คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.อ. ม. 28

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 385 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 210/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ องค์ประกอบความผิดแจ้งความเท็จและแจ้งให้จดข้อความเท็จ รวมถึงการเป็นผู้เสียหายและการฟ้องที่ไม่สมบูรณ์
การบรรยายฟ้องความผิดฐานแจ้งความเท็จ ต้องระบุชัดเจนถึงข้อความเท็จนั้นว่ามีข้อความเป็นอย่างไร และความจริงเป็นอย่างไร คำฟ้องของโจทก์บรรยายเพียงว่า จำเลยนำข้อความอันเป็นเท็จไปแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นเทศบาล น. เพื่อขอคัดสำเนารายการทะเบียนราษฎรของผู้มีชื่อ แต่ข้อความเท็จนั้นจำเลยแจ้งว่าอย่างไรไม่ปรากฏ และถึงแม้โจทก์จะบรรยายฟ้องไว้ด้วยว่าในการขอคัดสำเนารายการทะเบียนราษฎร จำเลยแสดงข้อความอันเป็นเท็จด้วยการปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง แต่โจทก์ก็ยังมีหน้าที่ต้องบรรยายฟ้องให้ชัดเจนด้วยว่าข้อความจริงที่จำเลยปกปิดไว้เป็นอย่างไร เหตุใดการปกปิดไว้นั้นจึงถือได้ว่าเป็นการแจ้งข้อความเท็จ
การแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี แม้หากเหตุผลอันจำเลยอ้างในคำร้องเพื่อให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือรายงานต่อศาลเพื่อจับกุมและกักขังผู้มีชื่อซ้ำอีกครั้งหนึ่งจะเป็นความเท็จ แต่ก็เป็นกรณีที่จำเลยกระทำต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีโดยตรง หาได้เกี่ยวข้องหรือกระทบกระเทือนถึงส่วนได้เสียใด ๆ ของโจทก์ ถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายจากการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จของจำเลย โจทก์จึงไม่เป็นผู้เสียหายที่จะมีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดฐานแจ้งความเท็จ
โจทก์บรรยายฟ้องความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐานตาม ป.อ. มาตรา 267 แต่เพียงว่าจำเลยไปยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีให้มีหนังสือรายงานต่อศาลเพื่อจับกุมและกักขังผู้มีชื่อโดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จหาได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยแจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจดข้อความอันเป็นเท็จใดลงในเอกสารราชการใด ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐานอย่างไร ฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิด ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5392/2564 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีอาญา: ผู้เสียหายที่แท้จริง vs. ผู้จัดการมรดก กรณีใช้เอกสารปลอม
บุคคลซึ่งจะมีอำนาจฟ้องคดีอาญาต่อศาล ต้องเป็นพนักงานอัยการหรือผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 28 และผู้เสียหายหมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6 ตามมาตรา 2 (4)
จำเลยอ้างสัญญาซื้อขายที่ดินระหว่าง จ. กับจำเลยเป็นพยานหลักฐานประกอบคำเบิกความของจำเลยในคดีแพ่ง ผู้เสียหายที่แท้จริงคือ จ. เพราะการที่จำเลยอ้างส่งเอกสารดังกล่าวอาจมีผลทำให้ จ. แพ้คดี โจทก์เป็นเพียงผู้เข้าเป็นคู่ความแทน จ. ในคดีแพ่ง มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการเพื่อให้คดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลเสร็จไปแทนผู้ตายเท่านั้น โจทก์จึงมิใช่บุคคลผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดของจำเลย ทั้งมิใช่บุคคลผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายดังบัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6 อีกด้วย ประกอบกับพยานหลักฐานในสำนวนไม่ปรากฏว่า คดีแพ่งดังกล่าวถึงที่สุดโดยศาลมีคำพิพากษาว่าสัญญาซื้อขายระหว่าง จ. กับจำเลยเป็นสัญญาปลอมดังข้อต่อสู้ของ จ. โจทก์ในฐานะทายาทและผู้จัดการมรดกของ จ. จึงมิใช่ผู้เสียหายที่จะมีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาคดีนี้เพราะเหตุจากการที่จำเลยอ้างส่งสัญญาซื้อขายที่ดินระหว่าง จ. กับจำเลยเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งดังกล่าว และแม้คดีนี้ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วมีคำสั่งว่า ความผิดฐานใช้เอกสารปลอม มีมูลความผิดตาม ป.อ. มาตรา 268 ให้ประทับฟ้องไว้พิจารณา และ ป.วิ.อ. มาตรา 170 บัญญัติว่าคำสั่งของศาลที่ให้คดีมีมูลย่อมเด็ดขาด กรณีดังกล่าวเพียงแต่หมายถึงคู่ความไม่อาจอุทธรณ์ฎีกาโต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้คดีมีมูลได้ แต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 6 และศาลอุทธรณ์ภาค 6 เห็นว่า โจทก์มิใช่ผู้เสียหาย คดีไม่มีมูลความผิดฐานใช้เอกสารปลอม ตาม ป.อ. มาตรา 268 ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ย่อมมีอำนาจพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดฐานดังกล่าวได้เพราะปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5335/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์ข้อเท็จจริงใหม่ที่ไม่เคยว่ากันในศาลชั้นต้น และการรอการลงโทษตามกฎหมายอาญา
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายรับอันตรายสาหัส เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงต้องรับฟังได้ตามคำฟ้องว่าจำเลยทำร้ายร่างกายผู้เสียหายฝ่ายเดียว ที่จำเลยอ้างมาในอุทธรณ์ว่าผู้เสียหายสมัครใจวิวาทกับจำเลย ไม่อาจร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ได้ จึงเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงที่จำเลยเพิ่งยกขึ้นอ้างใหม่ซึ่งไม่ได้ปรากฏในชั้นพิจารณา ถือเป็นการยกขึ้นอ้างในข้อที่ไม่ได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น แม้จำเลยจะอ้างในฎีกาว่า ปัญหาว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยหรือไม่ดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แต่การวินิจฉัยก็ไม่ได้ทำให้ผลทางคดีอาญาเปลี่ยนแปลงไปเพราะไม่ได้กระทบต่ออำนาจฟ้องของพนักงานอัยการโจทก์ ส่วนผู้เสียหายจะมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยดังที่อ้างในฎีกาได้หรือไม่ เป็นประเด็นเรื่องของความรับผิดของบุคคลในทางแพ่งที่ต้องไปว่ากล่าวกันในส่วนแพ่ง ปัญหานี้จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2252/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คนต่างด้าวประกอบธุรกิจค้าที่ดินที่ต้องห้าม ไม่มีอำนาจฟ้องคดีอาญา
โจทก์เป็นนิติบุคคลที่ไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทย จึงเป็นคนต่างด้าวตามความหมายใน พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 มาตรา 4 แม้โจทก์ถือหุ้นไม่ถึงกึ่งหนึ่งตามบัญชีผู้ถือหุ้นของบริษัท พ. แต่เงินทุนในบริษัท พ. ที่แท้จริงเป็นของโจทก์เกินกึ่งหนึ่งของเงินลงทุน ซึ่งไม่เป็นไปตามทุนที่จดทะเบียน ถือว่าบริษัท พ. และโจทก์เป็นผู้ประกอบธุรกิจการค้าที่ดิน ซึ่งเป็นธุรกิจที่ไม่อนุญาตให้คนต่างด้าวประกอบกิจการด้วยเหตุผลพิเศษตามบัญชีหนึ่งท้ายพระราชบัญญัติดังกล่าว โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยในความผิดต่อ พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 และความผิดตาม ป.อ. มาตรา 353 เพราะข้อหาความผิดดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องจากการประกอบธุรกิจที่ต้องห้ามของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10915/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีอาญา: การพิสูจน์ความเสียหายถึงแก่ความตายหรือบาดเจ็บสาหัส
โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยทั้งห้ากับพวกร่วมกันปล้นทรัพย์ของ ส. ไปและร่วมกันใช้กำลังประทุษร้าย ผลักและฉุดกระชาก ส. เข้าไปในรถยนต์ของจำเลยทั้งห้ากับพวก อันเป็นการข่มขืนใจ ส. ให้ต้องจำยอมเข้าไปในรถยนต์ของจำเลยทั้งห้ากับพวกด้วยการทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกายหรือเสรีภาพ และขณะนี้ไม่ทราบว่า ส. ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ แม้คำบรรยายฟ้องจะแสดงว่า จำเลยทั้งห้ากับพวกร่วมกันใช้กำลังทำร้าย ส. แต่เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องยืนยันว่า ส. เสียชีวิตแล้ว กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่า ส. ถูกทำร้ายถึงตายตามความหมายของกฎหมาย แม้ต่อมาศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีคำสั่งว่า ส. เป็นคนสาบสูญซึ่งถือว่าถึงแก่ความตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 62 ก็ตาม แต่ก็เป็นการตายโดยผลของกฎหมาย มิใช่เป็นกรณีถูกทำร้ายถึงตายตามความเป็นจริง
ขณะที่ภริยาและผู้สืบสันดานของ ส. ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในปี 2547 และปี 2548 ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า ส. ถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้ ประกอบกับโจทก์แถลงยอมรับต่อศาลชั้นต้นตามรายงานกระบวนพิจารณาว่า อ. ภริยาของ ส. ไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ได้ ดังนี้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ของ อ. โจทก์ร่วมที่ 1 และบุตรของ ส. โจทก์ร่วมที่ 2 ถึงที่ 5 จึงเป็นไปโดยถูกต้องและชอบด้วยหลักเกณฑ์ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10915/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ พยานหลักฐานไม่เพียงพอต่อการพิสูจน์ความผิด จำเลยทั้งหมดพ้นผิด
ส. เป็นผู้เสียหายที่ได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของคนร้ายโดยตรง ส. จึงมีอำนาจฟ้องคดีอาญาหรือยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 28 และมาตรา 30 และหาก ส. ไม่สามารถดำเนินการดังกล่าวได้ ผู้สืบสันดานและภริยาของ ส. ย่อมมีอำนาจจัดการแทน ส. ได้ แต่กฎหมายได้กำหนดหลักเกณฑ์ประการสำคัญไว้ใน มาตรา 5 (2) แห่ง ป.วิ.อ. ว่า ผู้สืบสันดานและภริยาจะจัดการแทนผู้เสียหายได้เฉพาะแต่ในความผิดอาญาซึ่งผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้ เมื่อพิจารณาคำบรรยายฟ้องของโจทก์แล้วได้ใจความว่า โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยทั้งห้ากับพวกร่วมกันปล้นทรัพย์ของ ส. ไปและร่วมกันใช้กำลังประทุษร้าย ผลักและฉุดกระชาก ส. เข้าไปในรถยนต์ของจำเลยทั้งห้ากับพวก อันเป็นการข่มขืนใจ ส. ให้ต้องจำยอมเข้าไปในรถยนต์ของจำเลยทั้งห้ากับพวกด้วยการทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกายหรือเสรีภาพ และขณะนี้ไม่ทราบว่า ส. ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ ซึ่งแม้คำบรรยายฟ้องดังกล่าวจะแสดงว่า จำเลยทั้งห้ากับพวกร่วมกันใช้กำลังทำร้าย ส. แต่เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องยืนยันว่า ส. เสียชีวิตแล้ว กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่า ส. ถูกทำร้ายถึงตายตามความหมายของกฎหมาย อีกทั้งการที่จำเลยทั้งห้ากับพวกร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายผลักและฉุดกระชาก ส. เข้าไปในรถยนต์ของจำเลยทั้งห้ากับพวกก็ไม่ได้ความตามคำฟ้องของโจทก์ว่าเป็นเหตุให้ ส. ได้รับบาดเจ็บจนไม่สามารถจัดการเองได้ และแม้ต่อมาในปี 2552 ศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีคำสั่งแสดงว่า ส. เป็นคนสาบสูญซึ่งถือว่าถึงแก่ความตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 62 ก็ตาม แต่ก็เป็นการตายโดยผลของกฎหมาย มิใช่เป็นกรณีถูกทำร้ายถึงตายตามความเป็นจริง เมื่อในขณะที่ภริยาและผู้สืบสันดานของ ส. ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในปี 2547 และปี 2548 ตามลำดับ ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า ส. ถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้ ประกอบกับโจทก์แถลงยอมรับต่อศาลชั้นต้นตามรายงานกระบวนพิจารณาว่า อ. ภริยาของ ส. ไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ได้ ดังนี้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ของ อ. โจทก์ร่วมที่ 1 และบุตรของ ส. โจทก์ร่วมที่ 2 ถึงที่ 5 จึงเป็นไปโดยถูกต้องและชอบด้วยหลักเกณฑ์ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11858/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีอาญา: การสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนที่มีเขตอำนาจเป็นเงื่อนไขสำคัญ
ป.วิ.อ. มาตรา 28 บัญญัติให้ทั้งพนักงานอัยการและผู้เสียหาย เป็นบุคคลซึ่งมีอำนาจฟ้องคดีอาญาต่อศาลได้ โดยในกรณีที่ผู้เสียหายเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนั้น ผู้เสียหายมีสิทธิยื่นฟ้องต่อศาลได้โดยไม่จำต้องมีการสอบสวนความผิดนั้นมาก่อน แต่ในกรณีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง มาตรา 120 บัญญัติว่า ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาล โดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน ทั้งต้องเป็นการสอบสวนที่ไม่บกพร่องหรือผิดพลาดในส่วนซึ่งเป็นสาระสำคัญด้วย เพราะมิเช่นนั้นแล้วต้องถือว่า เป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งถือเท่ากับว่าไม่มีการสอบสวนในความผิดนั้นมาก่อน อันมีผลทำให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้อง การสอบสวนจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้พนักงานอัยการมีอำนาจในการฟ้องคดีอาญา ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้กำหนดหลักเกณฑ์สำคัญเกี่ยวกับการสอบสวนความผิดที่ได้กระทำลงในราชอาณาจักรไว้ในมาตรา 2 (6) และมาตรา 18 กับมาตรา 19 โดยมีสาระสำคัญว่า การสอบสวนต้องกระทำโดยเจ้าพนักงานซึ่งกฎหมายกำหนดให้มีอำนาจและหน้าที่ทำการสอบสวน ทั้งการสอบสวนต้องกระทำโดยพนักงานสอบสวนที่มีเขตอำนาจ
โจทก์บรรยายฟ้องไว้ชัดแจ้งว่า การกระทำของจำเลยที่อ้างว่าเป็นความผิดฐานร่วมกันยักยอก คือการร่วมกับจ่าสิบตำรวจ อ. จำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 21/2555 ของศาลชั้นต้น นำรถยนต์ที่เช่าซื้อมาจากผู้เสียหายไปจำนำแก่ ก. โดยระบุว่า เหตุเกิดที่แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร แต่ต่อมาในชั้นพิจารณากลับได้ความตามคำเบิกความของร้อยตำรวจเอก ว. พนักงานสอบสวนพยานโจทก์ว่า การจำนำรถยนต์อันเป็นมูลเหตุแห่งความผิดของจำเลยเกิดขึ้นที่เขตเพชรเกษม อันเป็นท้องที่ในความรับผิดชอบของสถานีตำรวจนครบาลเพชรเกษม ดังนี้ พนักงานสอบสวนของสถานีตำรวจนครบาลเพชรเกษมซึ่งเป็นท้องที่ที่ความผิดเกิดย่อมเป็นพนักงานสอบสวนที่มีอำนาจสอบสวน พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่อื่นนอกจากนี้ย่อมไม่มีอำนาจสอบสวนได้ เว้นแต่ในกรณีมีเหตุจำเป็นหรือเพื่อความสะดวก จึงให้พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ผู้ต้องหามีที่อยู่หรือถูกจับเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการสอบสวนได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 18 วรรคสาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์ว่า จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในท้องที่เขตบางบอน กรุงเทพมหานคร และถูกจับกุมดำเนินคดีนี้โดยเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาล หนองค้างพลู เช่นนี้ แม้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลโชคชัยจะเป็นผู้รับคำร้องทุกข์จากผู้เสียหาย ทั้งเป็นเจ้าพนักงานผู้มีเขตรับผิดชอบในท้องที่ซึ่งบริษัทผู้เสียหายตั้งอยู่ แต่เมื่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลโชคชัยไม่ใช่พนักงานสอบสวนที่ ป.วิ.อ. มาตรา 18 วรรคสาม กำหนดให้เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ การที่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลโชคชัยทำการสอบสวนจำเลย จึงเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานร่วมกันยักยอก ตาม ป.อ. มาตรา 352 ประกอบมาตรา 83 จึงเป็นกรณี ที่กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดกรรมเดียว มิใช่หลายกรรม ทั้งการกระทำอันเป็นความผิดฐานยักยอกตามที่กล่าวหาคือการที่ผู้ครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ดังนั้น ความผิดฐานยักยอกย่อมเกิดขึ้นและสำเร็จแล้วเมื่อจำเลยและจ่าสิบตำรวจ อ. ร่วมกันนำรถยนต์ที่เช่าซื้อมาจากผู้เสียหายไปจำนำแก่ ก. การกระทำของจำเลยจึงหาใช่ความผิดต่อเนื่องที่ได้กระทำในหลายท้องที่ ทั้งกรณีซึ่งจะถือว่าเป็นการไม่แน่ว่าการกระทำความผิดอาญาได้กระทำในท้องที่ใดในระหว่างหลายท้องที่ อันจะทำให้พนักงานสอบสวนในท้องที่ใดท้องที่หนึ่งที่เกี่ยวข้องกับความผิดมีอำนาจทำการสอบสวนได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 นั้น หมายแต่เฉพาะเมื่อสภาพและลักษณะแห่งการกระทำความผิดนั้น เป็นที่ประจักษ์ชัดอยู่ในตัวว่า เป็นการไม่แน่ว่าการกระทำความผิดเกิดขึ้นในท้องที่ใดในหลายท้องที่ต่างเขตอำนาจสอบสวน โดยมิได้หมายรวมถึงกรณีที่เป็นการแน่นอนอยู่แล้วว่า ความผิดนั้นได้กระทำในท้องที่ใด ดังนี้ แม้ผู้เสียหายสามารถร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลโชคชัยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 123 และมาตรา 124 ก็ตาม แต่เมื่อการสอบสวนคดีนี้กระทำโดยพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลโชคชัย ซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดของจำเลย การสอบสวนจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถือได้ว่าคดีนี้ไม่มีการสอบสวน ย่อมมีผลให้พนักงานอัยการซึ่งเป็นโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 ผู้เสียหายจึงไม่มีสิทธิขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3150/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีอาญา: กลุ่มออมทรัพย์มิได้จดทะเบียน ไม่เป็นนิติบุคคล/บุคคลธรรมดา จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ผู้เป็นคู่ความในคดีต้องเป็นบุคคลซึ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 28 บัญญัติให้มีอำนาจฟ้องคดีอาญาต่อศาล ได้แก่ (1) พนักงานอัยการ (2) ผู้เสียหาย และคำว่าบุคคลนั้น ตาม ป.พ.พ. ได้แก่ บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล แต่ตามคำฟ้องของโจทก์ โจทก์มีวัตถุประสงค์เก็บรวบรวมเงินจากสมาชิก และให้สมาชิกกู้ยืมจากกลุ่มออมทรัพย์ อันมีลักษณะเป็นสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญ เมื่อมิได้จดทะเบียนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1015 โจทก์จึงไม่เป็นนิติบุคคล และตามคำฟ้องที่ระบุว่าคณะกรรมการและสมาชิก โจทก์มีมติให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองนั้น ก็ไม่ปรากฏว่าบุคคลดังกล่าวฟ้องคดีในฐานะส่วนตัว โจทก์ย่อมมิใช่บุคคลธรรมดาเช่นกัน ไม่อาจเป็นคู่ความในคดีนี้ได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องทั้งในคดีส่วนอาญา และคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11710-11711/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องของนิติบุคคล และความผิดฐานปลอมแปลงเอกสารสิทธิ
โจทก์ที่ 2 และที่ 3 เป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากกัน แม้โจทก์ที่ 3 จะเป็นผู้ถือหุ้นโจทก์ที่ 2 ถึงร้อยละ 70 ก็หาทำให้โจทก์ที่ 3 มีสิทธิดำเนินคดีจำเลยซึ่งกระทำความผิดต่อโจทก์ที่ 2 แต่อย่างใด โจทก์ที่ 3 จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9555/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีการกู้ยืมที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน: เฉพาะรัฐเท่านั้นที่มีอำนาจฟ้องและดำเนินคดี
พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 เป็นบทบัญญัติที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา โดยได้บัญญัติถึงวิธีการและลักษณะการกู้ยืมในกรณีเช่นนี้ไว้ รวมถึงการปราบปรามการกระทำที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนและวางมาตรการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากการถูกหลอกลวง และรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐเท่านั้นมีอำนาจใช้มาตรการดังกล่าว ดังนี้ รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหายที่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ร่วมทั้งแปดไม่มีอำนาจฟ้อง จึงไม่อาจขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดตามพระราชกำหนดดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์ในข้อหาดังกล่าว จึงเป็นการไม่ชอบ แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอุทธรณ์และฎีกา แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง
of 39