คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ไพโรจน์ วายุภาพ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 630 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4976/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีหลังการเปลี่ยนแปลงกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ศาลต้องปฏิบัติตามกฎหมายใหม่
คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสามต่อศาลแขวงสุพรรณบุรี ศาลแขวงสุพรรณบุรีได้มีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความจนคดีถึงที่สุดก่อนวันที่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2558 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2558 การที่ผู้ร้องเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินและเจ้าพนักงานบังคับคดีโอนทรัพย์สินที่ขายอันเป็นอสังหาริมทรัพย์ให้แก่ผู้ร้องแล้วยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลขอให้ออกหมายบังคับคดีเพื่อให้บังคับจำเลยและบริวารของจำเลยที่ไม่ยอมออกไปจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นการยื่นฟ้องกล่าวหาจำเลยและบริวารของจำเลยต่อศาลขึ้นใหม่ตามวิธีการที่ ป.วิ.พ. มาตรา 334 บัญญัติไว้เป็นพิเศษ เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2560 ภายหลังวันที่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2558 มีผลใช้บังคับแล้ว ซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 244/1 เพิ่มโดยพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 4 บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด และการฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ให้กระทำได้เมื่อได้รับอนุญาตจากศาลฎีกาตามมาตรา 247 ที่แก้ไขใหม่ โดยพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน ดังนั้น คดีนี้จึงไม่อยู่ในบังคับที่จะนำบทบัญญัติ ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ (เดิม) ที่ถูกยกเลิกไปแล้วโดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2558 มาตรา 3 มาใช้บังคับได้ คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ดำเนินการตามคำร้องของผู้ร้องที่ขออนุญาตอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาและให้ส่งถ้อยคำสำนวนนี้ไปยังศาลฎีกาจึงไม่ชอบ และเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาชอบที่จะยกขึ้นวินิจฉัยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5616/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับวินิจฉัยเนื่องจากจำเลยมิได้ปฏิบัติตามขั้นตอนการยื่นฎีกาในคดียาเสพติดตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด
แม้คดีนี้เป็นคดีที่จำเลยร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบของศาลชั้นต้นก็ตาม แต่คำร้องของจำเลยเป็นผลสืบเนื่องมาจากศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ดังนี้ คดีนี้จึงเป็นคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษอันอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 ด้วย ซึ่งมาตรา 18 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าวบัญญัติว่า "ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาหรือมีคำสั่งโดยมิชักช้า และภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 16 และมาตรา 19 คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์เฉพาะการกระทำซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้เป็นที่สุด" และมาตรา 19 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่งแล้ว คู่ความอาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องไปพร้อมกับฎีกาต่อศาลฎีกาภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลนั้นให้คู่ความฝ่ายที่ขออนุญาตฎีกาฟัง เพื่อขอให้พิจารณารับฎีกาไว้วินิจฉัยก็ได้" ดังนั้น เมื่อจำเลยมิได้ปฏิบัติตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงเป็นที่สุดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยจึงเป็นการมิชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6708/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยื่นคำร้องขอสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ซ้ำ ศาลพิจารณาเป็นกระบวนการซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144
ผู้ร้องเคยยื่นคำร้องขอสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์เพื่อดำเนินการบังคับคดีมาก่อนและศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องไปแล้ว การที่ผู้ร้องมายื่นคำร้องขอสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์เข้ามาใหม่อีก แม้ตามคำร้องฉบับแรกจะอ้างเพื่อไปยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้บุริมสิทธิจำนอง แต่ก็เป็นเรื่องที่ผู้ร้องขอเข้าสวมสิทธิแทนโจทก์ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของลูกหนี้รายเดียวกันเพื่อผู้ร้องจะได้ดำเนินการบังคับคดีต่อ จึงเป็นประเด็นที่ศาลจะต้องพิจารณาว่าจะอนุญาตให้ผู้ร้องเข้ามาเป็นคู่ความในชั้นบังคับคดีแทนโจทก์หรือไม่เช่นเดียวกันทั้งสองฉบับ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอสวมสิทธิแทนโจทก์ของผู้ร้องฉบับแรก อันเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นในเรื่องการขอเข้าสวมสิทธิแทนโจทก์ในการบังคับคดีต่อของผู้ร้องแล้ว การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิแทนโจทก์เข้ามาใหม่อีกขอให้ศาลมีคำสั่งในเรื่องเดียวกัน จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3278/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีและการยึดทรัพย์สินหลังศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษา: ผลของฎีกาต่อการคุ้มครองประโยชน์ของเจ้าหนี้
โจทก์ที่ 1 และที่ 3 ขอให้บังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดและอายัดทรัพย์สินของจำเลยหลายรายการเพื่อบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษา แม้ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสามอันมีผลให้จำเลยซึ่งเป็นฝ่ายอุทธรณ์ชนะในข้อสาระสำคัญ ซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 251 (เดิม) ซึ่งบังคับใช้ในขณะยื่นฟ้อง จำเลยจะยื่นคำขอต่อศาลชั้นต้นให้ถอนการยึดหรืออายัดทรัพย์สินหรือคืนเงินจำนวนที่วางไว้ต่อศาลในข้อนั้น ๆ ก็ได้ แต่เมื่อปรากฏว่าโจทก์ทั้งสามยังฎีกา โดยโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกากำหนดวิธีการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ด้วยการมีคำสั่งให้การบังคับคดียังคงมีผลต่อไป และศาลฎีกาได้มีคำสั่งคำร้องที่ 1315/2556 ลงวันที่ 19 ธันวาคม 2556 ว่า แม้ศาลอุทธรณ์จะพิพากษากลับให้ยกฟ้อง แต่ก็มิใช่คำพิพากษาถึงที่สุดที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะถอนการบังคับคดีได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 295 (3) เพราะโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ยังฎีกาอยู่ การยึดและอายัดทรัพย์สินจึงยังคงมีผลอยู่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1702/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำร้องขอครอบครองปรปักษ์ซ้ำซ้อน และสิทธิฟ้องแย้งของผู้คัดค้าน
เดิม ห. เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องผู้คัดค้านเป็นจำเลยต่อศาลชั้นต้นขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้ที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ ห. โดยการครอบครองปรปักษ์ ผู้คัดค้านยื่นคำให้การและฟ้องแย้งให้ขับไล่ ห. ออกจากที่พิพาท ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ พ.251/2554 ให้ ห. และบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินพิพาท ในชั้นบังคับคดี ผู้ร้องยื่นคำร้องขอแสดงอำนาจพิเศษตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 จัตวา โดยอ้างว่าครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทประมาณ 30 ไร่ การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอในคดีนี้ โดยอ้างว่าได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทประมาณ 30 ไร่ โดยการครอบครองปรปักษ์ ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกันกับคำร้องขอแสดงอำนาจพิเศษที่ผู้ร้องได้ยื่นไว้ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ พ.251/2554 คำร้องขอของผู้ร้องในคดีนี้จึงเป็นการร้องซ้อน ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246 และมาตรา 247 เมื่อคำร้องขอของผู้ร้องเป็นร้องซ้อนต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าวก็ไม่มีคำร้องขอและตัวผู้ร้องที่ผู้คัดค้านจะฟ้องแย้ง ผู้คัดค้านจึงไม่มีสิทธิฟ้องแย้งผู้ร้องเช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1379/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขายทอดตลาดที่ดิน: สิทธิผู้ซื้อเมื่อมีข้อพิพาทเรื่องสิทธิครอบครองที่ดินก่อนการส่งมอบ
เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินสี่แปลงรวมกันโดยมิได้แยกขายรายแปลง การโอนสิทธิครอบครองที่ดินทั้งสี่แปลงให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ต้องกระทำโดยครบถ้วนให้ถูกต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ มิฉะนั้นผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ซื้อทรัพย์ชอบที่จะปฏิเสธไม่ยอมรับชำระหนี้ได้
ก่อนถึงกำหนดชำระราคาที่ดินทั้งสี่แปลงส่วนที่เหลือ บริษัท พ. ฟ้องจำเลยขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของที่ดิน 1 ใน 4 แปลง โดยอ้างว่าออกเอกสารทับที่ดินของบริษัท พ. ดังนี้เมื่อการซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ผู้ร้องอาจไม่ได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330 จนเป็นที่เสียหายแก่ผู้ร้องในภายหลังได้ ทั้งผู้ร้องนำสืบว่าพร้อมชำระราคาที่ดินที่เหลือได้ กรณีจึงมิใช่ความผิดของผู้ร้องหรือเป็นเรื่องที่ผู้ร้องหาเหตุไม่ชำระราคาภายในกำหนด ถือได้ว่าเป็นกรณีมีพฤติการณ์พิเศษที่จะให้เลื่อนกำหนดเวลาชำระราคาที่ดินทั้งสี่แปลงที่เหลือไปจนกว่าคดีที่บริษัท พ. ฟ้องจำเลยจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14006/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิบุริมสิทธิของกองทุนเงินทดแทนและประกันสังคม ครอบคลุมหนี้ค้างชำระทุกปี ไม่จำกัดเฉพาะปีปัจจุบัน
ตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 9 และ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 51 ซึ่งบทบัญญัติทั้งสองมาตราดังกล่าวนั้นเป็นเพียงกำหนดลำดับหนี้เงินทดแทน เงินสมทบและเงินเพิ่มที่นายจ้างค้างชำระกองทุนเงินทดแทนและกองทุนประกันสังคมให้เป็นหนี้บุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินของนายจ้างซึ่งเป็นลูกหนี้และให้อยู่ในลำดับเดียวกับบุริมสิทธิในค่าภาษีอากรตาม ป.พ.พ. โดยมิได้มีบทบัญญัติใดที่กำหนดว่าหนี้นั้นจะต้องเป็นหนี้ที่นายจ้างซึ่งเป็นลูกหนี้ค้างชำระอยู่ในปีใดอย่างบุริมสิทธิในมูลค่าภาษีอากรที่ ป.พ.พ. มาตรา 256 บัญญัติให้ใช้สำหรับเอาบรรดาค่าภาษีอากรในที่ดิน ทรัพย์สิน หรือค่าภาษีอากรอย่างอื่นที่ลูกหนี้ยังค้างชำระอยู่ในปีปัจจุบันและก่อนนั้นขึ้นไปอีกปีหนึ่ง
คดีนี้ผู้ร้องได้ใช้อำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้อายัดเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร ก. สาขาบ้านฉาง ของจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 50 และ พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 47 โดยชอบตั้งแต่ปี 2554 อันถือได้ว่าเป็นวันที่ผู้ร้องใช้อำนาจตามบทบัญญัติของกฎหมายเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ที่ค้างชำระเงินทดแทน เงินสมทบและเงินเพิ่มชำระหนี้แล้ว ผู้ร้องจึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้ดังกล่าวจากเงินที่อายัดในฐานะเจ้าหนี้บุริมสิทธิตามคำร้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11092/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การร้องสอดในคดีภาระจำยอม: เมื่อนิติบุคคลหมู่บ้านฟ้องแทนสมาชิกแล้ว ผู้ซื้อที่ดินรายอื่นไม่ต้องร้องสอดอีก
ผู้ร้องสอดเป็นผู้ซื้อที่ดินจัดสรรในนิติบุคคลหมู่บ้านจำเลยร่วม ซึ่งจำเลยเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดิน และทางพิพาทเป็นที่ดินสาธารณูปโภคที่จำเลยในฐานะผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นเพื่อการจัดสรรที่ดินตามแผนผังและโครงการนิติบุคคลหมู่บ้านจำเลยร่วม ซึ่งตาม พ.ร.บ.จัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 บัญญัติให้ตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรร และให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินจะต้องบำรุงรักษาสาธารณูปโภคให้คงสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้นนั้นต่อไป และจะกระทำการใดอันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกมิได้ ผู้ร้องสอดซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินจัดสรรในนิติบุคคลหมู่บ้านจำเลยร่วม ย่อมได้รับประโยชน์จากทางพิพาทซึ่งเป็นภาระจำยอมโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย การที่จำเลยจดทะเบียนทางพิพาทในที่ดินสาธารณูปโภคที่จัดสรรให้เป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 2093 ของธนาคาร อ. ย่อมเป็นการกระทำที่กระทบต่อสิทธิหรือประโยชน์ของผู้ซื้อที่ดินที่จัดสรรในหมู่บ้านนิติบุคคลจำเลยร่วมทุกรายรวมทั้งผู้ร้องสอด ผู้ร้องสอดจึงมีส่วนได้เสียที่ต้องถูกกระทบสิทธิจากการที่จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดสรรนำที่ดินสาธารณูปโภคเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของผู้ซื้อที่ดินที่จัดสรรไปจดทะเบียนให้เป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 2093
คำร้องของผู้ร้องสอดอ้างว่า ข้อพิพาทตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองเป็นการกระทบสิทธิหรือประโยชน์ของผู้ซื้อที่ดินจัดสรรที่มีอยู่จำนวนกว่าร้อยแปลงในนิติบุคคลหมู่บ้านจำเลยร่วม และนิติบุคคลหมู่บ้านจำเลยร่วมได้ใช้สิทธิร้องสอดเข้ามาในคดีนี้แล้ว แม้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้นิติบุคคลหมู่บ้านจำเลยร่วมเข้าเป็นคู่ความในฐานะจำเลยร่วมตามคำร้องสอดก็ตาม แต่เมื่อคำร้องสอดของนิติบุคคลหมู่บ้านจำเลยร่วมที่ยื่นเข้ามานั้นตั้งข้ออ้างข้อเถียงโต้แย้งสิทธิและหน้าที่ในลักษณะเป็นปฏิปักษ์กับโจทก์ทั้งสองและจำเลย และเพื่อประโยชน์ของผู้ซื้อที่ดินจัดสรร จำเลยร่วมจึงอยู่ในฐานะเป็นคู่ความฝ่ายที่สามเสมือนเป็นโจทก์ยื่นคำฟ้อง ดังนี้ เท่ากับนิติบุคคลหมู่บ้านจำเลยร่วมได้ใช้สิทธิเป็นโจทก์ฟ้องแทนผู้ซื้อที่ดินจัดสรรซึ่งเป็นสมาชิกนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 47 เกี่ยวกับกรณีที่กระทบสิทธิหรือประโยชน์ของสมาชิกจำนวนตั้งแต่สิบรายขึ้นไปตามมาตรา 48 (4) ย่อมไม่มีความจำเป็นที่ผู้ร้องสอดซึ่งเป็นผู้ซื้อที่ดินจัดสรรคนหนึ่งจะเข้ามาเป็นคู่ความในคดีเพื่อยังให้ได้รับการรับรอง คุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิของตนอีก เพราะนิติบุคคลหมู่บ้านจำเลยร่วมได้ใช้สิทธิฟ้องแทนสมาชิกผู้ซื้อที่ดินจัดสรรทุกรายตามกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10808/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับพิจารณาเนื่องจากจำเลยดำเนินกระบวนการชำระค่าธรรมเนียมศาลล่าช้าเกินสมควร และไม่ชอบด้วยกฎหมาย
การที่จำเลยยื่นคำร้องลงวันที่ 22 เมษายน 2556 ขอขยายระยะเวลานำเงินค่าธรรมเนียมศาลชั้นฎีกาตามคำสั่งศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2552 ที่ให้จำเลยนำเงินค่าธรรมเนียมดังกล่าวมาชำระต่อศาลชั้นต้นภายใน 30 วัน โดยอ้างว่าจำเลยไม่สามารถหาเงินได้ทัน และผู้มีชื่อนัดช่วยเหลือจำเลย
ทั้ง ๆ ที่กำหนดเวลาให้จำเลยชำระเงินค่าธรรมเนียมศาลชั้นฎีกาตามคำสั่งศาลชั้นต้นได้ล่วงพ้นไปแล้วประมาณ 4 ปีเศษ อันเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ และเกิดขึ้นจากความผิดพลาดของจำเลยเองมิใช่พฤติการณ์พิเศษหรือเหตุสุดวิสัยที่ศาลจะสั่งขยายระยะเวลาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งอนุญาตขยายเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมศาลชั้นฎีกาตามคำขอของจำเลย และจำเลยได้นำเงินค่าธรรมเนียมดังกล่าวมาชำระภายในกำหนดเวลาที่ศาลชั้นต้นขยายก็ตาม ก็ถือไม่ได้ว่าฎีกาของจำเลยเป็นฎีกาที่ชอบด้วยกฎหมายอันจะรับไว้พิจารณาได้ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9829/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยื่นคำร้องซ้ำต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 เมื่อศาลเคยวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นเดียวกันแล้ว
ก่อนจำเลยยื่นคำร้องคดีนี้ จำเลยเคยยื่นคำร้องขอเพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบ ภายหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว โดยข้ออ้างในคำร้องทั้งสองฉบับจำเลยกล่าวอ้างว่า ศาลชั้นต้นทำการพิจารณาพิพากษาคดีนี้โดยผิดระเบียบอย่างเดียวกัน แม้คำร้องในคดีนี้ จำเลยจะขอให้เพิกถอนหมายบังคับคดีและการบังคับคดี ส่วนคำร้องฉบับก่อนดังกล่าว จำเลยขอให้เพิกถอนการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นที่ผิดระเบียบ แต่ก็เป็นคำขออันเป็นผลมาจากข้ออ้างในเรื่องเดียวกัน เมื่อศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นตามคำร้องฉบับก่อนของจำเลย และยกคำร้องของจำเลยแล้วเช่นนี้ การที่จำเลยกลับมาดำเนินกระบวนพิจารณายื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นอันเกี่ยวกับประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้วนั้นเป็นคดีนี้อีก จึงต้องห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 และเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่โจทก์มีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง
of 63