คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 ม. 6

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 8 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3144/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิบัตรไม่มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น เพิกถอนได้ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร
การประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 25271 จะเป็นสิทธิบัตรที่ได้ออกโดยชอบด้วย พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 5 หรือไม่ เห็นควรพิจารณาเป็นลำดับไปว่า การประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรดังกล่าวเป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ตามมาตรา 5 (1) และมาตรา 6 หรือไม่ และมีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้นตามมาตรา 5 (2) และมาตรา 7 หรือไม่ ในประเด็นเรื่องการประดิษฐ์ขึ้นใหม่นั้น จะต้องพิจารณาเปรียบเทียบระหว่างงานที่ปรากฏอยู่แล้วกับรายละเอียดของการประดิษฐ์ในข้อถือสิทธิตามสิทธิบัตรการประดิษฐ์ของจำเลยทั้งสอง เมื่อโจทก์ทั้งสองไม่มีพยานหลักฐานอื่นที่นำสืบถึงงานที่ปรากฏอยู่แล้วนอกเหนือจากมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องปลูกอ้อย มอก. 1480 - 2540 และรายงานการตรวจค้นเพื่อประกอบการพิจารณาตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตร การประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 25271 จึงเป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 5 (1) และมาตรา 6 แล้ว ส่วนการประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรเลขที่ 25271 มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 5 (2) และมาตรา 7 หรือไม่นั้น พยานโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้มีความรู้เชี่ยวชาญในด้านวิศวกรรมการเกษตรและได้อ้างอิงหลักฐานทางวิชาการที่เกี่ยวข้อง คำเบิกความจึงมีน้ำหนักและเหตุผลให้รับฟังได้ ส่วนจำเลยทั้งสองไม่ได้นำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น ประกอบกับการประดิษฐ์เครื่องปลูกอ้อยตามสิทธิบัตรเลขที่ 25271 จำเลยที่ 1 ไม่ได้คิดค้นอุปกรณ์ซึ่งเป็นส่วนประกอบต่าง ๆ ขึ้นเอง แต่นำมาประกอบรวมเข้าด้วยกันไม่ปรากฏว่าระบบการทำงานของฐานใส่อ้อยและกล่องป้อนอ้อยตามสิทธิบัตรเลขที่ 25271 ได้ปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพแตกต่างจากที่วางพาดอ้อย และช่องเสียบลำอ้อยทั่วๆ ไปอย่างไร เมื่อปรากฏเพียงว่าจำเลยที่ 1 เพิ่มปริมาณช่องป้อนต้นอ้อยให้มากขึ้น จึงเป็นการประดิษฐ์ที่ประจักษ์โดยง่ายแก่บุคคลที่มีความชำนาญในระดับสามัญสำหรับงานเครื่องจักรทางการเกษตร ส่วนที่จำเลยที่ 1 อ้างถึงเรื่องการปรับระยะห่างของร่องนั้น เมื่อผู้ออกแบบเครื่องปลูกอ้อยสามารถปรับแต่งให้ได้ระยะตามที่ต้องการได้อยู่แล้ว ชุดโครงผาลชักร่องตามสิทธิบัตรเลขที่ 25271 จึงเป็นเพียงโครงสร้างสำหรับยึดเกาะให้แก่ชิ้นส่วนต่าง ๆ นำไปพ่วงกับรถแทรกเตอร์และมิได้มีลักษณะพิเศษเพิ่มเติม ทั้งเป็นโครงสร้างปกติพบได้ในเครื่องจักรกลการเกษตรชนิดต่าง ๆ ทั่วไป การประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรเลขที่ 25271 ไม่มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 5 (2) และมาตรา 7 สิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 25271 จึงเป็นสิทธิบัตรที่ไม่สมบูรณ์ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 5 (2) และมาตรา 7

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14948/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การละเมิดสิทธิบัตร: วิธีการสร้างสารกฤษณาที่แตกต่างกัน ไม่ถือเป็นการละเมิด
จำเลยที่ 1 เจาะรูทำรอยแผลในตำแหน่งเป็นเกลียวเวียนขึ้นไปตามลำต้นกฤษณาแล้วเสียบท่อเข้าไปในรูโดยให้ปลายท่อยาวโผล่พ้นลำต้น ซึ่งแตกต่างกับการทำรอยแผลรูปสี่เหลี่ยมเป็นแนวแล้วเจาะรูตามข้อถือสิทธิในสิทธิบัตรของโจทก์ จึงไม่เป็นการใช้กรรมวิธีตามข้อถือสิทธิในสิทธิบัตรกรรมวิธีของโจทก์ และไม่เป็นการลัดขั้นตอนกรรมวิธีของโจทก์ การที่จำเลยที่ 1 ใช้กรรมวิธีในการสร้างสารกฤษณาแตกต่างจากกรรมวิธีตามข้อถือสิทธิดังกล่าว ย่อมไม่เป็นการละเมิดสิทธิบัตรการประดิษฐ์กรรมวิธีของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10485/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนอนุสิทธิบัตร: ลักษณะการประดิษฐ์ไม่ใหม่ แม้มีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งอุปกรณ์
การพิจารณาว่าการประดิษฐ์ที่โจทก์ขอรับอนุสิทธิบัตรเป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่หรือไม่ต้องพิจารณาตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 65 ทศ ประกอบมาตรา 6 ที่บัญญัติว่า การประดิษฐ์ขึ้นใหม่ได้แก่การประดิษฐ์ที่ไม่เป็นงานที่ปรากฏอยู่แล้ว และงานที่ปรากฏอยู่แล้วตามมาตรา 6 วรรคสอง (2) ได้แก่ การประดิษฐ์ที่ได้มีการเปิดเผยสาระสำคัญหรือรายละเอียดในเอกสารหรือสิ่งพิมพ์ที่ได้เผยแพร่อยู่แล้วไม่ว่าในหรือนอกราชอาณาจักร
การประดิษฐ์และข้อถือสิทธิตามอนุสิทธิบัตรของโจทก์เมื่อเปรียบเทียบกับการประดิษฐ์ตามเอกสารประกาศแสดงสิทธิบัตรในประเทศญี่ปุ่น อันเป็นงานที่ปรากฏอยู่ก่อนโจทก์ยื่นคำขอรับอนุสิทธิบัตร เห็นว่า เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่ายของเหลวและลักษณะทั่วไปทางกายภาพและการใช้งานทำนองเดียวกันเป็นส่วนใหญ่ คงมีส่วนที่โจทก์กล่าวอ้างว่าเป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ในบางส่วน แต่โจทก์ก็ไม่ได้แสดงรายละเอียดตามข้ออ้างดังกล่าวไว้ในรายการแสดงรายละเอียดการประดิษฐ์ของโจทก์ในคำขอรับอนุสิทธิบัตร จึงฟังไม่ได้ว่าการประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรของโจทก์ไม่เป็นงานที่ปรากฏอยู่แล้ว การประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรของโจทก์ย่อมไม่ใช่การประดิษฐ์ขึ้นใหม่ที่จะขอรับอนุสิทธิบัตรได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9213/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อนุสิทธิบัตรไม่สมบูรณ์หากมีการประดิษฐ์ที่ใช้แพร่หลายก่อนวันขอรับสิทธิบัตร การนำเข้าสินค้าที่เหมือนกับอนุสิทธิบัตรไม่ถือเป็นการละเมิด
ถุงห่อผลไม้ตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.2 ที่บริษัท ก. และบริษัท ซ. นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยก่อนที่จำเลยยื่นคำขอรับอนุสิทธิบัตรการประดิษฐ์ถุงห่อผลไม้ และ ว.จ.3 กับถุงห่อผลไม้ของจำเลยตามวัตถุพยานหมาย ว.ล.3 มีลักษณะเหมือนกัน กล่าวคือ เป็นถุง 2 ชั้น มีถุงห่อหุ้มชั้นนอกและถุงห่อหุ้มชั้นในถุงห่อหุ้มชั้นนอกมีการเคลือบสีดำอยู่ด้านในเพื่อกรองแสงไม่ให้แสงสว่างเข้าไปในถุงและถุงห่อหุ้มชั้นในเคลือบด้วยคาร์บอนอยู่อีกชั้นหนึ่ง ถุงห่อหุ้มชั้นนอกและชั้นในมีปลายเปิดด้านบนสำหรับรองรับการสอดเข้าของผลไม้ที่ต้องการห่อ ด้านล่างของถุงห่อหุ้มชั้นนอกมีรูเจาะทะลุถึงด้านล่างของถุงห่อหุ้มชั้นใน และด้านล่างของถุงห่อหุ้มชั้นนอกจะเป็นช่องเว้าออกด้านข้างมีรูเจาะทะลุถึงด้านในของถุงห่อหุ้มชั้นในบริเวณก้นถุงมีรูระบายน้ำและระบายอากาศมีปีกที่มีลวดเหล็กอยู่ข้างในยื่นออกมาเหมือนกัน แต่ต่างกันที่ปีกที่ลวดเหล็กอยู่คนละด้านกันซึ่งปีกที่ยื่นออกมาจะใช้ในการรัดกิ่งไม้หรือใช้มัดปากถุงไม่ให้ถุงห่อผลไม้หลุดออกจากผลไม้ถุงห่อผลไม้ตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.2 และ ว.จ.3 มีลักษณะเหมือนกับถุงห่อผลไม้ตามวัตถุพยานหมาย ว.ล.3 ของจำเลย และการประดิษฐ์ถุงห่อผลไม้วัตถุพยานหมาย ว.จ.2 และ ว.จ.3 เหมือนกับข้อถือสิทธิสำหรับการประดิษฐ์ถุงห่อผลไม้ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 4343 ของจำเลยซึ่งระบุข้อถือสิทธิไว้ว่า ถุงห่อผลไม้ประกอบด้วยถุงห่อหุ้มชั้นนอกที่เป็นถุงชั้นนอกที่มีปลายเปิดด้านบนชั้นนอกและพื้นผิวด้านนอกของถุงห่อหุ้มชั้นนอกจะมีชั้นสารเคลือบกันน้ำเคลือบอยู่อย่างน้อยหนึ่งชั้น สำหรับป้องกันน้ำจากภายนอกเข้าสู่ด้านในถุงห่อหุ้มชั้นนอกและพื้นผิวด้านในของถุงห่อหุ้มชั้นนอกจะเป็นสีทึบแสงอย่างน้อยหนึ่งชั้นสำหรับป้องกันแสงจากภายนอกเข้าสู่ด้านในถุงห่อหุ้มชั้นในซึ่งถุงห่อหุ้มชั้นในจะเป็นถุงชั้นในที่อยู่ด้านในถุงห้อหุ้มชั้นนอกและมีปลายเปิดด้านบนชั้นในสำหรับเป็นช่องทางสวมเข้าทางด้านบนของผลไม้ที่ต้องการห่อหุ้มชั้นใน และพื้นผิวด้านนอกของถุงห่อหุ้มชั้นในอย่างน้อยหนึ่งด้านจะเป็นสีทึบแสงอย่างน้อยหนึ่งชั้น สำหรับป้องกันแสงจากภายนอกเข้าสู่ด้านในถุงห่อหุ้มชั้นใน และพื้นผิวด้านนอกของสีทึบแสงอย่างน้อยหนึ่งด้านของถุงห้อหุ้มชั้นในจะมีชั้นสารเคลือบกันน้ำเคลือบอยู่อย่างน้อยหนึ่งชั้น สำหรับป้องกันน้ำจากภายนอกเข้าสู่ด้านในถุงห่อหุ้มชั้นในอีกชั้นหนึ่ง แม้การประดิษฐ์ถุงห่อผลไม้ตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.2 และ ว.จ.3 จะมิใช่การประดิษฐ์ที่มีหรือใช้แพร่หลายอยู่แล้วในราชอาณาจักรก่อนวันที่จำเลยขอรับอนุสิทธิบัตรเลขที่ 4343 ก็ตาม แต่ถุงห่อผลไม้ตามวัตถุพยาน ว.จ.2 และ ว.จ.3 เป็นการประดิษฐ์ที่ปรากฏอยู่แล้วนอกและในราชอาณาจักรก่อนวันที่จำเลยขอรับอนุสิทธิบัตรเลขที่ 4343 เมื่อการประดิษฐ์ถุงห่อผลไม้วัตถุพยานหมาย ว.ล.3 ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 4343 เหมือนกับการประดิษฐ์ถุงห่อผลไม้วัตถุพยานหมาย ว.จ.2 และ ว.จ.3 การประดิษฐ์ถุงห่อผลไม้วัตถุพยานหมาย ว.ล.3 จึงเป็นการประดิษฐ์ที่เป็นงานที่ปรากฏอยู่แล้วอันมิใช่การประดิษฐ์ขึ้นใหม่ ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 65 ทศ ประกอบมาตรา 6 วรรคหนึ่ง การออกอนุสิทธิบัตรเลขที่ 4343 ย่อมไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 65 ทวิ ต้องถือว่าอนุสิทธิบัตรเลขที่ 4343 ไม่สมบูรณ์ ตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว มาตรา 65 นว วรรคหนึ่ง โจทก์ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียชอบที่จะขอให้เพิกถอนอนุสิทธิบัตรนั้นได้ ตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว มาตรา 65 นว วรรคสอง แม้การประดิษฐ์ถุงห่อผลไม้ตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.1 ที่โจทก์นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยเหมือนกับการประดิษฐ์ถุงห่อผลไม้ในข้อถือสิทธิตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 4343 ของจำเลยก็ตาม แต่เมื่ออนุสิทธิบัตรการประดิษฐ์ถุงห่อผลไม้เลขที่ 4343 ที่อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาออกให้แก่จำเลยเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2551 เป็นอนุสิทธิบัตรไม่สมบูรณ์ การประดิษฐ์ถุงห่อผลไม้ดังกล่าวจึงไม่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 65 สัตต การกระทำของโจทก์ดังกล่าวจึงไม่อาจเป็นการละเมิดอนุสิทธิบัตรเลขที่ 4343 ของจำเลยตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 65 ทศ ประกอบมาตรา 35 ทวิ และมาตรา 36 วรรคหนึ่ง (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4518/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อนุสิทธิบัตรไม่สมบูรณ์หากการประดิษฐ์มีอยู่แล้วก่อนขอรับสิทธิบัตร แม้ผู้ขอเป็นผู้เผยแพร่เอง
การประดิษฐ์ที่จะขอรับอนุสิทธิบัตรได้นั้น พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 65 ทวิ บัญญัติไว้ 2 อนุมาตรา รวมความว่า ต้องเป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ และเป็นการประดิษฐ์ที่สามารถประยุกต์ในทางอุตสาหกรรมได้ ซึ่งปัญหาความใหม่นั้น เมื่อพิจารณามาตรา 65 ทศ ที่ให้นำบทบัญญัติมาตรา 6 และอีกหลายมาตราในหมวด 2 ว่าด้วยสิทธิบัตรการประดิษฐ์มาใช้บังคับกับหมวดว่าด้วยอนุสิทธิบัตรโดยอนุโลม โดยในมาตรา 6 วรรคแรก บัญญัติว่า การประดิษฐ์ขึ้นใหม่ ได้แก่ ประดิษฐ์ที่ไม่เป็นงานที่ปรากฏอยู่แล้ว และในวรรคสองบัญญัติว่า งานที่ปรากฏอยู่แล้วให้หมายความถึงการประดิษฐ์ดังต่อไปนี้ด้วย (1) การประดิษฐ์ที่มีหรือใช้แพร่หลายอยู่แล้วในราชอาณาจักรก่อนวันขอรับสิทธิบัตร (2) การประดิษฐ์ที่ได้มีการเปิดเผยสาระสำคัญหรือรายละเอียดในเอกสารหรือสิ่งพิมพ์ที่ได้เผยแพร่อยู่แล้วไม่ว่าในหรือนอกราชอาณาจักรก่อนวันขอรับสิทธิบัตร และไม่ว่าการเปิดเผยนั้นจะกระทำโดยเอกสาร สิ่งพิมพ์ การนำออกแสดง หรือการเปิดเผยต่อสาธารณชนด้วยประการใด ๆ นอกจากนี้ ในมาตรา 6 วรรคท้าย บัญญัติความตอนหนึ่งว่า การเปิดเผยสาระสำคัญหรือรายละเอียดโดยผู้ประดิษฐ์ภายในสิบสองเดือนก่อนที่จะมีการขอรับสิทธิบัตรมิให้ถือว่าเป็นการเปิดเผยสาระสำคัญหรือรายละเอียดตาม (2) ข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์จำหน่ายเทปโฟมกาวสองหน้ามาตั้งแต่ปี 2538 ก่อนวันที่โจทก์ยื่นคำขอรับอนุสิทธิบัตรเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2547 แล้ว การประดิษฐ์ดังกล่าวของโจทก์จึงมีหรือใช้อยู่แล้วในราชอาณาจักรก่อนวันขอรับอนุสิทธิบัตร และการที่โจทก์จำหน่ายอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดย่อมเป็นการจำหน่ายแพร่หลายตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 6 วรรคสอง อนุมาตรา (1) ดังกล่าว และถือว่าเป็นการเปิดเผยสาระสำคัญหรือรายละเอียดของการประดิษฐ์ต่อสาธารณชนด้วยประการใด ๆ ตามอนุมาตรา (2) ด้วย เพราะบุคคลทั่วไปสามารถมองเห็นได้ว่าการประดิษฐ์ของโจทก์ใช้กรรมวิธีการผลิตที่ไม่ยุ่งมาก การประดิษฐ์ของโจทก์จึงเป็นงานที่ปรากฏอยู่แล้ว ถึงแม้โจทก์จะเป็นผู้ทำให้เทปโฟมกาวสองหน้านั้นมีหรือใช้แพร่หลาย และเป็นผู้เปิดเผยสาระสำคัญหรือรายละเอียดของการประดิษฐ์นั้นเองดังที่โจทก์อุทธรณ์ แต่ก็เป็นการกระทำเกินกว่ากำหนดเวลาสิบสองเดือนก่อนโจทก์ขอรับอนุสิทธิบัตร กรณีจึงไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 6 วรรคท้าย ที่จะไม่ถือว่าเป็นการทำให้แพร่หลายและเปิดเผยสาระสำคัญหรือรายละเอียดการประดิษฐ์ก่อนวันขอรับอนุสิทธิบัตร เทปโฟมกาวสองหน้าซึ่งเป็นการประดิษฐ์ของโจทก์จึงไม่เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ตามพ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 65 ทวิ, 65 ทศ ประกอบมาตรา 6 แม้โจทก์ได้รับอนุสิทธิบัตรการประดิษฐ์ก็เป็นอนุสิทธิบัตรที่ได้ออกให้โดยไม่ชอบด้วยมาตรา 65 ทวิ, 65 ทศ ถือว่าอนุสิทธิบัตรนั้นไม่สมบูรณ์ ไม่ได้รับความคุ้มครองสิทธิตามอนุสิทธิบัตร โจทก์ไม่อาจกล่าวอ้างได้ว่าจำเลยทั้งสามฝ่าฝืนสิทธิเด็ดขาดของโจทก์ผู้ทรงอนุสิทธิบัตร และไม่อาจใช้มาตรการบังคับจำเลยทั้งสามตามสิทธิของอนุสิทธิบัตรนั้น ซึ่งศาลมีอำนาจยกความไม่สมบูรณ์นี้ขึ้นวินิจฉัยได้ตามมาตรา 65 ทวิ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2703/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิบัตรวัสดุรองรับแรงกระแทก: ไม่อินโนเวต-ใช้แล้วก่อนขอรับสิทธิบัตร ศาลฎีกายืนเพิกถอน
จำเลยมีเหตุอันสมควรที่จะเชื่อว่าได้มีการละเมิดสิทธิบัตรของจำเลย การที่จำเลยร้องทุกข์เพื่อให้ดำเนินคดีอาญาแก่โจทก์เป็นการขอรับความคุ้มครองเพื่อให้มีการบังคับตามสิทธิบัตรที่จำเลยได้รับอยู่เป็นการใช้สิทธิโดยชอบด้วยกฎหมาย ส่วนเจ้าพนักงานตำรวจจะดำเนินการแก่โจทก์อย่างไรต่อไปเป็นดุลพินิจของเจ้าพนักงานตำรวจการกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายหรือใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์อันจะเป็นการละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 และมาตรา 421
การประดิษฐ์ที่จะขอรับสิทธิบัตรได้ต้องประกอบด้วย (1) เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่(2) เป็นการประดิษฐ์ที่มีขั้นสูงขึ้น และ (3) เป็นการประดิษฐ์ที่สามารถประยุกต์ในทางอุตสาหกรรม ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 5 เมื่อการประดิษฐ์วัสดุรองรับแรงกระแทกบนหัวเสาเข็มตามสิทธิบัตรของจำเลยไม่เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ จึงไม่อาจขอรับสิทธิบัตรได้ สิทธิบัตรของจำเลยที่ได้ออกไปโดยไม่ชอบด้วยมาตรา 5 จึงเป็นสิทธิบัตรไม่สมบูรณ์และเพิกถอนได้ตามมาตรา 54