คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 ม. 29

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 9 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1883/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส. การเป็นสมาชิกพรรคการเมือง และความน่าเชื่อถือของฐานข้อมูล กกต.
ระบบฐานข้อมูลสมาชิกพรรคการเมืองและทะเบียนสมาชิกพรรคการเมืองของคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดทำขึ้นเป็นข้อมูลของทางราชการเพื่อให้พรรคการเมือง สมาชิกพรรคการเมืองและประชาชนทั่วไปสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ ข้อมูลในระบบฐานข้อมูลของคณะกรรมการการเลือกตั้งจึงเป็นข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือ การที่ไม่ปรากฏชื่อของผู้ร้องซึ่งอ้างว่าเป็นสมาชิกพรรค ป. มาตั้งแต่ปี 2535 ในระบบฐานข้อมูลของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ทั้ง ๆ ที่พรรค ป. ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการในทางการเมือง รวมทั้งส่งสมาชิกพรรคสมัครเข้ารับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และผู้ร้องซึ่งประสงค์จะใช้ความเป็นสมาชิกภาพของพรรคสมัครรับเลือกตั้งย่อมรู้อยู่แล้วว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งต้องใช้ข้อมูลของคณะกรรมการการเลือกตั้งในการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครต่างสามารถตรวจสอบข้อมูลในระบบฐานข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งนับแต่มีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งหลังใช้บังคับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2541 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลาหลายปีแต่ก็ยังไม่ปรากฏชื่อผู้ร้องอยู่ในระบบฐานข้อมูลดังกล่าว แสดงว่าพรรค ป. และผู้ร้อง ไม่เคยตรวจสอบและโต้แย้งเลย กรณีจึงมีข้อน่าเคลือบแคลงสงสัยและมีพิรุธ ไม่อาจเชื่อได้ว่าผู้ร้องเป็นสมาชิกพรรค ป. อยู่ในขณะสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ผู้ร้องจึงไม่มีคุณสมบัติเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 107 (4) แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ และมาตรา 29 แห่ง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาฯ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1882/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สมาชิกภาพพรรคการเมือง: การเป็นสมาชิกเกินหนึ่งพรรคขัดขวางสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
ผู้คัดค้านสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ 2 จังหวัดอุบลราชธานี สังกัดพรรคประชากรไทย แต่ปรากฏว่าผู้คัดค้านเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ทั้งพรรคประชากรไทยและพรรคประชาธิปัตย์ โดยผู้คัดค้านสมัครเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์เมื่อปี 2543 และลาออกเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2543 แล้วมาสมัครเป็นสมาชิกใหม่เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2545 การที่ผู้คัดค้านเป็นสมาชิกพรรคประชากรไทยและพรรคประชาธิปัตย์พร้อมกันในขณะสมัครรับเลือกตั้ง ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองแต่เพียงพรรคเดียว ผู้คัดค้านจึงไม่มีคุณสมบัติเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ มาตรา 107 (4) และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาฯ มาตรา 29
(คำสั่งศาลฎีกา)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 534/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส. การเป็นสมาชิกพรรคการเมือง และผลการลาออก
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน มาตรา 107 (4) ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคเดียวนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วัน เมื่อข้อเท็จจริงน่าเชื่อตามพยานหลักฐานของผู้ร้องว่า ผู้ร้องยื่นหนังสือลาออกต่อพรรคมหาชนในวันที่ 16 กันยายน 2547 ดังนั้น เมื่อ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 มาตรา 22 บัญญัติว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสิ้นสุดลงเมื่อ...(2) ลาออก ย่อมต้องถือว่าการลาออกจากสมาชิกพรรคมหาชนของผู้ร้องมีผลเมื่อผู้ร้องยื่นหนังสือลาออกต่อพรรคมหาชนในวันดังกล่าวแล้ว ความเป็นสมาชิกพรรคมหาชนของผู้ร้องจึงสิ้นสุดลงในวันที่ 16 กันยายน 2547 ผู้ร้องเป็นสมาชิกพรรคชาติไทยเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2547 และผู้ร้องสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2548 ผู้ร้องย่อมเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคเดียวนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วัน ผู้ร้องจึงมีคุณสมบัติเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 107 (4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 462/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คุณสมบัติผู้สมัครรับเลือกตั้ง: การเป็นสมาชิกพรรคการเมืองต้องต่อเนื่อง 90 วัน
ผู้ร้องยืนยันข้อเท็จจริงและคุณสมบัติของผู้คัดค้านตามคำร้องแล้วว่า ผู้คัดค้านพ้นจากการเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทยเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2547 ผู้คัดค้านจึงมิได้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคเดียวนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วัน ผู้คัดค้านน่าจะขาดคุณสมบัติเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 107 (4) คำร้องของผู้ร้องมิได้เพียงขอให้ศาลฎีกาช่วยตรวจสอบคุณสมบัติของผู้คัดค้านเท่านั้น แต่ขอให้ศาลฎีกาเพิกถอนการรับสมัครเลือกตั้งของผู้คัดค้านด้วย คำร้องของผู้ร้องจึงมีสภาพเป็นคำร้องตามกฎหมาย ชอบด้วย พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2541 มาตรา 34/1 แล้ว
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน มาตรา 107 (4) ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคเดียวนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วัน เมื่อข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่า ผู้คัดค้านเพิ่งส่งหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทยไปถึงพรรคไทยรักไทยในวันที่ 19 ตุลาคม 2547 ผู้คัดค้านสมัครเป็นสมาชิกพรรคชาติไทยเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2547 เมื่อนับแต่วันที่ผู้คัดค้านลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทยในวันที่ 19 ตุลาคม 2547 ถึงวันที่ผู้คัดค้านสมัครรับเลือกตั้งในวันที่ 10 มกราคม 2548 ผู้คัดค้านจึงเป็นสมาชิกพรรคชาติไทยเพียงพรรคเดียวเป็นเวลาติดต่อกันถึงวันสมัครรับเลือกตั้งน้อยกว่า 90 วัน ผู้คัดค้านจึงขาดคุณสมบัติเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 107 (4)
(คำสั่งศาลฎีกา)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 232/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส. การเป็นสมาชิกพรรคการเมือง และการลาออก
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน มาตรา 107 (4) ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคเดียวนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วัน เมื่อข้อเท็จจริงยังรับฟังไม่ได้ว่า ผู้ร้องเป็นสมาชิกพรรคมหาชนตามที่ผู้คัดค้านอ้าง และข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่า ผู้ร้องได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทยส่งไปถึงพรรคไทยรักไทยแล้วเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2547 ดังนั้น เมื่อ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 มาตรา 22 บัญญัติว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสิ้นสุดลงเมื่อ...(2) ลาออก จึงต้องถือว่าการลาออกจากสมาชิกพรรคไทยรักไทยของผู้ร้องมีผลเมื่อหนังสือของผู้ร้องไปถึงพรรคไทยรักไทย ความเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทยของผู้ร้องจึงสิ้นสุดลงในวันที่ 5 ตุลาคม 2547 นับแต่วันที่ความเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทยของผู้ร้องสิ้นสุดลงดังกล่าว ผู้ร้องคงเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์แต่เพียงพรรคเดียว ผู้ร้องสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2548 เมื่อนับถึงวันรับสมัครเลือกตั้งผู้ร้องจึงเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคเดียวนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วัน ผู้ร้องจึงมีคุณสมบัติเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 107 (4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส. กรณีเป็นบุคคลล้มละลายที่ศาลยังไม่ได้สั่งให้พ้นจากคดี
ขณะที่ผู้ร้องสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้ร้องได้ถูกศาลแพ่งธนบุรีพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายและศาลแพ่งธนบุรียังไม่ได้สั่งให้พ้นจากคดี แม้คดีดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุดเนื่องจากผู้ร้องยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาก็ตาม ผู้ร้องก็ได้ชื่อว่าเป็นบุคคลล้มละลายซึ่งศาลยังไม่สั่งให้พ้นจากคดี และเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 109 (2) และ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาฯ มาตรา 29
(คำสั่งศาลฎีกา)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สถานะบุคคลล้มละลายเป็นเหตุต้องห้ามในการสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. แม้คดีไม่ถึงที่สุด
เมื่อปรากฏว่าขณะที่ผู้ร้องสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 10 มกราคม 2548 ผู้ร้องได้ถูกศาลแพ่งธนบุรีพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย และศาลแพ่งธนบุรียังไม่ได้สั่งให้พ้นจากคดี แม้คดีดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุดเนื่องจากผู้ร้องได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาก็ตาม ผู้ร้องก็ได้ชื่อว่าเป็นบุคคลล้มละลายซึ่งศาลยังไม่สั่งให้พ้นจากคดี ถือเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 109 (2)
(คำสั่งศาลฎีกา)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8240/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส. สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี - วันที่อนุมัติผลการศึกษา vs วันที่อนุมัติปริญญา
พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2541 มาตรา 29 บัญญัติว่า บุคคลซึ่งจะมีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การพิจารณาคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งจึงต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฯ ซึ่งตามมาตรา 107 (3) กำหนดไว้ว่า ต้องสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า แสดงว่ามุ่งประสงค์ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้มีความรู้ไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่าเป็นสำคัญ ตามหลักฐานแสดงผลการศึกษาที่ผู้ร้องอ้างส่งประกอบการสมัครรับเลือกตั้ง ผู้ร้องสอบได้ครบถ้วนทุกลักษณะวิชาตามหลักสูตรสถาบันราชภัฏสุราษฎร์ธานีแล้ว ซึ่งตามระเบียบคณะกรรมการสภาสถาบันราชภัฏว่าด้วยการออกหลักฐานแสดงผลการศึกษา พ.ศ. 2538 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ในข้อ 8 ว่า "วันที่สำเร็จการศึกษาในหลักฐานแสดงผลการศึกษา ให้ถือเอาวันที่คณะกรรมการอนุมัติผลการศึกษา" ส่วนการออกปริญญาบัตรซึ่งจะต้องดำเนินการต่อไปได้กำหนดไว้ในข้อ 9 เป็นอีกขั้นตอนหนึ่งแยกจากกัน และตามหนังสือตอบข้อหารือของอธิการบดีสถาบันราชภัฏสุราษฎร์ธานีก็ได้ระบุไว้ชัดเจนว่า คณะกรรมการวิชาการซึ่งสภาประจำสถาบันมอบหมายได้ประชุมอนุมัติผลการศึกษาเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2543 สถาบันราชภัฏถือว่าวันที่ 24 พฤศจิกายน 2543 คือวันที่ผู้ร้องสมัครรับเลือกตั้ง เป็นวันสำเร็จการศึกษา และวันที่ 29 พฤศจิกายน 2543 เป็นวันอนุมัติปริญญา อันเป็นไปตามลำดับขั้นตอนในระเบียบคณะกรรมการสภาสถาบันราชภัฏดังกล่าว กรณีจึงต้องถือว่า ผู้ร้องสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่าแล้วในวันสมัคร มีคุณสมบัติในเรื่องความรู้ครบถ้วนตามที่กฎหมายต้องการแล้ว การที่ผู้คัดค้านไม่ประกาศชื่อผู้ร้องเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยถือว่าผู้ร้องขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฯ มาตรา 107 (3) เป็นการไม่ชอบ
พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2541 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2543 มาตรา 34 บัญญัติให้ผู้สมัครยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาโดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลในการดำเนินกระบวนพิจารณา ที่ศาลชั้นต้นรับค่าธรรมเนียมศาลไว้จึงไม่ถูกต้อง
(คำสั่งศาลฎีกา)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8211/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส. กรณีถูกไล่ออกราชการฐานทุจริต แม้ยังอยู่ในขั้นตอนอุทธรณ์
ขณะที่ผู้ร้องสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ร้องได้ถูกลงโทษไล่ออกจากราชการเพราะทุจริตต่อหน้าที่ แม้ผู้ร้องจะอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการข้าราชการตำรวจอันเป็นเหตุให้คำสั่งลงโทษยังไม่ถึงที่สุดก็ตาม แต่เมื่ออุทธรณ์ของผู้ร้องยังอยู่ระหว่างการพิจารณา ก็ต้องถือว่าคำสั่งที่ลงโทษไล่ผู้ร้องออกจากราชการยังมีผลใช้บังคับอยู่ในขณะที่ผู้ร้องสมัครรับเลือกตั้งผู้ร้องจึงเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
(คำสั่งศาลฎีกา)