คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 ม. 47

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 426/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดเครื่องหมายการค้า-ยาสูบ: เจ้าพนักงานมีอำนาจจับกุม-สอบสวนได้ แม้ไม่มีผู้ร้องทุกข์ และการประกาศราคายาสูบไม่ต้องลงราชกิจจานุเบกษา
ความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 และความผิดตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509 เป็นความผิดอาญาต่อแผ่นดิน เจ้าพนักงานย่อมมีอำนาจจับกุมผู้กระทำผิดและพนักงานสอบสวนก็มีอำนาจทำการสอบสวนได้ ไม่ว่าจะมีผู้เสียหายร้องทุกข์หรือมีผู้กล่าวโทษผู้กระทำผิดหรือไม่ แม้จะวินิจฉัยว่าการมอบอำนาจให้ร้องทุกข์ไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ไม่มีผลทำให้การดำเนินคดีนี้แก่จำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อุทธรณ์ของจำเลยในปัญหาดังกล่าวจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย
ศาลจังหวัดมุกดาหารดำเนินการสืบพยานหลักฐานของโจทก์ตามคำขอของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 47 วรรคสอง เมื่อศาลจังหวัดมุกดาหารเห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมย่อมมีอำนาจอนุญาตให้โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมและสืบพยานเพิ่มเติมตามมาตรา 26 และ 30 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว และข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2540 ข้อ 45
พระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509 มาตรา 23 ที่ให้อำนาจอธิบดีกรมสรรพสามิตออกประกาศเพื่อกำหนดราคายาสูบชนิดบุหรี่ซิกาแรตเพื่อใช้เป็นมูลค่าในการคำนวณค่าแสตมป์ยาสูบ ตามมาตรา 5 ตรี แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว มิได้บังคับให้ต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา ดังนี้ แม้ประกาศกรมสรรพสามิตจะมิได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาก็มีผลใช้บังคับในการนำไปคำนวณค่าปรับได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2266/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลคดีละเมิดลิขสิทธิ์เยาวชน: ศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ หรือศาลจังหวัด เมื่อไม่มีศาลเยาวชนในพื้นที่
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 อันเป็นคดีอาญาเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ และจำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยมีอายุ 17 ปีเศษ จำเลยมีภูมิลำเนาอันเป็นถิ่นที่อยู่ปกติที่จังหวัดลพบุรีและกระทำความผิดในท้องที่จังหวัดลพบุรีซึ่งยังไม่มีศาลเยาวชนและครอบครัวเปิดดำเนินการ คดีจึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัวตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 58 (3)
ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 58 (3) ที่ว่า ในกรณีคดีอาญาที่มีข้อหาว่าเด็กหรือเยาวชนกระทำความผิด ถ้าไม่มีศาลเยาวชนและครอบครัวในท้องที่ที่เด็กหรือเยาวชนมีถิ่นที่อยู่ปกติและในท้องที่ที่เด็กหรือเยาวชนกระทำความผิด ให้ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีธรรมดาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามีอำนาจพิจารณาคดี หมายถึง กรณีคดีอาญาที่มีข้อหาว่าเด็กหรือเยาวชนกระทำความผิดที่ไม่มีบทกฎหมายอื่นบัญญัติเรื่องอำนาจศาลไว้เป็นพิเศษโดยเฉพาะ แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์อันเป็นคดีอาญาเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ซึ่งมี พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 7 (1) บัญญัติไว้เป็นพิเศษให้คดีลักษณะนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเว้นแต่จะเป็นคดีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัว เมื่อคดีนี้ไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัวแล้ว ก็ไม่เข้าข้อยกเว้นดังกล่าวคดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
กรณีที่ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคสอง บัญญัติให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีเขตตลอดกรุงเทพมหานคร จังหวัดสมุทรปราการจังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดนครปฐม จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดปทุมธานี เท่านั้นแต่ให้บรรดาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นนอกเขตของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางดังกล่าวจะยื่นฟ้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางก็ได้ ซึ่งหมายความว่าหากมีการจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศภาค โดยระบุเขตศาลและที่ตั้งศาลขึ้นตามมาตรา 6 แล้ว คดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศที่อยู่ในเขตอำนาจศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศภาคที่จัดตั้งขึ้นแล้วนั้นสามารถยื่นฟ้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้ โดยให้อยู่ในดุลพินิจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางที่จะรับหรือไม่ยอมรับพิจารณาพิพากษาคดีนั้นได้เมื่อคดีนี้เหตุเกิดในท้องที่จังหวัดลพบุรีและยังไม่มีการจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศภาคใดขึ้นเลย จึงยังใช้บทบัญญัติในการยื่นฟ้องคดีตามมาตรา 5 วรรคสอง ดังกล่าวแล้วไม่ได้ก็ตาม แต่ตามมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวก็บัญญัติเป็นบทเฉพาะกาลไว้ว่าในระหว่างที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศภาคยังมิได้เปิดทำการในท้องที่ใดให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีเขตในท้องที่นั้นด้วย และในคดีอาญาโจทก์จะยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดแห่งท้องที่ที่ความผิดเกิดขึ้นก็ได้ให้ศาลจังหวัดแจ้งไปยังศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรับคดีนั้นไว้แล้วจะนั่งพิจารณาและพิพากษาคดี ณ ศาลจังหวัดแห่งท้องที่นั้น หรือ ณ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางก็ได้แล้วแต่จะเห็นสมควร โจทก์จึงยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดลพบุรีและศาลดังกล่าวแจ้งไปยังศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง และศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรับคดีนี้ไว้และพิจารณาพิพากษา จึงเป็นการชอบด้วยบทบัญญัติมาตรา 47 ดังกล่าว และคดีนี้มิใช่คดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลจังหวัดลพบุรีด้วย