คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2477 ม. 16

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2457/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเวนคืนที่ดิน: หลักเกณฑ์การกำหนดค่าทดแทนตามราคาตลาดในวันพระราชกฤษฎีกาใช้บังคับ และผลกระทบจากการดำเนินการที่ล่าช้า
จำเลยที่ 1 เป็นกระทรวงในรัฐบาลและมีฐานะเป็นนิติบุคคลมีจำเลยที่ 4 เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในขณะนั้นเป็นผู้แทน ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นกรมในสังกัดของจำเลยที่ 1 มีฐานะเป็นนิติบุคคลและมีจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นอธิบดีกรมทางหลวงในขณะนั้นเป็นผู้แทน จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีอำนาจหน้าที่ในการจัดให้มีทางหลวงรวมทั้งมีหน้าที่ดำเนินการสำรวจที่ดินเพื่อเวนคืนสำหรับสร้างทางหลวงอันเป็นสิ่งสาธารณูปโภค ดังนั้น การเวนคืนที่ดินพิพาททั้งห้าแปลงเพื่อให้ได้ที่ดินมาใช้สร้างทางหลวงแผ่นดิน ย่อมเป็นกิจการที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยตรง นอกจากนี้ตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 225 ลงวันที่ 14 ตุลาคม 2515 ซึ่งบัญญัติให้เวนคืนที่ดิน จำเลยที่ 2 ยังกำหนดให้จำเลยที่ 3เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ และกำหนดให้จำเลยที่ 4เป็นผู้รักษาการตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวด้วย จำเลยที่ 3 ในฐานะเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ได้ออกประกาศแจ้งการเวนคืนและให้ความเห็นชอบกับการกำหนดเงินค่าทดแทนของคณะกรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ อันเป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ ส่วนจำเลยที่ 4 มีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่พอใจในจำนวนเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์กำหนดให้ แต่จำเลยที่ 4มิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ที่ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 4เพื่อให้กำหนดเงินค่าทดแทนให้โจทก์ใหม่ให้เหมาะสม โจทก์จึงชอบที่จะฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 3 และที่ 4 ให้ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ได้
คณะกรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ได้กำหนดจำนวนเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์แล้ว เมื่อโจทก์ทราบและไม่พอใจในค่าทดแทนนั้น โจทก์ย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้ทันทีโดยไม่จำต้องรอให้เจ้าหน้าที่มีหนังสือแจ้งให้มารับเงินค่าทดแทนก่อน กำหนดเวลายื่นอุทธรณ์การกำหนดเงินค่าทดแทนต่อรัฐมนตรีตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา 25 วรรคหนึ่งเป็นกำหนดเวลาสิ้นสุดแห่งการใช้สิทธิอุทธรณ์ ไม่ใช่กำหนดเวลาเริ่มต้นให้ใช้สิทธิอุทธรณ์ โจทก์จึงชอบที่จะยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีได้แม้เป็นเวลาก่อนที่โจทก์ได้รับหนังสือแจ้งให้มารับเงินค่าทดแทนก็ตาม
หลังจากที่มีการเวนคืนที่ดินพิพาทแล้วได้มีการโอนสิทธิในที่ดินไปยังโจทก์ โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนย่อมมีสิทธิเรียกร้องเงินค่าทดแทนได้ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์มาตรา 16 วรรคท้าย และเมื่อไม่มีพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับใดบัญญัติถึงหลักเกณฑ์ในการกำหนดเงินค่าทดแทนไว้เป็นพิเศษโดยเฉพาะ การพิจารณาว่าโจทก์ควรได้รับเงินค่าทดแทนเท่าใดจึงต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯที่บัญญัติให้กำหนดโดยคำนึงถึงราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกา จะถือเอาราคาภายหลังจากที่มีการสร้างทางแล้วเสร็จมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาไม่ได้เพราะเมื่อมีการสร้างทางหลวงแผ่นดินเสร็จสมบูรณ์แล้วย่อมทำให้สภาพของที่ดินในบริเวณนั้นเปลี่ยนแปลงจากในขณะเริ่มต้นดำเนินการเวนคืนและมีราคาสูงขึ้นกว่าเดิมมาก อย่างไรก็ดี การที่ฝ่ายจำเลยเพิ่งนำเงินค่าทดแทนที่ดินไปฝากไว้ที่ธนาคารออมสินเมื่อวันที่ 22เมษายน 2536 ภายหลังจากวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงแผ่นดิน สายธนบุรี-สมุทรสาคร-สมุทรสงคราม-ปากท่อฯ มีผลใช้บังคับแล้วถึงเกือบสามสิบปีเป็นกรณีที่ฝ่ายจำเลยไม่ดำเนินการให้มีการจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่ผู้ที่มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินภายในเวลาอันควรเป็นการดำเนินการจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินที่ล่าช้าไม่เป็นไปตามครรลองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และเป็นที่เห็นได้อยู่ในตัวว่าการกระทำดังกล่าวย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของที่ดินพิพาท ดังนั้น การที่ฝ่ายจำเลยกำหนดเงินค่าทดแทนแก่โจทก์ทั้งสามในราคาตารางวาละ 10 บาท โดยใช้หลักเกณฑ์ตามมาตรา 21(3) เพียงประการเดียว ซึ่งใช้ฐานที่ตั้งแห่งการกำหนดราคาในวันที่พระราชกฤษฎีกาฯ มีผลใช้บังคับในวันที่ 10กรกฎาคม 2508 ย่อมไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ แต่อย่างไรก็ตามสิทธิของโจทก์ที่จะได้รับเงินค่าทดแทนมีเพียงเท่ากับเจ้าของที่ดินพิพาทเดิมกรณีนี้ฝ่ายจำเลยเพิ่งกลับมามีหนังสือลงวันที่ 1 มิถุนายน 2535ขอให้ไปตกลงราคาค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเขตทางหลวงหลักเกณฑ์ที่จะนำมาคำนึงในการกำหนดเงินค่าทดแทนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่โจทก์และสังคมต้องเปลี่ยนวันอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการกำหนดราคาของอสังหาริมทรัพย์จากวันที่พระราชกฤษฎีกาฯ มีผลใช้บังคับมาเป็นกลางปี 2533 อันเป็นช่วงเวลาก่อนที่ฝ่ายจำเลยจะมีหนังสือถึงโจทก์ให้ไปตกลงราคาค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเขตทางหลวงประมาณ 2 ปีซึ่งเทียบเคียงกับระยะเวลาที่ควรต้องใช้ในกรณีปกติที่มีการดำเนินการกำหนดเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์