การยื่นใบสมัครต้องมีหนังสือรับรองของหัวหน้าพรรคการเมืองว่าส่งสมาชิกผู้นั้นเข้าสมัครรับเลือกตั้งตามความในมาตรา 30 และมาตรา 31 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2541 เมื่อยื่นใบสมัครแล้ว ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งต้องตรวจสอบหลักฐานการสมัคร คุณสมบัติของผู้สมัคร และสอบสวนว่าผู้สมัครมีสิทธิที่จะสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่ให้เสร็จสิ้นภายใน 7 วัน นับแต่วันปิดการรับสมัคร ตามความในมาตรา 32 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว ดังนั้น แม้จะฟังได้ว่าผู้ร้องยื่นใบสมัครพร้อมหนังสือรับรองของหัวหน้าพรรคถิ่นไทยโดยถูกต้อง แต่การที่หัวหน้าพรรคถิ่นไทยมีหนังสือยืนยันไม่รับรองว่าพรรคถิ่นไทยส่งผู้ร้องเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ 4 จังหวัดตรัง ในระหว่างระยะเวลาการตรวจสอบหลักฐานของผู้คัดค้าน ต้องถือว่าการสมัครรับเลือกตั้งของผู้ร้องขาดหลักฐานหนังสือรับรองของหัวหน้าพรรคการเมืองว่าส่งผู้ร้องเข้าสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งมีผลเท่ากับผู้ร้องไม่อาจสมัครในนามพรรคถิ่นไทยได้ ผู้คัดค้านไม่รับสมัครและไม่ประกาศชื่อผู้ร้องเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง เป็นการชอบด้วยกฎหมาย