คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ม. 68 วรรคสอง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 234/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนชื่อผู้เสียสิทธิสมัคร ส.ส. กรณีเจ้าหน้าที่ละเลยหน้าที่ ทำให้ผู้มีสิทธิไม่ได้รับการพิจารณาแจ้งเหตุไม่อาจใช้สิทธิเลือกตั้ง
ผู้ร้องยื่นหนังสือแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต่อนายอำเภอไว้โดยชอบแล้ว นายอำเภอซึ่งเป็นนายทะเบียนอำเภอตาม พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 มาตรา 8 (4) ที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นบุคคลรับแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการพิจารณาการแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2543 ข้อ 3 มีหน้าที่พิจารณาเหตุของการไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งของผู้มีสิทธิเลือกตั้งว่าเป็นเหตุอันสมควรหรือไม่ ตามข้อ 6 กับข้อ 12 แล้วแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้แจ้งเหตุทราบโดยเร็ว แต่นายทะเบียนอำเภอไม่ได้พิจารณาคำร้องของผู้ร้องเพราะเจ้าหน้าที่อำเภอไม่ได้นำหนังสือของผู้ร้องเสนอต่อนายทะเบียนอำเภอ เนื่องจากหนังสือดังกล่าวสูญหาย อันเป็นความผิดพลาดของฝ่ายนายทะเบียนอำเภอที่ไม่ได้ดำเนินการตามระเบียบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง จึงเป็นเหตุให้ผู้ร้องมีชื่อในบัญชีรายชื่อผู้เสียสิทธิตามมาตรา 68 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ดังนี้ การจัดให้ผู้ร้องมีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อผู้เสียสิทธิตามมาตรา 68 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ของฝ่ายผู้คัดค้านจึงไม่ชอบ ผู้ร้องจึงไม่เสียสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 23 (3) แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2541

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8294/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเลือกตั้งและการแจ้งเหตุไม่ไปใช้สิทธิ: การย้ายทะเบียนบ้านและผลกระทบต่อสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
คำว่า "วันเลือกตั้ง" ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2541 บัญญัติในมาตรา 4 ให้หมายความถึงวันที่กำหนดให้เป็นวันเลือกตั้งตามพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาแล้วแต่กรณี ซึ่งหมายถึงวันที่ให้มีการเลือกตั้งเป็นการทั่วไปไม่ใช่วันลงคะแนนเลือกตั้งใหม่ ผู้ร้องย้ายทะเบียนบ้านจากจังหวัดสกลนครมาอยู่ในจังหวัดกาฬสินธุ์ยังไม่ครบ 90 วัน ผู้ร้องจึงมิใช่เป็นบุคคลที่มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งจังหวัดกาฬสินธุ์ แต่ยังคงเป็นบุคคลที่มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งจังหวัดสกลนครอยู่ นอกจากนั้นตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ก่อนประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2543 ข้อ 9 กำหนดว่าให้ใช้บัญชีรายชื่อ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งที่เป็นเหตุให้มีการเลือกตั้งใหม่เป็นบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งใหม่ ดังนั้น ผู้ร้องก็มีหน้าที่ต้องไปเลือกตั้งที่หน่วยเลือกตั้งของเขตเลือกตั้งจังหวัดสกลนคร การที่ผู้ร้องจะไปลงคะแนนที่หน่วยเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งจังหวัดกาฬสินธุ์โดยไม่ไปลงคะแนนที่หน่วยเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งจังหวัดสกลนคร ซึ่งผู้ร้องมีชื่อในบัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ย่อมถือว่าผู้ร้องเป็นบุคคลซึ่งไม่ไปเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 68 วรรคสอง
การแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องแจ้งต่อบุคคลซึ่งคณะกรรมการเลือกตั้งแต่งตั้งไว้ประจำแต่ละเขตเลือกตั้งซึ่งกรณีของผู้ร้องคือนายอำเภอเมืองสกลนครและต้องแจ้งภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศรายชื่อผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งและมิได้แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ แม้ผู้ร้องอ้างว่าได้มีหนังสือแจ้งเหตุไปแล้ว แต่จ่าหน้าซองผิดโดยระบุชื่อผู้รับเป็น "ก.ก.ต.สกลนคร" แทนที่จะระบุว่าเป็นนายอำเภอเมืองสกลนครตามที่ได้รับแต่งตั้งจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง ทำให้หนังสือแจ้งเหตุส่งไม่ถึงนายอำเภอเมืองสกลนครก็ดี และเมื่อล่วงพ้นเวลาแจ้งเหตุแล้ว ผู้ร้องได้มีหนังสือแจ้งเหตุต่อนายอำเภอเมืองสกลนคร อันเป็นการแสดงว่าผู้ร้องมิได้มีเจตนาหรือจงใจไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาก็ดี ไม่เป็นเหตุที่ถือว่าผู้ร้องเป็นบุคคลซึ่งมีสิทธิเลือกตั้งที่ได้ดำเนินการตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2541 มาตรา 21, 22 ผู้ร้องจึงต้องเสียสิทธิตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 68 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2541 มาตรา 23 (3)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8265/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเสียสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากการไม่ใช้สิทธิเลือกตั้งและไม่แจ้งเหตุตามกฎหมาย
พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2541 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ในการเลือกตั้งครั้งใด ถ้าผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้เนื่องจากมีเหตุสมควร ให้แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งต่อบุคคลซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งแต่งตั้งไว้ประจำแต่ละเขตเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน มาตรา 22 บัญญัติว่า เมื่อครบกำหนดสามสิบวันหลังจากวันเลือกตั้งแล้ว ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศรายชื่อผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง และมิได้แจ้งเหตุตามมาตรา 21 เพื่อให้ผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งดังกล่าวแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งต่อบุคคลซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งแต่งตั้งภายในหกสิบวันนับแต่วันประกาศ และมาตรา 23 วรรคหนึ่ง (3) บัญญัติว่า ในกรณีที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ใดไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งและมิได้แจ้งเหตุการไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งตามมาตรา 21 หรือมาตรา 22 ฯลฯ ให้ถือว่าผู้นั้นเป็นบุคคลซึ่งไม่ไปเลือกตั้งโดยไม่แจ้งเหตุอันสมควรที่ทำให้ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ ตามมาตรา 68 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ ให้ผู้นั้นเสียสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ดังนั้น การที่ผู้ร้องมิได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภารอบสอง ทั้งมิได้แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ทั้งก่อนและหลังวันเลือกตั้งตามความในมาตรา 21 และมาตรา 22 ดังกล่าว ผู้ร้องย่อมเสียสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แม้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ในวันดังกล่าวผู้ร้องป่วยจริง ก็เป็นเพียงเหตุที่ผู้ร้องอาจแจ้งต่อบุคคลซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งแต่งตั้งไว้ว่าไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ โดยอาจแจ้งก่อนหรือหลังวันเลือกตั้งตามความในมาตรา 21 และมาตรา 22 ดังกล่าวเท่านั้น เมื่อผู้ร้องมิได้แจ้งเหตุเช่นนี้ จึงไม่อาจอ้างเหตุที่ผู้ร้องป่วยมาขอให้ศาลฎีกาสั่งให้ผู้คัดค้านรับสมัครผู้ร้องได้
(คำสั่งศาลฎีกา)